Skip to main content
sharethis

แม้เป็นประเทศที่ผู้ป่วยโควิด-19 สูงสุดในโลก แต่สภาสหรัฐฯ ยังคงทำงาน วุฒิสมาชิกโหวตเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างงบประมาณฉุกเฉินที่ระบุว่าเป็น "การบรรเทาทุกข์" ในช่วงที่ต้องรับมือวิกฤตการระบาด นับเป็นงบประมาณกู้วิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่จะช่วยเหลือภาคธุรกิจ แรงงาน คนว่างงาน ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีนักการเมืองหรือครอบครัวเป็นเจ้าของจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ

27 มี.ค. ช่วงคืนวันพุธที่ผ่านมา (25 มี.ค.) วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ 96-0 เสียง เห็นชอบร่างงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ในวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 72 ล้านล้านบาท) มิตช์ แมคคอนเนลล์ ประธานวุฒิสภาเสียงข้างมากจากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวนี้ไม่นับว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็น "งบประมาณบรรเทาทุกข์ในภาวะฉุกเฉิน" รวมถึงบอกว่าเป็นจำนวนงบประมาณที่เทียบได้กับการเตรียมรับมือสงคราม

ร่างงบประมาณดังกล่าวนี้จะเป็นการช่วยเหลือแก่คนทำงาน ธุรกิจขนาดเล็ก และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยคะแนนโหวตลงมติในครั้งนี้มีคะแนนโหวตเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากทั้ง 2 พรรคอยู่ที่ 96 ต่อ 0 คะแนน จากที่ปกติแล้ววุฒิสภาของสหรัฐฯ มักจะเสียงแตกระหว่างพรรครีพับลิกันกับเดโมแครต

ข้อมูลในวันที่ 27 มี.ค. พบว่าสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันมากที่สุดในโลก แซงหน้าจีนไปแล้วด้วยจำนวน 85,894 ราย เสียชีวิต 1,300 ราย 

ความพยายามกู้วิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ นี้แจกเช็คให้กับบุคคลรายละ 1,200 ดอลลาร์ (ราว 39,000 บาท) สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 75,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 2.45 ล้านบาท) และจะลดระดับลงเรื่อยๆ สำหรับผู้มีรายได้มากกว่านี้ไปจนถึง 99,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 3.2 ล้านบาท)

ทั้งนี้ยังมีเงินทุนช่วยเหลือสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในวงเงิน 367,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 12 ล้านล้านบาท) เลื่อนการชำระเงินกู้ยืมทางการศึกษาออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ย. 2563 ห้ามไม่ให้งบประมาณที่ส่งให้ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถูกนำไปใช้สร้างกำแพงชายแดน นอกจากนี้ยังจัดสรรงบอีกราว 130,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4 ล้านล้านบาท) ให้กับสถานพยาบาลและมีนโยบายขยายประกันคนว่างงาน อีกทั้งยังมีการจัดสรรงบประมาณราว 200,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.5 ล้านล้านบาท) เพื่อ "การเน้นแก้ปัญหาในครัวเรือน" เช่นการเลี้ยงดูเด็กและการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ

เดิมทีวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วนได้ตั้งกระทู้กับร่างฯ ดังกล่าว เพราะไม่พอใจอัตรราเงินช่วยเหลือคนตกงานในวงเงินสูงสุดรายละ 600 ดอลลาร์ (ราว 20,000 บาท) เบอร์นี แซนเดอร์ส ส.ว. อิสระรัฐเวอร์มอนต์เตือนว่าถ้าหากมีการขู่ให้แก้เรื่องการช่วยเหลือคนตกงาน เขาจะเรียกร้องให้ระบุเพิ่มในเนื้อหาว่าบรรษัทใดก็ตามที่จะได้รับเงินช่วยเหลือหลายล้านดอลลาร์จะต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าพวกเขาจะต้องไม่เลย์ออฟคนงาน หรือไม่หันไปจ้างจากต่างประเทศ และไม่จ่ายค่าแรงให้คนงานน้อยกว่าระดับที่ดำรงชีพได้

นอกจากนี้เหล่านักการเมืองสหรัฐฯ ยังถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับร่างงบประมาณช่วยเหลือฉุกเฉินนี้จนกระทั่งปิดร่างได้ในคืนวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ความพยายามของ ส.ว. รีพับลิกันบางคนที่กล่าวหาว่าร่างงบประมาณนี้จะทำให้คนหันมาพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากการตกงานแทนที่จะทำงานก็ถูกตีตกไป

ในร่างงบประมาณยังห้ามไม่ให้ธุรกิจที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และครอบครัวเป็นเจ้าของ รวมถึงธุรกิจที่ครอบครัวของสมาชิกสภาคองเกรสใดๆ ก็ตามเป็นเจ้าของได้รับเงินกู้ยืมหรือเงินทุนจากโครงการนี้ ชัค ชูเมอร์ ส.ว. เสียงข้างน้อยกล่าวว่า "พวกเราคนที่เขียนกฎหมายขึ้นมา ไม่ควรจะตักตวงผลประโยชน์จากกฎหมายนี้"

เรียบเรียงจาก

Senate unanimously passes $2T coronavirus stimulus package, The Hill, Mar. 25, 2020

US Senate passes historic $2tn relief package as coronavirus devastates economy, The Guardian, Mar. 26, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net