โควิด 19: บันทึกคนไทยพลัดถิ่นในอินเดีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กลางปี 2562 ฉันวางแผนให้ลูกชายวัย 13 ปี ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่อินเดีย เราเรียนในแนวทางการจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Home School) แต่รอให้อากาศดีพอก่อน เราจึงเลื่อนแผนการเดินทางไปเรียนเป็นช่วงมีนาคม 2563

ต้นปี 2563 ข่าวไวรัสโคโรน่า ระบาดในจีน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะระบาดหนัก ฉันยังดำเนินชีวิตตามวิถีที่วางแผนไว้ ต้นกุมภาพันธ์ก่อนเดินทาง ฉันและลูกทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เก็บของ ดูแลสุขภาพ ลูกชายตั้งใจมาลองเรียน 1 เดือนเพื่อวางแผนแนวทางการศึกษาด้านภาษาต่อ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการเดินทางไปที่อื่นนานๆ เป็นครั้งแรกของเราทั้งคู่ พวกเราเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - สนามบินบักโดกร้า และเดินทางต่อด้วยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า มาที่เมืองดาร์จีลิ่ง ที่สนามบินบักโดกร้าตรวจวัดไข้ ให้กรอกเอกสารติดตามตัวหลายฉบับ ในไฟลท์ที่มานี้มีนักเรียนไทยบินมาด้วยกันกว่า 30 คน เนื่องจากโรงเรียนในอินเดียกำลังจะเปิดเทอม

สถานการณ์ในดาร์จีลิ่งปกติ เราติดตามข่าวโควิด 19 เสมอ อินเดียมียอดผู้ติดเชื้อเพียงหลักหน่วย ในช่วงแรกแม้ผู้คนจะยังไม่ตื่นตัว ใส่แมส แต่เราหลีกเลี่ยงที่คนเยอะ หากไปตลาดใหญ่หรือร้านอาหารจะสวมหน้ากาก และล้างมือสม่ำเสมอ 2 สัปดาห์แรกเรายังคงเดินไปสถานที่ท่องเที่ยวบ้าง อากาศหนาวมาก เมฆมาก ไม่เห็นหิมาลัย เข้าสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ภูฏานปิดประเทศ สายการบินดรุกแอร์ที่เรามีตั๋วไว้บินทำการปิดชั่วคราว วันที่ 18 มีนาเราเริ่มปรึกษาหาทางออกว่าถ้าเขาเปิดประเทศวันที่ 19 เราควรเลื่อนตั๋วกลับไทยให้เร็วขึ้น โรงเรียนในอินเดียสั่งปิด เด็กไทยมาอยู่บ้านโฮสต์และรีบหาตั๋วกลับ

กำหนดกลับของฉันและลูก คือ 30 มีนาคม 2563 แต่วันที่ 19 มีนาคมมีข่าวว่า วันอาทิตย์ที่ 22 อินเดียจะเคอร์ฟิววันอาทิตย์ที่ 22 เป็นเวลา 1 วันเราเริ่มใจไม่ดี  ฉันให้เพื่อนที่ไทยโทรเช็คกันเอเจนซี่ไทยสอบถามเรื่องตั๋วขากลับ ซึ่งตั๋วเต็มในวันที่ในวันที่ 21 และ 23 สายการบินดรุกแอร์ ไม่มีบินทุกวัน เพื่อนในดาร์จีลิ่งช่วยติดต่อสำนักงานที่สิริกุลิ มีตั๋ววันที่ 23 ฉันและลูกดีใจ รีบจอง ความหวังครั้งที่ 1 รอเพียง 5 วันจะได้กลับบ้านกัน

เช้าวันที่ 20 มีนาคมมีอีเมลจากสายการบินว่า วันที่ 23 ขอยกเลิกการบินและจะทำการคืนเงิน (ใช้เวลา 2 เดือนในการคืนเงิน) ฉันลงจากห้องพักเร่งฝีเท้าเดินไปปรึกษาครูของลูกชาย เล่าเรื่องอีเมล เขาและร้านขายตั๋วยังไม่ทราบว่าดรุกแอร์ยกเลิกบิน พวกเราพยายามหาตั๋วใหม่วันที่ 21 อย่างเร่งด่วน ได้ตั๋วสไปร์ทเจ็ท โดยที่ต้องไปต่อเครื่องที่กัลกัตต้า เวลาที่ได้บินคือ 17.30 และรอเครื่องเวลา 00.05 วันที่ 22 มีนาคม ความหวังที่ 2 ย่นเวลากลับบ้านเพิ่มเข้ามา 

วันนี้เมืองเริ่มเงียบแม้ยังไม่เคอร์ฟิว แท๊กซี่ปฏิเสธการลงไปส่งที่บักโดกร้า ข่าวลือหนาหูว่าอินเดียจะปิดประเทศจนถึง 29 มีนาคม ร้านค้าเริ่มปิดเป็นส่วนใหญ่ ฉันรีบกลับไปเก็บกระเป๋า บอกให้ลูกชายเก็บของให้เรียบร้อย ครูของลูกนัดหมายแท็กซี่มารับได้พรุ่งนี้ (20 มีนาคม) พร้อมบอกเราว่าจะห่อข้าวเย็นไปให้กินที่สนามบิน 

เวลาผ่านไป 2 ชั่วโมง ครูมาเคาะประตูห้อง "พี่ครับ ตั๋วพรุ่งนี้ถูกยกเลิกแล้วครับ" เรายิ้มแห้ง ในใจคิดว่า "ให้มันได้อย่างนี้สินะ" เราลงจากห้องพักเพราะพักกันคนละที่ ถนนบนหุบเขาสูงชันลงไปหาลูก ดูเหมือนเขาจะรู้ข่าวแล้วและยิ้มแห้งๆ เช่นกัน อินเดียยกเลิกการบินต่างประเทศ 22 - 30 มีนาคม เราทิ้งตั๋วบินภายในไปกัลกัตต้า เพราะไปก็ไม่มีความหมาย อยู่ที่นี่น่าจะปลอดภัยกว่า (รอเงินค่าตั๋วคืนกลับมาเช่นเดียวกับ 2 ครั้งแรก)

ช่วงนั้นฉันนึกถึงภรรยานักการทูตในหนังสือ 4 ปีนรกในเขมร ที่ต้องพยายามหาหนทางกลับประเทศ ทั้งเข้าใจและเห็นใจตัวเอง มีข่าวว่ามีคนไทยบินไปและไม่มีบินกลับไทย โรงแรมปฏิเสธที่พัก ติดค้างตามเมืองต่างๆ มากมาย ผ่านมาไม่กี่วัน ฉันยังคิดว่า 30 มีนาคมค่อยหาตั๋วใหม่ ความหวังที่ 3 รอแค่สัปดาห์ แต่นายกฯ มูดี ก็ประกาศปิดประเทศอีก 21 วันจนถึงวันที่ 14 เมษายน ความหวังที่เราสองคนจะได้กลับต้นมีนา ไร้ความหวัง เราสองคนปฏิบัติตัวตามกติกาของเมือง อยู่กับบ้าน ออกกำลังกาย ไม่วิตกกังวล ให้กำลังใจกันและกัน

ทางการไทยให้คนไทยทุกคนที่จะกลับต้องขอ เอกสาร Fit to Fly ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบิน ฉันนึกไม่ออกเลยว่า การกักตัวกว่า 21 วัน จะมีความหมายอย่างไรเพราะต้องพบกับความเสี่ยงเมื่อต้องออกไปขอเอกสารที่โรงพยาบาลในท้องถิ่น โรงพยาบาลห่างลงไปจากที่พัก การเดินทาง และดำเนินการไม่ง่าย และค่าตรวจมีราคาสูง เพื่อยืนยันว่าไม่ป่วย ก่อนกลับเข้าประเทศที่เรียกว่า บ้าน 

สถานกงสุลให้คนไทยกรอกเอกสารออนไลน์แจ้งพิกัดและลงชื่อความประสงค์จะกลับไทย และรับข่าวสารทางอีเมล มีอีเมลมาอีกฉบับเรื่องการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้อดทน ฉันเริ่มติดตามข่าวอินเดียจากทุกเพจ เข้าร่วมกลุ่มคนไทยในอินเดียเพื่อรับข่าวสาร โทรหารุ่นพี่ที่อยู่ชัยปุระ รับรู้และให้กำลังใจกัน

สัปดาห์แรกของการเคอร์ฟิว ฉันย้ายลงมาพักบ้านครูกับลูก กาแฟเราหมดไปสัปดาห์แล้ว อาหารมีไม่มาก เนื้อสัตว์ไม่ได้กินเช่นกัน ในสภาวะแบบนี้ทั้งเข้าใจและทำใจ

คนอินเดียมีกว่า 1300 ล้านคน ในเมืองใหญ่อยู่กันอย่างแออัด ระบบสาธารณสุขไม่อำนวยกับการเผชิญหากคนติดจำนวนมาก 28 มีนาคม มีคนจำนวนมากพยายามหารถโดยสารกลับบ้านเช่นเดียวกับไทย หลังปิดประเทศ จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มจากหลักสิบเป็นหลักร้อย แต่อัตราของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนคนที่เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นตามมา ข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อในกัลกัตต้า และขยับเข้าใกล้ดาร์จีลิ่งทุกวัน

เข้าสัปดาห์ที่สอง ของการเคอร์ฟิวในอินเดีย อินเดียทำงานหนักขึ้นเพื่อต่อสู้ให้จำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากขึ้น เป็นทางแยกของอินเดียว่าจะชะลอหรือเพิ่มไปเช่นอิตาลี ทุกคนกังวล คนอินเดียส่วนใหญ่ยากจน ใช้แรงงานทำงานในเมืองใหญ่ ตัดสินใจเดินเท้ากลับบ้านเดินทางกว่า 800 กิโลเมตร มีคลิปหนึ่งฉันดูทั้งน้ำตา ชายหนุ่ม หญิงสาวถือหูกระเป๋าใบใหญ่คนละข้างอุ้มลูกเล็กเดินกลับบ้าน เพื่อหาทางรอด น้อยสุดที่บ้านจะมีพอมีอาหารให้กิน ฉันได้รับข่าวความลำบาก การถูกตีตรา การถูกขับไล่ให้คนไทยหาที่อยู่ใหม่ เป็นระยะๆ

แม้นโยบายของรัฐบาลอินเดียจะแจกข้าวสาร แก๊ส และช่วยเหลือคนยากจน ฉันเชื่อว่าทุกคนรู้ตัวว่าต้องมองในระยะยาว คนไทยในอินเดียหลายคนมาเรียนภาษา มาเรียนโยคะ มาเรียนปรัชญา มาทำงาน มาแสวงบุญ เป็นผู้ปกครองมาอยู่ดูแลใกล้ๆ ลูก หลายคนเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป ในดาร์จีลิ่ง ฉันสบายกายและใจพอควร มีอาหาร ปรับตัวให้เขากับจังหวะของเมือง ได้เดินออกกำลังกายบนถนนในซอยและนานๆ แวะไปหาคนไทยที่เพิ่งรู้จักกันในสถานการณ์ไม่ปกติซึ่งพักใกล้กัน แต่นักเรียนและอีกหลายคนไม่ได้ออกจากบ้านเพราะโฮสต์ไม่อนุญาต ติดตามหาตั๋วกลับไทยไม่ได้ เปิดพื้นที่แห่งการรับฟังเพื่อลดความเครียดจากสภาวะไกลบ้าน

คนไทยที่อาศัยในเมืองวิสาขปัตนัม 5 คนเล่าว่า พวกเขาออกไปซื้อผักแต่โดนชาวบ้านเอาก้อนหินขว้างปาด้วยความรังเกียจ เธอเดินทางมาอินเดียตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ทุกวันนี้กินข้าวกับไข่เป็นหลัก เสบียงและเงินกำลังจะหมดลง เธออยู่ด้วยความอดทนและรอความหวังเช่นกัน 

มีคนไทยอีกคน พักอยู่ที่เมือง Rishikesh เป็นคนไทยคนเดียวมาเรียนโยคะ หลังเคอร์ฟิว เธออยู่อย่างประหยัดเพราะเงินหายในช่วงกลางมีนาคมและไม่มี ATM พยายามติดต่อสถานทูตหลายครั้งแต่ไม่มีความคืบหน้า

มีผู้ปกครองจำนวนมากที่เป็นห่วงลูกหลายที่ติดค้างกระจายตัวอยู่หลายเมือง ทั้ง Shimla ,Jaipur, Pathankot, Chandigarh, Hyderbad, Lucknow

หนึ่งในจำนวนผู้มีความประสงค์กลับไทยมีเด็กวัย 3 ขวบและผู้สูงอายุ จำนวนที่รวบรวมตอนนี้มีกว่า 300 คน 

วันที่ 1 เมษายน ทางการอินเดียพบผู้ติดเชื้อใน ธาราวี ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย วันถัดมามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในกัลลัมปง ใกล้ดาร์จีลิ่ง แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอินเดียทำงานอย่างหนักและน่าเห็นใจไม่แพ้เมืองไทย แต่ต้องยอมรับว่าหากจำนวนคนเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน จะไม่สามารถรองรับคนอินเดียที่มีถึง 1300 ล้านคนได้ ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อ 1250 คน 

15 เมษายนนี้ รัฐบาลอินเดียประกาศว่าจะเปิดเมืองหลังปิดเคอร์ฟิวมา 21 วัน แต่ฉันลองพยายามหาตั๋วเครื่องบินเพื่อกลับไทย แต่ตั๋วหายาก ซึ่งวันก่อนยังเห็นเปิดเมืองเข้าไปดูผ่านแอป แต่วันนี้ไม่มีแล้ว เส้นทางกลับบ้านไร้ความหวัง วันนี้ฉันคิดว่าหากเส้นทางรถเข้าทางพม่าเพื่อกลับไทยได้ ฉันก็จะทำ เพราะสถานการณ์ในอินเดียอาจจะต้องปิดประเทศและเคอร์ฟิวอีกครั้งหลังเปิดไม่กี่วัน

ฉันพยายามหาทุกหนทางที่จะได้กลับบ้าน เพราะการอยู่อย่างไม่พยายามเลย ทำให้แสงแห่งความหวังหรี่ลง มนุษย์ที่ไร้ความหวังไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร  วันนี้ผู้ติดเชื้อในอินเดียมีถึง 3,378 คน มีผู้เสียชีวิต 77 คน รัฐบาลควรเร่งรีบและหาแนวทางพาคนไทยที่ตกค้างให้ได้กลับบ้านอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่ตัวเลขจะสูงขึ้นและระบาดมากกว่านี้

 

 

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท