Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรีประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 16 ข้อ สื่อพาดหัวให้ตื่นเต้น คนอายุเกิน 70 เด็กต่ำกว่า 5 ขวบ คนมีโรคประจำตัว ให้อยู่บ้าน แต่อ่านจริงๆ ไม่ใช่ห้าม เป็นแค่มาตรการพึงปฏิบัติ เพราะมีข้อยกเว้นยาวเหยียด และไม่กำหนดโทษ

เพราะรัฐบาลก็รู้ บางคนมีความจำเป็นต้องไปทำงาน หาซื้ออาหาร ของใช้ ฯลฯ ซึ่งในสถานการณ์โรคติดต่ออย่างนี้ไม่จำเป็นก็ไม่มีใครอยากออกจากบ้าน

เอาเข้าจริง สถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศไป จึงยังไม่มีอะไรให้ตกใจ เพราะยังไม่ห้ามออกจากบ้าน ยังไม่ห้ามเดินทาง ยังไม่สั่งหยุดงาน ฯลฯ นอกจากที่สั่งไปแล้ว โดยใช้อำนาจผู้ว่าฯ

พูดอีกอย่างคือ รัฐบาลยังไม่ได้ใช้อำนาจ “ฉุกเฉิน” ควบคุมกักกันโรค นอกเหนือจากที่ใช้อำนาจไปแล้ว ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

ข้อนี้ประชาชนอย่าสับสน อำนาจตรวจค้น อำนาจกักตัว อำนาจสั่งห้ามใช้อาคาร อำนาจสั่งห้ามใช้เส้นทาง เป็นอำนาจที่ผู้ว่าฯ มีอยู่แล้วในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

เช่นการตั้งด่านบุรีรัมย์ก็ตั้งมาก่อน แต่พอใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะมีทหารไปร่วมด้วย คำสั่งผู้ว่าฯกทม. ปิด 26 สถานที่ชั่วคราว ก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งฟ้องศาลปกครองไม่ได้เหมือนกัน

อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศเพิ่ม จึงมีแค่ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ห้ามจนแทบเข้าไม่ได้อยู่แล้ว) ห้ามกักตุนสินค้า (ผิดอยู่แล้วแต่โทษหนักขึ้น) ห้ามชุมนุม (ปัดโธ่ ยังมีใครชุมนุม) และควบคุมการเสนอข่าว รวมถึงโซเชี่ยลมีเดีย

กระนั้น ในด้าน Social Distance ก็ยังไม่ห้ามพิธีการทางสังคม เช่น เช็งเม้ง

สถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศมา แม้ทำให้บางคนตกใจ แห่ไปซื้อสินค้า แห่กลับต่างจังหวัด แต่เอาเข้าจริง ถ้าเทียบต่างประเทศ อินเดีย มาเลเซีย อิตาลี สเปน ของเราก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก นอกจากตั้งด่านกั้นกรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่คนขับรถข้ามไปข้ามมาทุกวัน

ภาพรวมของสถานการณ์ฉุกเฉิน 2-3 วันแรก จึงเป็น "ฉุกเฉินชิวชิว" แค่เอาอำนาจมารวบไว้ แต่ยังไม่ได้ใช้ ขึ้นกับสถานการณ์ วิษณุ เครืองาม บอกว่าต้องประเมินรายวัน หากจำเป็นก็ต้องประกาศ "เคอร์ฟิว" ห้ามออกจากบ้าน

คำถามคือ เราจะไปถึงสถานการณ์นั้นหรือไม่ ถ้าไม่ ก็แปลว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ แต่กลายเป็นไม่ต้องใช้เลย ที่จริงใช้แค่อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อก็พอ

เพราะถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อ นอกจากวันที่ 22 มี.ค. ที่พุ่งพรวด 188 ราย (เพราะเปลี่ยนจากใช้ผลแล็บยืนยัน 2 แห่งมาเป็น 1 แห่งก็ประกาศทันที) หลังจากนั้นตัวเลขก็ไล่เรี่ยอยู่ที่ 100 กว่าคน จนถึงวันพฤหัสบดี ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค บอกว่าถ้าพบผู้ติดเชื้อวันละร้อยรายไปอย่างนี้ ถึงวันที่ 30 เม.ย.จะสูงถึง 3,500 ราย แต่ถ้าประชาชนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการ Social Distance ก็คาดว่าจะไม่ถึง

ซึ่งแตกต่างกันลิบ กับที่มีแพทย์บางกลุ่มทำนายด้วย "กราฟเส้นตรง" ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นวันละ 33% หากเราไม่ทำอะไร ถึงวันที่ 15 เมษายน จะขึ้นไปถึง 350,000 คน ตาย 7,000 ถ้าใช้มาตรการแรง จะเพิ่มขึ้นวันละ 20% เป็น 24,000 คน ตาย 485 ราย

ยอมรับว่าฟังแล้วกลัวหัวหด ประกอบกับอ่านข่าวต่างประเทศ อิตาลี สเปน ตายเพิ่มทุกวัน ทำให้เราตกอยู่ใน "บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว" แม้ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังคล้อยตามว่าอาจจำเป็นต้องใช้ (คงเหมือนคนที่เห็นว่าสถานการณ์ปี 57 ไม่มีทางออกอื่นนอกจากรัฐประหาร)

จนผ่านไป 3-4 วัน "หมอเลี้ยบ" ออกมากระตุกให้ได้คิดว่า การทำนายด้วยกราฟเส้นตรงแม้อาจเป็นไปได้แต่ก็ผิดพลาดได้ อย่างน้อยที่สุด ตัวเลขหลังวันที่ 22 มี.ค.ก็ไม่ได้พุ่งเป็นกราฟเส้นตรง ถ้าพบผู้ติดเชื้อวันละ 100 กว่าคนอย่างนี้ ถึงวันที่ 15 เม.ย.อาจมี 3,000-3,500 คน ไม่ต่างมากกับที่กรมควบคุมโรคเคยทำนายไว้ 2,500 คน

บางคนอาจร้องว่า มองอย่างนี้ประมาท ย่ามใจไปหรือเปล่า เดี๋ยวคนไม่กลัว ไม่ระมัดระวังตัว จะลามไปใหญ่ แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่ไม่ต้องทำอะไรเลย หมอเลี้ยบเห็นว่า สถานการณ์ของเราคล้ายเกาหลีใต้ ต้องเน้นการตรวจคัดกรองผู้ป่วย หาผู้เสี่ยงติดเชื้อ กักตัว รณรงค์ Social Distance จัดหาหน้ากาก เจลล้างมือ ให้เพียงพอ แล้วใช้มาตรการ "ตรึงเมือง" แบบที่ใช้คำสั่งผู้ว่าฯ กทม.ก็พอ ไม่ต้องถึงขั้น "ปิดเมือง" แบบอู่ฮั่น

ไม่ต้องถึงขั้นใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลกระทบเช่นอาจสร้างความหวาดกลัว ทำให้สื่อและประชาชนไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้าแจ้งเหตุ ไม่กล้าร้องเรียน เห็นว่าเจ้าหน้าที่หละหลวม โพสต์เฟซ ก็อาจผิดฐาน "เฟกนิวส์"

รอดูสัก 7-8 วัน ถ้าตัวเลขไม่เพิ่มมาก ศอฉ.ก็จะไม่มีมาตรการเพิ่ม จะมีคำถามมากขึ้นว่า นี่เราจำเป็นต้องประกาศฉุกเฉินจริงหรือ

เพียงแต่บางคนอาจเชียร์ว่า ไวรัสมันกลัวลุงประกาศขึงขัง เลยเผ่นหนีไปแล้วไง

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3829595

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net