มาตรการเยียวยาที่ไม่ถ้วนหน้า จะทำให้คนอดตายก่อนติดไวรัส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มาตรการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ที่ไม่ครอบคลุมจะทำให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ยากจน สูงอายุ กลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติ แรงานเพื่อนบ้านที่กลับบ้านไม่ได้ตายเพราะอดตายก่อนติดไวรัส

นับตั้งแต่รัฐบาลมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังวัดประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส วันที่ 17 มีนาคม กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้ปิดสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากอีก 25 ประเภท ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม ได้ประกาศให้ปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม 6 ประเภทเมื่อ ยังไม่รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่ได้มีการประกาศตามมา ที่ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องสูญเสียงานเป็นการชั่วคราว จำนวนมากเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านรีบเก็บข้าวของเดินทางกลับไปก่อนที่ด่านชายแดนจะปิด โดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐที่ชัดเจนและทันเวลา

วันที่ 24 มีนาคม กระทรวงการคลังจึงได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือ โดยเน้นไปที่แรงงานกลุ่มคนทำงานที่เป็นลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ที่ไมได้อยู่ในประบบประกันสังคม โดยจะให้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

จากจำนวนแรงงานนอกระบบที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจและเปิดเผยในปี 2561 พบว่า ผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.2 ล้านคน หรือร้อยละ 55.3 http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/News/2562/N25-02-62-2.aspx โดยแยกเป็น

ร้อยละ 55.5 ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม

ร้อยละ 33.2 ทำงานในภาคการบริการและการค้า

ร้อยละ 11.3 ทำงานภาคการผลิต

ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ไม่มีหลักประกันสังคมใดๆ จากการทำงาน ฉะนั้นมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบของรัฐจำนวน 3 ล้านคน จึงสามารถช่วยเหลือแรงงานงานอกระบบได้เพียงแค่ร้อยละ 14 - 15 ของแรงงานนอกระบบ 21.1 ล้านคนเท่านั้น

คำถามต่อมาคือ แรงงาน 21.1 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทั้งหมดหรือไม่ และคนที่ได้รับผลกระทบจริงจะสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือดังกล่าวได้หรือเปล่า

คำถามแรก คือ แรงงาน 21.1 ล้านคน ได้รับผลกระทบทั้งหมดหรือไม่ คำตอบต่อคำถามนี้ขึ้นอยู่ว่าเราจะนิยามผลกระทบไว้แค่ใหน เช่นกรณีที่เรานิยามผู้ได้รับผลกระทบไว้ที่คนในกิจการ ในพื้นที่ที่หน่วยงานของรัฐประกาศให้ปิดกิจการชั่วคราว คนที่ได้รับผลกระทบต่ออาจไม่ถึง 3 ล้านคน แต่ก้ยังมีปัญหาว่าจะรวมถึงกลุ่มที่ทำงานที่บ้านด้วยหรือไม่ แม้ว่าเป็นกิจการที่ไม่ได้อยู่คำสั่งปิดของรัฐ

แต่ถ้าเรานิยามผู้ได้รับผลกระทบที่กว้างออกไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จึงอาจหมายถึงแรงงานนอกระบบทั้ง 21.1 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบต่องกิจกรรมการเศรษฐกิจโดยรวม กิจการจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในคำสั่งปืดของรัฐ แต่พอคนเดินทางน้อยลง ออกนอกบ้านน้อยลง ทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง กิจการเหล่านี้ก็ต้องลดการจ้างงานลง หรืออาจต้องปิดกิจการชั่วคราวโดยที่รัฐไม่ต้องสั่ง ยังไม่รวมแรงงานในภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากบริโภคที่น้อยลง ร้านค้าย่อยปิด การส่งออกไม่ได้ พ่อค้าคนกลางหยุดการรับซื้อ พืชผักจำนวนหนึ่งกลายเป็นปุ๋ยให้กับไส้เดือนเพราะไม่มีคนมารับซื้อ ราคากระเทียมจากกระทรวงพานิชประกาศ 100-70 บาทต่อกิโลกรับ เหลือแค่ 15 บาทที่ผู้ปลูกขายได้

คำถามสอง คือ แรงงานที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐได้ทุกกลุ่มหรือไม่ คำตอบชัดเจนคือ ไม่ ไม่ใช่แรงงานทุกคนจะเข้าถึงการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐได้ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงก็ยิ่งเข้าถึงได้ไม่ง่าย

กลุ่มแรกที่เข้าถึงได้อย่างลำบาก คือ กลุ่มคนทำงานที่ปกติเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอยู่แล้ว ไม่ได้มีมือถือ ไม่ได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านที่สามารถเข้าเวปไซต์ที่รัฐบาลกำหนดได้ ไม่ได้มีความสามารถมากพอที่จะจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ ฉะนั้นกลุ่มนี้ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจริงแต่เนื่องจากช่องทางการขอรับความช่วยเหลือไม่ได้สอดคล้องก็เลยทำให้ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางนี้ได้

กลุ่มที่สอง ที่อาจเป็นกลุ่มแรงงานเปราะบางอยู่แล้ว และอาจไม่ได้ถูกรวมอยู่ในแรงงาน 21.1 ล้านคน ด้วยซ้ำจากสถานะกฏหมายของเขาในประเทศ ซึ่งก็มีอยู่หลายกลุ่ม เช่น

(1) กลุ่มคนทำงานที่เป็นคนไร้รัฐในประเทศไทย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกิดในประเทศไทย หรือมีญาติเป็นคนไทย แต่มีปัญหาจากการเข้าถึงการสำรวจในอดีตจึงทำให้ไม่ได้สัญชาติไทย แต่ได้รับการสำรวจและจัดทำประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทยในรูปแบบต่างๆ จำนวนประมาณ 500,000 คน

(2) กลุ่มคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานถูกต้อง ได้รับอนุญาตทำงานตามกฏหมาย อยู่ในประกันสังคม แต่ถูกเลิกจ้าง หรือไม่สามารถต่ออายุวีซ่าและใบอนุญาติทำงานได้ทัน ถ้าไม่ได้กลับบ้านก่อนที่ด่านชายแดนจะปิดก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนที่อยู่อาศัยในประเทศเกินกำหนด แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะผ่อนผันระยะเวลาการต่ออายุทำงานก็ตาม แต่กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ขอมติคณะรัฐมนตรีต่ออายุการอนุญาติให้อยู่ประเทศตามกฏหมายเข้าเมือง หลายวันนี้เราจึงเห็นคนงานจำนวนมากต้องเดินทางไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อต่ออายุวีซ่าของตนเอง แม้ว่าจะมีคำสั่งห้ามการรวมตัวเพิ่อป้องกันการระบาดแล้วก็ตาม

(3) กลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมานานแล้ว มีครอบครัว หรือลูกหลานเกิดในประเทศไทย และไม่สามารถติดต่อที่บ้านได้หรือไม่สามารถกลับไปบ้านเกิดของตนได้ด้วยหลายสาเหตุ เคยมีใบอนุญาตทำงาน แต่หมดอายุไปปแล้ว หรือไม่เคยมีมาก่อน

สถานการณ์ที่เราเจอในวันนี้ หากเรายังจะช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเชิงสังคมสงเคราะห์ เฉพาะคนที่เปราะบางที่สุด เท่าที่ทรัพยากรที่มีเหลือไม่มากของรัฐ จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการพยายามให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอาจมีต้นทุนที่มากกว่าเงินช่วยเหลือด้วยซ้ำ หรือเราจะกำหนดมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปทุกกลุ่มเพื่อรักษากำลังซื้อ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้อยู่รอดต่อไปจนถึงวันที่เราควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดได้

ข้อเสนอต่อรัฐบาลที่สามารถทำได้ คือการกำหนดเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือใหม่

หนึ่ง มาตรการการให้ความช่วยเหลือ ต้องครอบคลุมทุกคนในประเทศ สังคมที่มีความมั่นคงปลอดภัยคือสังคมที่มองเห็นทุกคน ช่วยเหลือทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและสัญชาติผู้คนที่แตกต่าง การช่วยให้บางคนรอดจะสร้างความเสี่ยง ความเปราะบางสังคมมากขึ้น รัฐบาลต้องตระหนักว่ามีผู้คนที่สถานะที่หลากหลายในสังคม ฉะนั้นจึงต้องยกเลิกเงื่อนไขการเป็นคนสัญชาติไทย เพื่อให้ควมคนสัญชาติไทย คนไม่มีสัญชาติไทย คนไร้รัฐที่ได้สำหรับสำรวจแล้ว และคนไร้รัฐที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ

สอง ขยายช่องทางการการขอรับความช่วยเหลือที่หลากหลายมากขึ้น ออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่ง ออฟไลน์ก็ต้องดำเนินการ โดยเชื่อมโยงออนไลน์เข้าไปถึงในระดับชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ อบต.ในต่างจังหวัดเพื่อดึงทุกคนเข้าสู่ฐานข้อมูล ก่อนที่จะตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้กับฐานข้อมุลที่มีอยู่ ฐานข้อมูลของผูประกันตนในระบบประกันสังคม ฐานข้อมูลผู้เสียภาษี ฐานข้อมูลสวัสดิการคนจน

สาม อนุญาติผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ไม่สามารถกลับบ้านของตนเองได้ในระหว่างที่ด่านชายแดนถูกปิดให้อยู่ในประเทศได้เป็นการชั่วคราว โดยให้กระทรวงมหาดไทยขอมติคณะรัฐมนตรีใช้มาตรา 17 ของกฏหมายคนเข้าเมือง ขยายการอนุญาตให้อยู่ในประเทศออกไปทุกกลุ่มเป็นเวลาหนึ่งปี

สี่ รัฐบาลต้องดึงความมั่นคั่งของคนจำนวนน้อย 1 % ในสังคมกลับมาจัดสรรเป็นความช่วยเหลือที่เพียงพอสำหรับทุกคนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากงบประมาณฉุกเฉินประจำปี

เราจะต้องรอดไปด้วยกัน ไม่ควรมีใครบางคนรอดขณะที่คนส่วนใหญไม่รอด

 

ที่มา: Facebook Siwawong Sooktawee

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท