Skip to main content
sharethis

3 เม.ย. 2563  'เชียงใหม่' ไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม ยังสะสมที่ 36 ราย - เตรียมแผนหากเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 จะใช้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเป็น รพ. สนาม รองรับผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการได้ 3,000 คน | ศูนย์การแพทย์และ รพ.มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดให้บริการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 | รพ.ปัว จ.น่าน ชี้แจงผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวตรวจไม่พบโรคติดเชื้อ COVID-19 | สรรพสามิต 'แม่ฮ่องสอน' เตือนอย่านำสุรากลั่นชุมชนมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น

จ.เชียงใหม่ เตรียมใช้พื้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา เป็นโรงพยาบาลสนามในการรองรับผู้ป่วย COVID-19 กลุ่มที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งจากการประเมินน่าจะรองรับได้ประมาณ 3 พันคน | ที่มาภาพ: wikipedia.org

3 เม.ย. 2563 ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจ จังหวัดเชียงใหม่ (ศ.ข.ฉ.ก.) ได้แถลงข่าวสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่ 3 เม.ย. 2563 เพื่อแจ้งข้อมูลความคืบหน้าของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไลฟ์สดผ่านเพจข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่

แพทย์หญิงลดาวรรณ หาญไพโรจน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยว่าสำหรับสถานการณ์โรค COVID-19 ในวันที่ 3 เม.ย. 2563 จังหวัดเชียงใหม่ไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID – 19 เพิ่ม มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม ทั้งหมด 36 ราย กลับบ้านเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 6 ราย ปัจจุบันยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 30 ราย และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค มียอดสะสม 696 ราย ตรวจไม่พบเชื้อและกลับบ้านแล้ว 635 ราย ยังคงเฝ้าสังเกตอาการอยู่ในโรงพยาบาล 52 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรค จำนวน 1,140 ราย กักตัวครบ 14 วันแล้ว 832 ราย ผู้กักตัวอยู่ที่บ้าน 268 ราย อยู่ในสถานที่ที่จังหวัดจัดรองรับ 14 ราย และอยู่ระหว่างการติดตามตัว 26 ราย สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะนี้มียอดรวม 7,721 ราย กักตัวครบ 14 วันแล้ว 709 ราย และ 7,012 ราย กักตัวอยู่ที่บ้านโดยมีการติดตามโดยเครือข่ายสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อในแต่ละอำเภออย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก Social Distancing ในการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการสัมผัสทางกาย หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านหรือการใช้ขนส่งสาธารณะ และการทำงานที่บ้าน เพื่อลดและหยุดการแพร่กระจายของ COVID-19

เตรียมแผนหากเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 คาดสิ้นเดือน พ.ค. จะรองรับผู้ป่วยได้กว่า 2,000 คน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงความพร้อมของจังหวัดเชียงใหม่ในการรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หากเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยได้จัดเตรียมพื้นที่ในสถานพยาบาลเดิมรองรับผู้ป่วยกรณีที่มีการเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับได้ราว 500 คน 

ในส่วนของโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ปัจจุบันรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไว้จำนวน 10 คน และได้เตรียมปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นห้อง ICU รองรับผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักอีก 20 ห้อง งบประมาณ 12 ล้านบาท โดยทีมวิศวกรรมจากกระทรวงสาธารณสุข และทีมวิศวกรรมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาตรวจสอบทำการออกแบบเพื่อปรับปรุงโดยเฉพาะเรื่องของระบบการไหลเวียนอากาศ ให้เป็นห้องควบคุมโรคติดต่อเต็มรูปแบบ และจัดระบบการจัดการบุคลากรให้มีความปลอดภัยสูงสุดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ในการปรับปรุงและจะเปิดรับผู้ป่วยหนักได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2563

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้นทุกโรงพยาบาลพร้อมร่วมกันปฏิบัติงานเป็นหนึ่งเดียว โดยเชียงใหม่จะแบ่งการดูแลผู้ป่วยเป็นสามกลุ่ม คือถ้าอาการหนักมากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องอยู่ในหอผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความพร้อมในโรงพยาบาล ซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงห้อง ICU ควบคุมโรคติดต่อ เพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลประสาท รวม 93 เตียง ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 พ.ค. นี้ สำหรับกลุ่มอาการปานกลางโรงพยาบาลต่างๆ สามารถรองรับได้หลายแห่ง และกลุ่มที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หากเข้าสู่ระยะที่ 3 และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานกับกรมธนารักษ์ เพื่อขอใช้พื้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลสนามในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งจากการประเมินน่าจะรองรับได้ประมาณ 3 พันคน

ถึงแม้จะมีการเตรียมพร้อมเรื่องสถานที่รองรับ อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่หากเข้าสู่ระยะที่สามของการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่มาตรการที่สำคัญคือการป้องกันและลดความเสี่ยงประชาชนจากการสัมผัสเชื้อ  ด้วยการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จะช่วยทำให้ยอดผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นลดลงและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตลอดจนเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนักได้มากขึ้น

'เชียงราย' ติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ใช้มาตรการคุมเข้ม


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จังหวัดเชียงราย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ได้รายงานให้ทราบว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประจำวันที่ 2 เม.ย. 2563 มีการส่งตรวจหาเชื้อสะสม 134 ราย ไม่พบเชื้อ 125 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาล 12 ราย กลับบ้านแล้ว 99 ราย ให้มีการเฝ้าระวังที่บ้าน 23 ราย  และจังหวัดเชียงราย ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด 19 ยอดสะสมรวม 9 ราย ที่อำเภอแม่จัน 3 ราย อำเภอแม่สาย 3 ราย อำเภอเทิง 2 ราย และอำเภอเมืองเชียงราย 1 ราย สรุปผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์9 ราย และเข้ารักษาด้วยอาการอื่นๆ จำนวน 3 ราย  ซึ่งจังหวัดเชียงราย ออกมาตรการต่างๆ เพื่อดำเนินการลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนทุกคนป้องกันตนเองใช้หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ให้มีระยะห่างประมาณ 1-2 เมตร และไม่ไปสถานที่เสี่ยงที่มีคนแออัดเป็นจำนวนมากนอกจากนี้จังหวัดเชียงราย ทุกพื้นที่ร่วมกันตั้งด่านตรวจ จุดสกัด และคัดกรองบุคคลที่จะเข้าออกพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบการเดินทาง การจราจร รวมทั้งเฝ้าระวังบุคคลกลุ่มเสี่ยงด้วยการสังเกตลักษณะอาการเบื้องต้น พร้อมใช้มาตรการคุมเข้มตามกระบวนการสาธารณสุขกับผู้เดินทางเข้าพื้นที่ ถ้าพบผู้สงสัยเข้าเกณฑ์มีอาการไข้สูง มีลักษณะอาการทางเดินหายใจ จะต้องถูกดำเนินการแยกกัก และคุมตัวไว้สังเกตอาการเข้าบันทึกข้อมูลสอบสวนโรคเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคของจังหวัดเชียงราย

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของจังหวัดเชียงราย สรุปเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังส่งตรวจหาเชื้อสะสม 134 ราย ไม่พบเชื้อ 125 ราย ผู้ป่วยยืนยัน 9 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลทั้ง 9 ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิต

ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา เปิดให้บริการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19


ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดให้บริการรับคัดกรองและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดพะเยา โดยมีนายแพทย์ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา เป็นประธานในการดำเนินงาน สำหรับการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์การแพทย์ฯ และอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันประดิษฐ์ อุปกรณ์ด้านการช่วยเหลือคนไข้เบื้องต้น เช่น รถเข็นเปลหาม เก้าอี้วีลแชร์ ตลอดจนการปรับปรุงพื้นที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาทิ หอผู้ป่วยรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ห้องแยกโรคความดันลบ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัย พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยพะเยา โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เป็นตัวแทนรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หมู่วัว วปอ.59 จาก พลตำรวจเอก สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับมอบชุดกาวน์ เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย พร้อมส่งต่อให้กับศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา อีกทั้งยังได้รับบริจาค จากผู้ใจบุญต่าง ๆ และภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ บริจาคกล่องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อใช้ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นายแพทย์สรวิศ บุญญฐี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า เพื่อให้การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจังหวัดพะเยาสำเร็จนั้น จึงอยากรณรงค์ให้ประชาชนดูแลตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่บ้าน และปฏิบัติตนตามมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งข้อควรปฏิบัติเวลาที่อยู่ในบ้านและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรการหลักในเวลานี้ ที่จะช่วยให้เกิดการหยุดแพร่กระจายเชื้อ ตามหลักคิดสำคัญ “โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน” รวมไปถึงการแนะนำความแตกต่างของการแยกกันสังเกตตัวเอง และข้อควรปฏิบัติของการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการรับคัดกรองและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเตรียมความพร้อมด้านสถานที่รักษา สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนประมาณ 60 เตียง ที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลพะเยาและโรงพยาบาลเชียงคำในการดูแลประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา

'แพร่' เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับกรณีพบผู้ป่วย COVID-19 มากขึ้น

นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เปิดเผยว่า จังหวัดแพร่เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยคณะแพทย์ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแพร่พิจารณาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมีศักยภาพด้านบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 2 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลร้องกวาง จำนวน 20 เตียง เพื่อครอบคลุมผู้ป่วยที่อยู่พื้นที่อำเภอทางทิศเหนือของจังหวัด และโรงพยาบาลลองจำนวน 20 เตียง เพื่อครอบคลุมผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่อำเภอทางทิศใต้ของจังหวัด

สำหรับโรงพยาบาลแพร่ปัจจุบันได้จัดสรรเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ หรือโรคโคลิค 19 ไว้รองรับผู้ป่วยจำนวน 67 เตียง ทั้งนี้จังหวัดแพร่ได้ใช้มาตรการในการคัดกรองคนเข้าออกจังหวัดแพร่อย่างเข้มข้นจำนวน 3 แห่ง 3 มุมเมือง ครอบคลุมประชาชนที่จะเดินทางเข้าออกหรือผ่านจังหวัดแพร่ไว้อย่างรัดกุม ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ของจังหวัดแพร่จะไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ในการร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 อย่างจริงจัง และเคร่งครัดซึ่งมาตรการในการจัดตั้งการคัดกรองทั้ง 3 มุมเมืองนั้น การปิดเมืองอย่างไม่เป็นทางการผ่านกระบวนการคัดกรองประชาชนอย่างเข้มงวด โดยประชาชนต้องใส่ใจในการล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของ และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิค 19 คือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ให้ประชาชนงดการเดินทางออกนอกบ้านและหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก ถ้าและล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อจับสิ่งของนอกบ้าน งดงานเลี้ยงสังสรรค์ งดการสนทนาเป็นกลุ่มใหญ่ งดทานอาหารนอกบ้าน และที่สำคัญห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00 น. จนถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ขอให้ทุกคนปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินของประเทศไทยด้วย

รพ.ปัว จ.น่าน ชี้แจงผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวตรวจไม่พบโรคติดเชื้อ COVID-19

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ออกประกาศชี้แจงกรณีผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อไวรัส COVID-19 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563ขณะนี้ทางโรพยาบาลได้รับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวตรวจไม่พบเชื้อไวรัส COVID-19 แต่อย่างใด ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามและตรวจสอบข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โรงพยาบาลสมเด็จ
พระยุพราชปัว ได้นำข้อมูลข่าวสาร หรือการอัพเดทเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ เฟชบุ๊คโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว https://www.facebook.com/PCPHNAN/ หรือโทรศัพท์ 054-791-701-2

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จังหวัดน่าน ประจำวันศุกร์ ที่ 3 เม.ย. 2563 จากรายงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สานักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ดังนี้ ผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 0 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค จำนวน 38 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ จำนวน 36 ราย รอผลตรวจห้องปฏิบัติการตรวจ จำนวน 2 ราย

สรรพสามิตแม่ฮ่องสอนเตือนอย่านำสุรากลั่นชุมชนมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น

นายสุเมธ ฤทธิ์เจริญ สรรพสามิตพื้นที่แม่ฮ่องสอน เตือนประชาชนอย่านำสุรากลั่นชุมชนมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ เนื่องจากการผลิตสุรากลั่นชุมชน เป็นการผลิตสุราขาวที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น กรรมวิธีการผลิตโดยปกติจะกลั่นสุราได้ปริมาณแรงแอลกอฮอล์ไม่ถึง 70% แล้วนำมาผสมน้ำบริสุทธิ์ เพื่อให้ได้สุราขาว 28 ดีกรี, 30 ดีกรี, 35 ดีกรี หรือ 40 ดีกรี สำหรับเพื่อการบริโภค แต่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสําหรับมือ ที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือขาย ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 70 % โดยปริมาตร เพื่อให้ฆ่าเชื้อโรคได้ ดังนั้น หากประชาชนหรือผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสามารถนำสุรากลั่นชุมชน มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ความสะอาดหรือเจลทำความสะอาดมือได้ จะส่งผลเสียต่อประชาชนโดยตรง เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจจะส่งผลให้การแพร่กระจายเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานองค์การภาคเอกชน ที่มีความประสงค์จะขออนุญาตใช้สุราสามทับแปลงสภาพ (แอลกอฮอล์) เพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ทั้งที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิได้จำหน่ายหรือเพื่อจำหน่าย สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดโดยตรงได้ที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่ง ในวัน-เวลาราชการ, เว็บไซต์กรมสรรพสามิต www.excise.go.th หรือสายด่วน 1713 หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่แม่ฮ่องสอน เบอร์โทร  0 5361 3146-149

ที่มาเรียบเรียงจาก ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจของจังหวัดเชียงใหม่ | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] 






 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net