Skip to main content
sharethis

สธ. เผยผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลับบ้าน 16 ราย พบรายใหม่ 136 ราย  ตร.นครบาลติดแล้ว 27 นาย กักตัวดูอาการอีก 326 ราย 'ราชทัณฑ์' ตรวจกลุ่มเสี่ยงทุกเรือนจำ ผลเป็นลบไม่มีนักโทษติดเชื้อเพิ่ม ยอดสะสมคงที่ 2 ราย 'จุรินทร์' อ้างสต๊อกหน้ากากฯ 200 ล้านชิ้น ที่เคยบอกไว้ หมายถึงวัตถุดิบ ไม่ใช่ตัวหน้ากาก 'คนทำงานสนามบิน' ร้องนายจ้างปฏิบัติตามาตรฐานแรงงานสากลและหลักมนุษยชน และ 'ส.ส.ก้าวไกล' เสนอ กองทุน กยศ.ควรพิจารณาพักหนี้ให้ลูกหนี้ทุกคนเป็นระยะเวลา 1 ปี

30 มี.ค.2563 ประมวลสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)รายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. 1. ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,388 ราย เสียชีวิต 9 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย

2. สถานการณ์ทั่วโลกใน 197 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 30 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 721,277 ราย เสียชีวิต 33,942 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 81,439 ราย เสียชีวิต 3,300 ราย สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 141,781 ราย เสียชีวิต 2,471 ราย อิตาลีพบผู้ป่วย 97,689 ราย เสียชีวิต 10,779 ราย

สธ. เผยผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลับบ้าน 16 ราย พบรายใหม่ 136 ราย

กระทรวงสาธารณสุข เผยวันนี้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาหายกลับบ้าน 16 ราย พบรายใหม่ 136 ราย เสียชีวิต 2 ราย แนะประชาชนหากจำเป็นต้องเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 16 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 71 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 2 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 10 ราย กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 59 ราย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 59 ราย เป็น กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 21 ราย กลุ่มผู้ทำงาน,อาศัย ในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 15 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย กลุ่มที่ไปสถานที่แออัด 3 ราย กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ 4 ราย และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 14 ราย

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 6 ราย

ได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย รายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 54 ปี มีประวัติเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลยะลา รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีภาวะปอดอักเสบ เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจำนวน 23 ราย อาการยังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,388 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 136 ราย กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด มากสุดที่กรุงเทพฯ 80 ราย รองลงมา คือเชียงใหม่ 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ภูเก็ต 6 ราย ชลบุรีและนครสวรรค์จังหวัดละ 3 ราย เป็นต้น ซึ่งยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะ ทั้งรถแท็กซี่ , รถเมล์, รถบัส, รถตู้, รถไฟฟ้า, เรือ, เครื่องบิน อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ คนขับ ผู้โดยสาร พนักงานอื่นๆ รวมทั้งประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทาง เพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ อาบน้ำทันทีเมื่อกลับเข้าบ้าน และเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนในครอบครัว

ในส่วนผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะและพนักงาน ต้องทำความสะอาดยานพาหนะอย่างสม่ำเสมอ เปิดประตูหน้าต่าง ระบายอากาศ และหลังรับผู้โดยสารที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ให้สวมถุงมือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เน้นพื้นผิวที่ประชาชนสัมผัสบ่อย เช่น มือจับประตู เบาะรถ ที่พักแขน เป็นต้น

เผย ตร.นครบาลติดแล้ว 27 นาย กักตัวดูอาการอีก 326 ราย

มติชนออนไลน์, Spring News และไทยรัฐออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่า ตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 27 นาย มีตำรวจที่เกี่ยวข้องถูกสั่งให้กักตัวเองเพื่อสังเกตอาการแล้ว จำนวน 326 นาย จากการสอบสวนโรคทราบว่า ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากการกลับจากดูงานที่ประเทศสเปน เกี่ยวข้องกับสนามมวย และรับประทานอาหารร่วมกัน

ผบช.น.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ตำรวจ สน.ตลิ่งชัน ติดเชื้อป่วยโรคโควิด-19 ขณะปฏิบัติงานประจำด่านตรวจคัดกรองนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ผลจากการสอบสวนโรคทราบว่า ตำรวจคนดังกล่าวติดเชื้อมาจากที่อื่น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรักษา และสั่งให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดประมาณ 6 นาย กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ในส่วนของ สน.ตลิ่งชัน ได้มีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อไวรัส และทำความสะอาดโดยรอบพื้นที่แล้ว ขอให้ประชาชนมั่นใจในความสะอาดยืนยันว่า ทุกด่านตรวจคัดกรองรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการทำความสะอาดและฉีดพ่นยาฆ่าเชื้ออยู่เป็นประจำ จึงมั่นใจว่าตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนที่เข้าไปตรวจวัดอุณหภูมิภายในด่าน จะปลอดภัยจากโควิด-19

'ราชทัณฑ์' ตรวจกลุ่มเสี่ยงทุกเรือนจำ ผลเป็นลบไม่มีนักโทษติดเชื้อเพิ่ม ยอดสะสมคงที่ 2 ราย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ควิด-19 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ประจำวันที่ 30 มี.ค.63 มีข้อเท็จจริงดังนี้

1 กรณีเรือนจำกลางราชบุรี ที่มีผู้ต้องขังชายติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย นั้น ปัจจุบันได้รับการรักษาตัว ที่โรงพยาบาลราชบุรี สำหรับผลการตรวจพิสูจน์ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ ที่ใกล้ชิดผู้ต้องขังติดเชื้อรายดังกล่าว ยืนยันผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด-19 ทั้ง 82 ราย 2 กรณีเรือนจำกลางลพบุรี เรือนจำจังหวัดชัยนาท เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร เรือนจำกลางนครราชสีมา เรือนจำอำเภอสว่างแดนดิน และเรือนจำพิเศษธนบุรี ได้รายงานว่ามีผู้ต้องขัง ที่เข้าข่ายต้องสงสัยแห่งละ 1 ราย นั้น เบื้องต้นได้ส่งผู้ต้องขังที่เข้าข่ายต้องสงสัยเข้ารับการตรวจโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ผลการตรวจพิสูจน์ยืนยันผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด-19 ทุกราย ทั้งนี้ ได้จัดห้องแยกกักขังออกจากผู้ต้องขังทั่วไป เพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภูเก็ต ปิดเกาะ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง มาตรการปิดทางเข้า - ออกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อไม่ให้การระเบิดของโควิด-19 รุนแรงมากยิ่งขึ้น ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จ.ภูเก็ต จึงกำหนดมาตรการปิดช่องทางเข้า - ออก พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในการใช้ยานพาหนะหรือพาหนะอื่นใด และบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในช่องทางบกและทางน้ำ ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 30 มี.ค. ถึงวันที่ 30 เม.ย. จนกว่าจะประกาศเป็นอย่างอื่น

สำหรับช่องทางอากาศกำหนดให้ปิดท่าอากาศยานจ.ภูเก็ต ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 10 เม.ย. ถึงวันที่ 30 เม.ย. โดยให้แจ้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้ทราบเพื่อเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนล่วงหน้า 7 วัน เพื่อเป็นการเตรียมการรับสถานการณ์อันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการปิดทางเข้า - ออกช่องทางอากาศ

จุรินทร์ อ้างสต๊อกหน้ากากฯ 200 ล้านชิ้น ที่เคยบอกไว้ หมายถึงวัตถุดิบ ไม่ใช่ตัวหน้ากาก

มติชนออนไลน์รายงานว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงประเด็นที่ตนเคยระบุถึงสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น และมีคำถามว่าหายไปไหนนั้น ว่า ขอชี้แจงว่า หมายถึงมีวัตถุดิบใช้ผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ได้แปลว่ามีหน้ากากอนามัยกองอยู่ 200 ล้านชิ้น แล้วหายไป และเมื่อผลิตแล้วก็จะออกไปเข้าสู่ระบบตามปกติ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบยูทูบ ช่อง 'พรรคประชาธิปัตย์ Democrat Party, Thailand' เผยแพร่ หัวข้อ ‘จุรินทร์’ ตรวจกำลังการผลิต โรงงานหน้ากากอนามัย ย้ำสินค้ามีเพียงพอสำหรับคนไทย เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ผ่าน url https://www.youtube.com/watch?v=1zJ_AGu0P1E (ขณะที่คลิปจากเฟสบุ๊คแฟนเพจเพิ่งลบไปวันนี้ url https://www.facebook.com/DemocratPartyTH/videos/225391635123585) กลับระบุไว้ในคลิปเลยว่า "ปัจจบุันคลังสินค้า มีหน้ากากอนามัยประมาณ 200 ล้านชิ้น" แม้แต่ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ก็รายงานเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา จุรินทร์ กล่าววระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ย่านนนทบุรี ว่า จากการตรวจ ปัจจุบันสต็อกหน้ากากอนามัยปัจจุบันมีอยู่ 200 ล้านชิ้น สามารถใช้ได้ถึง 4-5 เดือนหากไม่ผลิตเพิ่มเติม  

'คนทำงานสนามบิน' ร้องนายจ้างปฏิบัติตามาตรฐานแรงงานสากลและหลักมนุษยชน 

พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สมาพนัธ์แรงงานรัฐวสิาหกจิสัมพนัธ์ (สรส.) และ คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความห่วงใยต่อเพื่อนพี่น้องแรงงานในอุตสาหกรรมการบินภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 

โดยระบุว่า 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 (Covid-19) ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปลายปี พ.ศ. 2562 และระบาดมากขึ้น จนเมื่อวนัที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 องคก์ารอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นโรค ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เพราะนอกจากแพร่ระบาดไปนอกเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีนแล้ว ก็ยังระบาด ไปทั่วจีน และทั่วโลกมากกว่า 199 ประเทศและดินแดนต่างๆ จนมีจำนวนสะสมของผู้ป่วยมากกว่า 677,705 คน และ ผู้เสียชีวิตมากกว่า เสียชีวิตแล้ว 31,737 คน (ขอ้มูลวนัที่ 29 มีนาคม 2563) สำหรับในประเทศไทย การแพร่ระบาดได้ทวี ความรุนแรง จนกระทั่ง รัฐบาลได้ออกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวนัที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมมิให้ไวรัสแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง

ความหวาดหวั่นและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากโรคระบาด ทำให้มีผู้โดยสารด้วยสายการบินน้อยลง การห้ามผู้โดยสารต่างประเทศเข้าประเทศ โดยอาศัยอนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นโยบาย Work from Home เพื่อให้ประชาชนอยู่กับบ้าน โดยไม่เดินทางที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสมาก ขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินของประเทศไทยอย่างหนัก บริษัทสายการบินราคาประหยดัหลายบริษัทออกประกาศลด/หยุดบินชั่วคราว และล่าสุด บมจ.การบินไทย ได้ประกาศหยุดบินชั่วคราว ทั้งเส้นทางในภูมิภาค ยุโรปและออสเตรเลียจนถึงวนัที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เหตุการณ์เหล่านี้ กระทบต่อการจ้างแรงงานหลายหมื่นคน ตลอดทั้ง ห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมการบิน ลูกจ้างสัญญาจ้างหลายแห่งถูกเลิกจ้าง พนักงานประจำถูกกดดันให้ลดเงินเดือน ค่าจ้าง

การประกาศหยุดบินชั่วคราวของ บมจ.การบินไทย ส่งผลกระทบอย่างยิ่งการจ้างแรงงานที่เป็นพนักงาน ประจำของ บมจ.การบินไทยจา นวน 20,000 คน และแรงงาน Outsource ของบริษัทวงสแปน 4,900 คน ที่ส่งแรงงานไป ปฏิบัติให้กับ บมจ.การบินไทย พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการจ้างงานแรงงานเหล่านี้ แม้ว่า วิกฤตครั้งนี้ จะเกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งประเทศไทย แต่ไม่อยากให้มี การซ้ำเติมชีวิตของแรงงานเหล่านี้ ดว้ยการออกมาตรการความอยู่รอดของนายจ้าง เช่น การเลิกจ้าง เป็นตน้ ซึ่งครั้งหนึ่ง ในอดีต ธุรกิจสายการบินได้สร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นมากมาย และแรงงานเหล่านี้ก็มีส่วนในความสำเร็จเหล่านั้นของ นายจ้าง เมื่อเกิดวิกฤตในครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายจ้างและรัฐบาลช่วยดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน 

ดังนั้น พนัธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สรส. และ ครสท. จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและนายจ้าง ทุกองค์กร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย รวมทั้ง บมจ.การบินไทย และบริษัทวิงสแปน ปฏิบัติต่อลูกจ้างและพนักงาน ให้เป็นไปตามาตรฐานแรงงานในระดับสากล และหลักมนุษยชน โดยมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

1. ขอให้นายจ้างในกิจการการบินจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อร่วมกำหนดนโยบาย ความอยู่รอดของบริษัท หากนโยบายดังกล่าวกระทบต่อสภาพการจ้างของลูกจ้าง/พนักงานของบริษัท ขอให้พิจารณากำหนดนโยบาย บนหลักการกฎหมายแรงงาน มาตรฐานแรงงานในระดับสากลและหลัก มนุษยชน เพื่อให้ล้กจ้าง/พนักงานได้รับผลกระทบนอ้ยที่สุด

2. ขอให้นายจ้างในกิจการการบินที่มีการประกาศหยุดงานชั่วคราว กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อเรียกลูกจ้าง/พนักงานกลับเข้าทำงานตามเดิม ภายหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด19 ดีขึ้น เพื่อป้องกันการบังคับใช้มาตรการที่นำไปสู่การเลิกจ้าง หรือลอยแพคนงาน อย่างไม่เป็นธรรม จากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้

3. ขอให้นายจ้าง โดยเฉพาะ บริษทั Outsource หรือบริษัทที่รับเหมาช่วงเหมาค่าแรงทุกบริษัทในกิจการการบิน ดูแลลูกจ้างของบริษัท ซึ่งมีลักษณะงานไม่มั่นคง (Precarious work) ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องไม่ข่มขู่ กดดัน หรือบังคับให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกจากงาน เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง โดยอาศัยสถานการณ์โรคระบาดนี้ ในการละเมิดสิทธิแรงงานและปฏิบัติต่อคนงานแบบไร้มนุษยธรรม

4. ขอให้นายจ้างในธุรกิจกิจการการบินจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันที่ เพียงพอให้กับลูกจ้าง/พนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานที่สนามบินในการบริการแก่ผู้โดยสาร มีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่อาจจะได้รับไวรัสจากการปฏิบัติงาน

พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน สรส. และ คสรท. เข้าใจถึงสถานการณ์ความยากลำบาก ที่ส่งผลกระทบกับ เศรษฐกิจ สุขภาพ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทย และประชาชนทั่วโลกในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้ภาคธุรกิจการบินและคนทำงานสนามบินทุกคน ก้าวผ่านอุปสรรคและวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกันด้วย ความเชื่อพลังความสามัคคีและพลังศรัทธาของพวกเราทุกคน  

'ส.ส.ก้าวไกล' เสนอ กองทุน กยศ.ควรพิจารณาพักหนี้ให้ลูกหนี้ทุกคนเป็นระยะเวลา 1 ปี

ขณะที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือกยศ.ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง พักหนี้ของลูกหนี้ทุกคน รวมไปถึงลูกหนี้ผู้ค้ำประกันที่ถูกดำเนินคดีอยู่ทุกกรณี ไม่มีเงื่อนไข เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะสิ้นสุดลงและสภาพเศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู  ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19กำลังระบาดส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดการเลิกจ้างงาน และมีอัตราการว่างงานที
เพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องลำบากอย่างยิ่งสำหรับลูกหนี้กยศ. ที่จะสามารถชำระหนี้ตามกำหนด ยังส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระสูงขึ้น

ปดิพัทธ์ ระบุว่ากองทุนกยศ.มีบทบาทในการช่วยเหลือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสมควรยิ่งจะเป็นสิทธิและสวัสดิการของรัฐในการพัฒนาประชาชนไทยทุกคน การตัดสินใจให้ความช่วยเหลือด้วยการพักหนี้ในสภาวะเช่นนี้ จึงสมควรเป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับการช่วยเหลือทางการเงินของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนในขณะนี้นายปดิพัทธ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net