เช้านี้ (29 มี.ค.) สภาพอากาศที่เชียงใหม่ยังแย่ หลังวิกฤตไฟป่าตลอดทั้งสัปดาห์

คุณภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ณ เวลา 7.00 น. ของวันที่ 29 มี.ค. 2563 ยังแย่ พบว่าหลายจุดที่ค่า PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก หลังเชียงใหม่และภาคเหนือเผชิญวิกฤตไฟป่ามาตลอดทั้งสัปดาห์

ภาพไฟป่าบริเวณ บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เมื่อคืนของวันที่ 27 มี.ค. 2563 ถ่ายโดนทีมโดรนอาสา | ที่มาภาพ: WEVO สื่อสู้ฝุ่น

29 มี.ค. 2563 สภาลมหายใจเชียงใหม่ รายงานคุณภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ณ เวลา 7.00 น. พบว่ามีหลายจุดที่ปริมาณ PM2.5 สูง คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-28 มี.ค. 2563) พบว่า จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือ เผชิญกับไปหาไฟป่าในหลายพื้นที่ แม้ว่าเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. มีรายงานว่าไฟป่าบนดอยสุเทพ-ปุย เริ่มคลี่คลาย แต่ยังเหลือจุดที่เกิดซ้ำซากที่เป็นภูเขาสูง ต้องอาศัยเฮลิคอปเตอร์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ MI-17 ของกองทัพบก บินโปรยน้ำควบคู่กับระดมกำลังภาคพื้นดินจากทุกภาคส่วนเข้าดับไฟ

28 มี.ค. 2563

จ.เชียงใหม่ ต้องอากาศยานขึ้นบินโปรยน้ำเพื่อดับไฟป่าในพื้นที่สูงชัน นอกจากเฮลิคอปเตอร์ MI- 17 ของกองทัพบกแล้ว ยังต้องเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 3 ลำ ร่วมปฏิบัติการบินโปรยน้ำดับไฟ โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. เฮลิคอปเตอร์ KA-32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้เข้าปฏิบัติการบินโปรยน้ำดับไฟด้วยเช่นเดียวกัน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเร่งปรับแผนการดำเนินงาน ซึ่งมีผู้แทนจากมณฑลทหารบกที่ 33 ฝ่ายปกครอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคประชาชนจิตอาสา ร่วมหารือปรับแผนในการดับไฟป่า รวมทั้งการนำอากาศยานขึ้นบินโปรยน้ำเพื่อดับไฟในพื้นที่สูงชันให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. พบว่าสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เริ่มคลี่คลาย โดยภารกิจช่วงบ่ายวันนี้เฮลิคอปเตอร์ ปภ. (KA-32) จะปฏิบัติการบินโปรยน้ำดับไฟจุดแหลมสน (ดอยผาดำ) ใกล้บ้านม้งดอยปุย และขุนช่างเคี่ยน ตำบลสุเทพ มีจุดไฟไหม้เกิดขึ้นใหม่และปะทุจากเดิมเมื่อคืนนี้ ซึ่งมีกำลังเจ้าหน้าที่เสือไฟ เหยี่ยวไฟ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุยได้ทำแนวกันไฟและนำรถดับเพลิงเฝ้าระวังไว้ตลอดทั้งคืนเพื่อป้องกันการลุกลาม โดยในเช้าวันนี้ได้สนธิกำลังกับหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมกว่า 200 นาย เร่งดับไฟอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ทีมโดรนจิตอาสาได้บินขึ้นสำรวจบริเวณใกล้กับพระธาตุดอยคำ ตำบลแม่เหียะ และจุดบ้างปง อำเภอหางดง ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณเดิมที่เกิดไฟป่าขึ้นในช่วงกลางดึก หากพบจุดที่เกิดไฟจะแจ้งพิกัดมายังศูนย์บัญชาการฯ จังหวัด เพื่อนำเฮลิคอปเตอร์ Mi-17V5 ของกองทัพบก บินขึ้นโปรยน้ำในจุดนั้น ในส่วนของเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 3 ลำ ปฏิบัติการบินโปรยน้ำดับไฟบนพื้นที่สูงชันตั้งแต่ช่วงเช้า ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจบินที่อำเภอเชียงดาวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากตรวจพบจุดความร้อน 65 จุด โดยเฉพาะพื้นที่บ้านนาเลา ตำบลเชียงดาวที่มีจุดความร้อนพุ่ง 15 จุด ในพื้นที่เขาสูงชันและเหวลึก และเป็นจุดเดิมที่ลุกลามจากเมื่อวานนี้ 5 จุด ที่หน่วยดับไฟภาคพื้นดินเข้าไม่ถึง

สถานการณ์หมอกควันไฟป่าล่าสุดตั้งแต่เช้าวันที่ 28 มี.ค. มีรายงานการตรวจพบจุดความร้อนจากดาวเทียมเวียร์ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 518 จุด เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 294 จุด และป่าสงวนแห่งชาติมากถึง 212 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ลาดชัน บางจุดเป็นเหวลึก ยากต่อการที่หน่วยดับไฟภาคพื้นดินเข้าถึง ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าเพื่อควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างได้ แต่ประกอบกับในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีลมแรงทำให้สะเก็ดไฟถูกลมพัดปลิวข้ามแนวกันไฟที่ทำเพื่อสกัดไฟไว้ ลุกลามไปยังพื้นที่ข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบางจุดเกิดการปะทุขึ้นใหม่ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะร่วมกันดับไฟไปแล้วตาม

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ส่งกำลังทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่อุทยาน สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายปกครอง อปท. ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ออกลาดตระเวน ตรวจสอบจุดความร้อนและเฝ้าระวังการเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ให้เพิ่มการลาดตะเวนในพื้นที่เสี่ยงให้มากขึ้น ถือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา และกลยุทธ์สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อป้องปรามการลักลอบเผาป่าเพิ่ม โดยกำชับเจ้าหน้าที่หากพบผู้ที่เข้าไปในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตอนนี้ สามารถจับได้เลย เพราะได้ประกาศมาตรการปิดป่า 100% ไปแล้ว หากฝ่าฝืนจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาดต่อไป

นายคมสัน กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ชี้เบาะแสเพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้เพิ่มรางวัลนำจับจากรายละ 5,000 บาท เป็น 10,000 บาทแล้ว โดยสามารถแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-112-808 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 191 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 28 มี.ค. ยังมีรายงานไฟป่าที่ ดอยหลวง อ.เชียงดาว ด้วย

27 มี.ค. 2563

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และชาวบ้านที่ร่วมกันดับไฟป่า บริเวณดอยผาดำ จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ พบปะและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และชาวบ้านที่มาร่วมกันดับไฟป่า บริเวณดอยผาดำ ใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พื้นที่บ้านม้งดอยปุย หมู่ที่ 11 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเดินเท้าเข้าไปดูจุดที่ไฟไหม้ที่กินบริเวณกว้าง ซึ่งควบคุมเพลิงได้แล้ว เหลือในป่าลึกราวร้อยละ 20 ที่ยังต้องเฝ้าระวัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทดลองฉีดพ่นน้ำดับไฟ บริเวณตอไม้ที่ยังคงคุกรุ่น พร้อมกล่าวขอบคุณและชื่นชมผู้ปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่าทุกคนยืนยันจะให้หน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอุปกรณ์ดับไฟเพิ่มเติม เช่นเครื่องเป่าลมดับไฟตามที่ร้องขอ นอกจากนี้ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันเป็นหูเป็นตาดูแลพื้นที่ป่าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ไปรอพบเพื่อยื่นหนังสือความเห็นและข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันจากภาคประชาชน ต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ตามที่ได้ประสานงานนัดหมาย แต่ปรากฏมีเหตุไม่ได้พบ อย่างไรก็ตาม ทางสภาฯ จะพยายามหาวิธีส่งหนังสือและข้อเสนอรวมถึงการขอให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาโดยผ่านช่องทางอื่น ต่อไป

สภาลมหายใจเชียงใหม่ซึ่งเป็นองค์กรที่ประชาชนหลายภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหามลพิษอากาศอย่างยั่งยืน จึงใคร่ขอเสนอต่อท่านเพื่อพิจารณายกระดับปรับมาตรการแก้ปัญหา ดังนี้
1. การยกระดับเชิงนโยบาย
1.1 กรอบนโยบายและแผนแก้ปัญหาฝุ่นควันตามวาระแห่งชาติ มีจุดอ่อนใช้กับภาคเหนือไม่ได้จริง ดังสถิติไฟและมลพิษตลอด 3 เดือนมานี้ จึงใคร่ขอให้รัฐบาลทบทวนใหม่ เนื่องจากใช้วาระแห่งชาติแบบเดิมไม่ได้ผล
1.2 ปัญหาของภาคเหนือมีลักษณะเฉพาะของพื้นที่หุบเขา/ป่าเต็งรังผลัดใบ ประกอบกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ใช้กรอบคิด ความรู้ และคติเดิมไม่ได้ ขอให้พิจารณาปัญหาเลวร้ายสุด เช่น การเกิดไฟป่าใหญ่ที่ลอสแอนเจลิส ออสเตรเลีย เป็นตัวอย่าง
1.3 รัฐบาลต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย ลำพังประกาศวาระแห่งชาติไม่พอหากขาดซึ่งเจตจำนงทางการเมือง การสู้กับฝุ่นควันก็เช่นเดียวกับการสู้กับโควิด-19 ที่ต้องตัดสินใจไปทางหนึ่ง เช่น หากจะโซนนิ่งรักษาป่าต้นน้ำก็ต้องกระทบอุตสาหกรรม เกษตร และการส่งออก รัฐบาลต้องมีความแน่วแน่ แล้วก็ใช้มาตรการบรรเทาปัญหาของทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ
1.4 รัฐบาลต้องไม่ซื้อเวลา และผลักดันให้เกิด พรบ.อากาศสะอาด และมีหน่วยงานกำกับปัญหาโดยตรง รวมทั้งขอให้มี มติ ครม. รับรองร่าง และส่งเข้ารัฐสภาพิจารณาโดยเร็ว

2. การจัดการบริหารในเขตป่าอนุรักษ์
2.1 ดำเนินการกำหนดขอบเขตชุมชน ที่ทำกิน ที่ป่าชุมชน ใช้แนวทางการมีส่วนร่วมเป็นหลักในการบริหารจัดการ ให้มีความชัดเจนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชน จัดทำแผนที่และระเบียบกติกาการบริหารจัดการให้เหมาะสมชัดเจน
2.2. ให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแผนและงบประมาณการสนับสนุน การพัฒนาแหล่งน้ำ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการทำการเกษตรยั่งยืน ที่ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยว มุ่งลดการใช้สารเคมี โดยมีการสนับสนุนการตลาดควบคู่กัน
2.3. ให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนให้สมาชิกของชุมชนเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ป่า มีการวางแผนการจัดการไฟป่าฝุ่นควันโดยมีงบสนับสนุนอย่างเหมาะสม ในรูปของกองทุนรักษาป่า ทั้งค่าแรงและสวัสดิการ

3. การจัดการบริหารในเขตป่าสงวน
3.1 ให้ชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน ออกกติกาการจัดการป่าอย่างยั่งยืน วางแผนการจัดการป่า และการเกษตรยั่งยืน ตามแนวทาง พรบ.ป่าชุมชน
3.2. จัดตั้งกองทุนชุมชนในการจัดการไฟป่าและฝุ่นควัน เพื่อการบริหารจัดการในเขต
ป่าสงวน

4. การจัดการภาคเมือง
4.1. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง จากปัจจุบัน18% เป็น 30% ของพื้นที่เมือง รวมทั้งส่งเสริมเส้นทางจักรยานและถนนน่าเดิน
4.2. เชื่อมโยงการทำงานภาคเมืองและชนบท ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้บริจาคเพื่อการดูแลป่าและลดฝุ่นควัน
4.3. จัดตั้งกลไกเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรชุมชน ประชาสังคม ศิลปิน สื่อมวลชน และอื่นๆ
4.4. จัดระบบข้อมูลแบบ real time และเป็น open data ที่ทุกฝ่ายใช้ประโยชน์ และบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เกิดความต่อเนื่อง
5. ข้อเสนอมาตรการเร่งด่วน

5.1. สนับสนุนให้เกิดการวางแผนการดูแลป่า และฝุ่นควันในทุกพื้นที่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยการมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่(กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) องค์กรปกครองท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ทสม.) และหน่วยงาน ภาคีต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ให้เกิดความชัดเจนว่าพื้นที่ใดชุมชนดูแล พื้นที่ใดชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐดูแล พื้นที่ใดเจ้าหน้าที่รัฐดูแล เพื่อให้ทุกพื้นที่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยให้มีการดำเนินการพร้อมกันใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนหรือรวมพื้นที่อื่นตามความเหมาะสม
5.2. เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีนี้มีสถิติการเกิดไฟไหม้ของเชียงใหม่ในป่าอนุรักษ์มากกว่าป่าสงวน และหลายครั้งที่เกิดกลางป่าลึก เหวสูง ไกลกว่าเส้นทางหาของป่าของราษฎร ไม่เพียงเท่านั้น สถิติการเกิดไฟก็มากกว่าปีอื่น ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เช่น ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน หรือกระทั่งพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่เอง จึงขอให้กระทรวงฯ ได้ทำการตรวจสอบ รวมทั้งขอให้เปิดรับฟังข้อปัญหาจากประชาชนเสริมเข้าไปด้วย
5.3. ร่วมกันวางแผนและพัฒนาแนวทางการจัดการไฟ (fire management) รัฐต้องมีนโยบายชัดเจนโดยยอมรับว่าสภาพธรรมชาติของป่าผลัดใบ (เต็งรัง/เบญจพรรณ) มีเชื้อเพลิงสะสมมาก ดังนั้นจะต้องมีมาตรการจัดการเชื้อเพลิงที่จริงจัง เป็นที่รับรู้ เป็นส่วนที่สำคัญของแผนมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นควันนับจากนี้

จนถึงในช่วงกลางคืนของวันที่ 27 มี.ค. 2563 ยังมีรายงานว่าเกิดไฟป่าในบางพื้นที่อยู่

26 มี.ค. 2563

ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ระดมกำลังควบคุมสถานการณ์ไฟป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวันที่ 25 มี.ค. 2563 ได้เกิดเหตุไฟไหม้บนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 โดยได้ ระดมกำลังพลจากทุกภาคส่วน รวมทั้งอาสาสมัคร และเครือข่ายจิตอาสาบริเวณบ้านม้งดอยปุย กว่า 400 นาย เข้าระงับเหตุ ซึ่งไฟได้ลุกลามเป็นวงกว้าง โดยจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนมีเหวลึก ยากแก่การเข้าถึง อีกทั้งเป็นป่าเต็งรังที่มีใบไม้แห้งเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ไฟลุกลามเป็นแนวยาวตามสันเขา ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือกระแสลมที่แรง ทำให้พัดสะเก็ดไฟข้ามแนวกันไฟที่เจ้าหน้าที่ได้ทำไว้ ลุกลามเพิ่มตามแนวสันเขาเป็นวงกว้าง ประกอบกับผู้ปฏิบัติงานเหนื่อยล้าหลังจากต้องเข้าควบคุมไฟติดต่อกันตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 25 มี.ค. 2563 ข้ามมาจนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 26 มี.ค. 2563 รวม 14 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้เป็นวงจำกัด ซึ่งได้ถอยกำลังลงมาเฝ้าระวังในจุดที่ปลอดภัย เนื่องจากมีควันปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ด้านบนมีอากาศหายใจน้อย ต้องใช้ความระมัดระวังสูง โดยได้ทำแนวกันไฟป้องกันไว้โดยรอบ และมีรถน้ำพร้อมเข้าไปยังพื้นที่หากเกิดการลุกไหม้เพิ่มเติมตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของพื้นที่เสียหายอยู่ระหว่างการประเมิน

เบื้องต้นในเช้าวันที่ 26 มี.ค. 2563 ได้ขอกำลังทีมโดรนอาสา บินสำรวจเพื่อชี้พิกัดให้กับ เฮลิคอปเตอร์ MI-17 จากกองทัพบก ในการเข้าดับไฟ รวมทั้งจะนำเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนทั้งหมด 3 ลำ ช่วยสนับสนุนในภารกิจนี้เป็นการเร่งด่วน

มีรายงานข่าวว่านายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เข้าควบคุมไฟป่าลุกลาม จากเขตป่า อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพปุย ถึงหลังวัดพระธาตุดอยคำ (บ้านแม่เหียะใน)

ที่มาเรียบเรียงจาก สภาลมหายใจเชียงใหม่ | ไทยรัฐออนไลน์ | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2] | WEVO สื่อสู้ฝุ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท