Skip to main content
sharethis

สนทนากับธีระ สินเดชารักษ์ กับงานวิจัยเพื่อสร้าง ‘ดัชนีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมทางสังคม’ ที่นำความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก การรับรู้ของผู้คนต่อความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมมาแปลงเป็นตัวเลขว่า ภาพลักษณ์ความเป็นธรรมในสังคมไทยเป็นอย่างไร ซึ่งคุณคงไม่แปลกใจกับคะแนนที่ได้

ธีระ สินเดชารักษ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

  • ดัชนีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมทางสังคม หมายถึงความรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และสิ่งที่สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมที่คนจะแสดงออกหรือปฏิบัติต่อสิ่งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม
  • ความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมใน 4 มิติ ประกอบด้วยมิติด้านสังคม วัฒนธรรม ภาษา และศาสนา มิติด้านการเมือง มิติด้านเศรษฐกิจ ความยากจน และการกระจายทรัพยากร และมิติด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้ง 3 มิติหลังผู้คนรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมเกินกว่าครึ่ง
  • อารมณ์ ความรู้สึกต่อความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมของผู้คนเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา การรับรู้ข่าวสาร ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา และพื้นที่
  • อารมณ์ ความรับรู้ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความเป็นธรรมเวลานี้มีปัญหา ซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ชัดเจนว่าการเมืองระดับประเทศมีความสัมพันธ์ต่อภาพลักษณ์ความเป็นธรรมในสังคม
  • ดัชนีภาพรวมของภาพลักษณ์ความเป็นธรรมในสังคมไทยอยู่ที่ 34.49 จากคะแนนเต็ม 100

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นเรื่องเก่าเล่าซ้ำซากมาหลายนาน รู้หรือไม่ว่าต้องจัดการแก้ไขอย่างไร งานศึกษาจำนวนมากบอกไว้กระจ่างแล้ว ทว่า การจะนำไปปฏิบัติต้องอาศัยมากกว่างานศึกษา โดยเฉพาะเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งจะแสดงตัวออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น การกักตัวหรือสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) ของคนที่มีฐานะดีอาจไม่มีอะไรมากไปกว่าการอยู่บ้านพักผ่อน แต่กับคนหาเช้ากินค่ำ มันหมายถึงรายได้ที่หดหาย หนี้สินที่พอกพูน และการกระเสือกกระสนอยู่รอดให้ได้

ในทางเศรษฐศาสตร์มีการวัดความเหลื่อมล้ำหลายวิธี ค่าสัมประสิทธิ์จีนีน่าจะเป็นค่าที่คุ้นเคยที่สุด แล้วในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาล่ะจะมีวิธีวัดอย่างไร?

ธีระ สินเดชารักษ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เขามีความสนใจเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เพราะเป็นเรื่องที่ดูจะใกล้ตัวมากกว่าความเหลื่อมล้ำที่เป็นภาพเชิงมหภาคและผู้คนอาจรับรู้ถึงมันได้ลำบาก

แต่ความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมจับต้องและมองเห็นได้ง่ายกว่า รับรู้และรู้สึกได้ง่ายกว่า ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่นนักการเมืองรุกพื้นที่ป่ากับชาวบ้านรุกพื้นที่ป่า เงื้อมมือกฎหมายปฏิบัติต่อคนทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน

เป็นที่มาของงานศึกษาของธีระและคณะที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ด้วยการสร้างตัวชี้วัดที่เรียกว่า ‘ดัชนีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมทางสังคม’ หมายถึงความรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และสิ่งที่สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมที่คนจะแสดงออกหรือปฏิบัติต่อสิ่งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม

ดัชนีที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

“สิ่งที่เราสนใจในการทำดัชนีก็คือเราเข้าใจไปเอง รู้สึกไปเอง และเป็นเรื่องของแต่ละปัจเจกในการบอกว่า ตนเองได้รับความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม แต่เวลาพูดถึงโดยภาพรวมอาจจะต้องพยายามหาตัวเลขสักตัวหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นตัวเลขที่อธิบายความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมในสังคมได้ ซึ่งเราก็ทำต่อเนื่องมาหลายปีเลยเห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร”

หรือเพราะตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ?

ธีระ แสดงทัศนะว่า ในฐานะผู้สอนการวิจัยเชิงปริมาณและดัชนีชี้วัดต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือข้อมูลต้องเชื่อถือได้ ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่ที่ว่านักวิจัยไม่ว่าจะทางเศรษฐศาสตร์หรือสังคมวิทยาต้องให้ความสำคัญกับที่มาของข้อมูล หากดัชนีและตัวชี้วัดในทางเศรษฐศาสตร์อาศัยข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ คำถามก็คือข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ดัชนีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมทางสังคมพยายามสร้างดัชนีหรือตัวชี้วัดที่มาจากการรับรู้ของผู้คนโดยตรง ซึ่งในมุมทางเศรษฐศาสตร์ยังมองไม่เห็นในระดับนี้

“ถ้าดัชนีทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำเป็นดัชนีที่เชื่อถือได้จริงก็น่าจะสอดคล้องและตรงกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ตอบสนองต่อดัชนีความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมในมิติใดๆ ก็ตาม ทุกดัชนีควรจะชี้ไปในสิ่งเดียวกัน มันควรจะบอกได้ว่าสังคมวันนี้มีความเหลื่อมล้ำไหม มันควรจะบอกได้ว่าสังคมวันนี้ความเป็นธรรมลดต่ำลงเพราะอะไร มันควรจะบอกไปในทิศทางเดียวกัน”

ความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม 4 มิติ

มี 4 มิติความเป็นธรรมที่ธีระเลือกมาศึกษาก่อน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเมือง และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภายหลังเขาได้เพิ่มเติมมิติอื่นๆ ลงไป เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เพศ การศึกษา เป็นต้น เขาอธิบายวิธีการศึกษาว่า

“เราสนใจความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมในเชิงภาพลักษณ์ ในเชิงการรับรู้ความรู้สึก อารมณ์ หรือสิ่งที่เขาแสดงออก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามหาตัวอย่าง หาประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนจริงๆ เช่น เคยถูกดูหมิ่นดูแคลนไหม หรือรับรู้เรื่องการเหยียดเพศ การเหยียดคนที่ต่ำต้อยกว่า หรือคนที่มีเศรษฐฐานะที่ด้อยกว่าหรือไม่

“ในแง่การเมืองก็จะมองถึงคนที่คิดต่างจากเรา แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่โอเคกับเขา เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในสังคมที่เราไม่สามารถยอมรับความแตกต่างได้ เวลาคนจะแสดงความเห็นในเรื่องใดกลับกลายเป็นว่าถูกเบียดขับออกไปว่าเป็นอีกพวกหนึ่ง ซึ่งมันคือความไม่เป็นธรรมในทางการเมืองหรือการถูกเลือกปฏิบัติ เราพยายามหาตัวอย่างเหล่านี้และนำไปพิสูจน์โดยหลักวิชาการโดยเฉพาะทางสถิติ พิสูจน์ว่าข้อคำถามเหล่านี้เชื่อได้ วัดได้ เอาไปใช้ประโยชน์ได้”

ธีระและคณะแปลงความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมใน 4 มิติเป็นคำถามประมาณ 30 ข้อ และลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ จากการทำงานต่อเนื่องและยาวนาน ผู้ที่ตอบก็เป็นคนเดิมที่เคยตอบ เคยให้ความเห็น ทางผู้วิจัยก็พยายามสานสัมพันธ์จนกระทั่งมั่นใจว่าข้อมูลที่ได้มาเชื่อถือได้และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงได้

คนชั้นกลาง-คนชนบท รับรู้ความเป็นธรรมต่างกัน

ปัญหามีอยู่ว่าการตอบคำถามเหล่านี้มักใช้เวลานาน จึงมีการพัฒนา web application ขึ้น โดยเปลี่ยนจากคำถามเป็นภาพ 2 ภาพแล้วให้ผู้ดูเลือกว่าสังคมไทยตอนนี้ตรงกับเป็นภาพไหน และนึกคิดกับภาพนั้นในระดับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งสองแบบให้ผลออกมาแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

“คนที่เขาเห็นภาพ เห็นอย่างไรเขาก็รับรู้ความรู้สึก ไม่ต้องอธิบาย เข้าใจได้เลย แล้วเขาก็ตอบว่าเป็นอย่างนี้ เป็นแบบที่เขาเห็น ที่เขารู้สึก ดัชนีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมสะท้อนผ่าน 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 30 ถึง 40 คะแนนจาก 100 แต่พอไปถามในแบบเต็ม ตัวอย่างประสบการณ์การรับรู้ ข้อเท็จจริง สิทธิ เสรีภาพ ตัวเลขออกมาอยู่ประมาณ 50 ถึง 60 คะแนน ความต่างตรงนี้แสดงให้เห็นว่าภาพเราจะได้คำตอบอย่างหนึ่ง คำถามจะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งด้วย ontology ที่ต่างกัน แต่ดัชนีตัวนี้เป็นดัชนีที่พูดถึงภาพลักษณ์ ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงภาพลักษณะตัวนี้ก็อาจจะใช้ประโยชน์โดยตรงตามชื่อดัชนีได้

“แต่ถ้าเราอยากรู้ว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในรายละเอียดเรื่องไหนที่เป็นการเฉพาะเจาะจง ภาพบอกไม่ได้ต้องมาดูรายข้อในส่วนที่เป็นแบบเต็มซึ่งถามครอบคลุมแทบจะทุกเรื่อง ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมคนตอบส่วนใหญ่ตอบแบบย่อไม่ตอบแบบเต็ม”

จุดนี้มีข้อสังเกตว่าคนที่ตอบแบบเต็มจะเป็นคนมีเวลา มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐสังคมที่ค่อนข้างดี กล่าวคือคนที่ตอบคำถามแบบเต็มมักจะเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมีการรับรู้เรื่องความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมแตกต่างจากคนที่มองจากภาพเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคนที่ตอบแบบย่อกับแบบเต็มจึงเป็นคนละกลุ่ม นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ดัชนีได้ผลต่างกัน

เปลี่ยนข้อมูลเป็นตัวเลข

ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาแปรเป็นค่าทางสถิติ ธีระอธิบายว่า มีอยู่ 3 วิธี วิธีแรกคือการให้น้ำหนักกับทุกมิติเท่าๆ กัน ข้อจำกัดของวิธีนี้คือในสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา ผู้คนอาจให้ความสำคัญกับแต่ละมิติแตกต่างกัน

วิธีที่ 2 เป็นการเลือกให้ความสำคัญกับมิติใดมิติหนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนกำหนดน้ำหนัก ซึ่งผู้ที่กำหนดน้ำหนักก็คือผู้ตอบคำถามโดยให้ตอบด้วยว่า ณ เวลานี้ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร แล้วจึงนำลำดับที่เขาเลือกจากคนส่วนใหญ่ที่ตอบมากำหนดเป็นค่าน้ำหนักและคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ข้อจำกัดของวิธีนี้อยู่ที่ว่าการกำหนดน้ำหนักมาจากการรับรู้ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เช่น คนเมืองกับคนชนบทจะให้ความสำคัญกับมิติที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่

วิธีที่ 3 ใช้การกำหนดน้ำหนักให้กับมิติต่างๆ ตามคำตอบที่ผู้ตอบตอบมาว่าให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร เช่น รู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรมในด้านการเมือง แล้วคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ หรือกลับกันเห็นว่ามันมีความเป็นธรรม แล้วคนส่วนใหญ่มาทางนี้ แสดงว่ามิตินี้เป็นมิติที่ไม่ได้มีความเห็นต่างกันมาก เป็นมิติที่คนให้ความสำคัญเหมือนกัน ซึ่งก็จะเป็นข้อมูลที่กำหนดน้ำหนักให้กับมิตินี้เป็นอันดับแรก

“ผมจึงทำทั้ง 3 วิธีและก็ได้ค่าที่ต่างกัน แบบแรกได้ค่าสูงหมายถึงมีความเป็นธรรมสูงเพราะให้น้ำหนักเท่ากัน แต่พอเป็นแบบที่ 2 โดยภาพรวมมันแกว่ง มีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องไหน ช่วงไหน และวิธีนี้ค่าที่ได้แนวโน้มจะต่ำกว่าวิธีแรก ส่วนวิธีที่ 3 ชัด คือแนวโน้มความเป็นธรรมลดลงและขึ้นอยู่กับช่วงเวลาตามที่เขาตอบ แต่แนวโน้มเห็นเลยว่าลดลงมาตั้งแต่ปี 2559 ต่อปี 2560 เรื่อยมาจนถึงปี 2562 ล่าสุดเหลือ 30 ถึง 40 คะแนน”

ภาพลักษณ์ความเป็นธรรมของไทยได้ 34 จาก 100

ถึงตรงนี้คงอยู่รู้คำตอบกันแล้วว่า ดัชนีภาพลักษณ์ความเป็นธรรมทางสังคมของไทยเป็นอย่างไร?

“อารมณ์ ความรับรู้ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความเป็นธรรมในสังคมวันนี้มีปัญหา และมันสั่งสมมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด มันก็ทำให้สิ่งที่ผมสำรวจในปี 2557 มีแนวโน้มที่จะบอกเราแบบนั้น งานศึกษาของผมไม่ได้มีแต่ตัวเลข แต่ผมบอกด้วยว่าความสำคัญของมิติที่สะท้อนความเป็นธรรมมีปัญหาในมิติไหน อยากช่วงที่มีเรื่องนาฬิกา เรื่องเสือดำ ตอนนั้นก็ชัดว่ามีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม มันบอกว่าเรื่องนี้ประชาชนรับรู้ว่ามีปัญหา มีความไม่เป็นธรรม และมีความสัมพันธ์กับการเมืองระดับประเทศแน่นอน ชัดเจน เหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นและเป็นที่รับรู้เป็นวงกว้าง คนก็จะใส่ใจไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท

“ผมออกเก็บข้อมูลด้วยตนเอง สิ่งที่พบคือคนในชนบทให้ความสำคัญกับการเมืองไม่น้อย ยิ่งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งมา 6 ปี เขาก็รู้สึกว่ามันไม่มีอะไรที่ชัดเจนในการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเวลาถามเรื่องความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เขาก็จะรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อไรก็ตามที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นผมคิดว่ามิติอาจจะเปลี่ยน”

ผลการเก็บข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2562 เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมใน 4 มิติ พบว่า

  • มิติด้านเศรษฐกิจ ความยากจน และการกระจายทรัพยากร จากจำนวนตัวอย่าง 1,260 ตัวอย่าง ร้อยละ 89.05 เห็นว่าไม่เป็นธรรม
  • มิติด้านการเมือง จากจำนวนตัวอย่าง 986 ตัวอย่าง ร้อยละ 69.63 เห็นว่าไม่เป็นธรรม
  • มิติด้านสังคม วัฒนธรรม ภาษา และศาสนา จากจำนวนตัวอย่าง 504 ตัวอย่าง ร้อยละ 35.69 เห็นว่าไม่เป็นธรรม
  • มิติด้านกระบวนการยุติธรรม จากจำนวนตัวอย่าง 1,263 ตัวอย่าง ร้อยละ 89.32 เห็นว่าไม่เป็นธรรม
  • ดัชนีภาพรวมของภาพลักษณ์ความเป็นธรรมในสังคมไทยจึงอยู่ที่ 34.49 จากคะแนนเต็ม 100

นี่คือข้อสรุปที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของผู้คนว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความเป็นธรรมหรือไม่

คุณแปลกใจกับคะแนนหรือไม่? แล้วคุณคิดอย่างไร?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net