กลุ่มแรงงานจ่อร้อง รบ. เพิ่มเยียวยาผู้ประกันตน ขยายเป็น 6 เดือน โอนเลยไม่ต้องลงทะเบียน

สถาบันแรงงานฯ และเครือข่าย แนะรัฐบาลโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน ขยายช่วยเหลือออกเป็น 6 เดือน  ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตน กลุ่มอาชีพอิสระอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นผู้ประกันตน  พร้อมกำชับมิให้นายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้างหรือให้พักงาน 14 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และให้ลูกจ้างลาโดยใช้สิทธิวันลาพักของตนเอง 

แฟ้มภาพ

27 มี.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ เวลา 9.00 น. สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute; JELI) และเครือข่าย  ซึ่งดำเนินการล่ารายชื่อ (ดู) สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จะนำรายชื่อยื่นต่อกระทรวงแรงงาน 

โดยมีรายชื่อตั้งต้นของจดหมายประกอบด้วย 1. กลุ่มคนงานสมานฉันท์ 2. กลุ่ม Try Arm Group 3. สมาพันธ์ศูนย์ประสานงาน แรงงานนอกระบบ แห่งประเทศไทย 4. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 5. กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (WJG) 6. สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) พร้อมทั้งนักสหภาพแรงงานและผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวนหนั่ง

สำหรับรายละเอียดจดหมายที่ล่ารายชื่อนั้น ระบุว่า สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมเห็นว่า มาตรการเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้กลุ่มแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยกำหนดให้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2563) รวมเป็นเงินทั้งหมด 15,000 บาทนั้น ยังมีข้อจำกัดที่อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาสำหรับแรงงานบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาที่สุด เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายที่ไม่เพียงพอและเงื่อนไขของคุณสมบัติที่รัดกุมเกินไป อาจทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนของรัฐบาลได้ตามกำหนดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขของการลงทะเบียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติเป็นกรณีไป (case by case basis) ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะคนงานกลุ่มนี้มักไม่มีเอกสารและหลักฐานแสดงการจ้างงานและรายได้ที่เป็นทางการ การกำหนดคุณสมบัติที่พึ่งพาการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ย่อมนำไปสู่ความล้าช้าของการช่วยเหลือเยียวยา และสร้างอุปสรรคในการเข้าถึงสำหรับแรงงานกลุ่มดังกล่าว ที่ในเชิงโครงสร้างมีอำนาจต่อรองต่ำ และมีความเปราะบางทางสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นอยู่แล้ว

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ได้รวบรวมความเห็นของผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 และองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำเป็นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังต่อไปนี้

1. เพื่ออำนวยให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เสนอให้นายกรัฐมนตรีประสานกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลังเพื่อนำฐานข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมไปใช้ในการโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 เพื่อให้สามารถเยียวยาแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้อย่างครบถ้วนทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน อีกทั้งต้องไม่กำหนดขั้นตอนใดๆ ที่อาจเพิ่มภาระให้กับผู้ประกันตนเพื่อเข้าถึงสิทธิที่พึงได้

2.   ขยายช่วงระยะเวลาของการเยียวยาช่วยเหลือออกเป็น 6 เดือน คือ เดือนเม.ย.-ก.ย. 2563 เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และขอให้ปรับลดส่วนของเงินสมทบที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องจ่ายลงเป็น 216 บาทต่อเดือน หรือแค่ส่วนของฝ่ายลูกจ้าง (เดิมผู้ประกันตนมาตรา 39 จ่ายเดือนละ 432 บาท เนื่องจากผู้ประกันตนไม่มีนายจ้างจึงต้องแบกรับภาระจ่ายเงินให้ฝ่ายนายจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์)

3.   ขยายขอบเขตมาตรการเยียวยาเพื่อให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตน รวมถึงให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการเยียวยาแก่แรงงานกลุ่มอาชีพอิสระอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นผู้ประกันตน รวมถึงให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเตรียมมาตรการรองรับทางเศรษฐกิจในระยะยาวแก่แรงงานทุกกลุ่มโดยถ้วนหน้ากัน

4. ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจตรากำชับมิให้นายจ้างฉวยโอกาสใช้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น เลิกจ้างพนักงาน หรือให้ลูกจ้างพักงาน 14 วันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และให้ลูกจ้างลาโดยใช้สิทธิวันลาพักของตนเอง 

"ขอเชิญชวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกมาตรา องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรธุรกิจ และบุคคลทั่วไปที่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว สามารถร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเร่งยกระดับมาตรการเยียวยาแรงงานทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อไป" จำหมายดังกล่าวระบุตอนท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท