ส่องปรากฏการณ์ #กษัตริย์มีไว้ทำไม กับ 'แอคหลุม-มีม' เซฟโซนสีเทาของคนรุ่นใหม่

ชวนคุยกับนักวิชาการผู้ศึกษาวัฒนธรรมดิจิทัลถึงปรากฏการณ์ #กษัตริย์มีไว้ทำไม ในทวิตเตอร์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าทำไมพวกเขาถึงกล้าพูดในเรื่องสุ่มเสี่ยง และการติดแฮชแท็กรวมถึงการใช้มีมนั้นมีพลังในการสื่อสารและทางการเมืองมากเพียงใด

 

 

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่กระแสแฮชแท็กในทวิตเตอร์กลับมาร้อนระอุอีกครั้งหลังจากที่ #กษัตริย์มีไว้ทำไม ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ประเทศไทย มีการทวีตโดยใช้แฮชแท็กนี้เกิน 1 ล้านครั้ง ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวโซเชียลเองวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่เรื่องผีน้อย เรื่องมาตรการรองรับการกักตัว เรื่องการกักตุนหน้ากาก ฯลฯ เป็นระยะๆ

แต่จุดเริ่มต้นของกระแสแฮชแท็กนี้ คาดว่ามาจากทวีตเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยทวีตตั้งคำถามเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 พร้อมใส่แฮชแท็กดังกล่าว 

ชาวทวิตเตอร์รับลูกต่อ ติดแฮชแท็กพร้อมแชร์มีมที่มาจากซีรีส์หรือการ์ตูนดัง เช่น Kingdom ซีรีส์เกาหลีย้อนยุคเล่าถึงช่วงที่เกิดโรคระบาดที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ พัวพันกับการแย่งชิงอำนาจในราชวงศ์, The Crown ซีรีส์อังกฤษที่เล่าเรื่องราชวงศ์อังกฤษในรัชสมัยของควีนอลิซาเบธที่สอง, วันพีช การ์ตูนญี่ปุ่นเล่าการผจญภัยของโจรสลัด ที่มีเผ่ามังกรฟ้าเป็นชนชั้นที่มีอภิสิทธิ์ที่เหนือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หรือ Attack on Titan การ์ตูนญี่ปุ่นอีกเรื่องที่ถึงเหล่ามวลมนุษย์ที่ต้องต่อสู้กับไททันกินคนและการแย่งชิงอำนาจระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองโดยมีมนุษย์ที่มีพลังของราชาอยู่เหนือมนุษย์ทั้งปวง

เมื่อดูลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมดังกล่าวประกอบกับข้อมูลปี 2562 ตัวแทนจากทวิตเตอร์เผยว่าลักษณะกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ ในไทยจากเดิมที่กลุ่มผู้ใช้จะกระจุกตัวที่ช่วงอายุต่ำกว่า 25 ปี ปัจจุบัน ผู้ใช้ 66% ของทวิตเตอร์ไทยเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล แบ่งเป็นวัย 15-24 ปี สัดส่วน 40% และ 25-34 ปี อีก 26% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอายุ 35-44 ปี สัดส่วน 19% ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน และมักจะใช้ทวิตเตอร์เพื่อติดตามข่าวสารโดยเฉพาะตลาดหุ้น นอกจากนี้อีก 15% เป็นผู้ใช้วัย 45 ปีขึ้นไป 

ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียล คำถามต่อมาคือทำไมพวกเขาถึงมีความกล้าที่จะพูดในเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยง และการติดแฮชแท็กรวมถึงการใช้มีมในการสื่อสารนั้นมีพลังมากเพียงพอหรือไม่

เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ เราได้คุยกับ พศุตม์ ลาศุขะ ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สนใจในลักษณะการแสดงออกทางวัฒนธรรม และ เมธาวี โหละสุต ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจวัฒนธรรมดิจิทัล

 

ทวิตเตอร์ แอคหลุม และมีม เซฟโซนสีเทาของคนรุ่นใหม่

พศุตม์ อธิบายว่า ในสังคมไทยการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลค่อนข้างจะแบ่งแยกตามเจนเนอเรชั่นพอสมควร กลุ่มผู้สูงอายุส่วนมากใช้ไลน์ และอาจมีเฟสบุ๊คเพื่อตามข่าวสารบ้าง ขณะที่วัยรุ่นใช้เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์เป็นหลักในการสื่อสาร 

“การแบ่งแบบนี้ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นในทวิตเตอร์เพราะรุ่นพ่อแม่ไม่ได้ใช้ ทวิตเตอร์จึงเป็นที่ที่ได้แสดงความเป็นปัจเจก เป็นที่มาของการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ที่หลายคนอาจจะมองว่ากล้า แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ใช้ทวิตเตอร์แล้วจะกล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า แต่มันมาพร้อมกับสำนึกที่ว่าทวิตเตอร์เป็นพื้นที่เฉพาะที่สามารถพูดอะไรแล้วพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ไม่สามารถเข้ามาดูได้ในทันที บวกกับการมีโปรไฟล์ ‘แอคหลุม’ ซึ่งเป็นการสกรีนตัวตนที่แท้จริงออกไปอีกทีนึง ทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย” พศุตม์กล่าว

ซึ่งแอคหลุม ในที่นี้มาจากคำว่า แอคเคาท์ รวมกับคำว่า หลุม ซึ่งหมายถึงบัญชีที่ไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง หรือบัญชีอวตาร

ขณะเดียวกันเราจะเห็นกรณีอย่าง ‘นิรนาม_’ ซึ่งก็เป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ในรูปแบบแอคหลุมถูกตำรวจจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตำรวจใช้หลักฐานเพียง 1 ข้อความซึ่งเป็นการทวีตภาพเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และมีข้อความในเชิงเสียดสี 

“เมื่อถามนักศึกษาในคลาส บางกลุ่มบอกว่าพวกเขารู้ว่าสามารถถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้แม้จะใช้แอคหลุม แต่ถ้าพื้นที่ตรงนั้นยังเป็นสีเทาที่ทำให้เขารู้สึกอยากจะเสี่ยงที่จะพูด เขาก็ยังรู้สึกว่าพูดได้อยู่ เพราะคิดว่าถึงถูกตามตัวได้ก็คงจะไม่โดนอะไรขนาดนั้น” พศุตม์เล่า

และนั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้มีมเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะทวิตเตอร์ด้วยลักษณะที่จำกัดเพียง 280 ตัวอักษร มีมกลายเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้สึก แสดงออก ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อมกัน

“ลักษณะมีมเกิดขึ้นเยอะมากในกรณีที่เกี่ยวกับการเมือง การใช้มีมถ้ามองในเชิงความสัมพันธ์ทางสังคม คือการใช้เพื่อแทนการพูดตรงๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงตามมา การที่ไม่อาจพูดตรงๆ จึงทำให้เกิดความสร้างสรรค์ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง มีมมีความสนุก ล้อเลียน เสียดสี” พศุตม์กล่าว

เมธาวี อธิบายว่า มีมนั้นจะเป็นเพียงรูปภาพหรือข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันทั้งสองอย่างก็ได้ ใจความสำคัญของมีมคือการส่งผ่านทางวัฒนธรรม 

“มีมจาก Kingdom นั้นเห็นชัดเจนว่าพูดถึงความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ต่อให้เราไม่ได้ดู Kingdom เราก็เข้าใจมีมที่มาจากเรื่องนี้ได้ เพราะคำพูดของตัวละครนั้นทรงพลังมาก ต่อให้ตัดภาพตัวละครออก เหลือแค่โควทแล้วบอกที่มาก็เพียงพอ” เมธาวีระบุ

 

แฮชแท็กและมีม พลังในการสร้างเครือข่ายที่ยังมีข้อจำกัด

พศุตม์กล่าวว่า ฟังก์ชั่นของแฮชแท็กอาจแบ่งได้สองแบบ หนึ่งเพื่อสื่อสารว่าเราต้องการจะพูดเรื่องอะไร สองเอาไว้รวมข้อความที่พูดถึงเรื่องเรื่องเดียวกัน รวมคนที่สนใจเรื่องเรื่องเดียวกัน เป็นเหมือนชุมชนชั่วคราว

กรณีแฮชแท็ก กษัตริย์มีไว้ทำไม พศุตม์มองว่าต้องดูบริบทการเมืองในช่วงนั้นๆ ในทางรัฐศาสตร์ก็มีการดีเบตกันว่าความชอบธรรมของสถาบันเกิดขึ้นจากตัวสถาบันหรือตัวบุคคล แฮชแท็กนี้จึงไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะของคนรุ่นใหม่แต่เป็นความรู้สึกร่วมกันของสังคม

“แฮชแท็กเหล่านี้อาจถูกมองว่ามาเร็วไปเร็ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่าประเด็นต่างๆ ถูกพูดถึงแล้วหายไป ในอีกมิติหนึ่งเราจะเห็นว่ามันมีการสะสมอยู่เรื่อยๆ แฮชแท็กนี้มาแล้วก็ไปแต่พอมันกลับมาอีกครั้ง แม้จะเป็นแฮชแท็กใหม่แต่ทั้งหมดนี้พูดเรื่องเดียวกันคือประชาธิปไตย และในบางเรื่องก็มีแนวโน้มที่จะเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ” พศุตม์กล่าว

พศุตม์เห็นว่าการสื่อสารแบบนี้มีพลังในการรวมชุมชนทั้งชั่วคราวและไม่ชั่วคราว แม้นักรัฐศาสตร์บางคนอาจเห็นแย้งว่าแฮชแท็กอย่างเดียวทำอะไรไม่ได้ตราบใดที่ยังไม่ลงถนน แต่การรวมกลุ่มลักษณะนี้ก็เป็นการทำงานเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง 

“ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นแฮชแท็กใดก็ตามหากยังอยู่ในธีมเดียวกันคือประชาธิปไตย ก็จะมีคนกลุ่มเดิมวนเวียนเข้ามาใช้บ่อยๆ ซึ่งจะมีพลังในการสร้างเครือข่ายของชุมชนให้เกิดขึ้น เพียงแค่จะต้องมีกลไกอื่นนอกเหนือจากนี้ที่จะผลักให้การรวมตัวกันในโลกเสมือนไปสู่ท้องถนนหรือเข้าไปในรัฐสภาจากการที่นักการเมืองนำเรื่องในแฮชแท็กเหล่านี้ไปพูดต่อ” พศุตม์ระบุ

นอกจากนี้พศุตม์ยังมองว่า เด็กรุ่นใหม่นั้นเติบโตขึ้นมาในช่วงที่มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง มีการชุมนุมอีกหลายครั้ง ดังนั้นพวกเขาจึงรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวัน และพวกเขาก็มีวิธีการของตัวเองในการรวมตัว เรียกร้อง หรือแสดงความคิดเห็น ต่างไปจากยุค 14 ตุลา 16 สำหรับคนรุ่นใหม่การเมืองไม่ใช่เรื่องที่ต้องจริงจังมากๆ เสมอไป แต่ก็เป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ พวกเขารู้สึกว่าพูดถึงมันได้ เสียดสีมันได้ ทำให้เป็นเรื่องตลกได้ เมื่อผนวกกับการมีทวิตเตอร์ การเสียดสี พาโรดี้ ตลกขบขัน จึงเป็นมูฟเม้นท์แบบใหม่ที่ดูไม่ซีเรียส แต่มันก็มีพลังในแบบของมัน

ต่างจากเมธาวีที่เห็นว่าการมีแฮชแท็กหรือมีมนั้นไม่อาจมีพลังทางการเมืองได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถก้าวข้ามขอบเขตจากอินเทอร์เน็ตไปสู่โลกแห่งความจริงได้ 

จากประสบการณ์ตรงที่เมธาวีศึกษาสังคมทวิตเตอร์ของสหรัฐอเมริกามาประมาณ 5 ปี เขาเห็นมีมมากมายจากฝ่ายซ้ายที่ล้อเลียน โจ ไบเดิน (อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ) หรือมีมที่ด่าระบบทุนนิยม แต่ในความเป็นจริงเราจะเห็นว่า เบอร์นี่ แซนเดอร์ส (นักการเมืองหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย) พ่ายแพ้ไม่เป็นท่า 

“ผมไม่ค่อยมีความหวังมากกับกระแสมีมในอินเทอร์เน็ต หลายครั้งเป็นการแสดงออกเฉยๆ ไม่มีพลังทางการเมือง นอกจากเราจะตั้งเงื่อนไขว่าการแสดงความรู้สึกคือพลังทางการเมืองประเภทหนึ่ง แต่หลายครั้งที่พลังเหล่านี้ที่จำเป็นต้องก้าวข้ามจากโลกโซเชียลไปในโลกความจริง มักจะไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร มันอาจมีพลังในการสื่อสาร แต่เรายังไม่เคยเปลี่ยนมีมให้เป็นอาวุธได้”

เมธาวีชี้ว่า ข้อจำกัดของมีมตอนนี้คือเป็นวัฒนธรรมวัยรุ่น วัยที่โตมากับอินเทอร์เน็ต ภายใต้เงื่อนไขนี้เขาเสนอว่า หากอยากจะสื่อสารกับคนในวัยอื่นก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร เพื่อดึงให้เขามาอยู่ในวัฒนธรรมนี้กับเรา เช่น การนำโควทในซีรีส์ Kingdom มาใส่กับตัวละครจากละครเรื่องอื่นที่ช่วงวัยผู้ใหญ่หรือคนแก่ดูแทน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท