Skip to main content
sharethis

27 มี.ค. 2563 'เชียงใหม่' พบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มอีก 4 ราย สะสมเป็น 19 ราย 'ลำปาง' ให้ อสม. 1 คน คอยดูแลบ้านเรือน 20 หลังคาเรือน 'น่าน' ใช้สื่อโซเชียลเปิดแคมเปญ 'พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย โพสต์บอกลูกหลานไม่ต้องปิ๊กบ้าน' .. และสถานการณ์ในจังหวัดภาคเหนืออื่นๆ 


ผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองน่าน ร่วมกันรณรงค์ด้วย ส่งข้อความถึงลูกหลานต่างจังหวัด ไม่ต้องเดินทางกลับบ้านในช่วงนี้ รวมถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

27 มี.ค. 2563 ที่ห้องศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจ จังหวัดเชียงใหม่ (ศ.ข.ฉ.ก.) ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่ 27 มี.ค. 2563 เพื่อแจ้งข้อมูลความคืบหน้าของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้พี่น้องประชาชนทราบโดยทั่วกันผ่านช่องทางไลฟ์สดในเฟสบุ๊คเพจข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่ 

นายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวน 4 ราย รวมผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด 19 ราย โดยใน 1 รายนั้นกลับบ้านไปแล้ว ตั้งแต่ระยะต้นๆ และในปัจจุบันมีผุ้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 18 ราย และมีผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอยู่ในโรงพยาบาลขณะนี้ จำนวน 77 ราย จากทั้งหมด 561 ราย กลับบ้านแล้ว 484 ราย ในส่วนของโรงพยาบาลนครพิงค์มีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ 9 ราย นอนอยู่ที่โรงพยาบาล 6 ราย ส่วนคนไข้ที่อาการดีขึ้น ได้ส่งตัวไปที่โรงพยาบาลประสาทจังหวัดเชียงใหม่ 3 ราย

สรุปแล้วจำนวนทั้งหมด 18 ราย ขณะนี้อยู่ที่โรงพยาบาลสันทราย 2 ราย, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 1 ราย, โรงพยาบาลนครพิงค์ 6 ราย และโรงพยาบาลประสาท 9 ราย สำหรับการสอบสวนโรคใน 4 รายที่ติดเชื้อล่าสุดในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมา พบว่า 3 ราย นั้นต่อเนื่องมาจากการสัมผัสผู้ป่วยรายที่ 495 ซึ่งเป็น DJ MC ที่ทำงานที่ร้าน Sound up Pub และที่ร้าน WB Pub ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และมีผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดอีก 8 ราย ทางทีมสืบสวนสอบสวนโรคได้มีการติดตามและมีจำนวนที่ตรวจพบแล้วคือ รายที่ 551 , 552 และ 553 ซึ่งตรวจแล้วพบผลเป็นบวก โดยในรายที่ 551 ทราบว่าทำงานที่ร้าน Sound up Pub ในวันที่ 13,14 และ 17 มี.ค. และมีการเข้าไปคลาสเต้นที่ DANCEZONE กาดสวนแก้ว วันที่ 13 มี.ค.และวันที่ 14 มี.ค.ยังไปทำงานที่ร้าน WB Pub และ 18 มี.ค.ไปบ้านเพื่อน โดยในวันดังกล่าวมีผู้สัมผัสอยู่ 2 ราย และวันที่ 20 มี.ค.ไปร้านหม่าล่าแถวพายัพกับเพื่อน 1 คน และไปร้านมีนาในวันที่ 21 มี.ค.กับเพื่อนคนเดิม ดังนั้นสรุปว่าผู้ติดเชื้อรายนี้มีผู้สัมผัสสูง อยู่จำนวน 5 ราย ขณะเดียวกันมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในส่วนของ DANCEZONE กาดสวนแก้วนั้นประมาณ 10-20 ราย

ในส่วนของรายที่ 552 ก็เป็นโซนเดียวกันคืออยู่ในส่วนของร้าน Sound up Pub โดยทำงานในร้านวันที่ 14-17 มี.ค. 2563 และไปเที่ยวที่ร้าน WB Pub กับผู้ป่วยราย 495 และมีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูงมากอยู่ 7 ราย เป็นเพื่อนที่ร่วมสังสรรด้วยกัน 6 ราย และเพื่อนร่วมห้องหรืออยู่บ้านเดียวกัน 1 ราย และในส่วนของรายที่ 553 ก้เป็นคนทำงานอยู่ที่ร้าน Sound up Pub และได้ไปเที่ยวกับผู้ป่วยราย 495 มีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ 6 ราย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มเพื่อนที่ไปพริตตี้คลับ 5 ราย และเพื่อนร่วมห้องหรืออยู่บ้านเดียวกัน 1 ราย ซึ่งทั้ง 3 รายมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วในรายที่ 495

และในส่วนของผู้ป่วยรายที่ 4 ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ เป็นผู้ป่วยที่กลับจากประเทศอังกฤษ ในวันที่ 11 มี.ค.ด้วยไฟล์บิน TG911 ลงที่สุวรรณภูมิ และต่อเครื่องตรงไปที่เชียงรายและกักตัวอยู่บ้าน จากนั้น 17 มี.ค.เริ่มมีไข้ แต่ไม่ได้ไปตรวจที่ไหน อยู่บ้านกินยาลดไข้เอง และ 25 มี.ค. 2563 ขับรถจากเชียงรายมาที่โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ โดยรายนี้กำลังรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม แต่ในเครื่องบินไฟล์บิน TG911 ที่ผู้ป่วยนั่งมานั้นไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยง เนื่องจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการวันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคำถามเกี่ยวกับกรณีที่ว่ามีผู้ป่วยจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่นั้น ในส่วนนี้ยังไม่สามารถเรียกเป็นผู้ป่วยได้ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีอาการอะไร ซึ่งรายนี้เป็นคนสนิทของผู้ป่วยติดเชื้อในรายที่ 551 ซึ่งได้มีการนำตัวไปที่โรงพยาบาลประสาทและได้ทำการส่งตรวจซึ่งยังไม่พบอาการและยังให้เป็นกรณีการกักตัวอยุ่ที่บ้านเพื่อรอผลตรวจโดยคาดว่าในช่วงค่ำวันนี้ผลตรวจก็น่าจะออกมาแล้ว และอีกประเด็นคำถามคือกรณีของผู้ที่ไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแจ้งให้กักตัว 14 วัน ต้องนับจากวันที่เข้าไปสัมผัส เช่น เข้าไปในผับที่มีอินเด็กเคส ต้องนับต่อไปอีก 14 วัน

ขณะที่ทางด้าน นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของขณะนี้ได้มีมาตรการในการตรวจค้นคัดกรองพี่น้องประชาชนที่มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงติดโรค โดยขณะนี้ก็ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบพื้นที่เดินทางเข้ามาทั้งสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และสนามบิน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคัดกรอง และจดชื่อผู้เดินทางเข้ามาเพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค โดยจากการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลต่อความไม่สะดวกของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในจังหวัดและที่เดินทางเข้ามา อย่างไรก็ตามในขณะนี้รายชื่อทั้งหมดที่ได้มาจาก 3 เส้นทาง ได้มีการนำส่งไปยังอำเภอท้องที่ที่ผู้เดินทางเข้ามามีภูมิลำเนาอยู่และฝากให้ทางชุดปฏิบัติการอำเภอได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพื่อให้มีการดำเนินการกักตัวอยู่ในที่พัก รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,199 ราย

เวลาประมาณ 19.10 น. เพจประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้เผยแพร่คำชี้แจงของ DANCEZONE ยืนยันว่าผู้ป่วย เคส 551 ได้เข้าเรียนคลาสเต้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ Studio 3 ชั้น 7 เวลา 18.00-20.00 น. หลังจากนั้นจึงได้ไปทำงานที่ Sound up Pub ในตอนกลางคืน

แม่ฮ่องสอน  มีผู้เข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB 32 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 จำนวน 21 ราย พบเชื้อ 1 ราย ส่วนอีก 10 รายรอผล

จ.แม่ฮ่องสอน (ข้อมูล ณ 26 มี.ค.) รายงานผู้เข้าข่ายสอบสวนโรค COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-26 มี.ค. 2563 อ.เมือง เข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB 7 ราย, อ.ปาย เข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB 15 ราย ตรวจพบเชื้อ 1 ราย รอผล 6 ราย, อ.ปางมะผ้า เข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB 6 ราย รอผล 3 ราย, อ.ขุนยวม 0 ราย, อ.แม่ลาน้อย เข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB 1 ราย รอผล 1 ราย, อ.แม่สะเรียง เข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB  3 ราย, อ.สบเมย 0 ราย, รวมเข้าเกณฑ์ส่งตรวจ LAB 32 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ COVID-19 จำนวน 21 ราย รอผล 10 ราย

ทั้งนี้ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ที่เดินทางจากเขตติดโรคอันตราย และพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง พำนักอยู่ในพื้นที่ ณ วันที่ 26 มี.ค. 2563 ได้แก่ ต่างชาติที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (29 ประเทศ) แบ่งเป็น เขตโรคติดต่ออันตราย 3 ราย, เขตพื้นที่โรคระบาดต่อเนื่อง 10 ราย และแรงงานที่เดินทางกลับจากเขตโรคติดต่ออันตราย (เกาหลี) รวม 16 ราย แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวังอาการ ครบ 14 วัน 11 ราย และกลุ่มเฝ้าระวังยังไม่ครบ 14 วัน 5 ราย

พะเยา ยืนยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ มีผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนจำนวน 33 ราย

27 มี.ค.2563 นายกมล เชียงวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยา ที่ ห้องประชุมภูกามยาว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา ต่อสื่อมวลชนว่าจนถึงขณะนี้จังหวัดพะเยา ยังไม่พบผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยล่าสุดมีผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนจำนวน 33 ราย โดยทำการส่งตรวจไม่พบเชื้อทั้ง 33 ราย ในจำนวนนี้กลับบ้านแล้ว 31 ราย และยังคงเฝ้าดูอาการจำนวน 2 ราย โดยที่ผ่านมาจังหวัดพะเยา ได้ระดมทุกภาคส่วน ภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19  ได้มีการออกคำสั่ง 3 ฉบับ และประกาศอีก 2 ฉบับ ตามมาตรการสกัดกั้น และยับยั้ง การแพร่ระบาด  เว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing  ที่นำมาใช้ต่อกร กับการระบาดของไวรัสโควิด 19, การงดการเข้าออกด่านชายแดนของบุคคลต่างด่าว และภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ทำให้จังหวัด ต้องเพิ่มการยกระดับการดำเนินการดังกล่าว โดยเปลี่ยนจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19 จังหวัดพะเยา เป็น ศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จังหวัดพะเยา ทำให้การทำงานเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการบูรณาการทั้งภารรัฐ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ แลภาคเอกชน  ในการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ไปกลุ่มเป้าหมาย คือชาวพะเยาทั้งหมด   โดยขณะนี้จังหวัดพะเยา ได้มีการตั้งด่านหลักที่จะเข้าสู่จังหวัดพะเยาจำนวน  6 ด่านด้วยกัน  มีข้าราชการพลเรือน ทหาร  ตำรวจ  ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข คอยตรวจสกัดกั้น  รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนในขณะนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ขอความร่วมมือให้ประชาชน ช่วยประชาสัมพันธ์ และร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาด ตามที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขให้คำแนะนำ และให้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  มิเช่นนั้น อาจจะทำให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฯ ไม่มีประสิทธิภาพ และขอขอบคุณที่ประชาชนชาวพะเยาทุกคน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อาจจะมีผลกระทบบ้างแต่เราก็ต้องทำ เพื่อฝ่าวิกฤติร่วมกัน

ด้านนายแพทย์ไกรสุข  เพชรบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา ระบุว่าจังหวัดพะเยา มีมาตรการด้านสาธารณสุขประกอบมาตร การลดโอกาสการแพร่เชื้อ การสกัดกั้นคนเข้า และออกจังหวัดพะเยา ด้วยกระบวนการทางสาธารณสุข การชะลอการระบาด การเว้นระยะห่างทางสังคม  การป้องกันตนเอง การไม่แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น โดยจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นควบคู่ไปด้วย  การเฝ้าระวังตรวจคัดกรองด่านชายแดน การตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล การเฝ้าระวังใสชุมชุน หมู่บ้านและมาตรการการปลอดภัยจากโรคติดเชื้อ  

แพทย์หญิงจิรพร ภัทรนุธาพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพะเยาเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลพะเยา ได้ใช้มาตรการในการจำกัดเส้นทางเข้าใช้บริการ โดยจะมีการวัดอุณหภูมิ หากพบว่ามีไข้ จะทำการคัดแยก  , การให้ไปรับยาที่ รพ.สต. และร้านขายยา  หรือโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน , ลดและเลื่อนการให้บริการผ่าตัดบางกรณี งานทันตกรรมที่มีโอกาสแพร่เชื้อสูง , แพทย์แผนไทย นวด การเว้นระยะห่างทางสังคม  ลดการเยี่ยม  เฝ้าไข้ได้เตียงละ 1 คน  และวันที่ 1 เม.ย.เป็นตนไปทาง รพ.พะเยา จะงดการเยี่ยมเด็ดขาด  แต่จะให้เยี่ยมทางโทรศัพท์ หรือ ทางวีดีโอคอล แทน  และขอขอบคุณภาคเอกชน และประชาชนทุกคน ที่ร่วมกันสนับสนุนหน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆให้กับทางโรงพยาบาลพะเยามา ณ โอกาสนี้ด้วย

ขณะที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายชุติเดช  มีจันทร์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้รับมอบ แอลกอฮอล์ จากสำนักงานสรรพสามิตจังหวัดพะเยา ที่ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา นำมามอบให้ จำนวน 500 ลิตร ในระยะแรก และจำนำมามอบให้จนครบ 3,000 ลิตร  เพื่อนำมาผลิตเป็นเจลล้างมือ ได้ 7,200 ขวด  เพื่อส่งมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ไปสนับสนุน กิจกรรมในโรงพยาบาลในจังหวัดพะเยาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคคอบิด 19 ด้วย

แพร่ รายงานผลตรวจห้องปฏิบัติการผู้สัมผัสผู้ป่วยและสัมผัสสนามชนไก่กรณีพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 พื้นที่อำเภอลอง

27 มี.ค. 2563 นายแพทย์ขจร วินัยพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่เปิดเผยว่า จังหวัดแพร่สรุปผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้สัมผัสร่วมผู้ป่วยและสัมผัสสนามชนไก่กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 รายในพื้นที่อำเภอลอง ข้อมูล ณ วันที่ 26 มี.ค. 2563 ว่าผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงคือบุคคลในครอบครัวจำนวน 4 คนผู้สัมผัสสนามชนไก่เวียง ทองจำนวน 2 คน และผู้สัมผัสสนามชนไก่ทุ่งกวาว และปากกาง จำนวน 2 คน ปรากฏว่าทั้งหมดไม่พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19แต่อย่างใด ทั้งนี้จังหวัดแพร่ยังคงเฝ้าระวังบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่ำที่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยการให้ควบคุมตนเองในที่พักอาศัยจนกว่าจะครบเวลา 14 วันตามกำหนด โดยทางจังหวัดแพร่ยังคงขอความร่วมมือบุคคลดังกล่าวงดการเดินทางออกนอกบ้าน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขคือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของจังหวัดแพร่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ลำปาง ให้ อสม. 1 คน คอยดูแลบ้านเรือน 20 หลังคาเรือน - มีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสมรวม 32 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ 

27 มี.ค. 2563 นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่าจังหวัดลำปางยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสามารถควบคุมบุคคลเข้าออกในจังหวัดลำปางได้ 100% โดยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดและพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่มีบุคคลเดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง มีการประชุมวางแผนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีบุคคลเดินทางกลับจากประเทศพื้นที่เสี่ยงจะเข้าไปทำความเข้าใจ เพื่อให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังทันที โดยให้ อสม. 1 คน คอยดูแลบ้านเรือน 20 หลังคาเรือน ทำงานร่วมกับผู้นำระดับหมู่บ้าน ซึ่งได้ผล

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เริ่มจากขอความร่วมมือ อาทิ ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ก่อนที่จะใช้กฎหมายทางฝ่ายปกครอง และผู้ว่าฯ จะออกตรวจเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจและให้ความร่วมมือ หากยังคงฝ่าฝืนจะใช้มาตรการอื่นเพิ่ม เช่น กดดันโดยให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าตรวจสอบเส้นทางการเงินและระบบภาษี ก่อนบังคับตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่เข้าออกจากการเดินทางโดยระบบสาธารณะ อย่างรถทัวร์ จะสแกนทุกคนที่ขึ้นรถจากต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เมื่อถึงลำปางจะมีจุดเช็กพ้อยของรถทัวร์ ทาง สสจ. จะให้เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบ แจกโบรชัวร์ และให้ทุกคนกรอกข้อมูลส่วนตัวว่าจะไปลงปลายทางที่ไหน ลงรถแล้วจุดหมายปลายทางในพื้นที่ไหน และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ รถมาถึงสถานีก็จะให้เข้าออกเพียง 1-2 ช่อง เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ขณะนี้ได้เพิ่มมาตรการเพิ่มเติมตามลำดับ ยอมรับว่ายังมีบางส่วนไม่ปฏิบัติตามที่ประกาศหรือขอความร่วมมือ

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ตระหนัก เข้าใจ และให้ความร่วมมือ โดยเวลาออกนอกบ้านไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง และเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่จังหวัดลำปางยังไม่มีการระบาด หรือยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เนื่องจากมาตรการของพ่อเมืองลำปางที่ออกมา และจะลงพื้นที่เพื่อกำชับและตรวจสอบด้วยตัวเอง หากพบช่องโหว่จะแนะนำให้ปรับทันที

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 26 มี.ค. จังหวัดลำปางมีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสมรวม 32 ราย ไม่พบเชื้อกลับบ้านแล้ว 31 ราย รอผลตรวจ 1 ราย ผู้ที่กลับจากพื้นที่เขตติดโรคอันตราย พื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และผู้สัมผัสสะสม รวม 1,021 ราย กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน รวม 295 ราย พ้นระยะกักตัว 726 ราย

น่าน ใช้สื่อโซเชียลเปิดแคมเปญ 'พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย โพสต์บอกลูกหลานไม่ต้องปิ๊กบ้าน'

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วยทีมประชาสัมพันธ์เทศบาลเมืองน่าน เร่งทำช่องทางออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊คเทศบาลเมืองน่าน คิวอาร์โค้ด ชาวเทศบาลเมืองน่านร่วมใจต้านภัยโควิด19 และสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและหน่วยงานในการแจ้งข้อมูลผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ โดยทำงานควบคู่ไปกับ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลฯ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยเฉพาะช่วงนี้มีประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การเปิดช่องทางออนไลน์ นอกจากจะเป็นการแจ้งข้อมูลเพื่อติดตามผู้มีความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นช่องทางประสานขอความช่วยเหลือเรื่องหน้ากากอนามัย  แอลกอฮอล์และเจลล้างมือ อาหารและความเป็นอยู่ในระหว่างการกักตัว รวมถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเมื่อต้องถูกกักตัวอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน ถึงแม้ขณะนี้ในจังหวัดยังไม่พบผู้ติดเชื้อ

ขณะเดียวกันผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองน่าน ร่วมกันรณรงค์ด้วย ส่งข้อความถึงลูกหลานต่างจังหวัด ไม่ต้องเดินทางกลับบ้านในช่วงนี้ รวมถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง ที่เป็นช่วงเวลาในรอบปีของครอบครัวที่จะได้พบหน้ากัน เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสระหว่างการเดินทาง และเพื่อทำตามมาตรการของทางหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด โดยตัวแทนผู้สูงอายุได้ขึ้นโพสต์ข้อความแสดงความรักและความเข้าใจ หากลูกหลานจะไม่กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงนี้ และขอให้ลูกหลานดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส  นอกจากนี้ ยังชวนลูกหลานให้ใช้ช่องทางสื่อโซเชียลและสื่อออนไลน์ ในการติดต่อหากคิดถึงและเป็นห่วง

ที่มาเรียบเรียงจาก: ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่ | เชียงใหม่นิวส์ | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2] [3] | สำนักข่าวไทย [1] [2]





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net