Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานสถานการณ์คนไทยต่างแดนในสถานการณ์โรคโควิด-19 โดย แรงงานไทยในมาเลเซียหลายพันคน ตกงาน ขาดรายได้ ยังเดินทางกลับไม่ได้ บางคนหลบหนีเข้ามาโดยไม่ผ่านการคัดกรอง รัฐต้องป้องกันเร่งด่วน ขณะที่นักศึกษาไทยจากประเทศปากีสถานเดินทางกลับไทย กักตัว 14 วัน

แรงงานไทยในมาเลเซียหลายพันคน ตกงาน ขาดรายได้ ยังเดินทางกลับไม่ได้

1 เม.ย. 2563 รายงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 14/2563 เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระบุว่าตามที่จังหวัดสตูลมีคำสั่งลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 ให้มีการปิดด่านท่าเรือตำมะลังและด่านวังประจันและไม่อนุญาตให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศนั้น  สถานทูตเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ได้ตรวจสอบกับจังหวัดสตูลแล้ว ขอเรียนที่แจ้งดังนี้ 1) ขอยืนยันว่าด่านท่าเรือตำมะลังและด่านวังประจัน รวมทั้งด่านชายแดนทางบกระหว่างไทยกับมาเลเซียทุกจุด ยังไม่เปิดทำการและไม่สามารถเข้า-ออกได้  2) จังหวัดสตูลยังไม่ได้กำหนดวันเปิดด่านตามคำสั่งดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 3) ขอให้พี่น้องคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับไทยผ่านด่านชายแดนทางบก อยู่ที่พัก   ไม่เดินทางไปที่ชายแดน   4) ขอให้รอฟังประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้จากทางสถานเอกอัครราชทูตฯ  ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯจะรีบประกาศให้ทราบโดยทั่วกันในทันทีที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว 

ก่อนหน้านี้มีการผ่อนผันการเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 25-27 มีนาคม 2563  ต่อมามีรายงานข่าวว่าวันที่ 28 มีนาคม 2563 เมื่อมีการปิดด่านอย่างไม่มีกำหนดที่ด่านพรมแดน ในรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียซึ่งติดกับพื้นที่วังประจัน จังหวัดสตูล มีแรงงานสัญชาติไทยจำนวนกว่า 400 คนติดค้างที่ด่านแห่งนี้ในฝั่งประเทศมาเลเซียโดยพวกเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านแดนกลับเข้าประเทศไทย  อีกทั้งมีรายงานด้วยว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 จนนำมาสู่การปิดประเทศในมาเลเซียส่งผลให้มีการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากในประเทศมาเลเซีย  แรงงานสัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียมีจำนวนนับแสนคน ซึ่งกำลังเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด 19 และสภาพปัญหาเศรษฐกิจ

ปัจจุบันจากข้อมูลพบว่ามีแรงงานสัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียจำนวนหลายพันคนที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย   แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ บางรายได้พยายามเดินทางกลับตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด 19 และไม่ได้กักตัว 14 วันเพื่อดูอาการตามคำแนะนำของแพทย์และประกาศของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยในอนาคตอันใกล้   อีกทั้งเมื่อกลับมาอาจไม่ได้สื่อสารกับชุมชนหรือได้รับการกักตัวที่บ้าน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้

สถานการณ์แพร่กระจายและการควบคุมโรคไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะเรื่องการได้รับการปฏิบัติตามมนุษยธรรมและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานไทยในฝั่งมาเลเซียที่มีจำนวนมาก หากมีการขอเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมๆ กัน อาจจะทำให้มาตรการรับมือการแพร่เชื้อโควิด 19 ไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลถึงการควบคุมโรคตามหลักการทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่  เช่น เกิดความแออัดมากจนโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยเก่าจำนวนไม่ลดลงทำให้เกิดความสูญเสียศักยภาพในการจัดการงานสาธารณสุขโดยรวม ซึ่งต้องมีป้องกันด้วยการจัดการที่ดี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข โดยประธานคือนายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ ได้จัดให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย( คฉ.จม.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค 19 ที่มาเลเซียประกาศปิดประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายตูแวดานียา มือรีงิง  เป็นประธานกรรมการ พร้อมกับตัวแทนภาคประชาสังคมและบุคลากรด้านต่างๆ จำนวนรวม 11 คน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย   (คฉ.จม.) ได้ประชุมครั้งแรก  นายตูแวดานียา มือรีงิง ได้เปิดเผยว่า อาจมีแรงงานไทยในมาเลเซียจำนวนกว่า 50,000 คนได้กลับบ้าน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้ก่อนหน้านี้  และยังมีที่เหลืออยู่จำนวนอาจถึง 10,000 คนที่ยังติดค้างในมาเลเซีย โดยมีผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางสถานทูตไทยจำนวนประมาณ 6,000 คน ที่เหลือยังกระจัดกระจาย มีข้อสรุปจากการประชุมดังนี้

สรุปสถานการณ์หลังจากที่มาเลเซียขยายเวลาปิดประเทศตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 จนถึง 14 เมษายน 2563 ทำให้แรงงานเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานร้านต้มยำกุ้งไทยในมาเลเซียยังคงอยู่ในประเทศมาเลเซีย ตอนนี้มีหลายคนที่ต้องการกลับไทย ขณะที่บางคนต้องการอยู่ต่อ 

คนที่ต้องการจะกลับไทยต้องมีใบรับรองแพทย์มีค่าใช้จ่าย 30 ริงกิต (ประมาณ   300 บาท) และใบรับรองจากสถานทูตไทย ในสถานการณ์ตอนนี้มีความยากลำบากในการเดินทางออกไปที่คลินิกที่กำหนดไว้เท่านั้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์และที่รัฐยะโฮร์  อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง ตอนนี้หลายคนอยู่ในสภาพตกงาน ขาดรายได้ ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระและความเดือดร้อนมากขึ้น   

ในเรื่องการทำสื่อเผยแพร่ให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาของแรงงานร้านต้มยำกุ้ง ได้มีการสื่อสารสองรูปแบบคือ สื่อสำหรับแรงงานที่อยากกลับมีปัญหาอะไรบ้าง เช่น ใบรับรองแพทย์ fit to travel  และสื่อที่สะท้อนปัญหาที่มีอยู่ให้ชัดเจนของคนที่อยากอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยต้องสื่อสารให้รับผิดชอบต่อสังคม การป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด 19 ในขณะอยู่ต่อในประเทศมาเลเซีย ทั้งได้มีประสานงานให้ทางกงสุลไทยในทางรัฐยะโฮร์ให้นำถุงยังชีพไปแจกให้กับคนที่เดือดร้อนบางส่วนแล้วสำหรับกลุ่มที่ต้องการอยู่ต่อในประเทศมาเลเซีย

สภาพปัญหาในการช่วยเหลือคือ การรวบรวมข้อมูลจำนวนร้านต้มยำกุ้ง คนทำงานในร้าน ซึ่งไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการแน่นอน อีกทั้งยังมีตัวเลขที่ไม่สามารถทราบได้คือ แรงงานไทยที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ที่อาจเข้าข่ายผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วย   ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีจำนวน 4,000 – 5,000 คน บางคนประเมินว่าหมื่นกว่าคน และมักทำงานในร้านนวดหรือสปา  คนเหล่านี้โดยปกติจะเก็บตัวอยู่แล้วนอกจากเวลาออกไปทำงาน  โดยกลุ่มนี้ต้องมีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มนี้ติดตามข่าวจากเพจต่าง ๆ ในมาเลเซีย เช่น เพจของสถานทูต/กงสุลไทย  คนไทยในมาเลเซีย Malaysia news network  สะใภ้มาเลเซีย  เป็นต้น  เพื่อให้เขาติดตามข้อมูลทันเหตุการณ์ และทำตามคำแนะนำของทางการมาเลเซีย  อนึ่งพวกเขายังมีปัญหาเรื่องวีซ่าหมดอายุหรือที่เรียกกันว่า over stay ซึ่งตอนนี้ทางการมาเลเซียมีการผ่อนปรนให้อยู่ต่อไปก่อนได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าการประสานงานทำงานร่วมกันและการสื่อสารเรื่องการรับมือโควิด 19 กรณีแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียมีความสำคัญอย่างยิ่ง  และยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่  รวมทั้งงานเร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนใต้ในปัจจุบันคือการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสจากกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียโดยยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการคัดกรองและกักตัวในแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละชุมชน เรายังมีสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ร่วมกัน  ขอแสดงความชื่นชมหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขและบุคลากรด้านต่างๆ ที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย มา ณ โอกาสนี้

 

นักศึกษาไทยจากประเทศปากีสถานเดินทางกลับไทย กักตัว 14 วัน

รายงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID 19 ในทั่วโลก  ส่งผลกระทบให้หลายประเทศมีมาตรการการรับมือในทุกภาคส่วน รวมทั้งประเทศปากีสถานเอง ซึ่งพบการแพร่ระบาดของ COVID 19  ด้วย ทำให้มหาวิทยาลัยนานาชาติฯ และสถานศึกษาอื่นๆปิดการเรียนการสอน และในหลายจังหวัดมีการ Lockdown ทำให้นักศึกษาและชาวไทยในประเทศปากีสถานบางส่วนที่มีความประสงค์จะกลับภูมิลำเนาของตนระหว่างที่มหาวิทยาลัยปิดการศึกษา  แต่เนื่องจากในสนามบินนานาชาติปากีสถานได้ทำการปิดสนามบินแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563  ทำให้นักศึกษาและชาวไทยบางส่วนไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

ด้วยเหตุนี้ ทางสถานทูตไทยประจำประเทศปากีสถาน ได้ประสานกับการบินไทย  เพื่อนำนักศึกษาไทยและชาวไทยบางส่วนที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยเดินทางกลับเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 230 คน โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทางการบินไทย ได้รับเรื่องขอเที่ยวบินกลับประเทศ และทางสนามบินนานาชาติอิสลามาบัดก็ยินดีเปิดให้บริการในวันนั้นเป็นกรณีพิเศษ

ตั้งแต่วันที่ 16  มีนาคม 2563 วันที่มหาวิทยาลัยมีประกาศให้หยุดเรียนชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด  19 นักศึกษาทุกคนกักตัวเองที่หอพัก  เป็นเวลา 14 วัน ก่อนถึงวันเดินทางกลับ  สถานทูตไทยมีประกาศเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยให้กับนักศึกษา เนื่องจากเห็นว่า ในประเทศปากีสถานเองก็มีการระบาดอยู่ และมหาวิทยาลัยก็ปิดการเรียนการสอน น่าจะมีนักศึกษากลับบ้านจำนวนมาก เพราะโดยปกติช่วงใกล้ปิดเทอมนักศึกษามักเดินทางกลับประเทศของตนอยู่แล้ว  แม้ไม่ได้มีสถานการณ์โรคระบาดก็ตาม   การเดินทางครั้งนี้สถานทูตเป็นผู้ประสานงานร่วมกับสายการบินการบินไทย เพื่อจัดเตรียมเที่ยวบินพิเศษให้เป็นเที่ยวบินที่ TG 350   

ขั้นตอนลำดับแรกสถานทูตไทยให้นักศึกษาทุกคนเข้ารับการตรวจร่างกาย และต้องมีใบรับรองแพทย์ทุกคน หากไม่มีใบรับรองแพทย์ จะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 23.30 น. ตามเวลาประเทศปากีสถาน เที่ยวบินพิเศษ TG 350 เดินทางจากสนามบินนานาชาติกรุงอิสลามาบัด  นักศึกษาทุกคนมีการป้องกันตัวเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัยและบางคนสวมถึงมือ รวมทั้งการระวังระยะห่างต่อกัน  นักศึกษากลุ่มนี้เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ วันอาทิตย์ ที่ 29 มีนาคม 2563   เวลา 05.50 น.   ตามเวลาประเทศไทย

เมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิมีการตรวจร่างกายก่อนเข้าเมือง เพื่อคัดกรองโควิด 19 ก่อนจะจัดให้มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยรถบัสจำนวน 12 คัน แบ่งเป็น นราธิวาส 5 คัน สงขลา 1 คัน เชียงใหม่ 1 คัน ยะลา 2 คัน และปัตตานี 3 คัน โดยขึ้นคันละไม่เกิน 20 คน  กำหนดเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ  เวลา    10.00  น. โดยเดินทางไปที่ AOT (เป็นศูนย์กักกัน ผู้ที่ติดเชื้อ) และแยกย้ายกันกลับแต่ละจังหวัด

ทางราชการได้เตรียมการคัดกรองนักศึกษาเหล่านี้เมื่อกลับถึงจังหวัดของตน  ในวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ   09.00   น.  วัตถุประสงค์คือมีการตรวจร่างกาย ก่อนเข้ารับการกักตัว 14 วัน โดยมีการตรวจร่างกาย แยกตามจังหวัดดังนี้ จังหวัดปัตตานีจัดจุดคัดกรองที่โรงยิม สนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี  จังหวัดยะลาจัดจุดคัดกรองที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน อ.เมือง จ.ยะลา จังหวัดนราธิวาสมีจุดคัดกรอง ณ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดนราธิวาส และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอระแงะ  จังหวัดสงขลามีจุดคัดกรอง ณ ค่ายทหาร ร.5 พัน 3 อำเภอนาทวี  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักตัวหากครบกำหนด 14 วัน ไม่พบว่ามีอาการก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้

ความรู้สึกนักศึกษาที่กลับจากปากีสถานครั้งนี้ได้แสดงความเห็นว่า การสื่อสารสื่อออนไลน์ ไปได้เร็วมาก แต่มักไปในแง่ลบ ทำให้พวกเรารู้สึกว่า คนไทยไม่เห็นใจคนอื่น ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน เราในฐานะนักศึกษายินดีทำตามกระบวนการกักตัวและให้ความร่วมมือเต็มที่ เนื่องจากเป็นสถานการณ์การระบาดที่ไม่เคยเจอมาก่อน  อาจเพราะเป็นมุสลิมที่มาจากสามจังหวัดด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ก็ขอบคุณสถานทูตไทยประจำประเทศปากีสถาน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่เตรียมการรองรับครบขั้นตอน และตนยินดีกักตัวพร้อมเพื่อนๆจนครบกำหนด 14 วัน ก่อนเดินทางกลับชุมชนต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าการประสานงานทำงานร่วมกับและการสื่อสารเรื่องการรับมือโควิดกรณีนักศึกษาไทยจากประเทศปากีสถานเป็นตัวอย่างที่ดี ขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ  บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่และหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่แสดงศักยภาพในการรับมือโควิดได้อย่างดียิ่ง  เรายังมีสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ร่วมกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net