จาตุรนต์ ฉายแสง: จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ ต้อง”เปลี่ยนแปลง”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ลดการเดินทางและขอให้คนอยู่บ้านมาอาทิตย์กว่าๆ เริ่มมีคำถามว่าเราจะต้องอยู่อย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน เมื่อครบกำหนด 30 เมษาแล้ว การแพร่ระบาดจะลดน้อยหรือไม่
เราจะกลับสู่สภาพปรกติหรือจะต้องเจอกับมาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิม สภาพการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ตัวเลขวันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 136 คน เป็น1,524 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 9.7 % ต่อวัน ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มด้วยอัตราประมาณ 10 % ในแต่ละวันอย่างนี้ ด้วยการคำนวณอย่างคร่าวๆ

•อีก 1 สัปดาห์จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 3,000 คน

•และถึงวันที่ 30 เมษายน เราอาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 29,000 คน

หวังว่ามาตรการที่ใช้ในหลายวันมานี้และที่จะทำเพิ่มจะมีผลให้ตัวเลขไม่สูงอย่างที่คำนวณ

ถ้าตัวเลขสูงไปถึงขั้นนั้นจริง ระหว่างทางจะเจออะไรและถ้าหลังจากนั้นการแพร่ระบาดจะยิ่งมากขึ้นและเร็วขึ้น ระบบสาธาณสุขที่ขาดแคลนทุกอย่างอยู่แล้วในวันนี้จะไม่มีทางรับมือได้เลย

ก่อนหน้านี้ผมได้เสนอว่าต้องใช้เวลา 36 วันระหว่างใช้มาตรการชะลอการแพร่ระบาดนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยจัดการกับเรื่องสำคัญๆเสียใหม่ ดูเหมือนไม่สามารถสื่อสารไปถึงรัฐบาลได้

“แล้วเรายังมีทางที่จะหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่เลวร้ายนี้หรือไม่???”

ในความเห็นผมคิดว่ายังมีเรายังมีทางที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ แต่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์กันใหม่(ถ้าถือว่าปัจจุบันมียุทธศาสตร์แล้ว) วางระบบวางแผนจัดการกับโควิด19ในด้านที่สำคัญๆในแบบที่แตกต่างจากปัจจุบัน หาจุดผลิกผันหรือตัวเปลี่ยนเกม(Game Changers)ให้ได้และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

ถ้าศึกษาจากคำแนะนำของ WHO และบทเรียนจากประเทศต่างๆ แล้วมาดูสภาพการณ์ของประเทศไทย เรื่องหนึ่งที่ประเทศที่คุมสถานการณ์ได้ดีทำตั้งแต่เนิ่นๆคือการห้ามชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศ เรื่องนี้เราทำช้าไปมากและขณะนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นแล้ว

ผมคิดว่ามี 4 เรื่องใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ !!!

1. รณรงค์สร้างความรู้เข้าใจให้เกิดความตระหนักและการปฏิบัติที่จริงจังในการวางระยะห่างทางสังคม(social distancing) ให้มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติตามเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลังจากกทม.ปิดสถานที่ต่างๆเพื่อไม่ให้คนมาอยู่ด้วยกันมากๆ ผลกลายเป็นคนออกต่างจังหวัดและมีการติดเชื้อมากขึ้น ภาพคนไปเข้าคิวรอติดต่อธนาคารตามมาตรการ"เราไม่ทิ้งกัน” การหิ้วตัวผู้อยู่ระหว่างการกักตัวขึ้นเครื่องไปกักขังในโรงพัก เหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเรื่องการจัดระยะห่างทั้งของทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน การที่คนอยู่บ้านมากขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการจัดระยะห่างยังมีคนปฏิบัติกันไม่มากพอ

2. วางระบบการกักตัวที่มีประสิทธิภาพและมีขนาด”มหึมา” อาศัยบุคลากรเป็นแสนๆทั่วประเทศ เน้นการสอบสวนโรค สืบหาผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ จัดหาสถานที่สำหรับกักตัวผู้ที่ไม่สามารถกักตัวเองที่บ้าน มีการติดต่อเยี่ยมเยียนแนะนำผู้อยู่ระหว่างกักตัว คัดเลือกผู้ที่ควรตรวจ (Testing) และรักษาโดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าในระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์

ประเทศที่ประสบความสำเร็จให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งนั้น

ที่ผ่านมาการกักตัวเป็นจุดอ่อนมากโดยเฉพาะผู้ที่มาจากต่างประเทศเกือบจะไม่มีการกักตัวเลย เมื่อมีการแพร่ระบาดในประเทศก็จะเห็นประกาศเตือนผู้ที่เข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงต่างๆ แต่ไม่มีระบบติดตามรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

แต่ก็มีหลายพื้นที่เกิดสิ่งที่ดีๆขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีกรณีพบผู้ป่วยคนหนึ่ง ก็สืบหาผู้เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้ออย่างจริงจังจนได้รายชื่อหลายร้อยคน แล้ววางระบบติดต่อและส่งบุคลากรไปเยี่ยมทุกวัน มีอาการผิดปรกติก็รีบส่งตรวจทันที บางจังหวัดมีการล็อคดาวน์หมู่บ้าน ใช้เจ้าหน้าที่เป็นร้อยส่งข้าวส่งน้ำดูแลจนกว่จะยกเลิกมาตรการ ในต่างจังหวัดมีความพร้อมที่จะวางระบบอย่างนี้ ถ้าใช้คนหมู่บ้านละ 5-6 คนก็คือใช้คน 400,000 คนแล้ว ในกทม.และชุมชนเมืองก็อาจจะยากกว่า นอกจากบุคลากรที่มีอยู่แล้วและคงต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมากมาคอยติดต่อทางออนไลน์กับผู้ถูกกักตัว

ในบางประเทศเวลาประกาศหาอาสาสมัครมีคนสมัครเป็นล้านคน

ที่ผมใช้คำว่า “มหึมา” ก็คืออย่างนี้

ระบบแบบนี้ใช้บุคลากรทางการแพทย์น้อยมาก แต่ลดผู้ป่วยไปสู่หมอได้มาก

3. ตั้งเป้าหมายเพิ่มการตรวจ(Testing)ผู้ที่ควรตรวจให้ได้จำนวนมากและเร็วใกล้เคียงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่นกี่แสนครั้งภายในวันที่ 30 เมษายนนี้

เช่นเดียวกันกับเรื่องการกักตัว ประเทศที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย ให้ความสำคัญอย่างมากกับการตรวจ(Testing) ซึ่งเชื่อมโยงกับ การหาผู้ต้องสงสัยและผู้ติดเชื้อเพื่อเข้าสู่ระบบการคัดกรองและรักษา

ของไทยเราขาดน้ำยาที่ใช้ในห้องแล็บมาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน แต่ขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีและมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหานี้เพราะมีการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งในต่างประเทศเช่นที่ FDA เพิ่งรับรองและของไทยเองเช่นที่จุฬาฯก็เพิ่งส่งเครื่องตรวจโควิด19 จำนวน 1 แสนเครื่องถึงมือนายกฯแล้วเป็นต้น หากพยายามหาทางนำเข้าและส่งเสริมให้พัฒนาและผลิตเพิ่มในส่วนที่ทำเองได้อย่างจริงจังก็จะสามารถเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ได้

4. การจัดหาโรงพยาบาล ห้อง เตียง อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ มีการวางระบบของประประเทศ มีศูนย์อำนวยการ รู้สภาพความต้องการในปัจจุบันและประเมินล่วงหน้า โดยตั้งเป้าหมายในทางปริมาณที่ชัดเจนและสนับสนุนงบประมาณให้ทุกส่วนอย่างไม่จำกัด

ถ้าติดตามสถานการณ์โควิด19 ในต่างประเทศก็จะเห็นความน่าอเน็จอนาถของการขาดอาคารสถานที่เครื่องมืออุปกรณ์ ขณะนี่หลายฝ่ายก็พยายามหาทางช่วยแก้ปัญหานี้ แต่ไม่ควรปล่อยให้แต่ละส่วนแต่ละฝ่ายต้องดิ้นรนแก้ปัญหากันไปทั้งๆที่ไม่มีอำนาจสั่งการและงบประมาณ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการวางระบบ มีศูนย์กลางในการวางแผนและอำนวยการ ประเทศไทยจะต้องนำเข้าอะไร ผลิตอะไรเองได้ จะต้องสั่งให้มีการผลิตอะไรหรือเปลี่ยนจากที่ทำอยู่มาผลิตอะไร

หากมีการกำหนดยุทธศาสตร์เสียใหม่ใน 4 เรื่องดังกล่าว เรายังจะเปลี่ยนเกมได้ หลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ การจจะเปลี่ยนเกมได้มีเงื่อนไขที่จะต้องทำงานแตกต่างจากที่เป็นอยู่คือ

1. การรู้จักคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย

2.การมียุทธศาตร์ที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรคือตัวเปลี่ยนเกม

3. การวางระบบและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

4. ขนาด ปริมาณ และความครอบคลุมของมาตรการที่สอดคล้องกับขนาดของปัญหา

ที่เสนอมาทั้งหมดนี้ ที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ “ต้องเปลี่ยนแปลง” ครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท