Skip to main content
sharethis

บิลาฮารี เคาซิกัน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ อนาคตทางการเมือง ภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเกิดผลกระทบจากกกรณีการระบาดหนักของ COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นไปทั่วโลก โดยมีการเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจเทียบกับวิกฤตปี 2540 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองของบางประเทศ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถึงแม้การระบาดอาจจะยับยั้งได้เร็วแต่การชะงักงันของห่วงโซอุปทานเช่นการถึ่งพิงจีนมากเกินไปก็อาจจะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อสภาพทางยุทธศาสตร์ของเอเชียอาคเนย์อย่างใหญ่หลวง

ความช่วยเหลือจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มาถึงฐานทัพอากาศ Villamor  ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2020 (ที่มา: Presidential Communications Operations Office, The Philippines) (public domain)

บทความในเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ที่มีสำนักงานในฮ่องกงระบุถึงเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการที่ทางการจีนปิดข่าวส่งผลให้การระบาดแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาพวกเขาจะใช้มาตรการควบคุมอย่างหนักในการทำให้สามารถควบคุมการระบาดไว้ได้แต่ก็ต้องสูญเสียอย่างหนัก และในขณะที่การระบาดแพร่ไปถึงประเทศประเทศแถบยุโรป ถึงแม้ประเทศประชาธิปไตยจะมีปฏิกิริยาช้ากว่าไปบ้างแต่ก็มีความสามารถฟื้นตัวเร็ว มีเศรษฐกิจ วิทยาการ และประสิทธิภาพในการบริหารที่เข้มแข็ง ทำให้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้และน่าจะควบคุมโรคระบาดได้ในแบบของตัวเอง

ผู้ที่เขียนวิเคราะห์ในเรื่องนี้คือ บิลาฮารี เคาซิกัน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ เขาระบุว่าถึงแม้จะไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่าการระบาดจะหยุดลงเมื่อใดหรือจะมีการระบาดระลอกที่สองหรือไม่ แต่ก็ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของ COVID-19 ต่อการเมือง, ภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เอาไว้

ผลกระทบในแง่เศรษฐกิจ

ในแง่เศรษฐกิจนั้นเคาซิกันประเมินว่าตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของ COVID-19 การที่เศรษฐกิจของจีนเติบโตช้าลงก็ส่งผลในระดับโลกอยู่แล้ว และวิกฤตในครั้งนี้ก็ยิ่งเปิดเผยให้เห็นปัญหาความเปราะบางของการที่พึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานจากจีนมากเกินไป อย่างไรก็ตามมีบางประเทศที่เริ่มกระจายความพึ่งพิงทางเศรษฐกิจนี้ออกจากจีนบ้างแล้วตั้งแต่ก่อนสถานการณ์ COVID-19 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ผลิตและผู้จัดหาวัตถุดิบจะลดระดับการพึ่งพิงจีนได้มากขนาดไหน ขณะที่ประเทศอย่างญี่ปุ่นเองก็มีการพึ่งพิงจีนอยู่โดยมีการขยายไปหาประเทศอื่นบ้างแต่หลักๆ แล้วก็ไม่ถึงขั้นกระจายการพึ่งพิงออกไปจากจีน

เคาวิกันระบุว่า เรื่องนี้ทำให้ต้องจับตามองว่าหลังการระบาดแล้วทางการจีนจะสามารถฟื้นตัวในภาคการผลิตได้แบบกลับมาเต็มสมรรถนะได้หรือไม่ เพราะสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว การสั่งหยุดผลิตง่ายกว่าการทำให้กลับมาผลิตมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ห่วงโซอุปทานในจีนหยุดชะงักเช่นการที่คนงานข้ามชาติยังไม่กลับสามารถกลับไปทำงานได้ ทั้งนี้ยังมีข้อมูลวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน และ ซิตีกรุ๊ป ที่บ่งชี้ว่าขณะที่กิจการขนาดใหญ่ในจีนเริ่มกลับมาดำเนินการได้อย่างคงที่แล้ว ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงกลับมาดำเนินการได้น้อย ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กนี้คิดเป็นร้อยละ 90 ของธุรกิจทั้งหมดในจีน และเป็นตัวสร้างงานร้อยละ 80 กับ GDP ร้อยละ 60 ของทั้งหมด

มีการประเมินต่อไปว่า ถ้าหากไม่มีการระบาดระลอกที่ 2 ของ COVID-19 ในจีนพวกธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็อาจจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้จากการที่จีนมีมาตรการกระตุ้นธุรกิจกลุ่มนี้ แต่ทว่ามันอาจจะขัดกับบริบทโลกในตอนนี้ที่การระบาดไปเกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้อุปสงค์โลกลดลงส่งผลต่อการเติบโตของจีนไปด้วย และถ้าหากว่าการอาศัยพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างชาติตะวันตกกับจีนมีมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยระดับโลกได้ และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีเดิมแบบวิกฤตปี 2551 อีกต่อไป

ในแง่ที่ว่าจะกระทบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรนั้น เคาวิกันประเมินว่ายังไม่แน่นอนว่าวิกฤตนี้จะทำให้โลกพยายามกระจายการพึ่งพิงออกจากจีนมากขนาดไหน แต่ก็อาจจะมีการกระจายฐานออกจากจีนบ้างบางส่วนแน่นอน และพวกเขาก็น่าจะเลี่ยงกำแพงภาษีของสหรัฐฯ กับราคาต้นทุนที่สูงขึ้นในจีนและอาจจะหันมามองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะย้านฐานมาที่เอเชียอาคเนย์ได้โดยอัตโนมัติแต่พวกเขาต้องเผชิญกับเรื่องภาวะตีบตันของระบบโครงสร้างพื้นฐานและเรื่องแรงงานมีทักษะ นอกจากนี้เรื่องต่างๆ เช่น ระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศเหล่านี้ที่มีปัญหาก็ควรจะทำให้เป็นมิตรต่อธุรกิจมากขึ้นด้วย

ผลกระทบในแง่การเมือง

จากผลกระทบในแง่ลบทางเศรษฐกิจทำให้ เคาวิกัน ประเมินว่ามันจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองขึ้น ในประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็เคยเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และในไทยเองก็ส่งผลทางระบบเศรษฐกิจและสังคมทำให้คนหันมานิยมผู้นำที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิมอย่างทักษิร ชินวัตร นำมาซึ่งความไม่พอใจและความม่ไว้ใจจากชนชั้นนำดั้งเดิมของไทยและเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังจากนั้น ในหลายแห่งผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนัน้ยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงเวียดนามและฟิลิปปินส์ด้วย

เคาวิกันบอกว่าถ้าหากประเทศเหล่านี้มีการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลพลอยได้จากการกระจายฐานทางเศรษฐกิจออกจากจีน แต่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจหลัง COVID-19 นั้นอาจจะรุนแรงกว่าปี 2551 เช่นที่ผู้นำสิงคโปร์และมาเลเซียประเมินไว้จึงทำให้คาดเดาผลพวงต่อการเมืองได้ยาก นอกจากนี้แล้ว สภาพการเมืองในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย ก็มีความตีบตันอยู่แล้ว การเลือกตั้งในพม่าและฟิลิปปินส์ในปี 2565 ก็มีความไม่แน่นอน กัมพูชาจะหลุดพ้นจากฮุนเซนได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ มีอยู่ 4 ประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่มีความต่อเนื่องทางการเมืองคือ บรูไน, สิงคโปร์, ลาว และเวียดนาม แต่เป็นเรื่องยากที่จะมองโลกในแง่ดีว่า กลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์จะสามารถคว้าโอกาสในการพัฒนาเอาไว้ได้

ผลกระทบต่อภูมิศาสตร์การเมือง

จากการที่ทั้งจีนและชาติตะวันตกต่างก็ได้รับความเสียหายจากวิกฤต COVID-19 ทั้งคู่และในเวลาต่อมาก็จะฟื้นฟูทั้งคู่ ทำให้เคาวิกันวิเคราะห์ว่าดุลอำนาจระหว่างสองขั้วนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังเป็นพื้นที่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ที่มีทั้งความซับซ้อนและข้อจำกัดต่อไป

ทว่าสิ่งที่ทำให้เปลี่ยนไปจากกรณี COVID-19 คือ การที่ทำให้ทั่วโลกมีความเชื่อมั่นในทั้งสหรัฐฯ และทั้งจีนลดลง จากผลการสำรวจความคิดเห็นของหลายสำนัก จุดนี้เคาวกันมองว่าจะเปิดโอกาสให้ชั้วอำนาจระดับกลางอย่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และอินเดีย ในการเล่นบทบาทของตัวเองต่อไป อดีตพันธมิตรสหรัฐฯ อาจจะพยายามแสวงหาอิสระจากสหรัฐฯ มากขึ้นและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันเองในหมู่ประเทศพันธมิตร ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มมุ่งไปทางนั้นแล้ว

ถึงแม้ว่าสมดุลอำนาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยทันที แต่วิกฤตการระบาดในครั้งนี้ก็ส่งผลทางยุทธศาสตร์ ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็พากันโทษกันไปกันมาเพื่อพยายามทำคะแนนการโฆษณาชวนเชื่อมองได้ว่าเหมือนเด็กอนุบาลด่าทอกัน เรื่องนี้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมีมากขึ้น แต่ทั้งสองฝ่ายเองก็มีเรื่องภายในประเทศต้องจัดการเช่นกัน

รัฐบาลจีนสูญเสียชื่อเสียงต่อประชาชนในเรื่อง COVID-19 พวกเขาพยายามแก้ไขด้วยวิธีแบบชาตินิยมเพื่อหวังว่าจะถูกมองข้ามในเรื่องที่พวกเขาต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยที่จีนทำการเซนเซอร์มากขึ้นในประเทศและสรรเสริฐเยินยอบทบาทของสีจิ้นผิงต่อวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตามมันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังลำบากในการทำให้ประชาชนตัวเองเชื่อ โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะทำให้ที่อื่นเชื่อได้อย่างไร เรื่องที่เป็นการเปิดเผยให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของจีนไปในตัวด้วย

ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอาจจะส่งผลให้มีความยากลำบากในการทำสัญญาการค้ากับสหรัฐฯ ในเฟสแรก ขณะเดียวกันความไม่คงเส้นคงวาในการจัดการปัญหา COVID-19 ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทำให้เขาต้องพยายามหาแพะรับบาปซึ่งคงจะหันไปโทษจีน ฝ่ายเดโมแครตเองก็ถูกกดันให้อย่าอ่อนข้อต่อจีนเช่นกัน ฉะนั้นถ้าหากถึงแม้ว่าประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐฯ จะมาจากพรรคเดโมแครตก็มีแรงกดดันจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงานให้คำนึงถึงด้วย

ทั้งนี้ เคาวิกันก็ชี้ให้เห็นความอ่อนไหวของห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ถ้าหากใครก็ตามสนับสนุนให้มีการแยกตัวทางเศรษฐกิจก็จะได้เปรียบหรืออาจจะมีการแยกตัวแค่บางภาคส่วน ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเผชิญกับภาวะหนีเสือปะจรเข้ในตรงจุดนี้อยู่เช่นกัน ทว่าภาวะพึ่งพิงกันและกันระหว่างสหรัฐฯ จีน กับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างก็ทำให้การแยกตัวทางเศรษฐกิจนั้นเป็นไปได้ยาก ถ้าหากว่าวิกฤตนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงหรือยาวนานไปกว่าเดิมก็ยังจะส่งผลกระทบต่อเอเชียอาคเนย์อย่างลึกซึ้ง

เรียบเรียงจาก
How the coronavirus may change the geopolitics of Southeast Asia, South China Morning Post, 27-03-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net