Skip to main content
sharethis


วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ (FM 101.5 MHz) ว่าหลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 แสดงความห่วงกังวลและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหารวม 4 ข้อ คือ

1) นายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหา ควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จัดการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างเป็นระบบและเผยแพร่ข่าวสารโดยแหล่งเดียวกัน 2) การปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พึงกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางตรงข้าม 3) หากรัฐบาลจะนำยุทธการปิดเมือง (Lockdown) มาใช้ในพื้นที่และช่วงเวลาที่กำหนด พึงระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดจากยุทธการดังกล่าว และควรวางแผน “ยุทธบริการ” อย่างรอบคอบ  และ 4) ประชาชนควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฎิบัติตามคำสั่งหรือข้อเสนอแนะหรือมาตรการของรัฐบาล ทีมแพทย์และหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมมือกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมกับประกาศกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน จัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว (ฉบับที่ 1)

“โรคโควิด19 (เชื้อ SARS-CoV-2) เกิดจากเชื้อซาร์สและเป็นน้องของเชื้อ SARS-CoV-1 เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งชอบอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส และอากาศแห้งความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 50% หากอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 95% เชื้อโรคดังกล่าวจะตายเกือบหมด สภาพดังกล่าวในประเทศไทยจะตกอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 จึงมีความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคนี้ซึ่งอยู่นอกร่างกายของมนุษย์จะตายไป” ประธาน กสม. กล่าว

นายวัส กล่าวต่อไปว่า “ในช่วงเวลา 2-3 เดือนต่อจากนี้ไป (1) รัฐบาลควรดำเนินการ test และ isolate ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงออกมา และ trace หาต้นตอ แล้วใช้ยาเก่า เช่น ฟาวิพิราเวียร์รักษาคนไข้ที่ตรวจพบเชื้อไวรัสนี้ไปก่อน เพื่อรอเวลาพัฒนาการรักษาชนิดใหม่ (new treatments) ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี (2) ประชาชนควรนำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาใช้อย่างเคร่งครัด ไม่เข้าไปในที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก หากจะต้องไปซื้อหาอาหาร ของกินของใช้ หรือยารักษาโรค ควรเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร และควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในสภาพการณ์ดังกล่าว (3) ประชาชนควรเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันสูง หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ”

“ขอให้ประชาชนคนไทยและคนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านพ้นวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”  ประธาน กสม. กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net