Skip to main content
sharethis

กระทรวงสาธารณสุขแถลงมีผู้เสียชีวิต COVID-19 แล้ว 5 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่ 91 ราย รวมป่วยสะสม 1,136 ราย ด้านนายแพทย์จากกรมควบคุมโรคประเมินจนถึง 15 เม.ย. หากหย่อนมาตรการเว้นระยะห่าง (social distancing) จะมียอดผู้ป่วยสะสม 25,225 ราย หากทำได้ 50% จะมีผู้ป่วย 17,635 ราย และหากทำได้ 80% จะมีผู้ป่วยเพียง 7,745 ราย

เสียชีวิตเพิ่มเป็นรายที่ 5 ยอดผู้ป่วยสะสม 1,136 ราย

ที่ศูนย์แถลงข่าว โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี มีการแถลงข่าวประจำวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยเนื้อหาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าสถานการณ์ถึงเวลา 08.00 น. (27 มี.ค.) มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านแล้ว 97 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,034 ราย เสียชีวิต 5 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่ 91 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,136 ราย

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกใน 196 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 27 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 519,899 ราย เสียชีวิต 23,588 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 81,285 ราย เสียชีวิต 3,287 ราย อิตาลีพบผู้ป่วย 80,589 ราย เสียชีวิต 8,215 ราย

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 63 (ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 63 (ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

การแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  COVID-19 ที่ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร ชั้น 9  ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 27 มี.ค. 63 (ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

กระทรวงสาธารณสุขเสนอข้อมูลเมื่อ 27 มี.ค. 63 ว่าผู้ป่วยสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 63 ส่วนผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มคงที่ (ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข)

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 9 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่ม 91 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 30 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 7 ราย และกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 18 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 19 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 10 ราย, กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 5 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 4 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 42 ราย
         
ส่วนรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 50 ปี จากโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 11 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 97 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,034  ราย เสียชีวิต 5 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,136  ราย

สำหรับกลุ่มผู้เดินทางจากอิตาลี วันนี้เป็นวันที่ 12 ของการเฝ้าระวังที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ จำนวน 83 คน ทุกคนอาการปกติไม่มีไข้ โดยในวันนี้จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ครั้งที่ 3

เข้ม Social Distancing ช่วยลดจำนวนผู้ป่วย

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล แถลงว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย (วันที่ 26 มีนาคม 2563) พบผู้ป่วยใน 52 จังหวัด เป็นคนไทยร้อยละ 88 ต่างชาติร้อยละ 12 กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 จากข้อมูลที่มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คาดว่าจะไปป่วยที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป 

นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้อยู่ในจุดเปลี่ยนที่ต้องขอความร่วมมือในการรักษาระยะห่าง Social Distancing จากการคาการณ์จนถึงวันที่ 15 เม.ย. 2563 หากไม่มีมาตรการป้องกันจะมีผู้ป่วยสะสม 25,225 ราย หากทำมาตรการ Social Distancing ได้ร้อยละ 50 จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย และหากทำได้ร้อยละ 80 จะมีผู้ป่วยสะสม 7,745 ราย "ดังนั้นจุดนี้สำคัญมาก เพราะถ้าผู้ป่วยไม่มาก เราก็จะยังรักษา ดูแลกันได้ แต่ถ้ามากเกินไป คงไม่ไหว"

ตัวอย่างประมาณความเข้มข้นของ Social Distancing ที่คณะแพทย์เสนอมีดังนี้

รถบัสโดยสาร
Social Distancing 50% ลดจำนวนผู้โดยสารลงครึ่งหนึ่ง เช่น ให้นั่งคู่ละคน
Social Distancing 80% -

รถไฟฟ้า 
Social Distancing 50% จำกัดจำนวนผู้โดยสารต่อตู้ การนั่งในรถที่เว้นที่นั่งยืนห่างกัน 1 เมตร
Social Distancing 80% การนั่งในรถที่นั่งเว้นที่นั่ง ไม่มีการยืน

ห้างสรรพสินค้า 
Social Distancing 50% ปิดเฉพาะส่วนที่แออัด เช่น โซนเด็กเล่น โรงหนัง ร้านนั่งกิน
Social Distancing 80% ปิดเกือบทั้งหมด เหลือแต่ซุปเปอร์มาร์เกต เว้นระยะยืนห่างกันในการรอคิว

ที่ทำงาน 
Social Distancing 50% work from home 50% ต่อวัน
Social Distancing 80% work from home ให้มากที่สุด

ร้านอาหาร 
Social Distancing 50% จำกัดที่นั่งโต๊ะละ 1-2 คน
Social Distancing 80% ไม่มีที่นั่ง ให้ซื้อกลับบ้าน

สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร ที่มีบริการประชาชน 
Social Distancing 50% จำกัดที่นั่งรอเว้นระยะห่าง
Social Distancing 80% แนะนำบริการออนไลน์ให้มากที่สุด ไม่ต้องเข้าสถานที่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้ยกระดับความเข้มข้นทุกมาตรการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ปิดพื้นที่และควบคุมการจัดการภายในพื้นที่เสี่ยงสูง อาทิ กรุงเทพฯ ปริมณฑล แหล่งท่องเที่ยว หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีมาตรการเข้าออกเคหสถาน หรือสถานที่พำนักของตนเอง

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน/ ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง หอบหืด ภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันรางกายต่ำ เช่น กำลังรับยากดภูมิคุ้มกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายคือ กลุ่มเด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net