Skip to main content
sharethis

ศาลระยองพิพากษาจำคุกหนุ่มโปรยใบปลิวต้านเผด็จการ คสช. เมื่อปี 2558 ชี้ผิด ม.116 ฐานยุยงปลุกปั้น เพราะขณะนั้น คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ย่อมต้องมีการจัดระเบียบสังคม ต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้มีการแข็งข้อ ด้านจำเลยยื่นหลักทรัพย์ 1 แสน ขอประกันตัว ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

26 มี.ค. 2563 แฟนเพจเฟสบุ๊ค iLaw รายงานว่า ศาลจังหวัดระยองนัดฟังคำพิพากษา คดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของพลวัฒน์ กรณีโปรยใบปลิวต่อต้าน คสช. 4 จุดในจังหวัดระยองตั้งแต่ต้นปี 2558 แม้ว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจะออกคำสั่งให้เลื่อนนัดพิจารณาคดี เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 แต่คดีนี้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีต่อไปตามที่นัดไว้เดิม จำเลย ทนายความ และพ่อของจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา

สำหรับบรรยากาศที่ศาล เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองบุคคลที่มาติดต่อราชการอย่างเข้มงวดพร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ฉีดละอองน้ำฆ่าเชื้อที่ประตูทางเข้าอาคาร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ แจ้งว่า จะให้ผู้มาสังเกตการณ์รอนอกห้องเพื่อป้องกันปัญหาไวรัส แต่ศาลอนุญาตให้อยู่ฟังคำพิพากษาได้

เมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก็แจ้งว่า ห้ามอัดเสียง และเริ่มอ่านคำพิพากษาจากส่วนสรุปข้อเท็จจริงในคดี คำพิพากษาโดยสรุป มีประเด็นสำคัญดังนี้

คดีนี้โจทก์มี พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานว่า มีผู้นำใบปลิวไปโปรย 4 แห่งในจังหวัดระยอง ทางสืบสวนสืบจากกล้องวงจรปิดและทางออนไลน์พบจำเลยเป็นผู้นำใบปลิวไปโปรย ในชั้นจับกุมตัวจำเลยยอมรับว่า เป็นผู้นำใบปลิวไปโปรยจริง และเมื่อจับกุมตัวได้ในชั้นทหารจำเลยก็รับว่า เป็นผู้นำใบปลิวไปโปรยจริง พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557, มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เหตุที่เห็นควรสั่งฟ้องเนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก การแสดงออกสามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย และตามช่องทางที่ คสช. อนุญาตเท่านั้น

สำหรับความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 พิเคราะห์ข้อควานในใบปลิวที่เขียนว่า “ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และมีสัญลักษณ์สามนิ้วเขียนว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ประกอบกับขณะนั้น คสช. เข้าควบคุมอำนาจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและประกาศคำสั่งของ คสช. หลายฉบับ มีการจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพสื่อมวลชน ประกาศและคำสั่งจำนวนมากที่ออกมาย่อมกระทบต่อสิทธิของคนหลายกลุ่ม ย่อมให้มีคนไม่พอใจ

ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิ้นสุดลงจากการยึดอำนาจของ คสช. และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ที่มีข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในช่วงเวลานั้นมีนิสิตนักศึกษาออกมาทำกิจกรรมต่อต้าน คสช. ซึ่งจำเลยก็ทราบว่า มีการเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งเพื่อนของจำเลย อันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยจนเพื่อนของจำเลยต้องถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ที่จำเลยกล่าวอ้างว่า มีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีหลักฐาน และขณะนั้น คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ย่อมต้องมีการจัดระเบียบสังคม ต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้มีการแข็งข้อ

การกระทำของจำเลยโดยการโปรยใบปลิวทั้งสี่จุด เป็นการโปรยในที่สาธารณะจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ข้อความในใบปลิวแสดงให้เห็นเจตนาเพื่อยุยงปลุกปั่นให้ลุกขึ้นสู้ ให้ต่อต้าน คสช. ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์

ที่จำเลยอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น การกระทำภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หมายถึง การกระทำภายใต้กฎหมาย ไม่มุ่งหมายกล่าวเท็จ บิดเบือน แต่ข้อความตามใบปลิวมีลักษณะยุยงปลุกปั่น ไม่อยู่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือการติชมโดยสุจริต ที่จำเลยอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเคยใช้ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ด้วยนั้น จะต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้ กาละเทศะ และผู้นำมาใช้ การใช้งานฟุตบอลประเพณี เป็นไปเพื่อแสดงความคิดเห็น อาจไม่เจตนาให้เกิดความปั่นป่วน

สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยเบิกความว่า ไม่เคยโพสต์ และไม่เคยเห็นโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)" แต่จำเลยตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ว่า เป็นผู้ส่งภาพดังกล่าวให้กับเพจ ศนปท. ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงบนเพจ แต่ทางนำสืบของโจทก์มีเพียงการนำภาพถ่ายส่งให้เพจ ศนปท. เท่านั้น ซึ่งทางสืบสวนจำเลยใช้เฟซบุ๊กเป็นชื่อนามสกุลของตัวเอง และแชร์โพสต์จากเพจของ ศนปท. แต่ในภาพที่โพสต์ตามฟ้องเป็นการโพสต์ที่เพจ ศนปท.

โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแล หรือรู้รหัสผ่าน หรือเกี่ยวข้องกับเพจ ศนปท. อันจะทำให้จำเลยสามารถนำภาพไปโพสต์และพิมพ์ข้อความใต้ภาพได้ แม้จำเลยจะยอมรับว่า ได้ส่งภาพเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยโพสต์ภาพและพิมพ์ข้อความใต้ภาพในเพจ ศนปท. จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความผิดตาม มาตรา 14(2) (3) หรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำหรับใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ให้ริบ
ความผิดตามฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116(2) ให้จำคุกหกเดือน คำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

หลังศาลมีคำพิพากษาพลวัฒน์ยื่นเงินสด 100000 บาทประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอนุญาตและพลวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

เหตุคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2558 โดยพลวัฒน์ ที่ขณะนั้นอายุ 22 ปี มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง จัดทำใบปลิวขึ้นเองและนำไปโปรยยังสถานที่สี่แห่ง คือ หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง ทางเข้าสวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และม้าหินอ่อนหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง หลังจากนั้นพลวัฒน์ถูกติดตามตัวจากกล้องวงจรปิดและถูกจับกุมได้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ขณะกำลังทำงานอยู่ที่บริษัท ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ผ่านมา พลวัฒน์ได้ประกันตัว

เบื้องต้นคดีนี้ต้องพิจารณาที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 หรือ ศาลทหาร ในจังหวัดชลบุรี

พลวัฒน์ เล่าถึงประวัติของตัวเองว่า เขาไม่ได้เป็นนักกิจกรรม ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน แต่มีเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมเป็นนักเคลื่อนไหวทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เห็นการจับกุมกลุ่มคนที่คัดค้านการรัฐประหารแล้วรู้สึกทนไม่ไหวจึงออกมาโปรยใบปลิว เหตุที่ทำไปเพราะรู้สึกว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาป่าเถื่อนเกินไป

แม้พลวัฒน์จะถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 แต่คดีก็ไม่ได้ถูกเร่งรัดให้ส่งฟ้องต่อศาลโดยเร็ว ศาลทหารนัดให้พลวัฒน์มาขึ้นศาลครั้งแรกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 และเนื่องจากคดีในศาลทหารใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาคดีเสร็จในแต่ละวันก็จะต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นเวลา 2-3 เดือน เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ บางครั้งจำเลยเดินทางมาศาลแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาคดี เพราะพยานที่ต้องเบิกความไม่มาศาลตามนัด หรือในวันที่มีการสืบพยานเกิดขึ้นก็นัดพยานมาแค่คนเดียว พลวัฒน์และพ่อซึ่งมีสถานะเป็นนายประกันต้องลางาน เพื่อเดินทางจากบ้านที่ระยองไปยังศาลทหารชลบุรีตามนัด ทั้งหมด 14 ครั้งในเวลาประมาณ 4 ปี

ต่อมา คสช. สั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และโอนคดีกลับศาลปกติ เมื่อศาลจังหวัดระยองรับคดีมาจึงนัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง มีการสืบพยานอีกสองปากในวันที่ 23-24 มกราคม 2563 และนัดฟังคำพิพากษาทันที

เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ ในยุคของ คสช. มีการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านคสช. ด้วยข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน ในระยะเวลาเกือบหกปีก่อนหน้านี้ การดำเนินคดีที่มีข้อหาหนักที่สุดตาม มาตรา 116 ทั้งที่ขึ้นศาลทหารและศาลพลเรือน ส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายความผิด หรือถ้าหากศาลพิพากษาให้ลงโทษก็จะให้รอลงอาญา

เท่าที่มีข้อมูล คดีของพลวัฒน์เป็นคดีแรกที่ศาลลงโทษจำคุกจำเลยซึ่งแสดงออกในลักษณะต่อต้านคสช.โดยตรงหรือต่อต้านการรัฐประหารโดยไม่รอลงอาญา ก่อนหน้านี้แม้จะเคยมีผู้ถูกพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาด้วยข้อกล่าวหานี้แต่การกระทำตามข้อกล่าวหาจะมีลักษณะพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรูปแบบของรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net