Skip to main content
sharethis

กยศ. ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลด-พักชำระหนี้ผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐ 'พรรคก้าวไกล' เสนอพักชำระหนี้ กยศ. 1 ปี ทุกคน ไม่มีเงื่อนไข ‘สุริยะใส’ จี้ กยศ.เตรียมเพิ่มวงเงินผู้กู้รายใหม่ ห่วง นร.-นศ.หลุดจากระบบจำนวนมาก ชูนโยบายฝ่าวิกฤติ “ทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน”

กยศ. ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลด-พักชำระหนี้ผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐ

1 เม.ย. 2563 ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพของผู้กู้ยืม กองทุนได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ ดังนี้

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.

1.ลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ในกรณีที่ผู้กู้ยืมยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด กองทุนจะปรับลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินกู้ยืมเป็นการชั่วคราวโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 31 ธ.ค.2563

2.ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน กองทุนจะปรับลดจำนวนเงินที่แจ้งให้หักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมทุกรายในกลุ่มหน่วยงานเอกชน จากจำนวนเงินที่เคยแจ้งหัก เป็นแจ้งให้นายจ้างหักเงินของผู้กู้ยืมทุกรายๆ ละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563

3.ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว กรณีผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กรณีผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดี ลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ กยศ. โดยผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนชำระหนี้ปิดบัญชี โดยขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ.2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2563

4.ลดเบี้ยปรับ 75% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) โดยติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยให้ขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ.2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2563

5.พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี ผู้กู้ยืมที่มีสถานะยังไม่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี ได้รับสิทธิผ่อนผันการชำระหนี้งวดปี 2563 เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กองทุนอนุมัติ โดยผู้กู้ยืมจะกลับมาชำระหนี้งวดปี 2563 ภายในวันที่ 5 ก.ค.2565 และงวดที่เหลือในปีถัดไป กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน ให้ผ่อนผันการชำระหนี้ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ

โดยในระหว่างพักชำระหนี้ดังกล่าว กองทุนจะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ กองทุนจะหยุดคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้ทั้งงวดที่ค้างชำระก่อนหน้าและงวดที่อยู่ระหว่างผ่อนผันการชำระหนี้ จนกว่าระยะเวลาพักชำระหนี้จะสิ้นสุด โดยขยายเวลาให้ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนยื่นคำขอรับสิทธิได้ทางเว็บไซต์ กยศ. เดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ.2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.2563

6.ผ่อนผันการชำระหนี้ ในกรณีสถานการณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้และ ไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ สามารถยื่นคำขอผ่อนผันและส่งเอกสารหลักฐานไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนครบกำหนดชำระหนี้ ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกองทุนที่มีอยู่เดิมแล้ว ดังนี้

กรณีผู้กู้ยืมที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน สามารถขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 คราวๆละไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย รวมถึงยกเว้นเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับการผ่อนผัน

กรณีผู้กู้ยืมที่มีรายได้ถดถอย สามารถขอผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 1.5-2.5 เท่าของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเดิม โดยขึ้นอยู่กับมูลหนี้คงเหลือ ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี และผู้กู้ยืมจะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับกองทุน เพื่อนำยอดหนี้คงเหลือมาคำนวณใหม่และเฉลี่ยให้ชำระในแต่ละเดือนเท่าๆ กันภายในระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน

7.งดการขายทอดตลาด สำหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด กองทุนจะยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาดทุกรายไปจนถึงสิ้นปี 2563 โดยจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืม และ/หรือ ผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี)

8.ชะลอการบังคับคดี สำหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันทุกคดี กองทุนจะชะลอการบังคับคดีไว้ ยกเว้นกรณีที่คดีใกล้ขาดอายุความ กองทุนจำเป็นต้องดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายแต่จะงดการขายทอดตลาดไว้

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถดูรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ทาง www.studentloan.or.th และเพื่อเป็นการร่วมเว้นระยะห่างทางสังคม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line@กยศ. หรือ Line@กยศ.หักเงินเดือน หรือ Line@กยศ.คดีและบังคับคดี หรือ e-mail : info@studentloan.or.th

 

'ก้าวไกล' เสนอพักชำระหนี้ กยศ. 1 ปี ทุกคน ไม่มีเงื่อนไข

ขณะที่ก่อนหน้านี้วันที่ 30 มี.ค. ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล ได้โพสต์แฟนเพจเฟสบุ๊คระบุว่า ตนและเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาหนี้กยศ. ขอเสนอให้กองทุนกยศ.ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง พักหนี้ของลูกหนี้ทุกคน และลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันที่ถูกดำเนินคดีอยู่ทุกกรณี ไม่มีเงื่อนไข เป็นระยะเวลา 1 ปี หรือจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะสิ้นสุดลงและสภาพเศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาการเลิกจ้าง และการว่างงานที่สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ จึงเป็นเรื่องลำบากอย่างยิ่งสำหรับลูกหนี้กยศ. ที่จะสามารถชำระหนี้ตามกำหนด ยังส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระสูงขึ้น

กองทุนกยศ.มีบทบาทในการช่วยเหลือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสมควรยิ่งจะเป็นสิทธิและสวัสดิการของรัฐในการพัฒนาประชาชนไทยทุกคน การตัดสินใจให้ความช่วยเหลือด้วยการพักหนี้ในสภาวะเช่นนี้ จึงสมควรเป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับการช่วยเหลือทางการเงินของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนในขณะนี้

เมื่อไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาหนี้กยศ. จึงขอใช้ช่องทางสาธารณะในการส่งข้อเสนอนี้ไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกคน ให้ตัดสินใจทำเพื่อประชาชนที่กำลังทุกข์ยากอยู่ในขณะนี้ครับ

 

‘สุริยะใส’ จี้ กยศ.เตรียมเพิ่มวงเงินผู้กู้รายใหม่ ห่วง นร.-นศ.หลุดจากระบบจำนวนมาก

1 เม.ย. 2563 สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ส่งเพรสข่าวโดยแสดงความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องชื่นชมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.ที่ออก 8 มาตรการเยียวยานักศึกษาที่เป็นลูกหนี้ กยศ.ทั้งที่จบไปแล้วและกำลังศึกษาอยู่กว่า 5.7 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ ลดดอกเบี้ยปรับลดการหักเงินเดือน พักชำระหนี้ 2 ปี การผ่อนผันการชำระหนี้และการงดหรือขะลอการบังคับคดี เป็นต้นล้วนเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือเยียวยาลูกหนี้ ที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

แต่จากแนวโน้มของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ต่างยอมรับว่ารุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่สำคัญอาจจะลุกลามไปถึงสิ้นปีหรือข้ามปีก็เป็นไปได้  

สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้ อาจจะมีนักศึกษาจำนวนมากต้องพักการเรียนหรือหลุดออกจากระบบการศึกษาไปกลางคัน แต่เนื่องจากมาตรการ กยศ.ยังครอบคุมเฉพาะลูกหนี้ในปัจจุบันเท่านั้น

ควรมีมาตรการรองรับนักศึกษาที่อาจมาเป็นลูกหนี้รายใหม่หรืออาจจะเข้าโครงการ กยศ.เพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสียตนเองจนจบการศึกษา กยศ.จึงควรมีมาตรการรองรับนักศึกษากลุ่มใหม่ด้วย ดังนี้

1. สำหรับลูกหนี้ในปัจจุบันทั้งในรูปแบบ กยศ.และ กรอ. ควรพิจารณาเพิ่มวงเงินเบี้ยยังชีพ ในแต่ละเดือนให้กับนักศึกษาหรือผู้กู้ยืมในปัจจุบันด้วย เพื่อให้เพียงพอแก่การยังชีพในสถานการณ์ที่นักศึกษาและครอบครัวเผชิญกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ

2. สำหรับลูกหนี้ที่กำลังเรียนอยู่และมีเงื่อนไขสะสมชั่วโมงจิตอาสาเทอมละ 18 ชั่วโมงระหว่างเรียนนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการคิดเชื้อ Covid-19 กยศ. ควรประสานความร่วมมือกับ กระทรวงไอซีที กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ พิจารณาจัดรูปแบบกิจกรรมสะสมคะแนนจิตอาสาในระบบดิจิตอล และออนไลน์แทน เช่น กิจกรรมรณรงค์ต่างๆทางโซเชี่ยล ที่สามารถสมัครร่วมทำ ร่วมเผยแพร่ กำหนดจุดเสี่ยงเฝ้าระวังต่างๆกับภาครัฐ การเป็น อาสาสมัครสอนออนไลน์ หรือการอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด เป็นต้น

3. สำหรับผู้ที่จะยื่นกู้รายใหม่ ควรพิจารณาเพิ่มวงเงินเข้ากองทุน กยศ. โดยอาจสุ่มสำรวจจำนวน นศ.ที่อาจเป็นลูกหนี้รายใหม่จากแต่ละสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะที่ผ่านมา มี นศ.จำนวนมากที่เคยขอกู้และไม่ผ่านหรือกู้ได้บางส่วน กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด จะทำให้ กยศ.สามารถคาดการณ์จำนวนเงินในเบื้องต้นได้ว่าต้องเพิ่มเข้ากองทุน กยศ.เป็นจำนวนเท่าใด

4. ควรขยายฐานให้ผู้กู้รายใหม่สามารถกู้ได้ง่ายขึ้นโดยลดหรือยกเลิกเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการกู้มากจนเกินไป จนทำให้ นศ.ไม่สามารถกู้ได้เลยหรือกู้ได้มั้งหมดทั้งหมด

5. รัฐบาลควรประกาศเพิ่มวงเงินล่วงหน้า และชูนโยบายฝ่าวิกฤติ “ทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน” โดยให้สถาบันการศึกษาช่วยประสานงานความต้องการของนักเรียนนักศึกษาแต่ละแห่งว่ามีจำนวนเท่าไร หรือเปิดลงทะเบียนเพื่อคัดกรองสำหรับคนที่วิกฤติจริงๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net