สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 มี.ค. 2563

แรงงานนอกระบบ วอนเยียวยาทั้งใน-นอกประกันสังคม ชง รบ.หนุนคนกลับบ้านสู่เกษตรกรรุ่นใหม่

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ของรัฐบาลนั้น จะต้องครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งประเทศที่มีจำนวนกว่า 21.6 ล้านคน คือในระบบประกันสังคมมาตรา 39-40 จำนวน 3 ล้านคน และที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมอีกจำนวน 18.6 ล้านคน เพราะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมีมาตรการให้สถาบันการเงินทุกแห่งพักชำระหนี้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับทุกกรณี เป็นระยะเวลา 12 เดือน เนื่องจากแรงงานหลายกลุ่มประสบปัญหาด้านรายได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกันภายหลังเหตุการณ์วิกฤตก็จะต้องเข้าสู่ระยะเวลาการฟื้นฟู จึงขอให้ธนาคารออมสินทำการรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบแทน

"สถานการณ์ขณะนี้ส่งผลเดือดร้อนต่อประชาชนทั้งประเทศ ถ้ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ก็จะไม่เกิดความเป็นธรรมกับคนที่อยู่นอกกลุ่ม เช่นเดียวกับสถาบันการเงินทุกแห่งที่ต้องพักชำระหนี้ เพราะถึงจะลดให้ส่งเฉพาะดอกเบี้ย แต่เมื่อทำงานอะไรไม่ได้แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปส่ง เพราะสถานการณ์นี้ล้วนไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบกับแรงงานทั้งนอกระบบและในระบบ" นางสุจิน ระบุ

นางสุจิน ยังกล่าวถึงมาตรการสำหรับแรงงานที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ควรมีสิทธิในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทุกโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค ขณะเดียวกันรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างนักการเกษตรและนักการตลาดรุ่นใหม่ ที่สามารถทำตลาดออนไลน์ขายผลผลิตตรงส่งผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานย้ายถิ่นฐานที่้ต้องเข้ามาทำงานในเมืองหลวง

สำหรับแนวทางระยะสั้น คือเร่งสนับสนุนการปลูกพืชหมุนเวียนระยะสั้น เพื่อให้แรงงานสามารถขายมีรายได้เสริมในช่วงที่อยู่บ้าน บรรเทาความเดือดร้อนด้านค่าครองชีพ เมื่อมีรายได้พอเพียงก็จะลดจำนวนแรงงานย้ายถิ่นได้ในอนาคต ขณะที่แนวทางระยะยาวต้องจัดทำฐานข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่

"ขณะนี้เราควรเร่งให้แรงงานปลูกพืชระยะสั้นขาย ให้มีรายได้ระหว่าง 2-3 เดือนที่อยู่บ้าน ถ้าเขาเห็นว่าดีก็จะไม่อยากกลับเข้ามาไปในเมือง เราก็ต่อยอดให้เขาเป็นนักการตลาดที่สามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ เพราะสุดท้ายถ้ารายได้พอเพียงก็ไม่มีใครที่จะอยากกลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งนี่จะเป็นความยั่งยืน เป็นแนวทางการเกษตรของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ทั้งยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารต่อไป" นางสุจิน กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/3/2563

ก.แรงงาน ประกาศ 15 มาตรการ ช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ

27 มี.ค. 2563 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ประกาศมาตรการ 15 ข้อ ของทางกระทรวงแรงงานที่ช่วยเหลือ ลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ โดยกล่าวว่า “มาตรการทั้ง 15 ข้อ ได้ครอบคลุมถึงทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงานทั้งหมด เพื่อที่จะ ช่วยเหลือ เยียวยาพี่น้องแรงงานในทุกๆด้าน พร้อมทั้ง ทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงแรงงานและภาคประชาชน” ทั้งนี้ยังฝากส่งกำลังใจถึงพี่น้องแรงงาน และผู้ประกอบการ ทุกคน ให้ต่อสู้วิกฤต COVID-19 ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน เราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงาน

2. ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ COVID-19 รวมถึงมาตรการป้องกัน

3. ปรับรูปแบบศูนย์บริการ OSS โดยยืดเวลาต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

4. ผู้ประกันตนตรวจและรักษาฟรี COVID-19 ณ รพ.ตามสิทธิ หรือ รพ.อื่นในกรณีฉุกเฉิน

5. เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน กรณีไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุ COVID-19 (คำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) จ่ายสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน
5.1 หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย (COVID-19) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามจริง ไม่เกิน 180 วัน (ผู้ประกันตนมาตรา 33)
5.2 หากภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว เนื่องจาก COVID-19 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามจริง ไม่เกิน 60 วัน (ผู้ประกันตนมาตรา 33)

6. เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน กรณีต้องออกจากงาน (คำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) จ่ายสูงสุดไม่เกิน 10,500 บาทต่อเดือน
6.1 ลาออกจากงาน ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน
6.2 ถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน

7. ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างเหลือร้อยละ 4 ผู้ประกันตนเหลือร้อยละ 1 เป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2563)

8. ยืดเวลานำส่งเงินสมทบทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนสำหรับเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน

9. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท

10. เปิดเพจ “เสิร์ฟงานด่วน”

11. มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ
11.1 โครงการจ้างงานเร่งด่วน ค่าตอบแทน 300 บาท/วัน (เมษายน – กันยายน 2563) จำนวน 7,740 ตำแหน่ง
11.2 ฝึกทักษะอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการฝึกการประกอบอาชีพอิสระของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป้าหมาย 7,800 คน เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น โครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ของกรมการจัดหางาน เป้าหมาย 2,000 คน และการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านของกรมการจัดหางาน

12. พัฒนาทักษะฝีมือ (Up – skill/Re – skill) แก่กลุ่มแรงงานในระบบ เช่น เสริมทักษะภาษาต่างประเทศ, ทักษะคอมพิวเตอร์ เป้าหมาย 7,000 คน รวมถึงการทำความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ และภาคเอกชน

13. โครงการจ้างบัณฑิตที่ว่างงาน เพื่อให้เป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ งบประมาณจำนวน 401.99 ล้านบาท จำนวน 1,682 ตำแหน่ง

14. ดำเนินการสร้างความเข้าใจที่ดีในระบบแรงงานสัมพันธ์ก่อนใช้มาตรการมาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

15. ให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545
15.1 ลดสัดส่วนลูกจ้างที่ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานจากร้อยละ 50 เหลือ ร้อยละ 10
15.2 ขยายระยะเวลาการยื่นรับรองหลักสูตรและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจาก 60 วัน เป็น 120 วัน
15.3 ขยายระยะเวลาการยื่นประเมินเงินสมทบออกไป 4 เดือน
15.4 ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับลูกหนี้ใหม่ จาก 12 เดือน เป็น 18 เดือน
15.5 พักชำระหนี้เงินกู้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับลูกหนี้เก่า เป็นเวลา 6 เดือน
15.6 ลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 7.5

ที่มา: บางกอกทูเดย์, 27/3/2563 

อาชีวะสร้างอาชีพ ช่วยแรงงานถูกเลิกจ้างจากพิษโควิด-19

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาฯ สอศ. เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ สถานประกอบการปิดตัวลง แรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการช่วยเหลือศักยภาพของสอศ.อย่างเร่งด่วน สอศ.จึงได้ทำโครงการตามนโยบายของ รมว.ศธ.ในการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีรายได้ ทั้งในระหว่างการฝึกอาชีพ และสามารถสร้างรายได้จากอาชีพใหม่ รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ จะให้ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด โดยจะสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อจัดหลักสูตรและดำเนินการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรูปแบบใด ภายใต้เงื่อนไข ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างให้มีรายได้ และไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ด้วย

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ดังกล่าว จะดำเนินการในทุกจังหวัด โดยจะทำความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม กรมแรงงาน และกรมการปกครอง เพื่อประสานข้อมูล ผู้ถูกเลิกจ้างงานในการลงทะเบียนเข้าฝึกอาชีพ ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 100,000 คน ได้แก่ กลุ่มพนักงานผู้ถูกเลิกจ้างงานจากสถานประกอบการ กลุ่มลูกจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างงาน และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป รวมถึงกลุ่มของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ โดยมีสถานศึกษา สังกัด สอศ. ทั้ง 429 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้ดำเนินการฝึกอาชีพ ทั้งนี้ สอศ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ได้แก่ ค่าวัสดุฝึก ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ในระหว่างการฝึกอาชีพตามโครงการ โดยจะเริ่มสำรวจข้อมูล ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และจะเริ่มดำเนินการตามโครงการเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

ที่มา: บ้านเมือง, 27/3/2563 

อาชีวะสร้างอาชีพ ช่วยแรงงานถูกเลิกจ้าง จากพิษโควิด-19

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาฯ สอศ. เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ สถานประกอบการปิดตัวลง แรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการช่วยเหลือศักยภาพของสอศ.อย่างเร่งด่วน สอศ.จึงได้ทำโครงการตามนโยบายของ รมว.ศธ.ในการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยจัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีรายได้ ทั้งในระหว่างการฝึกอาชีพ และสามารถสร้างรายได้จากอาชีพใหม่ รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ จะให้ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด โดยจะสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อจัดหลักสูตรและดำเนินการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรูปแบบใด ภายใต้เงื่อนไข ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างให้มีรายได้ และไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ด้วย

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ดังกล่าว จะดำเนินการในทุกจังหวัด โดยจะทำความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม กรมแรงงาน และกรมการปกครอง เพื่อประสานข้อมูล ผู้ถูกเลิกจ้างงานในการลงทะเบียนเข้าฝึกอาชีพ ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 100,000 คน ได้แก่ กลุ่มพนักงานผู้ถูกเลิกจ้างงานจากสถานประกอบการ กลุ่มลูกจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างงาน และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป รวมถึงกลุ่มของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ โดยมีสถานศึกษา สังกัด สอศ. ทั้ง 429 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้ดำเนินการฝึกอาชีพ ทั้งนี้ สอศ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ได้แก่ ค่าวัสดุฝึก ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ในระหว่างการฝึกอาชีพตามโครงการ โดยจะเริ่มสำรวจข้อมูล ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และจะเริ่มดำเนินการตามโครงการเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

ที่มา: บ้านเมือง, 27/3/2563 

ก.แรงงานตั้ง Hot Line COVID-19 รับข้อร้องเรียน

26 มี.ค. 2563 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วน ในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการในการดำเนินการหลายมาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทยโดยการมอบหมายทูตแรงงาน 12 แห่ง

สร้างการรับรู้อำนวยความสะดวก สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลของแรงงานไทยในต่างประเทศ มาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ โดยผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563

ส่วนด้านการเยียวยา ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาฟรี หากผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือโรงพยาบาลของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน นายจ้างรับรอง หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยดังกล่าว ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน

กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มี.ค.-31 ส.ค.2563

สำหรับมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ให้มีรายได้ผ่านโครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนด้านอาชีพให้สามารถเพิ่มพูนศักยภาพในทักษะ โดยการให้ค่าจ้างวันละ 300 บาท และกิจกรรมฝึกอาชีพ สนับสนุนค่าอาหารแบบเหมาจ่ายมื้อละ 80 บาท ฝึกอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน

เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถประกอบอาชีพอิสระ เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การตัดเย็บเสื้อผ้า การขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น โดยผ่านโครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ ของกรมการจัดหางาน เมื่อฝึกจบจะได้รับมอบเครื่องมือทำกิน และการฝึกทักษะอาชีพ แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ

โดยพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ทำ หรือเพื่อประกอบอาชีพเสริมในหลักสูตร อาทิ ภาษาอังกฤษ การประยุกต์ใช้ IOT เพื่อการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบสภาวะโรคระบาด โควิด-19 ” ณ ห้องแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Hot Line COVID-19) ณ อาคารอำนวยการชั้น 6 ของสำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ให้บริการ Hotline หมายเลข 02-9562513-4 ในวันและเวลาราชการ หรือ ติดต่อสายด่วน 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง) เพื่อรับข้อร้องเรียนและตอบคำถามเกี่ยวกับ COVID-19 รวมทั้งติดตามสถานการณ์กำหนดแนวทางรองรับผลกระทบจากสภาวะโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา (COVID-19)

ที่มา: เดลินิวส์, 26/3/2563 

วันที่ 4 แรงงานเมียนมารอข้ามด่านแม่สอด

หลังจังหวัดตากปิดด่านพรมแดนถาวรแม่สอด ทั้งสองแห่งเป็นวันที่ 4 และใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นวันแรก เช้าวันนี้ที่ประตูหน้าด่านพรมแดนถาวรแม่สอดแห่งที่ 2 แรงงานเมียนมาหลายพันคนยืนเบียดเสียดแห่ขอข้ามพรมแดนจนล้นด่าน เจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับท้องถิ่นทั้งไทยและเมียนมาได้มีมติผ่อนปรนเปิดให้ข้ามด่าน พร้อมกฎเหล็กไม่สวมหน้ากากไม่ให้ข้ามแดน พร้อมเสริมกำลังด่วนไปตั้งจุดคัดกรองไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

ขณะที่ตัวอำเภอแม่สอด ชาวบ้านวิตก หลังตรวจพบชาวปากีสถานติดเชื้อโควิด-19 คนแรกของจังหวัดตาก ต้องระดมทำความสะอาดทั้งเมือง และตั้งด่านคัดกรองทุกหมู่บ้านแนวชายแดนไทย-เมียนมา

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/3/2563 

ส่องมาตรการช่วยแรงงาน รองรับผลกระทบ COVID-19

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบ จำนวน 35,068 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวน 644,136 คน ส่วนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจำนวน 3,970 แห่ง ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบ จำนวน 156,589 คน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาตรการเพื่อเยียวยาทุกกลุ่มที่กระทบในขณะนี้ โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาแรงงานในระบบ โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม – 31 สิงหาคม 2563 ดังนี้

“กรณีผู้ประกันตนมีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ” เข้าไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ หากแพทย์ประเมินอาการแล้วสงสัยว่าเข้าข่ายป่วยโรคโควิด-19 แพทย์จะส่งตรวจเพาะเชื้อทางห้องแล็บ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าตรวจหรือค่ายาใดๆ หากผู้ประกันตนรายนั้นป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง

“ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน” เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ที่มีนายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน

“กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว” ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน

“กรณีลาออก” ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมร้อยละ 30)

“กรณีเลิกจ้าง” ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน (เดิมร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน) ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการประกันสังคมจะพิจารณาอีกครั้ง

“ลดอัตราเงินสมทบ” และขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน “ในส่วนของนายจ้าง” ร้อยละ 4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน (เดิมร้อยละ 5 ) และ “ผู้ประกันตน” เหลือร้อยละ 1 (เดิมร้อยละ 5 ) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และ งวดเดือนพฤษภาคม 2563 ให้นำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กันยายน 2563

“กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย” กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอของบกลางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพื่อเยียวยาลูกจ้าง ให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามอายุการทำงาน หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างผ่านกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 4,720 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะต้องติดตามเงินดังกล่าวจากนายจ้างเพื่อส่งคืนเงินแก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป

“พัฒนาทักษะฝีมือ” ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ทำ (Up skill) หรือเพื่อประกอบอาชีพเสริม (Re - skill) ในหลักสูตรอาทิ ภาษาอังกฤษ การประยุกต์ใช้ IOT เพื่อการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ ระยะเวลาฝึก 1 เดือน/รุ่น กลุ่มเป้าหมายจำนวน 7,000 คน (350 รุ่น) ทั่วประเทศ งบประมาณ 35,000,000 บาท

"จ้างบัณฑิตที่ว่างงานเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงาน" ในระดับพื้นที่ เพิ่มเป็น 841 อำเภอ อำเภอละ 2 คน (เดิม 38 อำเภอ) เพื่อให้บริการของกระทรวงแรงงานเข้าถึงประชาชนในระดับฐานรากอย่างทั่วถึง เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การพัฒนาทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

สนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ

ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อธิบายว่า ในส่วนของสถานประกอบการ สำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการ อยู่ระหว่างประสานธนาคารเพื่อตกลงในรายละเอียด คาดว่าจะลงนามข้อตกลงกับธนาคารได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานได้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเราพร้อมจะดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ

ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าว

ในส่วนแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ได้มีการ “ผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว” ที่การอนุญาตสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ใช้บัญชีรายชื่อ (Name List) ที่กรมการจัดหางานออกให้พร้อมใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นใบอนุญาตทำงานไปก่อน ยกเว้นค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay) ขยายใบรับรองแพทย์ให้มีอายุ 90 วัน โดยปัจจุบัน การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ปัจจุบัน มีการดำเนินการอยู่ 7 ศูนย์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 38 ศูนย์ในส่วนภูมิภาค

เชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) มีการปรับรูปแบบ แต่ยังคงให้บริการในส่วนของการจัดหางาน และยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ได้ในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งตอนนี้มีคนยื่นมาเกือบครบ 100% แล้ว ส่วนการดำเนินการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง และกทม. จะไปดำเนินการในที่ตั้งของตนเอง ซึ่งจะดำเนินการในวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

นอกระบบรับเงิน 5 พัน 3 เดือน

ทั้งนี้ ในส่วนของ “กระทรวงการคลัง” ได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยเยียวยาให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่นๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทน และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)

โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน 2563 จะดำเนินการผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และรับโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเดือน สามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 โดยข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลบริษัทนายจ้าง ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน และ ข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์หรือบัญชีธนาคาร สามารถรับเงินจำนวน 5,000 บาท 5 วันหลังจากลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ โดยการจ่ายเงินจะโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถยื่นคำขอรับเงินทดแทน 5,000 บาท จากกระทรวงการคลัง ได้เช่นเดียวกัน รวมถึงมาตรา 33 ที่ยังไม่มีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน ก็สามารถรับเงินเยียวยากับกระทรวงการคลังได้ เรื่องนี้เราดูแลครบทั้งระบบประกันสังคม

ธุรกิจร้านอาหารยอดลด 50%

นุสรา บินมายิด อายุ 53 ปี เจ้าของร้านอาหารคานาอัน สุขุมวิท 101/1 เล่าว่า หลังจากที่กทม. ประกาศปิดสถานบริการ แม้ร้านจะยังเปิดให้บริการได้แต่ยอดขายก็ลดลงถึง 50% เนื่องจากเมื่อก่อนลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ ซึ่งขณะนี้ให้ Work From Home กัน จึงต้องหันมาขายผ่านระบบเดลิเวอร์ลี่ และให้ห่อกลับบ้านแทน

“ในร้านมีลูกน้อง 4 คน ซึ่งที่ผ่านมาเราออกค่าที่พักให้ 50% อยู่แล้ว พอมีเหตุการ์โควิด -19 เราจึงปรับนโยบายคือการปรับลดค่าแรงพนักงานลง 30% จากวันละ 400 บาท เหลือวันละ 300 บาท กินข้าวที่ร้านได้ และพนักงานในร้านก็ตกลงตามนั้น ต้องพยุงลูกน้องไป เพราะหากเขาไม่มีค่าแรงเขาไม่สามารถอยู่ได้ เพราะถ้าจะให้หยุดไปเลยก็เป็นไปไม่ได้ แต่ละคนมีค่าใช้จ่าย เขามีลูก ต้องกิน ต้องใช้ ลำพังแค่เราปิดร้านเราอยู่ได้ แต่ลูกน้องมีผลกระทบ เดือดร้อนแน่นอน เพราะพวกเขาหาเช้ากินค่ำ”

สำหรับมาตรการการในการส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ จะให้ลูกทั้ง 2 คน เป็นคนรับออเดอร์ Get กับ Line Man รวมถึงฟังข่าว โดยจะมีทางเขตมาตรวจ ซึ่งเราก็ให้ความร่วมมือในการทำตามมาตรการทุกอย่างที่ออกมา ให้คนรับส่งอาหาร รอออเดอร์ห่างจากหน้าร้าน 1-2 เมตร มีแอลกอลฮอล์ล้างมือ และให้บริการห่อใส่ถุงกลับบ้านเท่านั้น ทั้งนี้ ลูกค้าเดลิเวอร์รี่ก็พอขายได้ รวมถึงอาศัยชุมชนรอบข้าง แต่ก็ถือว่ารายได้ลดลงกว่า 50% เพราะปกติจะขายได้วันละร้อยกว่าจาน ต้องเตรียมของลดลง 50% อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้จ่าย เพื่อประคองเด็กและร้านไปให้ได้ นอกจากนี้ ต้องมีการประเมินผลแต่ละอาทิตย์ว่าจะทำอย่างไรต่อ

“อยากจะให้กำลังใจสำหรับคนทำธุรกิจในช่วงนี้ เพราะเราผ่านวิกฤตไข้หวัดนกมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นโดนยึดบ้าน เพราะเป็นช่วงต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก และมาเจอไข้หวัดนก แม้ครั้งนี้จะร้ายแรง แต่เราต้องพัฒนาตัวเอง เราเอาประสบการณ์สอนลูกสอนหลานว่าอย่าสร้างหนี้ ทำอะไรให้กระชับที่สุด เพราะมันก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน"

นอกจากนี้ ยังเตรียมเมนูสู้ไปด้วยกัน ราคาพิเศษ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ราคาเดียว 29 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขายได้ในวันจันทร์หน้า ประกอบด้วยเมนู กระเพราหมูไข่เจียว ไก่กระเทียมไข่เจียว และหมูผัดพริกแกงไข่ต้ม วัตถุดิบเหล่านี้ ไม่ได้แพง ขายให้คนที่รายได้น้อย อย่างน้อยมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แท็คซี่ พนักงานที่ได้เงินรายวัน ที่ได้ผลกระทบ ก็ได้ทาน” นุสรา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/3/2563 

ครม. อนุมัติให้ ผู้ประกันตน ม.39 ส่งเงินสมทบเหลือ 211 บาท จาก 432 บาท งวด มี.ค.-พ.ค. 2563

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019) (COVID-19)) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยสาระสำคัญ ระบุว่าร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญ คือ 1) ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยให้นายจ้างส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละสี่ เพื่อไม่ให้ผู้ประกันตนเสียประโยชน์ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบในอัตราร้อยละหนึ่ง ของค่าจ้างของผู้ประกันตนเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์โดยตรงทันที 2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละสองร้อยสิบเอ็ดบาท 3) ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยสาระสำคัญ คือร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญ คือ (1) ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 (2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

ที่มา: มติคณะรัฐมนตรี, 24/3/2563 

แรงงานไทยกว่า 240 คน ติดค้างด่านมาเลเซีย วิดีโอคอลขอความช่วยเหลือ

23 มี.ค. 2563 บรรยากาศที่ด่านพรหมแดนไทย-มาเลเซีย จ.สงขลา เช้านี้งียบเหงา โดยเฉพาะที่ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา และด่านประกอบ อ.นาทวี ซึ่ง จ.สงขลา ได้ออกประกาศคำสั่งเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) ให้ระงับการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลทุกสัญชาติ รวมทั้งคนไทย ยานพาหนะ และสิ่งของ ผ่านจุดผ่านแดนถาวรตลอดแนวชายแดน จ.สงขลา เป็นการชั่วคราวนับตั้งแต่หลังเที่ยงคืนที่ผ่านมา ทำให้เช้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูด่านชายแดนไม่ให้บุคคลและยานพาหนะเข้า-ออกอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นที่ด่านพรมแดนสะเดา อ.สะเดา เพียงด่านเดียว ที่ผ่อนปรนให้รถขนส่งสินค้าพร้อมคนขับประจำรถ 1 คน สามารถเดินทางเข้า-ออกเพื่อขนส่งสินค้าข้ามแดนได้ แต่จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ ซักประวัติ หากพบพนักงานขับรถที่เป็นชาวต่างชาติมีไข้ จะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเด็ดขาด หากเป็นคนไทยจะทำการสอบสวนโรค และติดตามอาการ แนะนำให้กักตัว ซึ่งมาตรการปิดด่านในวันนี้ ส่งผลให้การขนส่งสินค้าเข้าออกเช้านี้เบาบางกว่าทุกวันที่ผ่านมา

บริเวณหน้าด่านพบว่ามีรถโดยสารที่มารอรับแรงงานไทยจำนวนหนึ่ง มีรายงานว่ามีแรงงานไทยอีกกว่า 240 คน ขณะนี้ติดอยู่ที่ด่านชายแดนมาเลเซีย ไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ทันตามเวลาที่จังหวัดประกาศ เนื่องจากเพิ่งทราบข่าว และการติดต่อรถโดยสารเพื่อเดินทางมาส่งยังฝั่งไทยทำได้ยาก เช่น แรงงานไทยกลุ่มนี้ จากกัวลาลัมเปอร์ ที่เดินทางออกจากกัวลาลัมเปอร์เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่การเดินทางใช้เวลานานหลายชั่วโมง ทำให้มาไม่ทันด่านปิด และได้วิดีโอคอลเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเดินทางกลับเข้าประเทศไม่ทัน และถูกทางการมาเลเซียห้ามชุมนุมบริเวณด่านเพื่อรอความชัดเจนจากทางการไทย

อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตประเทศไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ออกประกาศเพิ่มเติมกรณีปิดด่านทางบกชายแดนไทย-มาเลเซียชั่วคราว สำหรับคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการประสงค์จะกลับประเทศไทย สามารถเดินทางกลับได้โดยช่องทางทางอากาศเท่านั้น ซึ่งจะต้องแสดงเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งใบรับรองแพทย์และเอกสารรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และกระทรวงการต่างประเทศออกให้เท่านั้น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/3/2563 

มุกดาหาร ผ่อนผันให้แรงงานลาวกลับบ้านเป็นวันที่ 2 กว่า 1,000 คน

24 มี.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศของการเดินทางกลับของผู้ใช้แรงงานชาวลาว ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) หลังจากจังหวัดมุกดาหาร ประกาศระงับการเดินทางเข้า-ออก ของบุคคลยานพาหนะ และสิ่งของ ณ จุดผ่านแดนถาวรเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานชาวลาว ซึ่งไม่ทราบข่าวและเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 1,000 คน แห่กลับทำให้ด่านแออัดไปด้วยประชาชนชาวลาว

ในขณะที่จังหวัดมุกดาหาร โดยนาย ชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้ผ่อนผันให้รถโดยสารระหว่างประเทศ ของบริษัท ขนส่งจำกัด มารับแรงงานชาวลาวที่บริเวณขาออก ลานจอดรถผู้โดยสาร โดยไม่ผ่านขาเข้าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)

ทั้งนี้แรงงานชาวลาวทั้งหมดที่เดินทางกลับต้องปฎิบัติตามระเบียบขั้นตอน ของการออกนอกราชอาณาจักร ทั้งหมดรวมถึงต้องผ่านการคัดกรองโรค ก่อนเข้าคิวยื่นเอกสารเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร ให้เข้าแถวล้างมือด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด และตรวจอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องอินฟาเรด เทอร์โมมิเตอร์ และเดินทางเครื่องเทอร์โมสแกน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์มุกดาหาร ได้ทำการฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณรถโดยสารประจำทางทุกเที่ยวทุกคัน หลังจากข้ามไปส่งแรงงานชาวลาวที่ฝั่งสะหวันนะเขต

ขณะเดียวกันด่านตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร ได้ระดมเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ความรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้คำแนะนำในการใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังมีแรงงานชาวลาวทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง และอย่างไรก็ตามทางตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร เปิดให้บริการแรงงานชาวลาวจนถึงเวลา 22.00 น.

ที่มา: สยามรัฐ, 24/3/2563 

ฟอร์ดประกาศหยุดผลิต 2 โรงงานในไทยชั่วคราว 28 มี.ค.-20 เม.ย. นี้

24 มี.ค. 2563 ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี จะหยุดสายการผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์เป็นการชั่วคราว ที่โรงงานผลิตในกลุ่มตลาดนานาชาติ ในอินเดีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ และประเทศไทย รวมถึง โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง หรือ เอฟทีเอ็ม โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง หรือ เอฟทีเอ็ม จะหยุดการผลิตรถยนต์ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-20 เม.ย. นี้ จนกว่าจะมีประกาศอีกครั้งส่งผลกระทบต่อพนักงงานกว่า 2,000 คน

ทั้งนี้การเปิดสายการผลิตในอนาคตนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศ และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการหยุดการผลิตรถยนต์ชั่วคราวครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล ในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ผู้จำหน่าย ลูกค้า และคู่ค้า

ที่มา: TNN, 24/3/2563 

TDRI เสนอ 5 มาตรการสู้โควิด-19 ช่วยเหลือทางการเงินประชาชน 3 เดือน อุ้มธุรกิจขนาดเล็ก

24 มี.ค. 2563 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะกรณีการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ว่าคณะนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งได้ติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาด้วยความเป็นห่วง มีความเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยอาจเข้าสู่ขั้นวิกฤติ เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปอีก จนอาจจะเกินกว่าขีดที่ระบบสาธารณสุขของประเทศจะสามารถรองรับได้ ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันหรือมากกว่าในอีกไม่นาน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเสียชีวิต และการเจ็บป่วยของประชาชน ตลอดจนลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประชาชนจากภาวะการว่างงานที่เกิดขึ้น จากทั้งการแพร่ระบาดของโรค และมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาความยากจนหรือปัญหาอาชญากรรมในวงกว้าง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

หนึ่ง รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายสูงสุดในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจัดสรรทรัพยากรให้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นกรอง ติดตามและคัดแยกผู้ติดเชื้อ ซึ่งกำลังกระจายตัวไปในวงกว้างทั่วประเทศ และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ให้มียารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ ตลอดจนให้เบี้ยเลี้ยงพิเศษ และประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องห่วงฐานะการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะสุขภาพของประชาชนย่อมมีความสำคัญกว่า

สอง รัฐบาลควรมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยและตกงาน อย่างไม่ตกหล่น และรวดเร็วพอที่จะสามารถแก้ความเดือนร้อนเฉพาะหน้าได้

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมจะขยายความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตน ในส่วนของการประกันการว่างงาน ให้ครอบคลุมถึงการเกิดโรคระบาด ทั้งกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานและกรณีภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ตรงจุดในการช่วยเหลือคนว่างงาน แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะมีแรงงานที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประกันการว่างงานในระบบประกันสังคม (ซึ่งรวมถึงผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และแรงงานที่มีรายได้รายวันอาทิ คนขับแท็กซี่) ถึงร้อยละ 70 ของแรงงานทั้งหมด

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเพิ่มการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประกันการว่างงานในระบบประกันสังคม ตามขั้นตอนดังนี้

1) ให้ประชาชนไทยทุกครอบครัว อยู่ในข่ายเบื้องต้นที่จะได้รับการเงินช่วยเหลือตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือน เช่น สมาชิกในครัวเรือน 1-2 คน ได้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อเดือน, 3-4 คนได้ 2,500 บาทต่อเดือน จากนั้นให้เพิ่มอีกคนละ 500 บาทต่อสมาชิกแต่ละคนที่มากกว่า 4 คน ขั้นต้นเป็นเวลา 3 เดือน

2) กระทรวงการคลังตรวจสอบทุกคนในแต่ละครัวเรือน โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล 26 ฐานที่ใช้ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อตัดครัวเรือนที่ไม่ควรได้รับความช่วยเหลือออกไป ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น เช่น ครัวเรือนที่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเองมูลค่าประเมินเกินกว่า 3 ล้านบาท มีเงินฝากรวมกันเกิน 100,000 บาท หรือมีเงินเดือนเฉลี่ยต่อคนเกินกว่า 15,000 บาท ซึ่งอาจจะทำให้เหลือครัวเรือนที่อยู่ในข่ายรับความช่วยเหลือประมาณ 6-7 ล้านครัวเรือน

3) ตัดลดเงินช่วยเหลือตาม 1) ลงตามจำนวนสมาชิกของครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนการประกันการว่างงาน จากกองทุนประกันสังคมแล้ว

เหตุที่เราไม่ได้เสนอให้ใช้ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลักตั้งแต่แรก เนื่องจากฐานข้อมูลดังกล่าวยังต้องพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น ดังผลการศึกษาที่พบว่า มีผู้มีรายได้น้อยที่ตกหล่นจากฐานข้อมูลดังกล่าวถึงร้อยละ 64 หรือกว่า 4-5 ล้านคน

การให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอของเราอาจทำให้มีผู้ได้รับความช่วยเหลือโดยไม่สมควรไปบ้าง แต่ความผิดพลาดดังกล่าวน่าจะมีต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าการไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือ หากยึดตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ รัฐและสังคมควรสื่อสารให้ผู้ที่ไม่เดือดร้อนไม่ใช้สิทธิในการรับความช่วยเหลือดังกล่าวในช่วงวิกฤติเช่นนี้

สาม รัฐบาลควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการเลิกจ้างงาน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างแรงงานในกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก โดยอุดหนุนค่าเช่าสถานที่ และค่าจ้างแรงงานบางส่วน

สี่ รัฐบาลควรยกเลิกมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ตรงจุด หรือซ้ำซ้อน เมื่อได้ให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอข้างต้นแล้ว อาทิ การลดค่าสาธารณูปโภคเช่น ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ทั้งผู้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเดือดร้อนแบบหว่านแหในปัจจุบัน

ห้า รัฐบาลควรดำเนินมาตการในช่วงวิกฤติการณ์นี้โดยไม่ประมาท ไม่ตายใจหากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในบางวันลดลง โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่บริหารราชการแผ่นดินเหมือนในสภาวะปรกติ เช่น ควรพร้อมประชุม ครม. แม้กระทั่งในวันหยุดหรือนอกเวลาราชการ และควรสื่อสารกับประชาชนอย่างครบถ้วน ชัดเจนและตรงไปตรงมา เพื่อฟื้นฟูความเชื่อถือจากประชาชน และทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ

ที่มา: ไทยโพสต์, 24/3/2563 

คาด COVID-19 กระทบสถานประกอบการ 3.5 หมื่นแห่ง ลูกจ้าง 5-6 แสนราย จ่อชงงบพัน ล.เข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดูแลลูกจ้างที่สถานประกอบกิจการถูกสั่งปิดชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่โรคโควิด-19 ว่า กรณีรัฐสั่งให้ปิดสถานประกอบกิจการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานประกอบกิจการไหนที่อยากจะจ่ายชดเชยเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างของตนเองก็ทำได้ ตรงนี้แล้วแต่แนวคิดของสถานประกอบกิจการ ไม่มีกฎหมายมาบังคับได้

เมื่อถามว่า สถานประกอบกิจการที่รัฐไม่ได้สั่งให้ปิด แต่สั่งให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านพร้อมลดค่าจ้าง โดยกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการดูแลจากประกันสังคม นายอภิญญา กล่าวว่า ถ้าสถานประกอบกิจการไม่ได้ถูกคำสั่งให้ปิด แต่เขาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ทำให้ออเดอร์ลดลง จนต้องใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แล้วจ่ายค่าจ้าง 75% ของเงินเดือน ตรงนี้ก็มีกฎหมายให้ทำได้อยู่ ส่วนบางสถานประกอบกิจการที่ไม่ได้รับความเสียหายอะไร แต่สั่งให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านแล้วมาขอลดเงินค่าจ้างนั้น เรื่องนี้นายจ้าง ลูกจ้างต้องพูดคุยกัน เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องจ่ายเต็ม และจริงๆ สถานประกอบกิจการน่าจะมีต้นทุนลดลงด้วยซ้ำ เพราะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าต่างๆ ไม่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าคุยกันแล้วตกลงกันไม่ได้ ก็แจ้งมาที่ กสร. ให้มาพูดคุย ทำความเข้าใจ

เมื่อถามว่า ลูกจ้างในระบบเริ่มเห็นมาตรการช่วยเหลือจากประกันสังคม แต่มีบางกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม จะช่วยเหลืออย่างไร นายอภิญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการ คิดว่า น่าจะอยู่ในระบบทั้งหมด ถ้ายังมีใครที่ถูกจ้างในสถานประกอบกิจการแล้วไม่แจ้งเข้าระบบประกันสังคม แบบนี้จะถือว่ามีความผิดที่ไม่แจ้ง ส่วนแรงงานที่เป็นแรงงานนอกระบบจริงๆ เนื่องจากไม่มีนายจ้างก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถตามไปถึงตรงนั้น บางส่วนเข้าเป็นผู้ประกันตนเองตามมาตรา 40 นั้น ตอนนี้ก็ยังได้รับสิทธิได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ถ้าเจ็บป่วยต้องนอน รพ. แต่กรณีการขาดรายได้จากการว่างงานอื่นๆ นั้นยังไม่มี

“สถานการณ์การระบาดตั้งแต่ตอนต้น มีลูกจ้างและสถานประกิจการได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ สถานประกอบการที่อยู่ในข่ายที่ต้องหยุดทั้งประเทศตัวเลขไม่น่าจะต่ำกว่า 3.5 หมื่นแห่ง ผู้ประกันตนประมาณ 5-6 แสนคน ทาง กสร. ด้วยอำนาจหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง อาจจะมีสถานประกอบการบางส่วนที่เลิกจ้างลูกจ้างไป เพราะปัญหาต่างๆ รวมถึงเรื่องโรคโควิด-19 ด้วย ก็ห่วงว่า นายจ้างจะมีเงินจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างได้หรือไม่ ซึ่งปกติจะมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีที่นายจ้างไม่มีเงินจ่ายชดเชย ลูกจ้างจะต้องมาขอการเยียวยานั้น ขณะนี้กองทุนมีอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรากังวลว่าจะมีลูกจ้างมาขอใช้สิทธิมากขึ้นแล้วเงินกองทุนจะไม่พอ จึงเตรียมของงบกลางเพิ่ม ประมาณ 1 พันล้านบาท โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 มี.ค.นี้” นายอภิญญา กล่าว

นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การขอ จะเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแล้วไม่จ่ายชดเชย หลังจากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายแล้ว และคำสั่งถึงที่สุดแต่นายจ้างไม่จ่ายลูกจ้างก็มีสิทธิมายื่นคำร้องที่พนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานจะส่งรายงานมาให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพิจารณาความเดือดร้อน ส่วนจำนวนเงินที่ได้รับจากการสงเคราะห์เป็นไปตามสัดส่วนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คงไม่ได้เต็มจำนวนทั้งเดือน กรณีจะครอบคลุมการถูกเลิกจ้างทุกกรณีแต่ไม่ได้รับการชดเชย รายละเอียดสามารถดูได้ที่เว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/3/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท