Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา ‘ลัทธิเสรีนิยมใหม่กับมนุษย์ใช้แล้วทิ้ง’ ที่บรรยายโดย ‘ภัควดี วีระภาสพงษ์’ เปิดมุมจากกระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้าผ่านการลดทอนแรงงาน 'Mass Production' ถึง ‘อีเว้นท์’  ชี้เป้าสำคัญคือ ลดอำนาจการต่อรองของแรงงาน

เสวนาสาธารณะหัวข้อ “ลัทธิเสรีนิยมใหม่กับมนุษย์ใช้แล้วทิ้ง” เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 ณ ห้องประชุม 3 อาคาร 3 (ห้องสีฟ้า) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระซึ่งมีผลงาน อาทิ ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม, ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ฯลฯ ชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งและความสัมพันธ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่กับมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน  

การทำลายวิถีชีวิตของมนุษย์ผ่านการทำให้กลายเป็นแรงงานในระบบทุนนิยม

ภัควดี กล่าวถึงงานของ คาร์ล โปลานยี (Karl Polanyi นักสังคมนิยมและนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ผู้เขียน 'The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time') ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อเสนอที่ว่า ระบบทุนนิยมไม่ใช่วิวัฒนาการที่มาจากระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ในสมัยก่อน แต่ระบบทุนนิยมมีลักษณะของการแตกเส้นทางใหม่เนื่องจากตลาดคือสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคมโบราณสมัยก่อนและสังคมจะเป็นผู้ที่กำกับดูแลระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมกลับมีลักษณะพิเศษตรงที่ว่ามันสามารถที่จะขยายตัวของมันเองจนทำให้ระบบทางสังคมไปฝังอยู่ภายในระบบเศรษฐกิจ เข้าไปกำหนดวิธีคิดในการดำเนินวิถีชีวิตของสังคม ทั้งนี้วิธีคิดในเรื่องตลาดเสรีก็เป็นระบบคิดที่จะไปกำหนดว่าสังคมควรจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น 3 สิ่งที่ไม่ควรจะถูกทำให้กลายเป็นสินค้าได้แก่ 1. ที่ดิน ที่ไม่ควรทำให้กลายเป็นสินค้าทั้งหมด แต่ก็ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า 2. เงิน ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวแทนของมูลค่า แต่สุดท้ายถูกทำให้เป็นสินค้าโดยตัวมันเอง 3. แรงงานของมนุษย์ ที่จะต้องถูกนำไปขายเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เรามีความรู้สึกผิดเมื่อเราไม่สามารถที่จะขายแรงงานได้

ช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งที่ตามมาเมื่อการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าคือการพยายามทำให้แรงงานในฐานะของการเป็นสินค้าเข้าไปอยู่ในระบบตลาดหรือการพยายามทำให้มนุษย์ละทิ้งระบบวิถีชีวิตในชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม ซึ่งวิธีการของทุนนิยมที่จะทำเช่นนี้ได้คือการเข้าไปทำลายชุมชนดั้งเดิมหรือระบบเกษตรกรรมแบบยังชีพทิ้งให้หมด ตลอดจนในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมการที่ขุนนางเข้าไปล้อมเขตที่ดินของส่วนรวม เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรและที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน คือการเข้าไปทำให้ที่ดินเป็นสิ่งที่มีเจ้าของส่วนตัว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนต้องเข้าเมืองเพื่อไปขายแรงงาน ซึ่งสภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้นก็มีผลต่อโลกทัศน์ของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป

การทำให้มนุษย์ไม่พอกิน คือ การบีบบังคับให้มนุษย์ขายแรงงาน การจ่ายค่าแรงที่เจ้าของปัจจัยการผลิตจ่ายให้แรงงานนอกจากการจ่ายให้น้อยกว่ามูลค่าที่สร้างได้แล้วก็จะต้องจ่ายให้ในระดับที่ไม่ให้แรงงานสบายเกินไป กล่าวคือความหิวคือตัวผลักดันที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนเข้าไปขายแรงงานในตลาดและเมื่อคนเข้าไปขายแรงงานในระบบตลาด สิ่งที่แรงงานถูกกระทำคือการถูกเปลี่ยนระเบียบวินัยหรือสร้างโลกทัศน์ใหม่ให้สอดรับกับระบบซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งนี้คือหลักฐานของการเป็นพวกเราในทุกวันนี้ภายใต้ระบบดังกล่าว

พัฒนาการของระบบทุนนิยมในยุคแรกเริ่มสู่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่

ภัควดี กล่าวว่า ในยุคแรกของระบบทุนนิยมภายใต้วิธีคิดแบบ Taylorism คือการพยายามย่อยวิธีการผลิตให้เหลือแต่ชิ้นงานที่เรียบง่ายที่สุดแล้วให้คนที่ไม่มีทักษะเข้าไปทำการผลิตซ้ำๆ แล้วสุดท้ายจึงค่อยนำไปประกอบให้กลายเป็นสินค้าที่สมบูรณ์ออกมา วิธีคิดดังกล่าวมองมนุษย์ที่เข้าไปในระบบสายพานการผลิตในลักษณะที่ว่าเปรียบเสมือนกอริลลาที่ถูกฝึกแล้ว นอกจากจะสร้างการผลิตแบบมวลรวม (Mass Production) แล้วก็ยังเป็นสิ่งที่ลดทอนทักษะของมนุษย์

ทุนนิยมจะเข้ามาทำลายทักษะเฉพาะทางของการผลิตสินค้าตามวิถีดั้งเดิมที่จะไม่ให้ใครสามารถที่จะถือครองลักษณะเฉพาะนั้นได้ กล่าวคือ ทุนนิยมจะทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะมีทักษะในการทำสินค้าได้ด้วยตัวเองซึ่งจะต้องใช้วิธีการไปซื้อสินค้าในตลาด ซึ่งเมื่อพิจารณาจะพบว่ามนุษย์เมื่อก่อนจะมีศักยภาพในการทำอะไรได้หลากหลายมากกว่าเราในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทสมัยก่อนเราจะรู้สึกว่าทำไมพวกทำสามารถที่จะทำหรือประดิษฐ์อะไรหลายๆ อย่างได้ เพราะว่าเขามีทักษะที่หลายหลายซึ่งเป้าหมายของทุนนิยมจะต้องทำลายทักษะพวกนี้ออกไปให้หมด

การลดอำนาจการต่อรองของแรงงานคือประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างมากที่ระบบทุนนิยมกระทำต่อมนุษย์ กล่าวคือ ยิ่งไร้ทักษะเท่าไรก็ยิ่งไร้อำนาจการต่อรองมากเท่านั้น

จากยุค Taylorism สู่ยุคของ Fordism เป็นลักษณะของทุนนิยมที่เริ่มมีความซับซ้อนขึ้นและสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตสินค้าที่ซับซ้อนซึ่งจะมีสายพานการผลิตที่จะมีตั้งแต่งานที่เป็นพื้นฐานไปจนถึงงานที่ต้องใช้ทักษะขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบ Taylorism หรือ Fordism ก็มีลักษณะของการรวมเอาแรงงานเข้ามาสู่โรงงานในที่เดียวกันจำนวนมากซึ่งสิ่งที่ตามมาคือการรวมตัวของแรงงานและทำให้เกิดอำนาจการต่อรองที่สูงขึ้นและการต่อสู้ทางชนชั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบทุนไม่ส่งเสริมเนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการสะสมทุน ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งสะท้อนวิกฤตของทุนนิยมแต่อีกแง่หนึ่งการพัฒนาทางเทคโนโลยีก็ทำให้ระบบทุนนิยมเข้ามาสู่อีกช่วงสมัยหนึ่งที่เราเรียกกันว่าระบบเสรีนิยมใหม่

ระบบแบบเสรีนิยมใหม่มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือสภาวะของ โลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายล้างพื้นที่ (เทศะ) ด้วยเวลา (กาละ) กล่าวคือ โลกาภิวัตน์ทำการย่อพื้นที่เข้ามาด้วยการทำให้เวลาเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น  การที่เราไปถึงสถานที่ใดๆ ได้ไวขึ้นมันเป็นเพราะเราสามารถทำให้ระยะเวลาในการเดินทางของเราสั้นลง ดังนั้นทุนนิยมจึงใช้ข้อได้เปรียบของความเหลื่อมล้ำทางภูมิศาสตร์ทำการแตกสายพานการผลิตออกไปทั่วโลกที่เดิมที่อยู่แต่ในโรงงานเดียว

สิ่งที่ตามมาจากสภาวะดังกล่าวคือ แรงงานราคาถูกลง หมายถึง การทำให้มีแรงงานที่ว่างงานอยู่จำนวนมากและเป็นแรงงานที่พร้อมจะยอมทำงานเพื่อค่าแรงถูกๆ และเป็นการลดอำนาจการต่อรองของแรงงาน ประกอบกับในส่วนของภาคการเงินก็ทำให้เงินกลายเป็นสินค้าในตัวมันเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตไม่จำเป็นต้องไปลงทุนในภาคการผลิตจริงแต่สามารถมาลงทุนในภาคการเงินได้ ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือ ตลาดหุ้น

ภัควดี ชี้ให้เห็นอีกว่า ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกนี้มีการขยายตัวมากขึ้น การที่อาชีพอย่างฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีบำนาญเมื่อเกษียณ หรือแม้แต่การเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีวันเกษียณ ทั้งหมดนี้ก็คือ การถูกขูดรีดในรูปแบบหนึ่ง ในกรณีของหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ก็เป็นสิ่งที่เข้ามาลดทอนทักษะของแรงงานวิชาชีพ และเมื่อความจำเป็นของมนุษย์ในระบบการผลิตน้อยลงไปทุนนิยมก็จะมีความโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่จำเป็นต้องใส่ใจ

‘อีเว้นท์’ การสร้างกิจกรรมให้กลายเป็นสินค้าผ่านการลดทอนแรงงาน

ภัควดี สะท้อนให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันอัตราการบริโภคภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มีลักษณะเป็นการบริโภคที่ถูกทำให้รวดเร็ว กล่าวคือสินค้าชนิดหนึ่งมักจะถูกทำให้อายุการใช้งานสั้นลงและในส่วนของการผลิตก็จะต้องเร่งความเร็วสอดรับกับสายพานการผลิตให้รวดเร็วขึ้น

ข้อสังเกตหนึ่งเราจะพบว่า สินค้าในสมัยก่อนจะมีสภาพการใช้งานที่คงทนกว่ายุคปัจจุบัน อย่างเช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น หรือ โทรศัพท์มือถือบางรุ่น แต่ว่าสินค้าในยุคปัจจุบันจะต้องถูกทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้นลงเพราะมันจำเป็นที่จะต้องทำให้อัตราการหมุนเวียนของการบริโภคมันหมุนเร็วขึ้น หากว่าสินค้าที่มีความคงทนก็จะถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งตกยุคผ่านวิธีทางการตลาดเข้ามาครอบงำวิธีคิดของคนให้มีโลกทัศน์อีกแบบ

สินค้าที่มีอายุการใช้งานที่สั้นที่สุด ผลิตเร็วที่สุดและมีมูลค่าสูงสุดคือสินค้าประเภท ’อีเว้นท์’ คือการสร้างอีเว้นท์ต่างๆ ขึ้นมาซึ่งมีลักษณะของการเป็นสินค้าเชิงนามธรรมและเป็นสินค้าที่ทันสมัยก้าวหน้าโดยเฉพาะสินค้าในลักษณะของการเป็น ‘มหรสพ’ หรือ เศรษฐศาสตร์แบบมหรสพ จะมีลักษณะของการเป็นกิจกรรมในรูปแบบอีเว้นท์ระยะสั้นที่บริโภคแล้วหมดไปเลยซึ่งอีเว้นท์ในลักษณะดังกล่าวก็เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่อดีตอย่างเช่น ภาพยนตร์ ละครหรือแม้กระทั่งงานฟุตบอลโลกที่จะจัดให้มีทุกสี่ปีและพวกฟุตบอลสโมสรที่มีลักษณะของการจัดขึ้นและหมดไปในช่วงระยะเวลานั้น อย่างไรก็ตามอีเว้นท์ในลักษณะนี้ก็ยังคงต้องให้ระยะเวลาและต้นทุนอยู่มากก่อนที่จะทำให้สินค้ารูปแบบนี้ขายได้

ปัจจุบันนี้ความพยายามที่จะทำให้สายพานการผลิตและการบริโภคมีการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วขั้นดังนั้นปรากฏการณ์หนึ่งที่เราจะเห็นลักษณะทางเศรษฐศาสตร์แบบมหรสพที่ชัดเจนที่สุดในแง่ของการใช้ระยะเวลาบริโภคที่สั้นที่สุด ใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดต้องดูปรากฏการณ์ที่เรียกว่า BNK48 หรือ กลุ่มไอดอลที่เริ่มมาจาก AKB48 ของประเทศญี่ปุ่น

ข้อสังเกตประการแรก คือ เราจะพบว่าในแง่ของการสร้างกลุ่มไอดอลเหล่านี้เป็นวิธีการลงทุนที่บริษัทลงทุนน้อย กล่าวคือนายทุนสามารถทำรายได้ได้ตั้งแต่ตอนที่มีการเปิดรับสมัครไอดอลเพราะเขาทำให้การรับสมัครเป็นอีเว้นท์ซึ่งเราจะพบว่าสินค้าที่จะนำมาขายนี้เป็นทรัพย์สินที่ติดตัวคนที่มาสมัคร เช่น หน้าตา การศึกษาที่ครอบครัวของผู้สมัครเหล่านั้นเป็นผู้ลงทุนมาให้อยู่แล้ว รวมไปถึงบุคลิกภาพต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวกลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ที่มาสมัคร และเมื่อนำเอาวัยรุ่นเหล่านี้มาเป็นสินค้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปลงทุนอะไรกับเขามากเนื่องจากสามารถที่จะขายได้เลยตั้งแต่วันที่คัดตัว และในช่วงระยะเวลาของการที่ฝึกฝนก็เป็นสิ่งที่ทำให้ขายได้ไปด้วยดังจะเห็นได้จากการให้ดูการถ่ายทอดสดในระหว่างการฝึกฝนและสิ่งนี้ก็เป็นการสร้างมูลค่าของสินค้าไปในตัวด้วยเช่นกัน

ในตัวของไอดอลเองไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือวิถีชีวิตของเขาก็จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ของบริษัททั้งหมดซึ่งเขาก็สามารถที่จะถูกบงการด้วยกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ อย่างเช่น การห้ามมีแฟน หรือการถ่ายรูปกับคนภายนอกในลักษณะสองต่อสอง และข้อห้ามอีกจำนวนมากสะท้อนให้เห็นถึงการลดทอนผ่านการถูกทำให้เป็นสินค้าของบริษัท

ในส่วนของการประชาสัมพันธ์บริษัทก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปลงทุนในด้านประชาสัมพันธ์ให้มากเนื่องจากว่า โซเชียลมีเดีย (Social media) คนที่เป็นแฟนคลับหรือเป็นโอตะก็คือคนที่เป็นผู้ประชาสัมพันธ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไอดอลของตัวเอง กลุ่มโอตะคือผู้ที่ผลิตซ้ำความชื่นชนยินดีต่างๆ จนกระทั่งทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างเช่นการที่บางครั้งไอดอลแต่งตัวแย่มากแต่โอตะก็จะพูดจนทำให้ไอดอลสวยได้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้บริษัทก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมอะไรให้มันเลิศเลอมากเหมือนอดีต

จุดสูงสุดของสินค้าที่ขายก็คือระบบจับมือซึ่งสำหรับผู้บริโภคก็อาจจะต้องเสียเงินเพื่อให้ตัวเองได้ไปจับมือและการจัดมือนี้ถือเป็นการจัดอีเว้นท์ที่สั้นที่สุดแต่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าได้สูงมากซึ่งถือเป็นการบริโภคที่หมดไปอย่างรวดเร็วอย่างมากอาจจะเหลือไว้เพียงรูปถ่ายไว้กลับบ้านแต่ก็ไม่รู้ว่าก่อนหน้าที่จะได้มาจับมือนี้เราจะต้องเสียเงินไปมากน้อยเท่าไร และในส่วนของตัวไอดอลเองคนไหนที่ไม่มีความสำคัญก็จะต้องถูกแจงออกไปเหมือนกับเป็นการถูกทิ้งไปจากการเป็นสินค้าของบริษัท

อาจกล่าวได้ว่าลักษณะของการผลิตซ้ำและการบริโภคที่ใช้แล้วหมดไปอย่างรวดเร็วนี้เป็นความฝันสูงสุดของระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เพื่อทำให้เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและกำไรสูงสุดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้าที่เป็นสินค้าประเภทใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net