Skip to main content
sharethis

 

ที่มาภาพปก: ภาพกราฟฟิกดัดแปลงจาก Wikipedia/Kakidai

  • ญี่ปุ่นปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 2,384 ราย เสียชีวิตแล้ว 57 ราย หลัง 25 มีนาคม ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการแพร่ระบาดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • จุดแข็งของญี่ปุ่นคือรัฐบาลออกมาตรการแต่เนิ่น ๆ มีวัฒนธรรมรักสะอาดและปลีกตัวอยู่แล้วคอยช่วยเสริม
  • จุดอ่อนที่หลายฝ่ายกังวลคือญี่ปุ่นยังมีบริการตรวจโรคสำหรับผู้มีโอกาสติดเชื้อไม่มากพอ ทั้งที่มีขีดความสามารถที่จะตรวจได้ ตัวเลขผู้ป่วยจึงอาจไม่สะท้อนความเป็นจริง

สถานการณ์ญี่ปุ่นน่าเป็นห่วง

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าญี่ปุ่นพบการแพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อคนแรกในญี่ปุ่นเป็นผู้ถือสัญชาติจีนที่เดินทางกลับจากอู่ฮั่นมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดคางานาวะ ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่ 2 ที่มีการแพร่ระบาดนอกจีน ถัดจากประเทศไทยที่พบการแพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม หลังจากมีผู้ติดเชื้อรายแรกถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นรายงานล่าสุดในวันที่ 2 เมษายน 2563 ว่าญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,617 ราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 63 ราย

หากดูจากสถิติผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าในช่วงแรกของการระบาด ญี่ปุ่นมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นช้ามาก แต่หลังจากวันที่ 25 มีนาคมเป็นต้นมากลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนน่าตกใจ ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 5 มีนาคม มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเพียง 21 คน แต่วันที่ 28 มีนาคมกลับมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าถึง 162 คน โดยส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นในกรุงโตเกียว หากดูแผนภาพสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อจะพบว่าความชันของกราฟเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลัง แต่ถึงอย่างนั้นสถานการณ์ของญี่ปุ่นในภาพรวมก็ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าประเทศตะวันตกที่มีผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักหมื่นราย

แผนภาพโดยวิกิพีเดีย ประมวลข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น

จุดแข็ง: ออกมาตรการแต่เนิ่น ๆ + คนญี่ปุ่นรักสะอาด

อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของญี่ปุ่น? สำนักข่าวว็อกซ์วิเคราะห์ว่าจุดแข็งของญี่ปุ่นอยู่ที่การออกมาตรการสกัดการแพร่ระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่เข้มงวดนักก็ตาม ตัวอย่างเช่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการห้ามไม่ให้ผู้มีประวัติเคยเดินทางในจังหวัดหูเป่ยเข้าประเทศมาตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์  นอกจากนี้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังประกาศงดจัดคอนเสิร์ตและงานเทศกาลต่าง ๆ พร้อมทั้งสั่งให้ปิดสถานที่ท่องเที่ยวและโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ด้วย สำหรับกรณีของโรงเรียนนั้นล่าสุดมีรายงานว่าให้กลับมาทำการเรียนการสอนอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิหรือช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ในระหว่างนี้หากผู้ปกครองยังต้องไปทำงานก็ยังสามารถนำเด็กมาฝากไว้ที่โรงเรียนได้

นอกจากมาตรการเหล่านี้แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังใช้มาตรการตรวจหาผู้ที่พบปะกับผู้ติดเชื้อ (contract tracing) และตรวจแยกจุดการกระจุกตัวของผู้ติดเชื้อ (cluster) ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย รัฐบาลเริ่มตรวจผู้มีอาการเหมือนติดเชื้อโควิดมาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ แม้ว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะไม่เคยเดินทางไปจังหวัดหูเป่ย จากนั้นจึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจแยกกลุ่มการกระจุกตัวของผู้ติดเชื้อในทันที เมื่อได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ รัฐบาลกลางจะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงไปทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อตรวจหาผู้ที่เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อทันที หลายครั้งมาตรการเช่นนี้นำไปสู่การปิดสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับจุดการกระจุกตัวของผู้ติดเชื้อ มาตรการเหล่านี้ ซาโตะ อะคิฮิโร นักวิเคราะห์ข้อมูลและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโยโกฮามา คำนวณว่าช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้ถึงร้อยละ 50

แต่นอกจากจะเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดในญี่ปุ่นคือปัจจัยเสริมทางวัฒนธรรม เช่น คนญี่ปุ่นไม่จับมือกันเวลาทักทาย และเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรคนชราสูงที่สุดในโลก โดยคนกลุ่มนี้เสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลัง ระบบสาธารณสุขจึงมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาอาการปอดอักเสบอยู่แล้ว พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลให้เกิดอาการปอดอักเสบเหมือนกัน ประเทศญี่ปุ่นจึงมีความได้เปรียบในการรักษามากกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ คนชราส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นยังอาศัยอยู่โดดเดี่ยวจึงช่วยสกัดกั้นไม่ให้เชื้อกระจายตัวด้วย ทั้งที่ปกติแล้วเรื่องนี้เป็นสัญญาณน่าเป็นห่วง เพราะคนชราในญี่ปุ่นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก

ทว่าเคล็ดลับสำคัญของญี่ปุ่นดูเหมือนจะอยู่ที่ความรักสะอาดของประชาชน สำนักข่าวว็อกซ์อ้างถึงผลสำรวจในปี 2558 ระบุว่ามีคนญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่เข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอเมริกันที่เข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ ข้อมูลในปี 2561 ยังระบุว่าคนญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 53 ใส่หน้ากากเป็นประจำอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในปี 2017 ยังมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันด้วยว่าการใส่หน้ากากช่วยลดอัตราการติดเชื้อหวัดของญี่ปุ่นได้ถึงร้อยละ 8 เมื่อเกิดการแพร่กระจายของโควิด 19 ประชาชนจึงมีความพร้อมในการรับมือมากกว่า      

จุดอ่อน: ตรวจไม่ทั่วถึง เบาใจเกินไป ตัวเลขอาจไม่สะท้อนความจริง

แม้ว่าระบบการรับมือโรคระบาดของญี่ปุ่นจะมีจุดแข็งหลายอย่าง แต่ก็มีจุดอ่อนหลายอย่างเช่นกัน จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่สำนักข่าวว็อกอ้างอิงรายงานข่าวของญี่ปุ่นว่าหน้ากากอนามัยและยาฆ่าเชื้อยังคงขาดแคลนในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดนางาซากิรายงานว่าสถานพยาบาลกว่าร้อยละ 90 มีหน้ากากอนามัยและยาฆ่าเชื้อไม่เพียงพอ ส่วนโรงพยาบาลในจังหวัดฮอกไกโดมีการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้ที่มาโรงพยาบาลเพียงวันละ 1 ชิ้นเท่านั้น เพื่อประหยัดไว้ใช้ในยามคับขัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาในช่วงที่ผ่านมาคือคนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคระบาด ตัวอย่างเช่น​ คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงเข้าร่วมเทศกาลชมดอกซากุระบานอยู่ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะไม่มีการจัดงานสังสรรค์รื่นเริง แต่การที่คนเดินรวมตัวกันครั้งละมากๆ ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคระบาดได้ นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นกว่า 6,500 รายยังไปรวมตัวกันที่งานอีเวนท์ศิลปะการต่อสู้ที่จังหวัดไซตามะ และต่อมาพบว่ามีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งมีอาการไข้สูงด้วย แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าผู้เข้าร่วมคนดังกล่าวติดเชื้อโควิดหรือไม่    

อย่างไรก็ตาม​ หนึ่งในประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดเกณฑ์ของผู้มีสิทธิได้รับการตรวจเชื้อเอาไว้เข้มงวดมาก กล่าวคือ หากไม่ใช่ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อมาก่อน ผู้มีสิทธิได้รับการตรวจจะต้องมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 4 วันแล้วเท่านั้นถึงจะสามารถเข้ารับการตรวจได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ หากตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อจึงค่อยมีการติดตามว่าผู้ป่วยพบปะกับใครบ้างเพื่อนำไปสู่ตรวจหาผู้ที่อาจติดเชื้อต่อไป เหตุที่กำหนดเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับการตรวจเอาไว้เข้มงวดเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่าเพื่อประหยัดทรัพยากรทางการแพทย์ไว้ใช้ในยามจำเป็น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นมีความสามารถในการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับนำมาใช้จริงเพียง 1 ใน 6 ของขีดความสามารถทั้งหมดเท่านั้น โดยแพทย์ได้ดำเนินการตรวจผู้มีโอกาสติดเชื้อทั้งหมด 32,000 ครั้ง แต่มีผู้ได้รับการตรวจจริงเพียง 16,484 ราย เพราะบางคนตรวจซ้ำหลายครั้ง เมื่อวันพุธที่แล้ว สำนักข่าว NHK ได้รายงานข้อมูลของสมาคมการแพทย์ญี่ปุ่น ระบุว่ามีกรณีที่หมอยื่นคำร้องขอตรวจโควิดให้แก่คนไข้ แต่ถูกสถานพยาบาลปัดตกกว่า 290 กรณี ผลที่ตามมาคือหลายคนที่มีโอกาสติดเชื้ออาจไม่ได้รับการตรวจอย่างเหมาะสม และอาจทำให้ตัวเลขของทางการไม่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ ยาซุรุกิ ซะฮะระ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นระบุในงานแถลงข่าวว่า “เพียงเพราะเรามีขีดความสามารถ ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องใช้ขีดความสามารถนั้นทั้งหมด” แต่แนวทางของญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามแนวทางของทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกที่แนะนำว่า “เราขอส่งสารที่เรียบง่ายไปยังทุกประเทศ: ตรวจ ตรวจ และตรวจ ตรวจทุกกรณีที่สงสัย” หลายฝ่ายกังวลว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วๆ นี้เพราะมาตรการของญี่ปุ่นยังผ่อนปรนเกินไป และยังขาดการตรวจโรคอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ซาโตะ อะคิฮิโรประเมินว่า หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 3,000-5,000 รายเมื่อไหร่ สถานพยาบาลในญี่ปุ่นจะเริ่มงานล้นมือและเผชิญกับความลำบาก

เศรษฐกิจญี่ปุ่นกระทบหนัก รัฐบาลช่วยครัวเรือนรายได้น้อย-ธุรกิจขนาดเล็กและปานกลาง

หลังจากญี่ปุ่นเริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ข้อมูลรายงานประจำเดือนมีนาคมของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ใน “สถานการณ์วิกฤติ”

สำนักข่าว Japan Times ตั้งข้อสังเกตุว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ไม่มีคำว่า “กำลังฟื้นฟู” อยู่ในรายงานแต่ละเดือนของรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐบาลใช้คำว่า “กำลังฟื้นฟู” มาตลอดตั้งแต่ปี 2556 และปรับการประเมินลงโดยเปลี่ยนไปใช้คำว่า “กำลังฟื้นฟูด้วยอัตราปานกลาง” ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน เศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดขนาดลงถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่รัฐบาลประกาศเพิ่มภาษีการขายขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์จนส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว และเกิดพายุไต้ฝุ่นฮาจิบิสเข้าถล่มญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษและสร้างความเสียหายกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  

แทนที่จะใช้คำว่า “กำลังฟื้นฟูด้วยอัตราปานกลาง” เหมือนที่ระบุในเดือนกุมภาพันธ์ รายงานของเดือนมีนาคมระบุว่า “เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ ซบเซาอย่างยิ่งเพราะโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่” เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเปิดเผยว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้อยู่ในระดับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 และเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ภูมิภาคโทโฮกุในปี 2554 เจ้าหน้าที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าวิกฤติระลอกนี้เป็นผลกระทบชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากไวรัสหรือไม่ จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อใดสถานการณ์ถึงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

โควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า “เดิมที เรามองเห็นแรงกดดันเชิงลบของโคโรน่าไวรัสต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่หลังช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาผลกระทบเกิดขึ้นในด้านอุปทานด้วย” สำหรับด้านอุปสงค์ ในรายงานของรัฐบาลระบุว่ามีการปรับภาพการประเมินสถานการณ์ของการบริโภคส่วนบุคคลในระดับต่ำลง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่เกิดเรื่องเช่นนี้ เนื่องจากโคโรนาไวรัสส่งผลให้เกิดการยกเลิกงานอีเวนท์ต่างๆ และประชาชนมีแนวโน้มออกมาข้างนอกน้อยลง

สำนักข่าว Financial Times รายงานว่าโรงภาพยนตร์มีรายได้ลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นิตยสาร the Diplomat ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นน้อยลงถึงร้อยละ 58 นับว่าต่ำรองจากเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554 เท่านั้น โดยในครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 62.5 เปอร์เซ็นต์ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในครั้งนี้ส่งผลให้สายการบินคาดการณ์ว่าจะต้องเตรียมสูญเสียรายได้กว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ยอดขายรถยนต์และห้างสรรพสินค้าลดลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ด้านอุปทานเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สาเหตุหลักเกิดมาจากการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจีนและภูมิภาคอื่นๆ ส่วนการลงทุนโดยภาครัฐ การนำเข้า และสถานการณ์การจ้างงานก็ไม่สู้ดีนัก มีแต่การส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการล้มละลายที่สถานการณ์ยังเหมือนเดิม หากเป็นเช่นนี้ต่อไป สำนักข่าวแจแปนไทม์ตั้งข้อสังเกตว่าในทางเทคนิคแล้วเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะถดถอยในอีกไม่นาน โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยหมายถึงการลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีติดต่อกันมากกว่า 2 ไตรมาสขึ้นไป

เพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาบ้างแล้ว นิตยสาร the Diplomat รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการฉุกเฉินด้วยการตั้งกองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและปานกลางในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 5 แสนล้านเยน ศูนย์บริการให้คำปรึกษาของรัฐบาลที่เพิ่งเปิดใหม่รายงานว่า ปลายสายกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากธุรกิจขนาดเล็กและปานกลางในภาคส่วนต่างๆ ที่เล่าว่ามีเงินสดเหลือใช้ได้อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น

หลังจากมาตรการในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการฉุกเฉินอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา โดยขยายการช่วยเหลือไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดด้วย เช่น ภาคการโรงแรมและการผลิต นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังช่วยเหลือภาคครัวเรือนด้วย โดยการลดรายจ่าย 4,100 เยนต่อวันให้กับผู้ปกครองพักงานเพื่อออกมาดูแลลูกในช่วงปิดเรียน และขอให้มีการเลื่อนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคออกไปเป็นเวลา 1 เดือนสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย ข้อเสนออื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาได้แก่การให้เงินสดหรือการลดหย่อนภาษีการขาย แต่รองนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซ ไม่คิดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net