COVID-19 : รายงานเผยคนงานไทยในมาเลย์เดือดร้อนหนัก ขอ รบ.ไทยประสานช่วย

สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ฯ เผยรายงานสถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการสัญจร ระบุเดือดร้อนหนัก แรงงานในร้านต้มยำไม่มีงาน ไม่มีรายได้ เงินหมด และเริ่มขาดแคลนอาหาร ขอรัฐบาลไทยประสานระดับรัฐต่อรัฐช่วยเหลือคนไทยในที่ตกค้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ 

ภาพซ้าย สิ่งของจากถุงยังชีพที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และอาสาสมัครช่วยกันแจกจ่ายให้สมาชิก / ภาพขวา :เป็นภาพแรงงานไทยในมาเลเซียเดินทางมาที่ด่านชายแดนแห่งหนึ่งเพื่อรอกลับประเทศ

2 เม.ย.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ออกรายงาน ฉบับที่ 1 ต่อสถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการสัญจร (MCO) โดยระบุว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีคนไทยเดินทางไปทำงานหาเลี้ยงชีพเป็นแรงงานระดับล่างอยู่เป็นจำนวนมากนับแสนคน และจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัส COVID-19 ในมาเลเซีย ทำให้รัฐบาลมาเลเซียมีมาตรการควบคุมการสัญจร อย่างเข้มงวดและปิดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.เป็นต้นมา ส่งผลให้กิจการที่เป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานไทย โดยเฉพาะกิจการร้านต้มยำจำนวนมากต้องปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด

ทำให้ลูกจ้างแรงงานในร้านต้มยำไม่มีงาน ไม่มีรายได้ เงินหมด และเริ่มขาดแคลนอาหาร ขณะที่ระยะเวลาการระบาดของโรคและมาตรการควบคุมการสัญจรที่ยืดเยื้อ ทำให้เจ้าของร้านหรือ “เถ้าแก่” เริ่มหมดกำลังในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องในร้านของตน แรงงานต้มยำเป็นกลุ่มคนไทยในมาเลเซียที่ประสบกับเดือดร้อนหนักที่สุด นอกจากการขาดแคลนอาหารแล้ว ในขณะนี้แรงงานหญิงหลายรายกำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอด และบางรายป่วยด้วยโรคประจำตัวต่างๆ และต้องการการรักษาพยาบาล นอกจากนั้นแรงงานประมงและแรงงานนวดก็อยู่ในภาวะที่ไม่มีงานทำเช่นเดียวกัน 

ย่านเปอตาลิงสตรีท ใกล้สถานีรถไฟฟ้าปะซาเซนี ถือกันว่าเป็น "ไชน่าทาวน์" ของกัวลาลัมเปอร์ ปี 2557 แฟ้มภาพ ประชาไท

 

รายงานจึงระบุข้อเสนอต่อการช่วยเหลือ กรณีเดินทางกลับ ต่อรัฐบาลไทย จังหวัดที่เป็นช่องทางเข้าประเทศจะต้องมีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคอย่างเข้มงวด หากผู้ผ่านแดนรายใดมีความเสี่ยงมากหรือมีอาการเข้าข่ายก็ต้องกักกันเพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน ในสถานที่ที่จังหวัดดังกล่าวเห็นเหมาะสม หรือส่งตัวให้จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยดำเนินการต่อไป

กรณีประสงค์อยู่ต่อไปในมาเลเซีย นั้น กลุ่มร้านต้มยำ ช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบข้อมูล ประสานงาน และกระจายความช่วยเหลือที่ทั่วถึงแก่แรงงานไทยที่เดือดร้อน ขณะที่รัฐบาลไทย ต้องประสานระดับรัฐต่อรัฐกับมาเลเซียในการช่วยเหลือคนไทยในที่ตกค้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในมาเลเซียจนกว่าวิกฤติ COVID-19 จะผ่านพ้น

โดยรายละเอียดของรายงานฉบับดังกล่าว มีดังนี้ 

รายงานฉบับที่ 1 สถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการสัญจร (MCO)

 

โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.)

ความเป็นมา

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีคนไทยเดินทางไปทำงานหาเลี้ยงชีพเป็นแรงงานระดับล่างอยู่เป็นจำนวนมากนับแสนคน แรงงานไทยในมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายมลายูจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) แรงงานเหล่านี้ทำงานในร้านอาหารไทย ประเภทอาหารตามสั่งที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “ร้านต้มยำ” ที่มีคนไทยเชื้อสายมลายูเช่นเดียวกันเป็นเจ้าของกิจการ นอกจากนั้นก็ยังมีแรงงานทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ และคนไทยพุทธจากภาคอื่นๆ ที่มาทำงานในภาคเกษตร เช่น เป็นลูกเรือประมงหรือลูกจ้างในอุตสาหกรรมการประมง คนงานสวนยาง สวนปาล์ม และไร่ข้าวโพด และจำนวนไม่น้อยทำงานในภาคบริการ เช่น การนวด งานแม่บ้านหรือคนรับใช้

ส่วนใหญ่แล้วแรงงงานไทยในมาเลเซียมักไม่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย โดยมีเพียงหนังสือเดินทาง (passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (border pass) เท่านั้น ทำให้พวกเขาต้องดำรงชีวิตแบบหลบๆซ่อนๆ จากการตรวจตราของทางการมาเลเซียอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งหลายรายหนังสือเดินทางหรือหนังสือผ่านแดนที่มีก็ได้หมดอายุไปนานแล้ว

ปัญหาความเดือดร้อน

จากการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศมาเลเซีย ทำให้รัฐบาลมาเลเซียมีมาตรการควบคุมการสัญจร (Movement Control Order - MCO) ของประชาชนอย่างเข้มงวดและปิดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มาตรการนี้ได้ส่งผลให้กิจการที่เป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานไทย โดยเฉพาะกิจการร้านต้มยำจำนวนมากต้องปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด มีร้านเพียงส่วนน้อยซึ่งมีใบอนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกกฎหมายเท่านั้นที่สามารถปิดขายแบบห่อกลับบ้าน (take-out) ตามเวลาที่รัฐกำหนด 

สถานการณ์นี้ทำให้ลูกจ้างแรงงานในร้านต้มยำไม่มีงาน ไม่มีรายได้ เงินหมด และเริ่มขาดแคลนอาหาร  ขณะที่ระยะเวลาการระบาดของโรคและมาตรการควบคุมการสัญจรที่ยืดเยื้อ ทำให้เจ้าของร้านหรือ “เถ้าแก่” เริ่มหมดกำลังในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องในร้านของตน โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กๆ แรงงานบางรายบอกว่า ต้องกินข้าววันละมื้อและต้องอยู่ในที่พักตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่า แรงงานต้มยำเป็นกลุ่มคนไทยในมาเลเซียที่ประสบกับเดือดร้อนหนักที่สุด นอกจากการขาดแคลนอาหารแล้ว ในขณะนี้แรงงานหญิงหลายรายกำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอด และบางรายป่วยด้วยโรคประจำตัวต่างๆ และต้องการการรักษาพยาบาล นอกจากนั้นแรงงานประมงและแรงงานนวดก็อยู่ในภาวะที่ไม่มีงานทำเช่นเดียวกัน 

ทางเลือกที่จำกัดของแรงงานไทย

จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว  แรงงานไทยในมาเลเซียมีทางเลือกที่จำกัดอยู่ใน 2 แบบคือ

แบบแรก คือ การพยายามหาทางกลับประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด:  แรงงานที่เลือกทางนี้มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่ดูจะยืดเยื้อยาวนานของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการ MCO  และพวกเขาเห็นว่าการกลับบ้านอย่างน้อยก็มีความอุ่นใจกว่า 

ทั้งนี้ แม้มาเลเซียอนุญาตให้คนต่างชาติสามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้ แต่การเดินทางจากรัฐหรือเมืองที่แรงงานอาศัยอยู่มายังด่านพรมแดนไทย-มาเลเซียนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากทางการมาเลเซียห้ามการเดินทางข้ามรัฐ แรงงานบางกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียสกัดระหว่างทางและไม่สามารถเดินทางมาถึงด่านพรมแดนได้ ขณะที่ตอนนี้ทางการไทยเปิดให้คนไทยข้ามแดนกลับมาจากมาเลเซียได้ โดยคนไทยสามารถข้ามแดนผ่านทาง 4 ด่าน คือ ท่าเรือตำมะลัง (จ.สตูล) วังประจัน (จ.สตูล) สะเดา (จ.สงขลา) และ สุไหงโก-ลก (จ.นราธิวาส) โดยมีข้อกำหนดว่าผู้จะผ่านแดนต้องมีเอกสารสองอย่างคือ  (1) ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง โดยในใบรับรองแพทย์ต้องระบุข้อความ “Fit to Travel”  ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงในขณะเดินทางผ่านแดน และ (2)  หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ หากไม่มีเอกสารทั้งสองก็จะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้

แบบที่สอง คือ การอยู่ต่อในประเทศมาเลเซียเพื่อรอให้ภาวะวิกฤติผ่านพ้นไป:  แรงงานไทยกลุ่มนี้ยืนยันที่จะอยู่ต่อไปในประเทศมาเลเซียจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แม้ความเป็นอยู่จะลำบากและเริ่มขาดเสบียงอาหารแล้วก็ตาม โดยพวกเขาจะทำตามข้อกำหนด MCO และการป้องกันเชื้อโรคตามที่ทางการมาเลเซียกำหนดอย่างเคร่งครัด

สำหรับแรงงานกลุ่มนี้การหาใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองจากเอกสารสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อการข้ามแดนนั้น เป็นเรื่องเกินกำลังและเกินทุนในเข้าถึงของพวกเขา (คลินิกที่ออกในรับรองแพทย์ได้ มีอยู่แค่ไม่กี่แห่งในกัวลาลัมเปอร์และยะโฮร์เท่านั้น)  อีกทั้งในตอนนี้จังหวัดชายแดนใต้คือพื้นที่สีแดงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นกันกับประเทศมาเลเซีย การเดินทางเคลื่อนย้ายก็คือการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส อีกทั้งเมื่อเดินทางมายังฝั่งไทยก็อาจต้องโดนกักตัว 14 วันในสถานที่ที่ทางการจัดไว้ ขณะที่แรงงานบางรายเกรงว่าหากกลับประเทศไทยจะสูญเสียงานไปตลอดและไม่สามารถกลับเข้ามาในมาเลเซียได้อีก

การช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ และปัญหาอุปสรรค

กรณีเดินทางกลับประเทศไทย ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องข้อปฏิบัติเพื่อให้สามารถข้ามแดนได้ รวมทั้งข้อมูลการเปิดปิดด่าน และวิธีการเดินต่อไปยังจังหวัดภูมิลำเนาภายใต้สถานการณ์ที่แต่ละจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต่างมีการประกาศปิดจังหวัดและห้ามการเดินทางสัญจรข้ามจังหวัด นอกจากนั้น ในกลุ่มคนไทยได้มีการช่วยเหลือกันภายในการจัดหาใบรับรองแพทย์ หรือช่วยเหลือแบ่งปันกันใช้เครื่องมือออนไลน์ในขอหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ รวมทั้งการมีเครือข่ายรถบัสหรือรถตู้ในการขนคนจากรัฐต่างๆ ในมาเลเซียมายังด่านพรมแดน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเสียค่าบริการต่างๆ ด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้สำหรับแรงงานที่จะเดินทางกลับก็คือ บางรายหนังสือเดินทางหมดอายุ (เรียกว่า “พาสปอร์ตตาย” ) โดยเฉพาะที่หมดอายุมานานหลายเดือนแล้ว แรงงานเหล่านี้ไม่มีความมั่นใจว่าต้องทำออย่างไร มีบางรายที่มาเลเซียให้เดินทางกลับไทยได้แต่ แต่ก็ถูกประทับตราว่าห้ามเข้าประเทศมาเลเซีย (ติดแบล็คลิสต์) ในระยะเวลาอย่างน้อยสองปี  อนึ่ง การติดแบล็คลิสต์เป็นสิ่งที่แรงงานไทยกลัวอย่างที่สุด 

กรณีประสงค์จะอยู่ต่อในมาเลเซีย ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตฯ มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับอาสาสมัครแจกจ่ายเสบียงอาหารให้แก่คนไทยที่สมัครใจอยู่ต่อ ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้บางส่วนก็คือผู้นำกลุ่ม/ชมรมร้านอาหารไทยในรัฐต่างๆ นั่นเอง ทั้งนี้ ในช่วง MCO ทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้ประชาชนหรือ NGOs ดำเนินการแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของบริจาคได้เอง โดยต้องดำเนินการผ่านทางรัฐหรือสถานเอกอัครราชทูตฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี  การช่วยจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และอาสาสมัครก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยมีสาเหตุหลัก คือ การขาดฐานข้อมูลที่เป็นระบบในเรื่องจำนวนแรงงานผู้เดือดร้อนว่ามีใครบ้าง อยู่ไหนกันบ้าง เดือดร้อนอะไร ต้องการความช่วยเหลือด้านไหน ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีรวมรวมข้อมูลอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ เพื่อที่จะนำไปวางแผนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระจายการช่วยเหลือไปยังผู้เดือดร้อนอย่างเร่งด่วนและอย่างทั่วถึง  

ขณะนี้คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.)  ได้จัดทำแบบฟอร์มการรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของแรงงานไทยในมาเลเซียที่ประสงค์จะอยู่ต่อ ในลิ้งค์ข้างล่างนี้

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfxgmVfhsNHQE9dFmiHkqy3xJ5YqEJ7OTzD4yz2j_Bud2ayLg/viewform?fbclid=IwAR1HiLV9EyZijiJGqtmejm6SA5ff_d7DxRhuVxgdz53zxxUt-HFRP5bGG_Y

ข้อเสนอต่อการช่วยเหลือ

กรณีเดินทางกลับ

ข้อเสนอนแนะต่อแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางกลับ: ขอให้เตรียมเอกสารที่ถูกต้องตามที่ทางการไทยและมาเลเซียกำหนด และต้องไม่เดินทางกลับด้วยวิธีการผิดกฎหมายหรือที่ผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และต้องไม่หลงเชื่อคนที่แอบอ้างวาจะพากลับไทยได้แบบลักลอบ การลักลอบเช่นนี้เสี่ยงสูง หากทำมีโอกาสสูงที่จะถูกจับกุมโดยทางการมาเลเซีย และอาจต้องติดคุก รวมทั้งเมื่อข้ามแดนมายังเขตไทยแล้วขอให้ร่วมมือในการตรวจคัดกรองเชื้อโรคและการกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการอย่างเคร่งครัด

ข้อเสนอแนะต่อทางการไทย:  จังหวัดที่เป็นช่องทางเข้าประเทศจะต้องมีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคอย่างเข้มงวด หากผู้ผ่านแดนรายใดมีความเสี่ยงมากหรือมีอาการเข้าข่ายก็ต้องกักกันเพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน ในสถานที่ที่จังหวัดดังกล่าวเห็นเหมาะสม หรือส่งตัวให้จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยดำเนินการต่อไป

กรณีประสงค์อยู่ต่อไปในมาเลเซีย 

แรงงานไทย: ขอให้กรอกข้อมูลตามลิงค์ข้างต้นเพื่อเข้าอยู่ในระบบของการให้ความช่วยเหลือ และปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเชื้อโรคและปฏิบัติตาม MCO มาเลเซียอย่างเคร่งครัด

ผู้นำกลุ่มร้านต้มยำ: ช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบข้อมูล ประสานงาน และกระจายความช่วยเหลือที่ทั่วถึงแก่แรงงานไทยที่เดือดร้อน

รัฐบาลไทย: ต้องประสานระดับรัฐต่อรัฐกับมาเลเซียในการช่วยเหลือคนไทยในที่ตกค้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในมาเลเซียจนกว่าวิกฤติ COVID-19 จะผ่านพ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท