Skip to main content
sharethis

คุยกับอดีต กสทช. และอาจารย์นิเทศศาสตร์ ม.แคลิฟอร์เนีย ตอบคำถาม รัฐ-สื่อ ทำตัวอย่างไรดีในภาวะโควิด-19 ระบาด ชี้ สื่อต้องตั้งคำถาม ชงข้อเสนอแนะได้ แต่ก็ต้องเสนอข้อมูลที่จำเป็นจากรัฐให้ประชาชน ภาครัฐไทยต้องปรับปรุงวิธีสื่อสาร มีเสรีภาพออนไลน์ทำให้สังคมไม่ป่วยจิต กสทช. ต้องให้คลื่นความถี่ถูกใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงและสูงสุดทั้งการสื่อสารและการใช้อินเทอร์เน็ต

สื่อมวลชนทำข่าวที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย (แฟ้มภาพ)

ข้อที่ 6 ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ โควิด-19 ที่ไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งแก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

(ข้อที่ 6 ของข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการเสนอข่าว)

ใจความข้อที่ 6 สร้างคำถามต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนในภาวะเช่นนี้อย่างยิ่งว่าจะยังวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม ส่งข้อเสนอแนะให้กับรัฐได้ขนาดไหน ประชาชนจะยังเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในกรณีต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้หรือไม่ เช่น การกักตุนหน้ากาก แอลกอฮอล์และไข่ขาดตลาด ฯลฯ 

สื่อ โลกออนไลน์ รัฐควรเดินกันไปอย่างไรเพื่อให้การสื่อสารส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาโรคระบาด โจทย์นี้สำคัญ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อภาวะตื่นตระหนกของสังคมและการเจ็บป่วยล้มตายเพิ่มที่ไม่จำเป็นต้องเกิดเลย

รัฐไม่ห้ามสื่อตั้งคำถาม สื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่จำเป็นจากรัฐสู่ประชาชน

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่ารัฐบาลไม่ควรห้าม ควรเปิดกว้างให้สื่อสัมภาษณ์รัฐบาลและนำเสนอมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพราะมุมมองเหล่านั้นอาจสามารถช่วยรัฐในการตัดสินใจได้ แต่สื่อก็ต้องให้ความสำคัญในการนำเสนอข้อความ ข้อเท็จจริงจากรัฐด้วยไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อหรือวิธีป้องกันตัวเองในการระบาด เพราะขณะนี้เป็นภาวะไม่ปกติที่ต้องเฝ้าระวัง เท่าที่เห็น สื่อส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็พร้อมร่วมมือกับรัฐอยู่แล้วในเรื่องโควิด-19 

"ที่ผ่านมาสื่อให้ความร่วมมือกับรัฐอยู่แล้ว ไม่เห็นสื่อไหนที่จะแหกกรอบมากมายนัก ยกเว้นสื่อเสนอพลาดไปส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแถลงเอง อย่างวันนี้ (26 มี.ค.63) ก็มีเหตุโฆษก (สำนักนายกฯ) แถลงตัวเลขไปก่อนแล้วว่ามีคนป่วยเพิ่มเท่าไหร่ แต่กระทรวงบอกว่าให้รอแถลง อันนี้โทษสื่อไม่ได้ หลายกรณีสื่อไม่ได้ผิดแต่ว่ารัฐสับสนเอง สื่อส่วนใหญ่ตอนนี้ปรับโทนมาช่วยรัฐบาลแล้วด้วย มีน้อยมากที่โจมตีหรือวิจารณ์รัฐบาล ทุกคนอยากจะช่วยประเทศชาติเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นปัญหาว่าสื่อจะบั่นทอนรัฐบาล โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ยังไม่เห็นเลย ไม่มีความจำเป็นอะไรที่รัฐต้องมีท่าทีที่โหดกับสื่อ"

"สื่อควรทำ (หน้าที่) บนกรอบจรรยาบรรณของตัวเอง คือดูแหล่งข่าวให้น่าเชื่อถือ พาดหัวให้ตรงกับที่พูด ไม่ให้ตื่นตระหนกเกินไป ไม่คลิกเบท ถ้าสื่ออยู่ในกรอบจรรยาบรรณตรงนี้ได้รัฐก็ควรจะเปิดกว้าง ไม่ควรห้ามว่าไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงประชาชนในภาพรวม ถ้าเขานำเสนอความเห็นที่ไม่ได้มีข้อเท็จจริงยืนยัน รัฐก็ควรปล่อยไป เพราะหลายประเทศที่ผ่านวิกฤตมา เขาก็ไม่ได้เน้นไม่ให้ประชาชนแสดงความเห็นเสียทีเดียว เพราะเขาก็มองว่ามันเป็นการทำให้ประชาชนผ่อนคลายด้วย แม้ในภาวะวิกฤติ การวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบยังควรทำอยู่ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญในการถ่ายทอดข้อเท็จจริงและข้อความจากรัฐบาลไปยังประชาชนในเรื่องการเฝ้าระวังสุขภาพด้วย"

สุภิญญาเสนอว่ารัฐบาลเองก็ต้องทบทวนวิธีการสื่อสารของตัวเอง เพราะที่ผ่านมานั้นการสื่อสารมีความสับสน ไม่ชัดเจน ยังไม่ใช้ทรัพยากรสื่อระดับชาติอย่างโทรทัศน์และวิทยุมากพอในการกระจายข่าว เช่น วันหนึ่งบอกว่าการระบาดยังอยู่ในระยะที่ 2 แต่ผ่านไปอาทิตย์เดียวกรุงเทพฯ ประกาศปิดห้าง แต่ไม่ได้ประกาศออกโทรทัศน์ จะประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแต่ก็ไม่ชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เกิดการตีความข้อความที่ไม่ชัดเจนไปต่อจนรัฐต้องออกมาแก้ข่าวทีหลัง และยังทำให้สื่อพุ่งเป้าไปที่ความสับสนของรัฐบาลเสียอีกด้วย 

รัฐควรแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่น หากตีโจทย์ไม่แตกก็จะยิ่งทำให้วิกฤตไวรัสหนักมากขึ้นเพราะประชาชนยังสับสนอสถานการณ์ตอนนี้ไฟเขียวให้รัฐใช้สื่อกระแสหลักพูดกับประชาชนได้แล้ว ก็ควรใช้ให้เต็มที่ ไม่ใช่ไปให้น้ำหนักกับความเห็นบนโลกออนไลน์ที่กระจายตัวมาก เรื่องใหญ่ที่สุดตอนนี้คือลดความสูญเสียให้บาดเจ็บล้มตายน้อยที่สุด หากใช้อำนาจไม่ถูกเรื่อง นอกจากรัฐบาลจะเสียหายทางการเมืองแล้ว ประเทศก็จะสูญเสียด้วย เนื่องจากเวลาตอนนี้ไม่รอใคร

"ย้ำว่าเวลาจะออกประกาศอะไรยิบย่อย ควรออกทีวีบอกประชาชน อย่างประกาศ กทม. ที่จะปิดห้างก็ไม่ได้ออกทีวี ก็อลหม่านไปหมด ทุกคนก็หนีกลับบ้านกันไป รีบไปหมอชิตโดยไม่รู้ว่ายังไง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นรัฐยังประกาศว่าอยู่ระดับสอง แต่วันต่อมาปิดห้าง ความไม่สม่ำเสมอ ความไม่มีแผนในการสื่อสารทำให้เกิดความตื่นตระหนก ทำให้ข่าวลือเป็นวงกว้าง รัฐควรทบทวนตัวเอง กลับมาแก้ที่ต้นเหตุได้ก่อนแล้วจะแก้ปัญหาได้เอง"  

"มีบางกรณีอย่างที่ศูนย์ต้านเฟคนิวส์บอกว่าประชาชนคนหนึ่งนับตัวเลขผิด ว่ามีคนติดเชื้อเพิ่ม 89 คนรวมเป็น 441 ทั้งๆ ที่ควรเป็น 411 ก็ไปบอกว่าเป็นข่าวลวง ซึ่งจริงๆ เขาอาจไม่ได้ตั้งใจให้เป็นข่าวลวง การให้น้ำหนักความสำคัญว่าอะไรเป็นข่าวลวง ข่าวจริง ข่าวปลอม ก็อยากให้รัฐตั้งสตินิดหนึ่ง เพราะถ้ารัฐใช้เวลาไปกับการไล่ล่าความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในทะเลข้อมูลข่าวสาร รัฐจะไม่มีสมาธิในการสื่อสารกับประชาชนโดยตรงแบบที่ผ่านมา" 

เสรีภาพออนไลน์ทำให้สังคมไม่ป่วย 

สุภิญญาเสนอว่า รัฐต้องไม่จำกัดเสรีภาพสื่อบนออนไลน์มากจนเกินไป เพราะว่าการให้ประชาชนได้แสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ก็ช่วยลดทอนความตึงเครียดของคนที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ถ้าประชาชนไม่ได้ระบายออกซึ่งความรู้สึก ความเห็นหรือความคับข้องหมองใจ หรือถูกดำเนินคดีต่อการแสดงความเห็นในช่วงนี้อาจยิ่งทำให้สังคมตึงเครียด อึมครึมมากขึ้น 

"ส่วนการจะจัดการกับคนที่รัฐมองว่าเป็นตัวการปล่อยข่าวลือ ถ้าจำเป็น เตือนก่อนได้ก็เตือนก่อนเถอะ เพราะบางคนก็ทำเป็นครั้งแรก ไม่ได้ตั้งใจ การที่จะเอาคนไปขึ้นคดีความหรือติดคุก ก็จะเป็นภาระ รกโรงรกศาลเปล่าๆ ในระยะยาว ถ้ามีมาตรการอื่นที่ละมุนละม่อมได้รัฐก็ทำไปก่อนเถอะ จะได้ลดบรรยากาศความตึงเครียดในช่วงยามนี้ด้วย"

"มาตรการเตือนก่อนให้ลบ (notice and take down) ยังเป็นมาตรฐานสากลอยู่ อย่างถ้าเห็นใครโพสต์อะไรไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ใช้วิธีการเตือนให้ลบก่อน แล้วประสานกับแพลตฟอร์มเช่นกูเกิ้ล ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค ซึ่งรัฐก็ประสานอยู่แล้วให้ลบออกจากระบบ มันก็จะแก้ปัญหาไปได้แล้ว เว้นแต่ว่าใครจงใจทำต่อ ซ้ำซาก อันนั้นก็ว่าไปตามกระบวนการ ควรมีขั้นตอนของมัน ถ้าใช้ข้ามสเต็ปก็จะทำให้มีปฏิกิริยาอีกแบบ ทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคมมากขึ้น ในภาวะนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายปรับตัว ให้ความร่วมมือแล้ว เพราะทุกคนห่วงชีวิตตัวเอง รัฐก็ควรใช้โอกาสนี้ประสาน สร้างบรรยากาศในการจะผ่านโรคร้ายไปด้วยกัน"

กสทช. ควรประสานสิบทิศ ใช้คลื่นความถี่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ต่อบทบาทของ กสทช. ในภาวะเช่นนี้ สุภิญญาที่เคยเป็นกรรมการ กสทช. มองว่าควรทำหน้าที่ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรทัศน์และโทรคมนาคมในการให้ย้ำเตือนข้อความสำคัญกับประชาชน ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่ต้องใช้ทรัพยากรจากภาคเอกชน ควรหาทางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตในราคาเยี่ยงสาธารณูปโภคที่จำเป็น เนื่องจากอินเทอร์เน็ตตอนนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนต้องใช้ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การเรียนการสอนออนไลน์ จะทำอย่างไรให้มีมาตรการเป็นรูปธรรมที่ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ได้ใช้แพคเกจอินเทอร์เน็ตในราคาที่ถูกลง

"จริงๆ กสทช. มีประกาศว่าด้วยสถานการณ์ภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ซึ่งสามารถให้ขอความร่วมมือสื่อทีวีให้นำเสนอข้อมูลจากรัฐสู่ประชาชนได้ แต่รัฐเองก็ดูไม่อยากใช้ทีวีระดับชาติเท่าไหร่ ส่วนตัวเดาเอาว่ารัฐคงไม่อยากให้เอิกเกริกเพราะเพิ่งถ่ายทอดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อไม่นานมานี้ แต่จริงๆ ยิ่งรัฐไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก ประชาชนยิ่งตื่นตระหนก เพราะข่าวสารมาจากทุกทิศทาง ดังนั้นถ้าจะต้องใช้โทรทัศน์ก็ควรต้องใช้ ตราบใดที่ไม่ใช่การใช้ไปจำกัดเสรีภาพ หรือใช้เวลาออกอากาศของทีวีมากจนเกินไป 

"สิ่งที่ กสทช. ทำได้ตอนนี้ก็เช่น ขอความร่วมมือกับทีวีทุกช่องให้ขึ้นตัววิ่ง เหมือนย้ำเตือนข้อความสำคัญต่อประชาชนบ่อยๆ เช่น อยู่บ้านนะ ล้างมือ หรือถ้ามีอาการให้โทร. เบอร์นี้  อย่างที่เห็นว่อนในโซเชียลมีเดียที่รัฐประกาศว่าใครเดินทางจากเที่ยวบินนี้ รถทัวร์นี้ มันว่อนในโซเชียลมีเดีย แต่คิดว่าไม่ถึงคนจำนวนมาก ทำไมไม่ให้ทีวีขึ้นตัววิ่ง อย่างน้อยญาติพี่น้องเขาเห็น เขาจะได้บอกกันได้ หรือ sms ในข้อความที่ฉุกเฉินจริงๆ ในจังหวัดนั้นที่เฝ้าระวัง ก็ให้โอเปอร์เรเตอร์ค่ายมือถือส่ง sms ในจังหวัดนั้นก็ได้ แต่ก็ควรเลือกข้อความที่จำเป็นจริงๆ เพราะถ้าส่งบ่อยคนก็ตกใจ

"หรือขอให้ผู้ประกาศ (ข่าว) ทุกช่องขึ้นแบ็คดรอปด้านหลัง เรื่องที่ไม่ใหญ่ขนาดนี้อย่างกราดยิงโคราชก็ยังขึ้นแบ็คดรอป คือทำให้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าอะไรที่ปรับได้ แต่ก็ให้อยู่บนฐานที่ไม่ไปกระทบกับธุรกิจเขาจนเกินควร" 

"ถ้าใช้ (โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ) ก็ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพ กสทช. จะเอาเงินมาอุดหนุนก็ต้องอุดหนุน ในส่วนข้อความที่ออกมา รัฐก็ควรต้องหาที่ปรึกษามาช่วยถ้าไม่ถนัด คือให้มันดูเข้าถึงใจประชาชนและตรงประเด็น อยากจะแก้ข่าวลือข่าวลวงก็ออกทีวีไปทุกวัน ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ วันละ 10-15 นาทีก็ได้ถ้าตรงประเด็น แล้วสื่อก็จะเอาประเด็นตรงนั้นไปเล่นเอง ก็เป็นการคุมข้อความเป็น single message ได้ ถ้ามีข้อความอะไรอยากย้ำระหว่างวันก็ขึ้นตัววิ่งไป" สุภิญญากล่าว

มองสหรัฐฯ มองไทย: การกล้าตรวจสอบและตั้งคำถามสำคัญกับประชาชนในเวลาวิกฤตอย่างไร

ผศ.เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟูลเลอร์ตัน และอดีตนักข่าว อสมท. กล่าวว่าในเวลานี้รัฐควรให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ควรมีการประสานงาน ทำความเข้าใจสถานการณ์ล่าสุดและจัดการแก้ไขปัญหาว่าต้องการควบคุมการระบาดอย่างไร ประชาชนควรทำอย่างไร สื่อเองก็มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลจากภาครัฐว่ามีอะไรที่ไม่ทำตามที่พูด

"อย่างกรณีในสหรัฐอเมริกา ในนิวยอร์คที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด (ติดเชื้อ 33,033 ราย เสียชีวิต 366 ราย) ผู้ว่าการรัฐออกแถลงการณ์ทุกวันว่า เป้าหมายที่เราต้องการคืออะไร ต้องการอุปกรณ์อะไร และต่อรองกับรัฐบาลกลาง รวมทั้งให้ประชาชนอยู่ในที่พักเพื่อชะลอการติดโรค และขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการรักษาพยาบาล จัดหาพื้นที่ทำโรงพยาบาลสนามหรือบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมาจากนักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะจบการศึกษา หรือแพทย์ พยาบาลที่เกษียณไปแล้ว สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการตรวจสอบและนำเสนอข่าวที่นอกเหนือจากว่าใครโพสต์อะไรในโซเชียลมีเดีย หรือใครพูดอะไร แต่ควรตรวจสอบว่าสิ่งที่ผู้นำพูดหรือสัญญานั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นการสัญญาแบบลอยๆ

แอนดริว คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์คแถลงข่าวเมื่อ 25 มี.ค. 63 (ที่มา: Youtube/ PBS NewsHour)

"ในอเมริกา สื่อมวลชนตรวจสอบคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่แถลงข่าวเรื่องการรับมือกับโควิด-19 ทุกวัน และพบว่าหลายสิ่งที่ประธานาธิบดีสัญญากับประชาชนนั้นไม่เป็นไปอย่างที่พูด เช่นในกรณีของสถิติการจ้างงาน ที่อ้างว่ามีมากขึ้นกว่าในยุคไหนๆ มีผู้สื่อข่าวตรวจสอบว่าอัตราการจ้างงานในสมัยโอบาม่ามีมากกว่า 

"การพูดความจริงเกี่ยวกับการรับมือและรักษาเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้นำพูดผิด ต้องมีคนกล้าบอกว่าข้อมูลมีข้อผิดพลาด เพราะการให้ข้อมูลผิดว่ามียารักษาได้ ทำให้ประชาชนสับสน เข้าใจผิดและเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน การตรวจสอบและการพูดความจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งหากผู้นำประเทศให้ข้อมูลที่ผิด สื่อมวลชนมีหน้าที่ตรวจสอบ” เพ็ญจันทร์กล่าว

อดีตนักข่าว อสมท. กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น สื่อกระแสหลักอาจจะพลาดในบางเรื่อง แต่ประชาชนที่ตอนนี้เป็นสื่อกันได้ทุกคนนั้นมีการตรวจสอบรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลต้องตอบ เช่น หน้ากากอนามัยที่หายไปนั้นไปอยู่ที่ไหน

"สิ่งที่อยากเห็นหน่วยงานของรัฐทำในเรื่องการสื่อสารกับประชาชนคือการนำเสนอข้อมูลที่เป็นระบบ พูดใจความสำคัญกับประชาชนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เรากำลังทำอะไร เพื่อผลอะไร การที่ผู้นำพูดนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เขาเป็นคนกระจาย fake news ที่สร้างความสับสนและความเสียหายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน"

ในวันที่ 26 มี.ค. สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อ 68,573 ราย เสียชีวิต 1,036 ราย (ที่มา: กระทรวงสาธารณสุขไทย) สื่อมวลชนยังคงตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนต่อ เมื่อ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา สื่อออนไลน์ Now This Politics ยังคงตรวจสอบข้อมูลที่ทรัมป์และทีมงานแถลงกันสดๆ  และวิวาทะระหว่างประธานาธิบดี ผู้จุดประกายวาทกรรม fake news (ข่าวปลอม) กับสื่อก็ยังดำเนินต่อไป 

รายการข่าวของ Now This Politics

 

ทวีตของทรัมป์วิจารณ์สื่อกระแสหลัก 

"ประเด็นสำคัญในเรื่องวาทกรรม fake news ในบริบทของอเมริกาคือ สื่อกระแสหลักสำนักต่างๆ ที่เห็นต่างจากเขา (ทรัมป์) เป็น fake news และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวและผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่เช็คและตรวจสอบข้อมูลที่นำเสนอ" เพ็ญจันทร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net