Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันก่อน ผู้เขียนได้ประชุมทางไกลกับเครือข่ายพี่ๆ ที่ทำงานด้านแรงงาน ทั้งพิพิธภัณธ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จึงชักชวนให้เขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ผู้เขียนจึงนั่งคิดทบทวนว่าจะทำข้อเขียนขนาดสั้นจากความรู้สึกและปัญหาของแรงงานนอกระบบในกลุ่มของผู้ค้าข้างทาง จึงโทรศัพท์ติดต่อผู้ค้าข้างทางคนหนึ่งที่ขายย่านสีลม และผู้เขียนใช้เวลาสนทนานานกว่า 1 ชั่วโมง เกี่ยวกับสถานการณ์ในเวลานี้และผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นต่อผู้ค้าข้างทาง

ข้อเขียนนี้ จะเล่าเรื่องโดยจัดลำดับประเด็นพร้อมกับอธิบายความเห็นของผู้เขียน ซึ่งเป็นข้อมูลจากการโทรศัพท์สนทนากับผู้ค้าข้างทางในย่านสีลม เหตุที่รู้จักส่วนตัวเพราะเคยมีประสบการณ์จากการเก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการค้าอาหารข้างทางของโครงการวิจัยเรื่องหนึ่งในช่วงก่อนหน้าที่ COVID-19 จะแพร่ระบาดหนักขนาดนี้ในประเทศไทย ซึ่งผู้ค้าข้างทางต้องเผชิญทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นความเสี่ยงและอันตรายทางสุขภาพ รวมทั้งความตื่นตระหนกจากการกราดยิงที่นครราชสีมา ส่งผลให้ขาดความไม่มั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงคนต่างชาติที่มาท่องเที่ยวและซื้ออาหารข้างทางในบริเวณสีลม ถือว่าผู้ค้าข้างทางไม่เพียงแต่เผชิญความเสี่ยงทางอาชีพและการทำงาน อันที่จริงแล้วตกอยู่ภายใต้ความเปราะบางเชิงโครงสร้างและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในรูปแบบของ precarious work ทั้งนี้การประกันสังคม (Social insurance) ตามฐานการคุ้มครองทางสังคม (Social protection floors) ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เสนอตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ไม่เพียงพอต่อการรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ในระยะยาว และยามวิกฤติก็บรรเทาผลกระทบได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ผู้เขียนจึงขอย้ำว่าชีวิตของแรงงานใน future of work ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดเตรียมรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal basic income) แบบให้เปล่าและไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่เวลานี้ ระบบการบริหารแรงงานและการพัฒนาสังคมของไทยยังเน้นที่กลุ่มคนเปราะบางและยากจน แต่ขาดทัศนวิสัยการมองการณ์ไกล ส่งผลให้ความเปราะบางเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจนอกระบบ เป็นประเด็นที่ภาครัฐมองไม่ถึงและศักยภาพทางปฏิบัติก็ยังเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ผู้เขียนสนับสนุนความคิดของ Guy Standing ที่ชี้ให้เห็นว่าการคัดกรอง (Means test) พบว่าระบบอาจขาดประสิทธิภาพ ระบุไม่ถูกว่าใครคือกลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และมีต้นทุนการบริหารจัดการที่สูงกว่าการลงทุนให้แบบถ้วนหน้า ดังนั้นข้อเสนอของ UBI จะเป็นหลักประกันรายได้ที่แท้จริง และทุกคนที่มีความเสี่ยงไม่มากก็น้อยที่จะว่างงานหรือขาดรายได้โดยไม่ทันตั้งตัว เพราะไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าระบบทุนเสรีนิยมใหม่จะปรับตัวต่อไปอย่างไร แน่นอนว่าแรงงานอาจไม่ต้องมาเสริมสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อให้แข่งขันกับปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพราะอันที่จริงแรงงานต้องตกอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Power Relations) ในรูปแบบของงานและการทำงานใหม่ที่ไร้ซึ่งอำนาจการต่อรอง กลายเป็นเพียงวัตถุที่ไร้ชีวิตและมีมูลค่าที่ไม่แตกต่างจากรถเข็น ทางเท้า ถนน เสาไฟฟ้า หรืออาจทำให้มีมูลค่าที่ต่ำกว่าก็เป็นไปได้

การเริ่มต้นประเด็น ต้องปรับความเข้าใจกับผู้คนในสังคมไทยต่อมุมมองผู้ค้าข้างทางก่อน เนื่องจากคนส่วนใหญ่กำลังใช้มุมมองการเป็นผู้บริโภคและผู้ใช้บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ส่งผลให้ภาพดั้งเดิมของการค้าขายข้างทางที่เรียกอย่างคุ้นเคยว่า "หาบเร่แผงลอย" ถูกมองว่ากีดขวางทางเท้า ทำให้บริเวณโดยรอบสกปรก สร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ค้าที่ต้องเช่าพื้นที่ขาย หรือเหตุผลอื่นๆ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่อาจปฎิเสธได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะปรากฎให้เห็นทั่วไปตามสื่อออนไลน์ทางสังคม ทั้งที่จริงควรพิจารณาว่า การจัดการปัญหาเหล่านี้ควรทำอย่างไร ระหว่างการเชื่อมั่นที่ปัจเจกบุคคลให้รับผิดชอบกันเอง หรือเชื่อมั่นที่กลไกของรัฐสำหรับการจัดการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาครั้งแล้วครั้งเล่าไม่จบสิ้น ด้วยเหตุที่ รัฐพยายามทำให้ประชาชนทั้งที่เป็นผู้ค้าขัดแย้งกับผู้สัญจรทางเท้าและผู้บริโภค โดยตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบทางตรงกับผู้คนทั้งสองกลุ่ม รวมถึงอาจมีตัวแสดงทางที่มองไม่เห็นทำให้รัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงเรียกได้ว่าเป็นสภาวะที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของผู้นำทางการเมืองมาทุกยุคสมัย

วัตถุประสงค์ของข้อเขียนนี้ ไม่ได้ต้องการถกเถียงเรื่องการมีแผงลอยหรือไม่มี เพราะต้องการสะท้อนให้เห็น "ความเดือดร้อนและทุกข์ยากของแรงงานไม่เป็นทางการหรือนอกระบบ" (Informal worker) ที่ไม่มีมาตรการรองรับในระยะยาว ซึ่งการสมัครใจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ก็ถือว่าสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการแรงงานต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของความมั่นคงทางสังคมตามอนุสัญญาฉบับที่ 102 ของ ILO เพราะการเป็นนอกระบบในมุมมองของการบริหารแรงงานโดยภาครัฐไทย เพื่อจำแนกกำลังแรงงานออกเป็นสองกลุ่ม แต่มองไม่เห็นความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นในรูปแบบการจ้างงานใหม่ที่พยายามทำให้แรงงานออกนอกภาคในระบบสู่นอกระบบมากขึ้น ดังนั้น การออกแบบระบบการคุ้มครองทางสังคมถ้วนหน้าจึงมีความสำคัญต่อแรงงานนอกระบบ เพราะครอบคลุมตลอดทุกกลุ่มคนและทุกช่วงวัย

จากภูมิหลังขีวิตของผู้ค้าคนนี้ เคยเป็นแรงงานรับจ้างที่แผงหนังสือมา 10 ปีกว่า และเป็นลูกจ้างทำงานอย่างเต็มที่ด้วยน้ำพักน้ำแรงเพราะมีคุณแม่เป็นพลังเติมเต็มในชีวิต จนสามารถเก็บออมเพื่อซื้อบ้านพักอาศัยได้ในจังหวัดนนทบุรี เวลานั้นผู้ค้ายังไม่แต่งงานและพยายามอดทนต่อการทำงานที่แสนลำบาก ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ ซึ่งผู้ค้าบอกว่าค่าจ้างจำนวนเท่านี้ในเวลานั้นถือว่าเยอะมาก เพราะอาหารเพื่อบริโภคได้ในราคาจานละ 20-30 บาทต่อมื้อ แต่แผงหนังสือที่ผู้ค้าขายในปัจจุบันได้เลิกกิจการไปนานแล้ว และบัดนี้อาคารที่ตั้งก็อยู่ระหว่างการรื้อถอน

ผู้ค้าคนนี้ตั้งใจทำงานถวายชีวิตให้นายจ้างที่เป็นเจ้าของแผง ขายได้เท่าไรก็เก็บเงินส่งให้นายจ้างทุกวัน และรับเงินเป็นค่าจ้างรายวัน ไม่มีเงินพิเศษตามร้อยละของยอดขายแต่ละวัน แต่ระหว่างนั้นผู้ค้ารู้สึกมีความหวังว่าจะได้เป็นเจ้าของแผงหนังสือ เพราะนายจ้างรับปากว่าจะยกแผงหนังสือนี้ให้ผู้ค้าเมื่อลูกสาวของเขาสำเร็จการศึกษา ระยะเวลากว่า 10 ปีผ่านไป กล่าวได้ว่า ผู้ค้าถูกนายจ้างโกหกมาโดยตลอด ให้ความหวังโดยใช้สัญญาใจ จนเวลาต่อมาผู้ค้าไปเล่าให้เพื่อนของนายจ้างฟังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านทำผมและเสริมสวยในบริเวณใกล้เคียง เขาช่วยเจรจาและไกล่เกลี่ยให้กับเจ้าของแผงหนังสือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่ผู้ค้าช่วยทำงานชดใช้หนี้สินให้กว่าสามแสนบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ค้ากล่าวอีกว่าเวลานั้นเป็นยุคทองของหนังสือการ์ตูน นักเรียนที่มีครอบครัวฐานะทางเศรษฐกิจดี สามารถซื้อได้ครั้งหนึ่งเป็น 10 เล่ม เพราะเล่มละ 25-35 บาท ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ที่มีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใหม่มาแทนที่ ส่งผลให้กิจการประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับผลกระทบตาม แผงค้าที่เคยขายได้แต่เดิมก็ไม่ได้อีกต่อไป รวมถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเด็กก็อ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษ

ชีวิตของผู้ค้าเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้นที่ตัดสินใจเซ้งกิจการแผงอาหารประเภทหนึ่งต่อจากผู้ค้ารายเก่าที่ขายแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ค้าเห็นโอกาสจากความล้มเหลวของผู้ค้าอาหารรายนั้นที่ทำแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ปรับปรุงสูตรอาหารให้ดีขึ้นตามคำติชมจากผู้บริโภค หลังจากนั้น ผู้ค้าเริ่มต้นจากศึกษาวิธีการปรุง พัฒนาสูตร และต่อยอดให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือการรับฟังคำติชมจากผู้บริโภคมาโดยตลอด จนผู้ค้ามั่นใจแล้วว่าเวลานี้ อาหารที่ผู้ค้าทำขายสามารถออกงานต่างๆ ตามโรงแรมได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ งานพิธีสมรส เป็นต้น แม้ว่าการสนทนากับผู้ค้าช่วยเป็นกระบอบเสียงที่สำคัญให้แก่ผู้ค้ารายอื่นๆ ในบริเวณนี้ และเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐไม่สามารถจัดการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมุ่งสู่งานที่มีคุณค่าให้แก่แรงงานนอกระบบได้ แต่ผู้ค้าถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางรายได้ไม่มากนัก ด้วยเหตุที่ผู้ค้าเก็บออมเงินจนซื้อบ้านในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ไว้ก่อน ส่งผลให้ไม่มีภาระรับผิดชอบทางครอบครัวที่หนักหนาและไม่มีหนี้สิน นอกจากนี้ สามีทำงานมีรายได้อีกทางจากการว่าจ้างงานช่างฝีมือเป็นชิ้นงาน แต่กลับไม่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ค้ามีหลักประกันความมั่นคงทางชีวิต การทำงาน และรายได้ที่มั่นคง

ผู้ค้าพยายามเล่าผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นต่อผู้ค้ารายอื่นในบริเวณนั้นสถานการณ์ ดังที่ COVID-19 ส่งผลให้บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในย่านนี้ ปรับให้พนักงานร้อยละ 70 ทำงานที่บ้าน (work from home) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของผู้ค้าข้างทางบริเวณนั้นลดลง ย้อนกลับไปที่วัตถุดิบที่ลงทุนในแต่ละวันก็ลดลงไปประมาณร้อยละ 20-25 ขณะเดียวกัน รายได้ก็ลดลงไปประมาณร้อยละ 25 เช่นกัน บัดนี้ต้องคอยลุ้นช่วงเช้าและช่วงเที่ยง ถ้าช่วงเช้าขายได้น้อย ต้องลุ้นอีกทีว่าช่วงเที่ยงจะขายได้หรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใด ขณะที่ผู้ค้าและสามีต้องออกจากที่พักก่อน 5:00 น. ช่วยกันตั้งแผงค้าเวลา 6:00 น. และเก็บแผง 15:00 น. จะเห็นได้ว่า ผู้ค้าใช้เวลาทำงานที่ใครก็ตามเห็น 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังไม่นับรวมเวลาจัดเตรียมวัตถุดิบ เดินทางไปทำงาน และจัดเตรียมแผงในแต่ละวัน นอกจากนี้ผู้ค้าลดวันทำงานให้น้อยลง จากเดิมขายสัปดาห์ละ 5 วัน คือ วันอังคารถึงวันเสาร์ แต่บัดนี้เปลี่ยนมาขายเพียงสัปดาห์ละ 4 วัน เนื่องจากการค้าขายข้างทางที่เป็นอาชีพอิสระขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผันแปรและมีความเสี่ยงที่หลายกรณีขาดมาตรการรองรับ ได้แก่ ผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งผู้ค้าข้างทางที่อยู่บนทางเท้าและถนนเป็นคนกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพ และการปิดภาคการศึกษาของนักเรียนทำให้ในรอบปีหนึ่งจะขายได้เพียง 8 เดือนและอีก 4 เดือน ต้องรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินที่ไม่สม่ำเสมอ

ถัดมา ผู้ค้ายังเป็นเสาหลักของครอบครัว เพราะอาชีพการค้าข้างทางเริ่มต้นจากภูมิหลังชีวิตของผู้ค้า ขณะที่สามีมาช่วยผู้ค้าขายและรับจ้างอิสระเป็นครั้งคราว ผู้ค้าต้องส่งลูกเรียนหนังสือ 2 คน คนหนึ่งอายุ 21 ปี กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นปริญญาตรี อีกคนหนึ่งอายุ 15 ปี กำลังจะเข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ผู้ค้าตั้งใจให้ลูกชายคนโตทำงาน Part-Time ที่ร้านสะดวกซื้อ แต่ด้วยสถานการณ์เวลานี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ ผู้ค้าจึงให้ลูกของตนพักที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านจะให้พ่อขับมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไปส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถขนส่งมวลชนสาธารณะ จะเห็นได้ว่าครอบครัวของผู้ค้าค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้ จึงทำประกันภัยสำหรับโรคนี้ให้แก่ลูกชายคนเล็ก แต่สมาชิกในครอบครัวอีก 3 คน ยังไม่ได้ทำประกัน เพราะมีค่าใช้จ่าย จึงต้องทยอยทำเรื่อยๆ ทีละคน

ที่สำคัญ ชีวิตของผู้ค้ามีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ผู้ค้าไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ผู้ค้าต้องไปรอซื้อที่ร้านสะดวกซื้อเวลา 9:00 น. และไปต่อแถวรอซื้อสินค้า ซึ่งมีสินค้ามาส่งที่ร้านวันละ 10 แพ็ค (4ชิ้น/แพ็ค) ส่งผลให้ผู้ค้าต้องใช้หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อ 3 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าพยายามไม่คิดมากกับสถานการณ์ในเวลานี้ เพราะผู้ค้าทราบดีว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้ด้วยตนเอง ทางออกที่ดีคือการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงให้มากที่สุด โดยเลือกทำชีวิตทุกวันให้ดีที่สุด และไม่ไปคลุกคลีในพื้นที่ชุมชนแออัด รถไฟฟ้าโดยสาร เป็นต้น ขณะที่บทบาทของรัฐบาลและภาครัฐควรมีวิธีการช่วยเหลือที่ชัดเจนและเข้าถึงได้มากกว่านี้ ซึ่งในกรณีของการให้เงินช่วยเหลือก็ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการจะต้องทำอย่างไรและเข้าเงื่อนไขหรือไม่

ผลกระทบต่อผู้ค้าข้างทางในฐานะแรงงานนอกระบบแล้ว ยังพบว่า แรงงานรับจ้างได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะแผงค้าขนาดใหญ่ที่เป็นรถเข็นขายอาหารและมีโต๊ะนั่งรับประทาน ส่วนใหญ่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติ เช่น ร้านขายอาหารประเภทของข้าวมันไก่ บะหมี่หมูแดง เป็นต้น แต่เมื่อนโยบายรัฐให้ร้านค้าและแผงอาหารขายอาหารโดยนำกลับไปรับประทานที่บ้าน ส่งผลให้ปริมาณของผู้บริโภคลดลง เพราะทำงานที่บ้านและบางส่วนใช้บริการส่งอาหารโดยแอปพลิเคชัน จึงต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ตามมาด้วยแรงงานรับจ้างที่เป็นผู้ย้ายถิ่นต้องถูกเลิกจ้าง เนื่องจากบางแผงค้าจ้างแรงงานวันละ 500 บาท แต่อาจมีให้เงินน้อยหรือมากกว่านั้น แต่เมื่อแผงค้าไม่สามารถขายได้ นำไปสู่การลดอัตราการจ้างแรงงานข้ามชาติ แน่นอนว่าแรงงานเหล่านี้ในภาคนอกระบบจะไม่ได้รับการเยียวยาและชดเชยใดๆ ซึ่งสถานการณ์แย่ยิ่งกว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในสถานประกอบการ ทั้งนี้ ผู้ค้าสังเกตเห็นว่าแรงงานข้ามชาติแผงหนึ่งไม่มาทำงานแล้วกว่าสัปดาห์ จึงคาดว่าเดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้ว เพราะเมื่อไม่มีงานทำย่อมไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ส่วนการเข้ามาทำงานถูกต้องหรือไม่นั้น ผู้ค้าก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่ทราบมาแรงงานเหล่านี้มีหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวที่ภาครัฐออกให้

ขณะเดียวกัน แผงค้าขนาดเล็กที่เป็นรถเข็นหรือโต๊ะตั้งก็เผชิญผลกระทบเช่นกัน เพราะโรคระบาด COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเพื่อนร่วมอาชีพของผู้ค้าในบริเวณนั้น บางกรณีผู้ค้าหลายแผงมีประสบปัญหาทางการเงิน มีการกู้ยืมเงินนอกระบบ มีหนี้สินต้องจ่ายค่าบ้านและรถยนต์เป็นรายเดือน และมีภาระต้องส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ มิหนำซ้ำมีผู้ค้าแผงหนึ่งต้องดูแลลูกเล็กที่ป่วยเป็นมะเร็ง จากกรณีดังกล่าว ผู้ค้าขายคนนี้เคยเล่าให้ฟังเมื่อเดือนก่อนว่าได้กำไรวันละไม่ถึงพันบาท ซึ่งยังไม่หักลบต้นทุนแต่ละวัน และต้องเดินทางาขายในวันเสาร์ แม้นักเรียนจะมีไม่มากก็ตาม ด้วยเหตุที่การหยุดงานถือว่าวันนั้นขาดรายได้ ในฐานะที่ผู้ค้าเป็นแรงงานอิสระต้องแบกรับความเสี่ยงไม่เหมือนกับลูกจ้างประจำ ที่สำคัญภรรยาของเขาไม่สามารถไปทำงานได้เพราะต้องอยู่ดูแลลูกที่บ้าน หมายความว่า เขาคนเดียวต้องแบกรับภาระทั้งภรรยาและลูกโดยมีการค้าข้างทางเป็นอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว แต่รายได้ที่ได้มาแต่ละวันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เพราะไหนจะมีค่าครองชีพทั้งครอบครัว ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาลและดูแลลูก นี่คือชีวิตจริงของแรงงานนอกระบบ แม้ว่าจะมีผู้ค้าหลากหลายทั้งที่เป็นผู้ค้ารายเก่าและใหม่ก็ตาม แต่ผู้ค้าล้วนแล้วต้องเผชิญความเสี่ยงร่วมกัน

ผู้ค้ากล่าวอีกว่า เวลานี้ไม่มีคำว่าขายดี มีผู้ค้าบริเวณปากซอยบ่นกับผู้ค้าว่าขายไม่ดี ผู้ค้าจึงตอบกลับว่าแล้วกลางซอยเข้าไปขายไม่ดียิ่งกว่าหรือ เพราะจริงแล้วการค้าขายไม่ดีเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 แล้ว แต่เท่าที่ได้สนทนากับผู้ค้า ส่วนใหญ่กล่าวว่าเศรษฐกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เหมือนแย่ลงไปทุกที และหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาซ้ำๆ ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ค้าอยู่เป็นระลอกๆ ยิ่งกว่านั้น นโยบายของรัฐบาล คสช. และหลังเลือกตั้งใหม่ที่นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถจัดการปัญหาการค้าข้างทางหรือหาบเร่แผงลอยได้อย่างชัดเจน แม้ดูเหมือนจะมีความพยายามแต่ก็ไม่เป็นผล โดยส่วนตัวเชื่อว่ามีตัวแสดงที่มองไม่เห็นคอยกำกับเรื่องนี้ เหมือนกับผู้ค้าบางคนก็คิดเช่นเดียวกันและเคยสะท้อนออกมาให้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนค่อนข้างชอบคำที่ รศ.ดร. นฤมล นิราทร ใช้ในบทความชิ้นหนึ่งที่นำเสนอที่การประชุมวิชาการที่ NIDA เมื่อ 2 ปีก่อน โดยเรียกการจัดการของกรุงเทพมหานครในกรณีนี้ว่าเป็นความคงเส้นคงวา ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ที่ใช้ทั้งมาตรการเข้มงวดและผ่อนปรนสลับกันไปมาแต่ไม่ชัดเจนใดๆ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงสนับสนุนว่าควรปฏิรูปการบริหารภาครัฐของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะรูปแบบของการกระจายอำนาจที่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังเหมือนการรวมศูนย์อำนาจ ถ้ารูปแบบจะดีหรือไม่ ให้พิจารณาจากการกำหนดและตัดสินใจเชิงนโยบายและคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะของทุกฝ่ายหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเคยถามกับผู้ค้าข้างทางและชาวบ้านในเขตพื้นที่นั้นๆ ทราบก็แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคือใคร แต่ไม่ทราบว่าในคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีใครบ้าง รวมทั้งผู้อำนวยการเขตในเขตที่พักอาศัยและที่ทำงานอยู่คือใคร ซึ่งอาจดูเหมือนเรื่องตลกขบขัน แต่จริงแล้วเป็นเรื่องที่น่าเคร่งเครียด

ในกรณีของเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลนำเสนอมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ผู้ค้าคนนี้เกิดความสงสัยและไม่เข้าใจการสื่อสารของภาครัฐและสื่อมวลชนว่าใครจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ เนื่องจากจำนวน 3 ล้านคนที่นำเสนอมานั้นคือใคร เฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 หรือไม่ หรือครอบคลุมทุกคนที่ไม่จัดอยู่ในภาคทางการ นับเป็นปัญหาการสื่อสารที่รัฐบาลสร้างความคลุมเครือให้แก่ประชาชน แต่ถ้าครอบคลุมประชากรที่เป็นภาคนอกระบบทั้งหมด ต้องเกิดการแย่งชิงกันขึ้นทะเบียนและศักยภาพของการคัดกรองในฐานข้อมูลภาครัฐ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะการคัดกรองนั้นหมายความว่าจะต้องประเมินผลกระทบว่าใครเสี่ยงมากหรือน้อยกว่าถึงจะได้รับสิทธินั้น ซึ่งจริงแล้วมาตรการในยามวิกฤติหรือภาวะฉับพลันโดยการให้เงินช่วยเหลือ

ผู้ค้ายังให้ความเห็นว่า “ทุกคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่แตกต่างกัน จะมากหรือน้อยต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงเสนอว่าภาครัฐมีฐานข้อมูลผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว ย่อมทราบดีว่าใครมีงานทำและไม่มีงานทำ ใครทำงานอยู่ในและนอกระบบ ควรใช้ข้อมูลนี้เชื่อมโยงกับทะเบียนราษฎร์  เพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันมาตรา 39 และ 40 โดยไม่ต้องสมัครตามระบบ” และ “จริงแล้วควรจัดสรรเงินให้กับทุกคน ไม่เฉพาะทำงานอาชีพอิสระ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกัน รวมทั้งผู้ค้าคนนี้มีงานทำอยู่ก็จริง แต่รายได้เวลานี้ก็ลดลง ก็ควรได้รับการเยียวยาเช่นกัน” จึงต้องการให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้ค้ายังกล่าวต่ออีกว่าก่อนหน้านี้ “ภาครัฐแทบจะไม่ส่งเสริมการประกอบของอาชีพอิสระของคนจนและผู้มีรายได้น้อย ไม่เฉพาะแต่ผู้ค้าข้างทาง” แต่เคยมีอาชีพอื่นอย่างผู้เก็บของเก่าขาย (Waste picker) ก็ถูกทำให้หายไปแล้วจากสังคมไทย ซึ่งเคยเป็นอาชีพที่บางครอบครัวใช้เลี้ยงดูสมาชิก และส่งบุตรหลานเรียนจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผู้เขียนจึงตระหนักว่าหาบเร่แผงลอยอาจเผชิญสภาวะเช่นเดียวกับอาชีพของผู้เก็บของเก่าขายได้เหมือนกันในอนาคต ถ้าภาครัฐยังกำหนดนโยบายและปฏิบัติที่คงเส้นคงวาเช่นนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ต้องการเสนอผลกระทบนี้เป็นภาพแทนของผู้ค้าทั้งหมดในบริเวณสีลม แต่ “เป็นการเล่าเรื่องจากผู้ค้าข้างทางคนหนึ่งที่ขายมากกว่า 10 ปี และเป็นลูกจ้างขายหนังสือในบริเวณนั้นมากว่า 10 ปี รวมระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในย่านนั้น 20 ปีกว่าแล้ว” ผู้ค้าคนนี้จึงเข้าใจ “บริบทของพื้นที่ สภาพปัญหา และการเปลี่ยนแปลงของอาชีพการค้าข้างทาง” สำหรับผู้เขียนที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลและเรียบเรียง เพื่อให้เกิดการนำไปขบคิดต่อชีวิตของแรงงานนอกระบบที่รัฐบาลและภาครัฐไม่เหลียวแล ไม่มีแนวทางและมาตรการที่ชัดเจน บ่อยครั้งกล่าวถึงความยั่งยืนของงานอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง แต่คำถามที่เกิดขึ้นเสมอว่า “ใครได้รับความยั่งยืนและมั่นคงระหว่างชาวบ้าน 99.999% หรืออภิสิทธิ์ชนเพียง 0.001% (เปรียบสัดส่วนตามที่ Guy Standing กล่าวถึง Precariat และ Plutocrat)” ด้วยเหตุที่ “ความจนทางรายได้และทรัพย์สินตามที่ธนาคารโลกเคยกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นจนอย่างใดหนึ่ง หรือจนทั้งสองอย่าง ก็ดูว่าน่ากลัวแล้ว แต่ยังพิจารณาไม่ถึงความจนเชิงโครงสร้างที่มาพร้อมกับการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนและการเมืองภายใต้ความร่วมมือแบบหุ้นส่วน การสร้างนวัตกรรมโดยใช้สินทรัพย์สาธารณะแต่ผูกขาดลิขสิทธิ์โดยชื่อเอกชน ชีวิตที่เกิดมาในเมืองพร้อมหนี้สินแต่ไม่มีมรดกตกทอด ฯลฯ”

ท้ายนี้ แม้หลังวิกฤติ COVID-19 จะจบสิ้นลงอย่างไนในอนาคต แต่มีความเป็นไปได้ว่าแรงงานนอกระบบจะเพิ่มขึ้นเพราะในระบบถูกเลิกจ้าง ขณะที่ผู้ค้าข้างทางอาจต้องเรียนรู้จากผลกระทบครั้งนี้ โดยเฉพาะการพิจารณาสถานการณ์ใหม่และปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะความสะดวกสบายของการซื้ออาหารเพื่อบริโภค เหมือนเวลาพักทานอาหารเที่ยง บางคนก็เลือกไม่ออกจากอาคารที่พักหรือที่ทำงานมาซื้ออาหารนั่งทานที่ร้าน แต่ใช้การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน แต่จะเห็นได้ว่า มีผู้ค้าข้างทางที่ขายอาหารแผงขนาดเล็กไม่สามารถปรับตัวในเรื่องนี้ได้ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้เป็นโอกาสของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ให้บริการส่งอาหาร จะสร้างเงื่อนไขต่างๆ ต่อผู้ค้าอาหารตามร้านและแผงลอย แรงงานผู้ขับขี่ และผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดราคาและร้อยละของค่าบริการ ดังนั้น ผู้ค้าคนนี้ไม่ได้นำร้านหรือแผงอาหารเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม แต่มีข้อสังเกตว่าจะหลีกเลี่ยงได้ในระยะยาวหรือไม่ เพราะมีผู้บริโภคฝากซื้อกับผู้ขับขี่โดยแอปพลิเคชัน แม้จะไม่มากแต่ก็พอมีมาบ้างแล้ว 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net