Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จดหมายรับรองจากอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงแหล่งทุนและโอกาสต่างๆ ของนักศึกษาและนักวิชาการซึ่งไม่มีเครือข่ายที่กว้างพอ จดหมายรับรองจากผู้ใหญ่ประเภทนี้จะสำคัญถึงขั้นใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินเลือกรับคนหรือไม่อาจขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่อย่างน้อย การใช้จดหมายนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่ต้องยื่นให้ครบ ได้ตัดสิทธิคนจำนวนมากที่ไม่สามารถหาคนเขียนจดหมายรับรองได้ไปตั้งแต่ต้น


ทำไมจดหมายรับรองจึงไม่สำคัญ

เป้าหมายของจดหมายรับรอง อาจเป็นเพราะแหล่งที่เปิดรับเข้าเรียน/ให้ทุน ฯลฯ อยากรู้จักเราจากสายตาของคนอื่น ซึ่งคนนั้นไม่ใช่จะเป็นใครก็ได้ แต่เน้นไปที่อาจารย์ที่สอนหรือหัวหน้างาน ที่มักมีสถานะสูงกว่าเรา แม้ในทางวิชาการ การถูกรับรองโดย ศ.ดร. หรือคนดังก็อาจส่งผลให้ได้รับการพิจารณามากกว่า ผมไม่ทราบว่าความเชื่อนี้จริงหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติคือ ใครๆ ก็อยากให้ผู้มีตำแหน่งสูงในทางวิชาการและสังกัดในมหาวิทยาลัยรับรองตัวเอง บ่อยครั้งในกิตติกรรมประกาศงานวิจัยที่รับทุนไปต่างประเทศ จะเกริ่นว่า .. ต้องขอขอบคุณ ศ.ดร. x ที่ช่วยเขียนหนังสือรับรองให้ข้าพเจ้า ฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้าง “บุญคุณและความกตัญญู” ที่ช่วยรักษาเครือข่ายระบอบอุปถัมภ์ไว้

น่าตั้งคำถามว่า ทำไมจะพิจารณาผลงานวิชาการที่แนบใน CV ของผู้นั้นอย่างเดียวไม่พอ ถ้าไม่เชื่อว่าเขาเขียนงานนั้นด้วยตัวเองจริงไหม การสัมภาษณ์ยังสามารถสะท้อนวิธีคิดและความสามารถเขาได้อีกทาง ทำนองเดียวกัน การให้ผู้ใหญ่เขียนจดหมายรับรองให้ ก็ไม่ใช่จะเป็นตัววัดว่าที่เขียนเป็นความจริง เพราะความสนิทสนมกันอาจทำให้เขาช่วยโกหกก็ได้ หรือถ้าผู้ใหญ่ท่านนั้นมักเขียนแต่ความจริง นศ. อาจขอให้ท่านอื่นที่เขามั่นใจว่าจะเขียนชมเขาเขียนให้แทนก็ได้ การอยากรู้จักผู้นั้นผ่านสายตาคนอื่นจึงทำไม่ได้อีกเช่นกัน ประโยชน์ที่ชัดเจนของการมีจดหมายนี้คือ เอื้อให้กับคนที่อยู่ในระบบเดียวกันได้ช่วยเหลือกันเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน  


ความยากลำบากของคนที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์

ผมได้เห็นโทษของจดหมายรับรองนี้เมื่อเรียน ป.ตรี ที่ต้องสมัครทุนแลกเปลี่ยน นศ. ไปต่างประเทศ แน่นอนว่า ปัญหาใหญ่ของผม (รวมทั้งเพื่อนๆ อีกหลายคน) คือไม่สามารถหาอาจารย์ที่จะช่วยเขียนจดหมายรับรองได้ นศ.จำนวนหนึ่งซึ่งอาจมีมารยาทดี เข้าไปช่วยงานอาจารย์บางท่าน อาจได้โอกาสที่จะขอให้ท่านเขียนช่วยเขียนให้ได้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจัดเป็น นศ.ประเภทนิสัยแย่ แต่เพราะ นศ.จำนวนมากไม่ได้แคร์ครูบาอาจารย์ เรื่องการตั้งใจเรียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความใกล้ชิดพิเศษที่จะขอให้ช่วยเขียนจดหมายรับรองให้อาจไม่มี

แม้จะมีบ้างก็น้อย ในจำนวนอาจารย์ 10 คน ที่เราพอจะขอได้อาจมีแค่ 2 คน แต่ขอรบกวนบ่อยครั้งไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงว่า การขอทุนไม่อาจได้ทุกครั้งไป เราอาจได้แค่ 1 ใน 3 ครั้ง ที่โชคร้ายคือ เราอาจไม่ได้ในครั้งแรก และเมื่อรบกวนอาจารย์ท่านนั้นไปครั้งหนึ่งแล้ว เราก็ไม่กล้ารบกวนครั้งที่ 2-3 อีก สมัยเรียน ป.โท ผมเจอปัญหานี้บ่อยครั้งมาก แม้เราจะมีงานที่พร้อมจะยื่นและคุณสมบัติด้านอื่นๆ แล้ว แต่ก็ต้องทิ้งโอกาสนั้นไป เพราะนึกหน้าอาจารย์ที่จะให้เขียนจดหมายรับรองไม่ได้

ผมสมัครเรียน ป.เอกและขอทุนเต็มจำนวนของ 2 มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ผมถูกปฏิเสธในที่แรก นั่นคือใช้อาจารย์ให้ช่วยเขียนหนังสือรับรองไปแล้ว 2 คน โชคดีที่ประสบความสำเร็จในที่หลัง (ใช้อาจารย์อีก 3 คน) ซึ่งถ้าไม่ผ่านอีก ผมคงนึกหน้าอาจารย์ที่จะขอให้ช่วยเขียนจดหมายรับรองไม่ได้แล้ว สำหรับผม การเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ยากพอๆ กับการหาคนช่วยเขียนจดหมายรับรอง เพราะเรามักรู้สึกว่าเป็นการรบกวนเขา ยังไม่ต้องพูดถึง นศ.ที่เป็นพวกเก็บตัว (introvert) ซึ่งไม่ค่อยชอบสังคม ไม่ยุ่งกับใคร การขอก็จะยิ่งยากไปใหญ่ ทั้งที่เขาอาจมีความสามารถที่จะเข้าเรียนและจบในระดับที่เกรดสูงได้ แต่จดหมายรับรองก็ตัดโอกาสเขาไป 


วงวิชาการควรเปิดโอกาสแม้แก่ปัจเจกชนทั่วไป

เป้าหมายของการต้องมีจดหมายนี้ อาจเพื่อให้นักวิชาการได้สร้างเครือข่ายไว้เพื่อช่วยกันผลิตงานในแบบที่พูดไปแล้ว แต่ในยุคเทคโนโลยี ที่เราเข้าถึงงานของทุกคนได้ผ่าน Google Scholar และเว็บเถื่อนสำหรับดาวโหลดหนังสืออีกมาก ทำให้เราเข้าถึงงานใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ระบอบอุปถัมภ์ติดต่อกันภายใน/ส่วนตัวอีกแล้ว ถ้าจะนิยามงานที่ดีว่ามีการถกเถียงและหักล้างก็เสนอเดิม ก็ควรตัดสินให้ทุนแก่คนที่เขียนงานประเภทนั้นออกมา โดยไม่ต้องไปดูว่าใครเขียนจดหมายรับรองเขา หรือ เขา “ผู้ซึ่งถูกนำเสนอภาพโดย ศ.ดร. คนนั้น” จะมีอุปนิสัยอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่อาจทราบได้จริง หรือต่อให้เชื่อว่าทราบได้จริง (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่เขามีศักยภาพในทางวิชาการที่จะผลิตงานเขาเอง

คนที่อยู่ในระบบ (บางที่ถึงขั้นมีทุนมายื่นให้ถึงที่ แถมยังของร้องให้ช่วยเขียนส่ง) หรือเป็นคนนอกระบบแต่มีเครือข่ายมากอาจไม่ได้รับผลกระทบจากหนังสือรับรองนี้เท่ากับ นศ. ที่ไม่ค่อยสนิทกับอาจารย์ถึงขั้นจะขอให้ช่วยเขียนได้ หรือนักวิจัยที่ไม่มีสังกัด มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันผลิตความรู้ ควรช่วยกันทำลายระบอบอุปภัมถ์พวกนี้ แล้วเปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ความสามารถตัวเองเข้าไปต่อสู้กันในการเข้าถึงโอกาส นั่นคือ หากท่านใดเป็นคณะกรรมการร่างระเบียบหรือพิจารณาให้ทุนเป็นต้น ควรเสนอให้ตัด Recommendation Letter นี้ออกไปจากหลักฐานที่ต้องใช้ยื่น/พิจารณา

ในขณะที่สิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง ผมในฐานะที่ได้รับผลกระทบจากจดหมายรับรองนี้มาก่อน ขอปวารณาตัวที่จะเขียนจดหมายรับรองให้ฟรีนะครับ ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก ไม่ต้องเกรงใจหากอยากสมัครขอทุนที่ไหน ติดต่อมาได้ทางอีเมลล์ jesada.tee@gmail.com

 

 

ที่มาภาพ: https://www.icharts.net/how-to-write-recommendation-letter-template-for-teacher/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net