Skip to main content
sharethis

'การบินไทย-สหภาพแรงงาน' บรรลุข้อตกลง พร้อมหนุนองค์กรก้าวข้ามวิกฤต

ผู้บริหารบินไทย-สหภาพแรงงานบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เผยคณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบข้อตกลงให้พนักงานมาทำงาน บางหน่วยงานปฏิบัติงานที่บ้านขึ้นกับประเภทของงาน ชี้สัญญาณดีทั้ง 2 ฝ่ายให้ความร่วมมือพร้อมใจเสียสละเพื่อรักษาการบินไทยให้ก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย นำโดยนายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานฯ ได้ขอเข้าพบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศบริษัทฯ ที่ 042/2563 เรื่อง บริษัทฯ หยุดทำการบินชั่วคราว และให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

โดยสาระสำคัญในข้อเรียกร้องที่เสนอ คือให้พนักงานยังคงปฏิบัติงาน และสมัครใจปรับลดเงินเดือนในอัตราที่ได้มีการตกลงร่วมกัน เพื่อช่วยบรรเทาภาระของบริษัทฯ และเพื่อให้การเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ เป็นไปตามขั้นตอนจึงให้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ โดยมี พลอากาศเอก ชาญยุทธ ศิริธรรมกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม

ทั้งนี้ การประชุมได้บรรลุข้อตกลงตามที่สหภาพแรงงานฯ เสนอ และได้นำข้อตกลงดังกล่าวเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ วาระพิเศษในวันนี้ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นชอบข้อตกลงให้พนักงานมาทำงาน ซึ่งบางหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) และบางหน่วยยังคงเดินทางมาปฏิบัติงานที่ทำงาน ขึ้นกับประเภทของงาน

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวด้วยว่า การบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สหภาพแรงงานฯ และฝ่ายบริหาร นับเป็นสัญญาณที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า สหภาพแรงงานฯ และพนักงานการบินไทย ให้ความร่วมมือและพร้อมใจเสียสละ เพื่อร่วมรักษาการบินไทย ให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 4/4/2563

ครม.อัดงบเพิ่ม 250 ล้านบาท จ้างแรงงานเกษตรกร

3 เม.ย. 2563 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งและสถานการณ์โรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ด้วยความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการจัดจ้างแรงงานเกษตรกร เพื่อให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ กรมชลประทาน ได้สนองนโยบายด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ โดยในรอบแรกมีแผนดำเนินการจ้างแรงงาน 4,247.55 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ประมาณ 81,538 คน ซึ่งได้เริ่มจ้างแรงงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ยอดสะสมจนถึงปัจจุบันจัดจ้างแรงงานไปแล้วทั่วประเทศ 10,773 คน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 250 ล้านบาท ให้กรมชลประทาน ดำเนินการจ้างแรงงานเกษตรกรเพิ่มเติมได้อีก 7,300 คน กรมชลประทาน จึงได้กำหนดแผนการจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถจ้างแรงงานได้เพิ่มขึ้นรวม 88,838 คน ในวงเงินทั้งสิ้น 4,497.59 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้วทั่วประเทศรวม 10,773 คน คิดเป็นร้อยละ 13 ของแผนฯ จังหวัดที่มีแผนการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 5,746 คน จังหวัดเชียงใหม่ 4,274 คน และจังหวัดบุรีรัมย์ 3,743 คน

สำหรับงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ที่ครม.ได้อนุมัติเพิ่มเติมให้อีก 250 ล้านบาท นั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินโครงการแจ้งแรงงาน ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ด้วยหวังว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อน ให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด หากเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถสมัครเข้ารับการจัดจ้างแรงงานกับกรมชลประทาน ได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460

ที่มา: สยามรัฐ, 3/4/2563 

สหภาพแรงงานธนชาตร้อง 'กมธ.-กระทรวงแรงงาน' หวั่นควบรวม 'ทีเอ็มบี' กระทบสภาพการจ้าง ห่วงพนักงานถูกลดสวัสดิการ

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพแรงงานจากธนาคารธนชาตได้เข้ามาร้องเรียนกรรมาธิการฯ ประเด็นข้อกังวลเรื่อง สภาพการจ้างงาน ว่าภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เข้ากับธนาคารธนชาตแล้ว จะต้องมีการโยกย้ายเปลี่ยนงานหรือสลับงานเกิดขึ้น โดยสหภาพฯ ต้องการให้ธนาคารสร้างความชัดเจนในเรื่องของสวัสดิการ เนื่องจากสวัสดิการเดิมของทั้ง 2 ธนาคารมีความแตกต่างกัน

“ทางสหภาพฯ ต้องการให้ธนาคารธนชาตชี้ให้ชัดเจน ว่าจะยึดสวัสดิการจากแห่งใด โดยสหภาพมองว่าตำแหน่ง-สวัสดิการของเดิม อาจจะดีกว่าของใหม่ หรือมีความแตกต่างกัน จึงต้องการให้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากที่ผ่านมา พนักงานเคยประสบปัญหาและเกิดความสับสนลักษณะนี้ เมื่อคราวการควบรวมระหว่างธนชาตและธนาคารนครหลวงไทยในอดีตมาแล้ว”

ทั้งนี้ ล่าสุดข้อร้องเรียนดังกล่าว ได้มีการเสนอไปที่กระทรวงแรงงาน และได้มีการเชิญฝ่ายทรัพยากรบุคคลของธนาคารธนชาต-ทีเอ็มบี มาร่วมพูดคุย พร้อมฝ่ายลูกจ้างแล้ว ซึ่งแบงก์ได้ชี้แจงว่าขั้นตอนกระบวนการโอนย้ายจะใช้เวลาภายใน 1 ปี และยืนยันจะปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการ เพื่อให้ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการจะนัดประชุมความคืบหน้าอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนหลังวันที่ 31 มี.ค.นี้

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ได้ทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว โดยได้พูดคุยจนมีข้อสรุปแล้ว ซึ่งสิ่งที่ตัวแทนสหภาพฯ เรียกร้อง เป็นเรื่องของสวัสดิการ โดยต้องการให้ธนาคารคงสวัสดิการแบบเดิมที่พนักงานเคยได้รับอยู่ ซึ่งธนาคารได้รับฟัง และเสนอทางเลือกให้สหภาพฯ และพนักงาน 2 ทางเลือก คือ จะเลือกใช้สวัสดิการเดิมที่เคยได้รับอยู่ หรือจะใช้สวัสดิการใหม่ที่ธนาคารจัดสรรก็ได้

“สำหรับสวัสดิการใหม่ ธนาคารขอยืนยันว่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสวัสดิการเก่าแน่นอน แต่ก็มีพนักงานบางส่วนต้องการใช้ หรือคงสวัสดิการเดิมที่ตนได้รับ ซึ่งธนาคารก็ไม่ได้บังคับ จึงให้ทางเลือกพนักงานสามารถเลือกได้ ตอนนี้ฝ่ายบุคคลคุยและเจรจาจบไปแล้ว” นายปิติกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 3/4/2563 

สหภาพพยาบาลวอนบรรจุตำแหน่งข้าราชการ 'โควตาพิเศษ' เป็นขวัญกำลังใจสู้ 'โควิด-19'

นางสาวมัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการขอโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษ สำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยจะมีการขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติม ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 45,242 ตำแหน่ง ว่า อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาบรรจุตำแหน่งข้าราชการในครั้งนี้ ให้กับกลุ่มพยาบาลทั่วประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้ยังตกค้างรอบรรจุอยู่ ประมาณ 3 หมื่นคน เพราะพยาบาลก็เป็นหนึ่งในทีมดูแลด่านหน้า ทำหน้าที่ซักประวัติและตรวจคัดกรองเบื้องต้น รวมถึงดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในหอพักรักษา ในขณะที่อุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ ทั้งหน้ากากอนามัยและชุด PPE ต้องประยุกต์เสื้อกันฝนมาใช้แทน

“สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งเพิ่มภาวะความกดดันให้กับพยาบาลทุกคน หากผู้บริหารไม่พิจารณาบรรจุตำแหน่งข้าราชการ อาจส่งผลต่อขวัญกำลังใจ และทำให้พยาบาลจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจลาออก ซึ่งแน่นอนว่าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ในช่วงที่โรคแพร่รระบาดหนักเช่นนี้ิ" นางสาวมัลลิกา กล่าว

ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเหล่าพยาบาลแม้ต้องทำหน้าที่หนัก แต่ยังไม่ได้รับการตอบแทนเท่าที่ควร ปัจจุบันมีพยาบาลตำแหน่งตันอยู่ที่ ชำนาญการ กว่า 6 หมื่นคน ทั้งที่คนเหล่านี้ ควรต้องได้รับความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพิ่มตำแหน่งเป็น “ชำนาญการพิเศษ” เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ

ที่มา: Hfocus, 2/4/2563 

'การบินไทย' ประกาศให้พนักงานหยุด 2 เดือน ลดเงินเดือน 10-50%

2 เม.ย. 2563 รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทได้ประกาศให้พนักงานหยุดงาน 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563-31 พ.ค. 2563 พร้อมนี้จะมีการปรับลดเงินเดือนพนักงานตั้งแต่ 10-50%

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/4/2563 

'Grab' ยอมลดคอมมิชชั่นเก็บร้านค้า จาก 35% เหลือ 30% หลังโดนวิจารณ์หนัก

หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์กรณีดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ส่งอาหาร”ชื่อดังทั้งหลายมีการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหารสูงถึง 30-35%

ล่าสุด “แกร็บ” (Grab) ได้เปิดตัวโครงการ “แกร็บแคร์” (GrabCares) #เราจะผ่านมันไปด้วยกัน โดยปรับลดค่าคอมมิชชันสูงสุดจาก 35% เป็น 30% สำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย และจะเร่งขั้นตอนการเปิดร้านบนแกร็บฟู้ดให้เร็วขึ้นจาก 14-21 วัน เป็นภายใน 7-10 วัน

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันไม่เพียงสร้างความวิตกกังวลให้ทุกคน แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยปรับแผนการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน

โดยแกร็บ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ แกร็บแคร์ (GrabCares) #เราจะผ่านมันไปด้วยกัน เพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ พาร์ทเนอร์ร้านอาหาร, หน่วยงานราชการและบุคลากรทางการแพทย์, พาร์ทเนอร์คนขับ-จัดส่งอาหาร รวมถึงผู้ใช้บริการ

สำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อยได้ปรับลดเพดานค่าคอมมิชชันสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร (ไม่รวม GrabKitchen) สูงสุดจาก 35% เป็น 30% ครอบคลุมทั้งร้านค้าเดิมและร้านค้าใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป

พร้อมทั้งมีการปรับปรุงระบบและกระบวนการในการรับสมัครพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร โดยใช้การรับสมัครผ่านเว็บไซต์ https://www.grabmerchantth.com และเพิ่มทีมงานกว่าเท่าตัว ตั้งเป้าเร่งขั้นตอนรับสมัครและเปิดร้านค้าให้ได้ใน 7-10 วัน และขยายการให้บริการจัดส่งอาหารในอีก 9 จังหวัดใน 3 เดือน

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และข้อมูลการเดินทางของผู้ป่วยต้องสงสัย เนื่องจากมีระบบเช็กประวัติการเดินทางของทั้งพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหาร รวมถึงผู้ใช้บริการในทุกเที่ยวการเดินทาง

และให้ส่วนลดค่าส่งเมื่อสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร สถาบันราชประชาสมาสัย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์จนถึง 30 มิ.ย.2563

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/4/2563 

กยศ. ออกมาตรการ หักเดือนละ 10 บาท ให้กลุ่มผู้ถูกหักเงินเดือน - พักชำระหนี้ 2 ปี ให้กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพของผู้กู้ยืม กองทุนได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ ดังนี้

1. ลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ในกรณีที่ผู้กู้ยืมยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด กองทุนจะปรับลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินกู้ยืมเป็นการชั่วคราว จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563

2. ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน กองทุนจะปรับลดจำนวนเงินที่แจ้งให้หักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมทุกรายในกลุ่มหน่วยงานเอกชน จากจำนวนเงินที่เคยแจ้งหัก เป็นแจ้งให้นายจ้างหักเงินของผู้กู้ยืมทุกรายๆ ละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563

3. ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว กรณีผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กรณีผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดี ลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ กยศ. โดยผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนชำระหนี้ปิดบัญชี โดยขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563

4. ลดเบี้ยปรับ 75% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) โดยติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยให้ขยายระยะเวลาเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563

5. พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี ผู้กู้ยืมที่มีสถานะยังไม่ถูกดำเนินคดี จะได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี ได้รับสิทธิผ่อนผันการชำระหนี้งวดปี 2563 เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่กองทุนอนุมัติ โดยผู้กู้ยืมจะกลับมาชำระหนี้งวดปี 2563 ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และงวดที่เหลือในปีถัดไป กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน ให้ผ่อนผันการชำระหนี้ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ โดยในระหว่างพักชำระหนี้ดังกล่าว กองทุนจะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ กองทุนจะหยุดคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้ทั้งงวดที่ค้างชำระก่อนหน้าและงวดที่อยู่ระหว่างผ่อนผันการชำระหนี้ จนกว่าระยะเวลาพักชำระหนี้จะสิ้นสุด โดยขยายเวลาให้ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนยื่นคำขอรับสิทธิได้ทางเว็บไซต์ กยศ. เดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

ที่มา: amarintv.com, 1/4/2563 

ช่วงวิกฤต COVID-19 ผู้ประกอบการณ์ใน จ.ภูเก็ต เลิกจ้างแล้ว 5,326 คน

รายงานข่าวจากจังหวัดภูเก็ตระบุว่า ทางจังหวัดภูเก็ตได้จัดประชุมเพื่อรับฟังปัญหาในการบริหารจัดการด้านแรงงานในระดับพื้นที่และความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านแรงงานในภาวะวิกฤตจากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีข้อมูลจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต มีจำนวนลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนในสถานประกอบการทั้งหมด 33,896 คน มีการเลิกจ้าง 5,326 คน นอกจากนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตได้รายงานเรื่องสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งมี 11,875 แห่ง ปัจจุบันเลิกจ้าง 135 แห่ง

ด้านสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตรายงานว่า ได้รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน 2,095 ราย ช่วงวันที่ 26 ม.ค.-15 มี.ค. 2563 ซึ่งมีคนมาลงทะเบียนว่างงานเฉลี่ย 62 คนต่อวัน เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ประมาณ 10 คนต่อวัน สาเหตุที่ถูกเลิกจ้างจากไวรัสโควิด-19 ประมาณ 16.80% จากผู้ที่มาขึ้นทะเบียนว่างงานทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องในด้านการท่องเที่ยว ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตได้ให้การช่วยเหลือการรับขึ้นทะเบียนว่างงาน เพื่อขอรับเงินชดเชยแก่ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน รับขึ้นทะเบียนหางานให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพ รวบรวมตำแหน่งงานว่างโดยออกหาตำแหน่งงานเชิงรุกเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างไม่น้อยกว่า 48 ตำแหน่ง 826 อัตรา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/3/2563 

แรงงานพม่าตกค้างเพราะรอค่าจ้างทยอยถึงชายแดนแม่สาย

รายงานข่าวแจ้งว่า หน้าด่านพรมแดนตรงจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงมีชาวเมียนมาที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยทยอยเดินทางไปรอข้ามฝั่งกลับบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง จากช่วงเช้าประมาณ 10 กว่าคน สายมาเพิ่มเป็นกว่า 30 คนแล้ว ส่วนใหญ่ระบุว่าสาเหตุที่เดินทางกลับช้า เพราะต้องรอรับเงินเดือนมีนาคมก่อน และคาดว่าจะมีเพื่อนแรงงานที่ต้องรอเงินเดือนทยอยเดินทางมาตลอดทั้งวันด้วย

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่าทาง อ.แม่สาย จัดสถานที่เพื่อให้พักพิงชั่วคราวภายในศาลาวัดพระธาตุดอยเวา ใกล้กับด่านพรมแดน ซึ่งมีแรงานชาวเมียนมาไปพักพิงอยู่แล้ว 58 คน ขณะที่มีคนไทยหลายคนก็นำอาหารและน้ำ แวะเวียนไปให้รวมทั้งพูดคุยให้กำลังใจกลุ่มแรงงานดังกล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางการไทยจะประสานไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เพื่อให้รับตัวแรงงานตกค้างเหล่านี้กลับประเทศเป็นครั้งๆ ไป เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างปิดพรมแดนทุกจุดเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยฝ่ายไทยประกาศปิดพรมแดนไปตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ยกเว้นด้านฯสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ที่เปิดให้ขนส่งสินค้าระหว่างกันเพียงจุดเดียวเท่านั้น

ขณะเดียวกันพบว่าบริเวณริมฝั่งลำน้ำสายที่เป็นเส้นเขตแดนทางทหารกองกำลังผาเมือง ได้นำลวดหนามไปขึงเป็นรั้วจุดที่อาจจะมีการลักลอบข้ามฝั่งไปมาได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสว่ามีชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งได้พยายามข้ามฝั่งมาหาซื้อสินค้าที่จำเป็นโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคตามตลาดและร้านค้าสะดวกซื้อใน อ.แม่สาย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขึงรั้วลวดหนามเอาไว้หลายจุด เพราะไม่สามารถอยู่เฝ้าในทุกจุดได้

ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขหรืออีโอซีของสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย แจ้งว่าที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 แล้ว 129 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 120 รายและพบติดเชื้อจำนวน 9 ราย โดยผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ อ.เทิง 2 ราย อ.แม่จัน 3 ราย อ.แม่สาย 3 ราย และ อ.เมืองเชียงราย 1 ราย ซึ่งจากประวัติพบว่าทั้งหมดติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้เชียงราย ยังมีผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มากถึงกว่า 4,057 คน และกลับจากต่างประเทศที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 802 คน ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ที่ได้ติดตามเฝ้าระวังจนครบ 14 คนไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/4/2563 

ผ่อนปรนแรงงานจาก 'สปป.ลาว-กัมพูชา-เมียนมา' ทำงานในไทยชั่วคราว

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้แก่คนต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กำหนด ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศ ดังนี้

1) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MoU ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม (หากมี)

2) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานราชอาณาจักร ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว กัมพูชาและเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดน ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม (หากมี)

2. กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้ จนถึงระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม (หากมี)

3. หลังสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญ การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเภทคู่ภาคี มีดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย : เป็นคนต่างด้าว 2 กลุ่มคือ

1.1 คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่วาระการจ้างงานครบสี่ปีและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 30 เมษายน 2563

1.2 คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งถือบัตรผ่านแดนตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด และไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 30 เมษายน 2563

2. ลักษณะการดำเนินการ : เป็นการผ่อนปรนให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานได้ต่อไป

3. ระยะเวลา : การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร การอนุญาตให้ทำงานเป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ หากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานออกประกาศให้ครอบคลุมตามระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยอนุโลม

4. ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศฯ เพิ่มเติม (หากมี) แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/3/2563 

ครม.มีมติขยายจ่ายเงินคนละ 5,000 บาท จาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน หลังประชาชนลงทะเบียนพุ่ง 18 ล้านคน

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ถึงวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 เวลา 07.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน จึงได้มีการประเมินว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มกว่าที่ได้ประมาณการไว้

อีกทั้ง ตามมาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมแต่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จำนวน 70,676 คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กลุ่มอื่น ๆ นั้น กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

ในการนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการชดเชยรายได้ฯ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิม จำนวน 3 ล้านคน เป็น จำนวน 9 ล้านคน

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที กระทรวงการคลังขอนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2563 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ไปพลางก่อน สำหรับในเดือนต่อ ๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 31/3/2563 

ครม. มีมติ ลดเงินสมบทผู้ประกันตน ม.39 เหลือ 86 บาท ช่วง COVID-19 ระบาด

31 มี.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตามร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามร่างข้อ 2 จาก “...ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละสองร้อยสิบเอ็ดบาท” เป็น “...ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละแปดสิบหกบาท”

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ดังนี้

1. ข้อ 3 วรรคหนึ่ง จาก “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน” เป็น “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวัน”

2. ข้อ 3 วรรคสอง “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกินหกสิบวัน” เป็น “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวัน”

ที่มา: มติคณะรัฐมนตรี, 31/3/2563 

5 ค่ายรถปิดโรงงาน 'โตโยต้า-ฮอนด้า-มิตซูฯ-มาสด้า-ฟอร์ด' รับมือยอดขายตก

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและผลประกอบการลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งก่อนหน้านั้นนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยืนยันว่า 2 เดือนแรกปีนี้ยอดขายรถยนต์เหลือแค่ 139,959 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12.7% และผู้ผลิตรถยนต์ได้ปรับลดเป้าการผลิตทั้งปี 2563 ลงจากเป้าเดิม 2 ล้านคัน เหลือลงแค่ 1.9 ล้านคัน มีผลทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมหายไปกว่าแสนล้านบาท และผลกระทบดังกล่าวทำให้ค่ายรถยนต์อาศัยช่วงจังหวะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม(Social Distancing) และนโยบาย Work From Home ประกาศปิดโรงงานชั่วคราวลดการแพร่เชื้อ ทั้งเป็นการปรับสมดุลปริมาณรถที่ผลิตกับความต้องการในตลาดให้ใกล้เคียงกันในช่วงไตรมาสแรกของปี

โดยล่าสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ประกาศหยุดไลน์ผลิตชั่วคราว ระหว่างวันที่ 7-17 เม.ย.นี้ โดยให้พนักงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการกลับมาปฏิบัติงานทันทีที่ได้รับแจ้งจากบริษัทต่อไป

เช่นเดียวกับนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศหยุดไลน์ประกอบรถยนต์ชั่วคราวในประเทศไทย ของทั้ง 2 โรงงาน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยาและ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. – 30 เม.ย. นี้เ หรือจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม โดยบริษัทได้ให้พนักงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งคงมาตรการเข้มงวดให้พนักงานอยู่ในที่พักอาศัย งดเว้นการเดินทาง รวมถึงไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด พร้อมระบุว่าวันนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อไปแค่ไหน ฮอนด้าไม่ต้องการทำอะไรฝืนสภาพตลาด ต้องแผนงานให้สอดคล้องอย่างตรงไปตรงมา

ไม่ต่างจาก “มิตซูบิชิ” ประกาศปิดไลน์ผลิตชั่วคราวสำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทจะยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานอยู่ที่ 85% ของค่าจ้าง อาทิ โรงงานที่ 1 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-26 เม.ย. โรงงานที่ 2 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. โรงงานที่ 3 หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เม.ย. โรงงาน MCC -Engine4N/4D/4M/4G หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. โรงงาน MCC -Engine 3Ag หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-22 เม.ย. โรงงาน MCC-Press/Plastic หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย. และ โรงงาน MEC-KD หยุดกิจการบางส่วนระหว่างวันที่ 6-19เม.ย.

ขณะที่ นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทแม่สั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ ชั่วคราว 2 แห่งได้แก่ ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (FTM) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (AAT) ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. -20 เม.ย. 2563 โดย เบื้องต้นจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานทุกคนเต็ม 100 % สำหรับการหยุดในสัปดาห์แรก ส่วนสัปดาห์ที่ 2 วันที่ 6 -10 เม.ย. พนักงานบางส่วนที่ทำงานที่บ้าน ยังได้รับเงินเดือน 100 % ขณะที่พนักงานที่หยุดงานและไม่ได้ทำงานที่บ้านจะได้รับเงินเดือน 90 % แต่ทั้งนี้หากพนักงานส่วนนี้ต้องการรับเงินเดือน 100% ก็สามารถใช้สิทธิวันลาได้ และสัปดาห์ที่ 3 วันที่ 13 -17 เม.ย. ซึ่งรัฐประกาศให้เป็นวันทำงาน บริษัทพร้อมจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน100 %

รวมถึงค่ายมาสด้าที่ตัดสินใจ หยุดสายการผลิตชั่วคราวที่โรงงาน Auto Alliance Thailand (AAT) ในจังหวัดระยองเป็นเวลา 10 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/3/2563 

เครือข่ายสหภาพแรงงานสนามบิน ร้องรัฐดูแลตามหลักสากล

30 มี.ค. 2563 พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบิน พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้ รัฐบาลและนายจ้างทุกองค์กร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปฏิบัติต่อลูกจ้างและพนักงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานในระดับสากล และหลักมนุษยชน

โดยแถลงการระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Covid-19) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และระบาดมากขึ้น จนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เพราะนอกจากแพร่ระบาดไปนอกเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีนแล้ว ก็ยังระบาดไปทั่วจีน และทั่วโลกมากกว่า 199 ประเทศและดินแดนต่างๆ จนมีจานวนสะสมของผู้ป่วยมากกว่า 677,705 คน และผู้เสียชีวิตมากกว่า เสียชีวิตแล้ว 31,737 คน (ข้อมูลวันที่ 29 มีนาคม 2563) สาหรับในประเทศไทย การแพร่ระบาดได้ทวีความรุนแรง จนกระทั่ง รัฐบาลได้ออกประกาศใช้พระราชกาหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมมิให้ไวรัสแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง

ความหวาดหวั่นและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากโรคระบาด ทาให้มีผู้โดยสารด้วยสายการบินน้อยลง การห้ามผู้โดยสารต่างประเทศเข้าประเทศ โดยอาศัยอานาจตามพระราชกาหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นโยบาย Work from Home เพื่อให้ประชาชนอยู่กับบ้าน โดยไม่เดินทางที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสมากขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินของประเทศไทยอย่างหนัก บริษัทสายการบินราคาประหยัดหลายบริษัทออกประกาศลด/หยุดบินชั่วคราว และล่าสุด บมจ.การบินไทย ได้ประกาศหยุดบินชั่วคราว ทั้งเส้นทางในภูมิภาค ยุโรปและออสเตรเลียจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เหตุการณ์เหล่านี้ กระทบต่อการจ้างแรงงานหลายหมื่นคน ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมการบิน ลูกจ้างสัญญาจ้างหลายแห่งถูกเลิกจ้าง พนักงานประจาถูกกดดันให้ลดเงินเดือนค่าจ้าง

การประกาศหยุดบินชั่วคราวของ บมจ.การบินไทย ส่งผลกระทบอย่างยิ่งการจ้างแรงงานที่เป็นพนักงานประจำของ บมจ.การบินไทยจานวน 20,000 คน และแรงงาน Out source ของบริษัทวิงสแปน 4,900 คน ที่ส่งแรงงานไปปฏิบัติให้กับ บมจ.การบินไทย พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทางานสนามบิน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการจ้างงานแรงงานเหล่านี้ แม้ว่า วิกฤตครั้งนี้ จะเกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งประเทศไทย แต่ไม่อยากให้มีการซ้ำเติมชีวิตของแรงงานเหล่านี้ ด้วยการออกมาตรการความอยู่รอดของนายจ้าง เช่น การเลิกจ้าง เป็นต้น ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีต ธุรกิจสายการบินได้สร้างผลกาไรให้เกิดขึ้นมากมาย และแรงงานเหล่านี้ก็มีส่วนในความสำเร็จเหล่านั้นของนายจ้าง เมื่อเกิดวิกฤตในครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้นายจ้างและรัฐบาลช่วยดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

ดังนั้น พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทางานสนามบิน สรส. และ ครสท. จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและนายจ้างทุกองค์กร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย รวมทั้ง บมจ.การบินไทย และบริษัทวิงสแปน ปฏิบัติต่อลูกจ้างและพนักงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานในระดับสากล และหลักมนุษยชน โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. ขอให้นายจ้างในกิจการการบินจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อร่วมกาหนดนโยบายความอยู่รอดของบริษัท หากนโยบายดังกล่าวกระทบต่อสภาพการจ้างของลูกจ้าง/พนักงานของบริษัท ขอให้พิจารณากาหนดนโยบาย บนหลักการกฎหมายแรงงาน มาตรฐานแรงงานในระดับสากลและหลักมนุษยชน เพื่อให้ลูกจ้าง/พนักงานได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

2. ขอให้นายจ้างในกิจการการบินที่มีการประกาศหยุดงานชั่วคราว กาหนดกรอบระยะเวลาดาเนินการที่ชัดเจน เพื่อเรียกลูกจ้าง/พนักงานกลับเข้าทางานตามเดิม ภายหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น เพื่อป้องกันการบังคับใช้มาตรการที่นาไปสู่การเลิกจ้าง หรือลอยแพคนงาน อย่างไม่เป็นธรรม จากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้

3. ขอให้นายจ้าง โดยเฉพาะ บริษัท Outsource หรือบริษัทที่รับเหมาช่วงเหมาค่าแรงทุกบริษัทในกิจการการบิน ดูแลลูกจ้างของบริษัท ซึ่งมีลักษณะงานไม่มั่นคง (Precarious work) ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องไม่ข่มขู่ กดดัน หรือบังคับให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกจากงาน เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้าง โดยอาศัยสถานการณ์โรคระบาดนี้ ในการละเมิดสิทธิแรงงานและปฏิบัติต่อคนงานแบบไร้มนุษยธรรม

4. ขอให้นายจ้างในธุรกิจกิจการการบินจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอให้กับลูกจ้าง/พนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานที่สนามบินในการบริการแก่ผู้โดยสาร มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจจะได้รับไวรัสจากการปฏิบัติงาน

พันธมิตรสหภาพแรงงานคนทางานสนามบิน สรส. และ คสรท. เข้าใจถึงสถานการณ์ความยากลำบาก ที่ส่งผลกระทบกับ เศรษฐกิจ สุขภาพ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน คนไทย และประชาชนทั่วโลกในครั้งนี้ และขอเป็นกาลังใจให้ภาคธรุกิจการบินและคนทางานสนามบินทุกคน ก้าวผ่านอุปสรรคและวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยความเชื่อพลังความสามัคคีและพลังศรัทธาของพวกเราทุกคน

ที่มา: Spring News, 30/3/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net