นักวิจัยสเปนเผย ฝุ่นควันอาจมีส่วนทำให้ COVID-19 ระบาดหนักขึ้น

ดิอิโคโนมิสต์รายงานเรื่องผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสเปน ที่ระบุว่ามลภาวะอย่างฝุ่นละอองในอากาศอาจจะมีส่วนในการช่วยกระจายโรคระบาดอย่าง COVID-19 มากขึ้น อย่างไรก็ตามงานวิจัยฉบับนี้ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) แต่มีการเผยแพร่ออกมาก่อนในช่วงวิกฤตการระบาดเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์

ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงให้เห็นถึงไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 (ที่มา: Wikipedia/สถาบัน NIAID สหรัฐอเมริกา, 14 ก.พ. 2020)

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าถึงแม้ว่าในอดีตจนถึงตอนนี้ผู้คนมักจะเชื่อมโยงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกับเรื่องมลภาวะกันในเชิงภาษาและความเชื่อ เช่นการตั้งชื่อโรคมาลาเรียที่แปลว่า "อากาศเสีย" ในภาษาอิตาลี และในประวัติศาสตร์ราว 200-300 ปีก่อนหน้านี้ก็มีการเชื่อมโยงโรคระบาดกับกลิ่นเหม็นเช่นกลิ่นของเสีย

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้มีการเปิดเผยผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งโบโลญญาระบุว่าการระบาดของโรคอย่าง COVID-19 มลภาวะทางอากาศอาจจะมีส่วนทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นด้วย

งานวิจัยฉบับนี้มาจากลีโอนาโด เซตติ และคณะ เป็นงานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) แต่ก็มีการเผยแพร่ออกมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับ COVID-19 เพราะความเร่งด่วนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอาจจะช่วยชีวิตคนได้

งานวิจัยของเซตติและคณะศึกษาเพราะอยากรู้ว่าทำไม COVID-19 ในอิตาลีถึงแพร่ระบาดเร็วมากในพื้นที่หุบเขาโปมากกว่าที่อื่นๆ ของประเทศ มีการตั้งสมมุติฐานว่ามลภาวะน่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการระบาดหนักโดยเฉพาะมลภาวะที่เป็นฝุ่นละอองอนุภาคเล็กในอากาศซึ่งฝุ่นละอองเหล่านี้อาจจะเป็นตัวนำไวรัสเกาะอยู่บนพื้นผิวของมันได้ โดยที่งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงถึงงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจ และไวรัสโรคหัด ต่างก็เกาะติดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ เมื่อพิจารณาร่วมกับการที่เชื้อมีช่วงเวลาเพาะเชื้ออยู่ได้นาน 14 วัน กับการที่หุบเขาโปมีปริมาณมลภาวะทางอากาศสูงแล้ว ก็ทำให้นักวิจัยระบุว่าปริมาณมลภาวะกับจำนวนการติดเชื้อมีสถิติที่แปรผันตามกัน

นอกจากนี้แล้วยังมีคำอธิบายแบบอื่นๆ จากนักวิจัยสเปน คือการที่ถึงแม้ว่าตัวอนุภาคฝุ่นละอองเองอาจจะไม่ได้เป็นตัวนำไวรัสโดยตัวมันเอง แต่มันก็เป็นตัวที่เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้สำหรับคนที่ไปสัมผัสกับเชื้อไวรัส COVID-19 จากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะในแง่ใดก็ตาม การลดมลภาวะจากฝุ่นควันก็อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้นอกจากวิธีการจำกัดบริเวณในบ้านแต่เพียงอย่างเดียว

เรียบเรียงจาก

Airborne particles may be assisting the spread of SARS-CoV-2, The Economist, 26-03-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท