ถึงเวลาหรือยังกับการการปฎิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐไทยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐไทยในปัจจุบันขาดประสิทธิภาพ ทั้งการสั่งการของรัฐบาลส่วนกลางแบบรวมศูนย์ หรือสั่งการภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดฯ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด–19 ได้ จนกระทั่งจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดอุทัยธานีต้องออกประกาศ ปิดจังหวัดของตนเอง สวนทางกับส่วนกลาง ทำให้หลายๆจังหวัดเอาอย่าง จนกระทั่งกรุงเทพมหานคร ก็ต้องประกาศปิดกทม.ตามไปด้วย ทำให้เกิดการส่งออกประชาชนออกไปสู่ต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อการขยายตัวของเชื้อไวรัสโควิด–19 ออกไปต่างจังหวัดทั่วประเทศร่วม 52 จังหวัด จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกพ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น นอกจากนี้เหตการณ์แพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น ก็เกิดจากการผ่าฝืนคำสั่งรัฐในการจัดการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินี อันเป็นลักษณะปกติของรัฐที่มีโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐแบบไทยเราที่เกิดขึ้นบ่อยๆ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19ครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นชัดเจนต่อความล้มเหลวของการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐไทยในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดว่า ประเทศไทยเราถึงเวลาแล้วยัง ที่จะร่วมกันทำการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐไทยเสียใหม่ โดยกำหนดรูปแบบ โครงสร้างอำนาจรัฐที่สมดุลและสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางขึ้นเสียที

ผู้เขียนได้มองย้อนกลับไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงอุปสรรคในสมัยนั้นคือขุนนางและการจัดโครงสร้างอำนาจแบบรัฐจารีตนั้น เอื้อต่อขุนนางและเจ้าประเทศราชมากกว่าพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงจัดโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ขึ้น และใช้”ข้าราชการ”มาเป็นตัวถ่วงดุลและคานกับขุนนาง และนำโครงสร้างอำนาจรัฐแบบประเทศฝรั่งเศสมาใช้ โดยจัดตั้ง”มณฑลเทศาภิบาล”ขึ้น เพื่อเป็น”ส่วนภูมิภาค” อันเป็นตัวแทนของ”ส่วนกลาง”ในการกำกับดูแล”ส่วรท้องถิ่น” ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอย่างมาก แต่สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้เขียน เห็นว่า ปัจจุบัน“ข้าราชการ” กลับเป็นอุปสรรคอย่างมากในการโครงสร้างอำนาจรัฐปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานส่วนภูมิภาค เนื่องจากการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศุนย์นั้น เหมาะสมกับการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจาก ศูนย์กลางคือพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันต้องจัดโครงสร้างอำนาจรัฐแบบประชาธิปไตย นั่นคือศูนย์กลางคือประชาชน แต่การจัดโครงสร้างอำนาจรัฐปัจจุบันยังเป็นรัฐรวมศูนย์แบบเดิม ที่ไปรวมศูนย์ที่ “รัฐราชการ” อันถือว่า ขัดต่อหลักการกระจายอำนาจ และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน อันถือเป็นหลักสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามหลักการประชาชนเป็นใหญ่ จึงทำให้ประเทศไทยจึงยังวนเวียนอยู่กับวงจรอุบากว์ระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งของประชาชนกับรัฐบาลจากการรัฐประหาร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐไทย โดยกำหนดรูปแบบโครงสร้างอำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ที่สมดุลและสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ผู้เขียน เห็นด้วยกับข้อเสนอ ชัยอนันต์ สมุทวณิช(2538,หน้า 136)ในการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจรัฐไทยเป็นการประสาน 3 ส่วนดังนี้

1.การปรับโครงสร้างใหญ่ของกลไกระดับกระทรวงและกรม

2.การปรับโครงสร้างใหม่ โดยปรับจากกลไกอำนาจรัฐ จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างการบริหารการเมือง คือมีผลกระทบต่อการจัดระบบคณะรัฐมนตรีใหม่

3.การกำหนดให้การกระจายอำนาจและการจัดการแบบเครือข่ายเป็นมาตรฐานสำคัญในการปฎิบัติงานของโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะมีการจัดกลุ่มเล็กลงที่สอดคล้องกันและประสานสัมพันธ์ไม่เฉพาะระหว่างกันเอง แต่กับภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วย

ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอการจัดรูปแบบโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง จัดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังคงกำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐเป็น 3 ส่วนส่วนกลาง,ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นดังนี้

1.โครงสร้างภายนอก

ยังคงสภาพโครงสร้างอำนาจรัฐระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ในระบบบัญชีรายชื่อ ตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 แต่มีสภาเดียวคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมาการเลือกตั้งจากประชาชน และต้องเป็นพลเรือนเท่านั้น แบ่งส่วนราชการเป็น 3 ส่วน ส่วนกลาง,ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

2.โครงสร้างภายใน

2.1.ส่วนกลาง บริหารผ่านกระทรวง ทบวงกรมเช่นเดิม ฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งจากระบบบัญชีรายชื่อ ตามแบบรัฐธรรมนูญ 2540 และเพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีประจำมณฑลขึ้นมาอีกตำแหน่ง ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติให้เป็นระบบสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร

2.2.ส่วนภูมิภาค ยกเลิกส่วนภูมิภาคที่เป็นจังหวัด อำเภอออก ปรับกลุ่มจังหวัด 9 กลุ่มจังหวัดเดิม เป็น“มณฑล” ตามแบบประเทศฝรั่งเศสและพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ฝ่ายบริหารให้ มี “รัฐมนตรีมณฑล” ทำหน้าที่หัวหน้า เพื่อให้เป็นตัวเชื่อมระหว่างส่วนกลาง(รัฐบาล)กับส่วนท้องถิ่น(เขตหรือจังหวัดเดิม) ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ ให้นายกอบจ.เดิมของจังหวัดหรือนายกเขต ภายในมณฑลมาทำหน้าที่นิติบัญญัติโดยตำแหน่ง มีหน้าที่ออกกฎหมายและอนุมัติงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่น ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทำงานสอดคล้องกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจาก ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค(มณฑล)และท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงกับประชาชนทุกส่วนเพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้นโยบายจากบนสู่ล่าง และจากล่างสู่บน มีความสอดคล้องกันอย่างสมดุล ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย

2.3.ส่วนท้องถิ่น มี องค์กรบริหารเขต(จังหวัดเดิม), เทศบาลและ กทม.

2.3.1.องค์การบริหารเขต(จังหวัดเดิม) ฝ่ายบริหาร นายก อบข. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนฝ่ายนิติบัญัติมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมตามจำนวนที่กำหนด โดยมาจากการเลือกตั้งกันเองของนายกเทศบาลในเขต (จังหวัดเดิม) 

2.3.2.เทศบาล ฝ่ายบริหารนายกเทศบาล มาจากเลือกตั้งโดยตรง และฝ่ายนิติบัญัติก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเช่นกัน

2.3.3.กรุงเทพมหานคร เป็นเขตการปกครองพิเศษ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาจากผู้บริหารแต่ละเขตภายใน กทม. มาเป็นโดยตำแหน่ง และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด

ข้อเสนอนี้อาจเป็นเพียงแนวทางนำเสนอคร่าวๆ แต่ส่วนการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่คงจะต้องเกิดจากเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนไทยทั่วประเทศต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท