Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสมเด็จพระเพทราชาแย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ได้สำเร็จ พระราชพงศาวดารอยุธยาซึ่งแต่งขึ้นในต้นรัตนโกสินทร์กล่าวว่า พระญาติพระวงศ์ของพระเพทราชาซึ่งเป็นคนบ้านพลูหลวงเมืองสุพรรณ ได้ทราบข่าวก็พากันเดินทางมาเยี่ยมเยียนพระเพทราชาถึงวังหลวงที่อยุธยา พร้อมชะลอมผลไม้และปลาแห้งต่างๆ ที่นำมาฝาก

กลายเป็นฉากตลกตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดาร

แต่ถ้าผมอ่านไม่ผิด ความตลกขบขันของผู้เขียนความตอนนี้ในต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้อยู่ที่ “สำเนียงสุพรรณ” แต่อยู่ที่กิริยาท่าทางและความ “บ้านนอก” ของพระญาติพระวงศ์ เช่น กราบทูลด้วยราชาศัพท์ไม่เป็น และไม่พยายามจะใช้ด้วย ยังคงใช้สรรพนามอย่างที่ชาวบ้านใช้ ของถวายเป็นสิ่งของพื้นๆ และกิริยามารยาทห่างไกลจากการหมอบคลานของราชสำนักอย่างยิ่ง

เป็นสถานการณ์พิพักพิพ่วนเมื่อระบบสังคมสองชนิดต้องมาเผชิญหน้ากัน โดยไม่มีเหตุจำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับอีกฝ่ายเลย (เพราะเป็นพระญาติ พระเพทราชาจึงไม่ถือสา)

ในสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีเหตุจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกัน ภาษาถิ่นจึงแตกต่างกันมาก เมื่อผมได้ไปหัวหินเป็นครั้งแรกในชีวิต ผมแปลกใจมากที่พบว่า แม่ค้าข้าวหลามที่สถานีรถไฟนครปฐมพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงที่แปร่งแก่หูผมถึงเพียงนั้น นครชัยศรีและนครปฐมอยู่ห่างกรุงเทพฯ นิดเดียว จนปัจจุบันกลายเป็น “ปริมณฑล” ของกรุงเทพฯ ไปแล้ว แต่ครั้งหนึ่งสำเนียงภาษาไทยของเขาก็หาได้เหมือนกับกรุงเทพฯ ไม่

ภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ จึงเป็นภาษาที่มีผู้ใช้ในวงจำกัดมาก ทั้งในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์และประชากรศาสตร์ (โดยเฉพาะก่อนที่คนไทยจากเมืองอื่นๆ จะอพยพเข้า)

ถ้ากรุงเทพฯ ไม่เป็นที่ตั้งของอำนาจรัฐบาลสมัยใหม่นับตั้งแต่ ร.5 ลงมา สำเนียงกรุงเทพฯ ก็จะไม่ใช่สำเนียงมาตรฐาน อย่างเดียวกับภาษาใต้, อีสาน และเหนือ ถามเจ้าของภาษาว่าสำเนียงของเมืองใดถือเป็นมาตรฐาน พวกเขาก็จะตอบว่าไม่มี สำเนียงนครฯ, เชียงใหม่ และอุบลฯ ก็เป็นสำเนียงหนึ่งในหลายๆ สำเนียงเท่านั้น มีศักดิ์ศรีและเกียรติยศเท่ากันทุกสำเนียง (หรือเป็นที่ล้อเลียนได้ทุกสำเนียงเท่ากัน)

ในสมัยหนึ่ง สำเนียงกรุงเทพฯ (หรืออยุธยา) ก็คงเป็นอย่างนั้น คือไม่มีใครเห็นว่าดีวิเศษกว่าสำเนียงของเมืองอื่น คนอีสานอาจล้อเลียนได้ว่า ลูกข้าวเจ้าอย่างคนกรุงเทพฯ เรียกอวัยวะบางชิ้นว่าควายเช่นนั้น มิเป็นการคุยโตโอ้อวดไปหน่อยหรือ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ก่อน ร.5 สำเนียงและภาษาไทยยังไม่ถูกจัดช่วงชั้น (hierachicalized) ที่จะเป็นช่วงชั้นไปอยู่ที่ “สำนวน” และอำนาจของ “สำนวน” มากกว่า เช่น ราชาศัพท์, ภาษาบาลีหรือสำนวนบาลี, เอกสารประเภทต่างๆ ฯลฯ

ภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ กลายเป็นภาษาของเกียรติยศและอำนาจ เพราะการปฏิรูปในสมัย ร.5 ไม่ใช่เฉพาะอำนาจทางการเมืองผ่านระบบราชการแบบใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงอำนาจทางวัฒนธรรมด้วย เช่นกลายเป็นภาษาของ “ความรู้” (ตามนิยามของชนชั้นสูงในสมัยนั้นว่าอะไรคือ “ความรู้”) เป็นสำเนียงที่ใช้ในการสอนในโรงเรียน เป็นช่องทางการสื่อสารผ่านตัวพิมพ์เกือบจะเพียงสำเนียงเดียว เอกสารของพระพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปแล้ว ล้วนเขียนขึ้นในสำเนียงกรุงเทพฯ ไม่ว่าผู้เขียนจะมีสำเนียงน้ำนมอะไรก็ตาม

ยังไม่พูดถึงความแพร่หลายของสื่อมวลชนแบบใหม่ในรูปอื่น เช่น วิทยุ, ละครและการแสดง, ภาพยนตร์, หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ก็ล้วนผ่านสำเนียงกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

ช่วงชั้นทางสำเนียงภาษาจึงเกิดขึ้นโดยมีสำเนียงกรุงเทพฯ เป็นสุดยอดของช่วงชั้นทั้งหมด

และด้วยเหตุดังนั้น ช่วงชั้นดังกล่าวนั้นจึงมีเพียงสองชั้น ต่างจากสำเนียงภาษาในบางภูมิภาคของโลก ที่จัดช่วงชั้นของสำเนียงไว้หลายลำดับ จากสำเนียงที่ถือว่ามีเกียรติยศและอำนาจสูงสุด ลงมาจนถึงสำเนียงที่กรรมกรและคนขับแท็กซี่ใช้ แต่ในภาษาไทย สำเนียงกรุงเทพฯ ถือช่วงชั้นสูงสุด สำเนียงท้องถิ่นอื่นมีฐานะเท่ากัน คือต่ำกว่าสำเนียงกรุงเทพฯ แต่ไม่มีใครสูงหรือต่ำกว่าใคร

จะพูดว่าสำเนียงใต้อยู่ในช่วงชั้นที่ต่ำกว่าสำเนียงอีสานก็ไม่ได้ ต่างอยู่ในฐานะต่ำกว่าสำเนียงกรุงเทพฯ เท่าๆ กัน

และดังที่กล่าวข้างต้น สำเนียงท้องถิ่นอื่นๆ ยังคงรักษาสถานภาพที่เท่าเทียมกันไว้เหมือนเดิม สำเนียงเชียงใหม่, นครฯ หรืออุบลฯ ไม่ได้เป็น “มาตรฐาน” ของสำเนียงท้องถิ่นใดๆ แม้เมืองเหล่านั้นเคยเป็นราชธานี หรือหัวเมืองหลักมาก่อนในอดีต มีเฉพาะภาษาไทยสำเนียงภาคกลางเท่านั้น ที่สำเนียงกรุงเทพฯ กลายเป็น “มาตรฐาน” ของสำเนียง คนอื่น “เหน่อ” หมด

และเพราะสำเนียงกรุงเทพฯ กลายเป็นสำเนียงที่ให้อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความเชี่ยวชาญคล่องแคล่วในสำเนียงนี้จึงเป็นที่ปรารถนาของคนชั้นกลางทั่วไป เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ผมได้พบครอบครัวของคนชั้นกลางอีสาน, เหนือ และใต้ ซึ่งไม่พูดภาษาถิ่นในบ้านเลย เพื่อทำให้ลูกเคยชินและใช้สำเนียงกรุงเทพฯ ได้คล่องแคล่ว บางคนบอกด้วยว่าจะได้ไม่เสียเปรียบในการสอบแข่งขัน

(ผมเคยพูดเรื่องนี้กับเพื่อนนักวิชาการชาวใต้ท่านหนึ่ง เขาบอกว่าไม่มีอย่างนั้นในภาคใต้หรอก นอกจากพวก “เจ๊กหาดใหญ่” เท่านั้น ความจริงเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ “เจ๊กหาดใหญ่” หรือคนชั้นกลางในทุกภาคคือผู้วางบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญสุดในปัจจุบัน แม้แต่ “ความเป็นไทย” ก็ถูก “เจ๊ก” นิยามมากขึ้นตามลำดับ)

ภาษาหรือสำเนียงที่เราเลือกใช้ในวาระต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองในสถานการณ์หนึ่งๆ เมื่อผมยังเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ พวกเราสังเกตเห็นว่าเพื่อนอีสานมักไม่พูดภาษาถิ่นต่อหน้าคนอื่น เพื่อนชาวเหนือพูดเฉพาะเมื่อเจอคนเหนือด้วยกัน แต่เมื่อมีคนกรุงเทพฯ เข้าไปร่วมด้วยก็จะสลับมาพูดสำเนียงกรุงเทพฯ แม้แต่พูดกับเพื่อนชาวเหนือด้วยกันเอง ผิดจากเพื่อนชาวใต้ ซึ่งจะพูดภาษาถิ่นกับชาวใต้ด้วยกันเสมอ สลับเป็นภาษากลางกับเพื่อนจากภาคอื่น แต่ยังใช้ภาษาถิ่นใต้กับเพื่อนชาวใต้ต่อไปแม้อยู่ในวงสนทนาเดียวกัน

ผมเชื่อว่าทุกคนคงให้เหตุผลแก่การเลือกใช้ภาษาและสำเนียงของตนได้ โดยไม่เกี่ยวกับสถานภาพทางอำนาจและเกียรติยศของสำเนียงเลย แต่ผมพบเพื่อนผิวดำในสหรัฐหลายคนที่ยืนยันจะพูดภาษาอเมริกันด้วยสำเนียงและสำนวนคนดำ แม้สามารถพูดสำเนียงคนขาวอย่างประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ แต่ไม่พูด ผมจึงออกจะสงสัยว่า การเลือกสลับสำเนียงและภาษาของเพื่อนๆ ต่างภาคนั้น เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” ของสำเนียงและภาษาในวัฒนธรรมไทยด้วย ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่

แต่ทั้งหมดที่ผมพูดเกี่ยวกับช่วงชั้นของสำเนียงภาษาไทยนั้น ในบัดนี้ดูจะไม่เป็นจริงเอาเลย นอกจากชาวเหนือ, อีสาน และใต้จะใช้สำเนียงของตนอย่างไม่ต้องระแวดระวังว่าจะมีคนที่ใช้ภาษาภาคกลางอยู่หรือไม่แล้ว ในพื้นที่ซึ่งมีตัวอักษรของตนเองที่แตกต่างจากตัวหนังสือไทยกลาง ยังนิยมนำกลับมาใช้ใหม่ในป้ายชื่อวัด, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย และสถานที่อื่นๆ ด้วยความภาคภูมิใจด้วย

ความเสมอภาคทางสำเนียงภาษาเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อไร?

ผมคิดว่า 14 ตุลามีส่วนอย่างมาก จริงอยู่ 14 ตุลาไม่ได้มีกระแสความคิดเพียงอันหนึ่งอันใด แต่หนึ่งในกระแสที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากในสังคมน่าจะเป็นเรื่องของชาตินิยมที่แตกต่างจากความคิดเรื่อง “ชาติ” ที่มีมาก่อนในสังคมไทย เพราะเน้นมิติที่ถูกละเลยในความคิดเกี่ยวกับ “ชาติ” ตลอดมา นั่นคือความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของชาติ ลำดับช่วงชั้นต่างๆ ซึ่งเคยมีมาในวัฒนธรรมไทยถูกตั้งคำถามครั้งใหญ่ รวมทั้งสำเนียงภาษาถิ่นทั้งหลาย ซึ่ง 14 ตุลาทำให้ไม่มีสำเนียงใดสูง ไม่มีสำเนียงใดต่ำ

เป็นความคิดที่แพร่กระจายในหมู่คนชั้นกลางในเมืองอย่างมาก แม้แต่ผู้ไม่เห็นด้วยก็ต้องพยายามปกป้องลำดับช่วงชั้นตามประเพณีด้วยตรรกะแปลกๆ เช่น นิ้วมือคนเรายังไม่เท่ากันเลย (โดยไม่ได้นึกต่อว่า แต่เราก็ให้ความสำคัญแก่นิ้วที่ไม่เท่ากันนั้นอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าจะยกย่องนิ้วใดเป็นพิเศษก็คือไอ้อ้วนเตี้ยที่ไม่เคยได้สวมเครื่องประดับใดเลย คือหัวแม่โป้ง เพราะมันเป็นพระเอกในการใช้มือของมนุษย์)

ผู้ศึกษาเพลงลูกทุ่งอาจบอกว่า ก่อน 14 ตุลา ภาษาอีสานเป็นอย่างน้อยถูกนำมาใช้ในเพลงลูกทุ่งอย่างมาก และบางเพลงก็เป็นที่นิยมกว้างขวางในหมู่คนไทยทั่วไปด้วย เช่นเพลงผู้ใหญ่ลี เป็นต้น

แต่ผมคิดว่าความนิยมเพลงลูกทุ่งอีสานในหมู่คนที่ไม่ได้เป็นคนอีสาน ยังไม่ซึมลึกลงไปเป็นสำนึกใหม่ว่า สำเนียงอีสานไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนของความตลก, บ้านนอก, ไทยแท้ ฯลฯ แต่เป็นสำเนียงภาษาปรกติเหมือนสำเนียงภาษาไทยถิ่นอื่น ซึ่งย่อมมีพัฒนาการแปรเปลี่ยนไปเหมือนภาษาที่ยังไม่ตาย และไม่ว่าสำเนียงใดก็ล้วนมีคุณค่าเหมือนกันเพราะแสดงอัตลักษณ์ของเจ้าของภาษาไม่ต่างจากกัน

นอกจากการใช้สำเนียงภาษาถิ่นและตัวอักษรพื้นถิ่นเป็นสัญลักษณ์แล้ว ภาษาไทยหลัง 14 ตุลายังแสดงสำนึกเสมอภาคในเรื่องอื่นๆ ละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น กู-มึงหรือฮา-คิงในภาษาเหนือกลายเป็นคำที่ “เด็กรุ่นใหม่” หรือลูกหลานคนชั้นกลางใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่รู้สึกว่า “หยาบคาย” อย่างที่การจัดลำดับช่วงชั้นของคำและสำนวนในภาษาไทยเคยตอกย้ำมา ซ้ำสำนึกความเท่าเทียมระหว่างเพศ ยังทำให้ภาษาของผู้ชายและผู้หญิงต่างกันน้อยลง

ศัพท์ใหม่ๆ ที่ผูกขึ้นในหมู่นักเขียนสื่อโซเชียล มาจากภาษาถิ่นบ้าง ภาษาต่างประเทศบ้าง จนหลายครั้งคนที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาใหม่เหล่านี้ต้องถามหาคำแปลกันอยู่เสมอ

ภาษาหรือรหัสการสื่อสารของไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงนี้น่าสนใจในสองเรื่องเป็นอย่างน้อย เรื่องแรกก็คือลำดับช่วงชั้นของสำเนียง, ถ้อยคำ, สำนวน ฯลฯ กำลังถูกปฏิเสธอย่างสุดขั้ว และเรื่องที่สองก็คือ ภาษาไทยกำลังเปิดให้อัตลักษณ์อันหลากหลายของผู้คนในสังคมได้แสดงออกอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เพียงระหว่างเพศและภาคอย่างที่เคยเป็นมาเท่านั้น แต่ยังรวมอัตลักษณ์อื่นๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปิดบังด้วย

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_289559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net