กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช: โควิด-19 ในรัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ รัฐจะดูแลใครก่อน?

การจัดการสถานการณ์ความมั่นคงด้านสาธารณสุขของรัฐบาลถูกตำหนิมากกว่าชื่นชม ซ้ำเรายังเห็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า ศบค. เห็นผู้บัญชาการกองทัพบกใส่ชุดคลุมออกมาฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อตามถนน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมทหารต้องออกมาแสดงบทนำทั้งที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ บทสัมภาษณ์ 'กฤดิกร' ผู้ศึกษาเกี่ยวกับความมั่นคง นี้จะให้คำตอบ

  • ในรัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ รัฐบาลจำเป็นต้องปกป้องทั้งฝั่งสมบูรณาญาสิทธิ์และฝั่งประชาชน ทำให้ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่สำคัญคือในรัฐลักษณะนี้ รัฐบาลมักเลือกปกป้องฝั่งสมบูรณาญาสิทธิ์ก่อน
  • รัฐไทยเกิดขึ้นบนฐานของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม กษัตริย์ถือเป็นตัวแทนหลักของชาติ แม้ว่ารัฐยังต้องประกันความมั่นคงให้กับประชาชน แต่ไม่ใช่เพื่อตัวประชาชนเอง หากเป็นการประกันที่มาความชอบธรรมของอำนาจของตัวแทนชาติไทยคือตัวสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น ประชาชนจึงถูกนับเป็นหน่วยของความมั่นคง แต่จะไม่ถูกให้ความสำคัญก่อน
  • การรวมหลากหลายมิติความมั่นคงให้สภาความมั่นคงแห่งชาติดูแลถือเป็นกลไกปกติ แต่ในรัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ การเกิดขึ้นขององค์กรรวมศูนย์และอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเงื่อนไขที่สะดวกกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า ในการปกป้องสมบูรณาญาสิทธิ์
  • วิกฤตความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆ ทำให้กองทัพต้องยืนกรานพื้นที่ของตนในด้านการรักษาความมั่นคงของชาติและแสดงบทบาทนำ แม้ว่าจะไม่มีความเชี่ยวชาญ เพราะหากกองทัพไม่แสดงบทบาทปกป้องประชาชน กองทัพก็ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน มาตรการต่างๆ ที่ออกมามีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และการประกาศเคอร์ฟิว บุคลากรสาธารณสุขก็ทำงานอย่างหนักเพื่อชะลอการแพร่ระบาดให้นานที่สุด

เราได้เห็นการจัดการสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล...ก็อย่างที่เห็น อีกด้าน เราเห็น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ใส่ชุดป้องกันเชื้อออกมาเดินฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในตอนกลางคืนพร้อมทหาร เราเห็น พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าทีมรับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ออกมาขู่ประชาชนว่า ถ้าไม่ยอมปรับพฤติกรรมอาจต้องปิดประเทศ

ท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงด้านสาธารณสุขที่ไทยกำลังเผชิญ มันสมเหตุสมผลที่จะถามว่า ทำไมกองทัพจึงเป็นหัวหน้า ศบค. ทำไมผู้บัญชาการทหารบกต้องออกมาพ่นยาฆ่าเชื้อตามถนน ที่สำคัญยิ่งกว่าคือกองทัพมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะรับบทนำหรือไม่ ทำไมไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขที่ควรมีบทบาทหลักในการรับมือโรคอุบัติใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ

กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช (แฟ้มภาพ)

‘ประชาไท’ สนทนากับ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช Ph.D. Candidate at Graduate School of Asian and African Areas Studies, Kyoto University ผู้ศึกษาเกี่ยวกับความมั่นคง อีกครั้ง แน่นอนว่าไม่ใช่การหาหนทางจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เราจะถอยกลับไปไกลกว่านั้นและมองในเชิงโครงสร้างเพื่อตอบคำถามในย่อหน้าข้างบนว่า มันเกิดจากอะไร

ขอเตือนว่าคำอธิบายของกฤดิกรอาจไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่

ภาพจาก : www.pixabay.com

ความมั่นคงที่เปลี่ยนไป จากรัฐสู่ประชาชน

อาจต้องเริ่มเหมือนการเล็คเชอร์ แต่ประเด็นแรกที่เราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นคือคำว่า ความมั่นคง ซึ่ง ณ เวลานี้มันถูกแบ่งเป็นความมั่นคงยุคเก่ากับความมั่นคงยุคใหม่ ซึ่งวางอยู่บานฐานคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ก่อนจะพิจารณาต่อไปว่ารากฐานความคิดของกองทัพไทยยังติดอยู่กับความมั่นคงชนิดไหน

กฤดิกร อธิบายก่อนว่า สถานการณ์ที่จะเป็นประเด็นความมั่นคงหมายถึงสภาวะวิกฤตที่อาจทำให้ตัวตนสูญสลายไปหรือ existential crisis ทั้งนี้หลักในการพิจารณาความมั่นคงแบบเก่าและแบบใหม่อยู่ที่ตัวแสดงหลักที่เป็นเป้าหมายของความมั่นคง แบบเก่ารัฐเป็นตัวแสดงสำคัญ แบบใหม่เป็นสายที่เรียกว่า human security หรือความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคือลดระดับการมองลงมาเป็นระดับชุมชน สังคม จนถึงระดับปัจเจกว่าจะสร้างกลไกที่ประกันความมั่นคงของมนุษย์หรือตัวบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยประชากรที่อยู่ในรัฐอีกทีหนึ่งหรือแม้กระทั่งหน่วยประชากรที่ไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เช่น กลุ่มคนไร้รัฐต่างๆ อย่างไร

“ในแง่นี้ความมั่นคงแบบเก่ากับแบบใหม่จึงถูกตั้งต้นจากคำถามว่า เราจะสร้างระบบความมั่นคงเพื่อใคร เพื่อรัฐหรือเพื่อตัวหน่วยที่เป็นบุคคล”

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงตามแบบแผน (traditional security) กับความมั่นคงไม่ตามแบบแผน (non-traditional security) ซึ่งแม้จะมีหลายมิติที่ทับซ้อนกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ความมั่นคงตามแบบแผนคือความมั่นคงที่อิงกับรัฐ โดยรัฐในที่นี้อิงตามนิยามของ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) หมายถึงผู้ที่ถือครองความชอบธรรมในการใช้กำลังทางกายภาพในพื้นที่หนึ่ง ดังนั้น ความมั่นคงตามแบบแผนจึงขึ้นอยู่กับการใช้กำลังทางกายภาพ เป็นการพูดเรื่องกองทัพ อาวุธ เทคโนโลยีการสงคราม ยุทธศาสตร์สงคราม เป็นต้น ขณะที่ความมั่นคงที่ไม่ตามแบบแผนไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้กำลังทางกายภาพอย่างเดียว แต่เป็นรูปแบบอื่นๆ ได้ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านสาธารณสุข

“สองเกณฑ์นี้ รัฐกับมนุษย์หรือตามแบบแผนกับไม่ตามแบบแผนมีส่วนที่เหลื่อมกันอยู่ แต่ไม่ได้เหมือนกันเสมอไป เช่น การก่อการร้ายจะถือว่าอยู่ในส่วนของความมั่นคงของมนุษย์ด้วย แต่ว่าการก่อการร้ายเวลามองแบบความมั่นคงตามแบบแผนหรือไม่ตามแบบแผนมักจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตามแบบแผนมากกว่า แต่ส่วนที่มีร่วมกันของความมั่นคงยุคใหม่กับความมั่นคงไม่ตามแบบแผนก็คือ มันไม่ถูกใช้กำลังในเชิงกายภาพเป็นตัวแปรในการตีความ สรุปก็คือวิกฤตอะไรที่จะทำให้ตัวตนของมันสูญสลายสามารถนับเป็นประเด็นความมั่นคงได้หมด นี่เป็นการตีความความมั่นคงยุคใหม่”

รัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์

‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ ตามความหมายของ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 4 ระบุว่า คือภาวะที่ประเทศปลอดจากภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญสถานการณ์ต่างๆ อันเกิดจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ

กฤดิกร ตั้งคำถามสำคัญต่อนิยามความมั่นคงของชาติในฉบับทางการว่า ถึงที่สุดแล้วมันคือความมั่นคงของใคร? และต้องการปกป้องใคร? เมื่อระบอบที่ดำรงอยู่เวลานี้ เขาเรียกว่า รัฐแบบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์หรือ absolutism (เป็นคนละความหมายกับ absolutism monarchy หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

“มันมีกลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดเหนือกว่าบางกลุ่ม เพราะฉะนั้นการปกครองของไทยจึงเป็นลูกผสมระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือกว่าคนทั่วไปในสังคม อย่าง สว. ที่มาจากการแต่งตั้งด้วยคนไม่กี่คนและทำให้คนกลุ่มนั้นมีอำนาจเหนือกว่าคนทั่วๆ ไป แล้วก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งในสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นการประกอบร่วมของ 2 กลุ่มนี้ ทำให้เราอยู่ในภาวะที่การตีความคำว่า ชาติ มันก้ำกึ่งระหว่าง 2 ส่วน ซึ่งผมคิดว่าส่งผลต่อมาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลด้วย”

กฤดิกรอ้างอิงแนวคิดราชาชาตินิยมของธงชัย วินิจจะกูล เพื่อตีความและอธิบายต่อว่า

“งานราชาชาตินิยมของอาจารย์ธงชัยสำหรับผม ส่วนที่สำคัญที่สุดคือคำอธิบายการเกิดขึ้นของความเป็นชาติของสังคมไทย โดยปกติเวลาเราพูดถึงรัฐชาติหรือ nation state เราจะพูดถึงชาติเกิดขึ้นผ่านตัวตนของความเป็นรัฐ คือรัฐเป็นผู้กำหนดตัวตนของประชาชนที่เป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์ทางการเมืองของตัวรัฐ ทั้งสองส่วนต่างขึ้นตรงต่อกันและกัน เป็นรัฐซึ่งประชาชนให้อำนาจสิทธิซึ่งสะท้อนอำนาจอธิปไตยของประชาชน

“ในกรณีของประเทศไทยมันมาด้วยเส้นทางที่ค่อนข้างจะแปลกกว่า เรามีคำที่เรียกอย่างชัดๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็คือคำว่า อเนกนิกรสโมสรสมมติ กล่าวคือกษัตริย์มีอำนาจชอบธรรมในการปกครองเพราะมีสโมสรสมมติก็คือความพร้อมใจของประชาชนและสังคมโดยรวมโดยสมมติเอา พูดง่ายๆ คือกษัตริย์มีอำนาจชอบธรรมในการปกครองผ่านความเป็นชาติของพลเมือง ความเป็นชาติของไทยจึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นผ่านตัวรัฐ แต่ถูกสร้างขึ้นผ่านตัวพระมหากษัตริย์ อาจารย์ธงชัยจึงใช้คำว่าราชาชาตินิยมหรือราชาชาติ ซึ่งก็คือชาติเกิดขึ้นผ่านตัวของพระราชา

“พอมีความหมายแบบนี้ มันพาเข้าสู่ระบบลูกผสมรัฐกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ นั่นหมายถึงว่าการปกป้องชาติหมายถึงอะไร ผมไม่ได้พูดว่าในรัฐแบบนี้ประชาชนไม่มีตัวตน ประชาชนยังมีตัวตน เพราะเป็นรัฐกึ่งประชาธิปไตยอยู่ เพียงแต่ว่าประชาชนที่ถูกแทนด้วยคำว่า ชาติ ถูกแทนตัวด้วยความชอบธรรมในการถือครองอำนาจของราชา การปกป้องพระมหากษัตริย์จึงเป็นการปกป้องชาติไปในตัว ดังนั้น ในความคิดของผม ความมั่นคงของชาติจึงสะท้อนผ่านความมั่นคงของสถาบัน”

ในรัฐราชาชาตินิยม รัฐดูแลใครก่อน?

กฤดิกรยกตัวอย่างที่กองทัพใช้เป็นคำขวัญว่าต้องปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำไมการปกป้องศาสนาจึงเป็นหน้าที่ของกองทัพด้วย นั่นก็เพราะกรณีของประเทศไทยสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และประชาชนถูกทำให้เป็นก้อนเดียวกันที่แยกขาดกันไม่ได้ การปกป้องสถาบันจึงหมายถึงการปกป้องชาติเพราะไทยเป็นราชาชาติหรือชาติที่ถูกสร้างขึ้นผ่านตัวสถาบัน ความหมายของชาติในฉบับทางการของไทยจึงไม่ได้กินความหมายในแบบของตะวันตก

“ความมั่นคงของชาติในความหมายของไทยฉบับทางการสำหรับผม หมายถึงการปกป้องชาติผ่านการปกป้องสถาบัน ดังนั้น เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นจึงเจอภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างในปัจจุบัน ผมคิดว่าในสภาวะที่เป็นรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ) มันมีความชัดเจนว่ารัฐบาลเกิดขึ้นเพื่อรับใช้ระบบแบบไหน ซึ่งก็คือเป็นระบบแบบ Absolutism อย่างชัดเจน ไม่มีการเจือปนของประชาธิปไตยใดๆ เลย

“พอมันเป็นกึ่งประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิ์ขึ้นมา รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำงาน 2 ขา คำถามก็คือในระบอบแบบนี้ ใครกันที่รัฐบาลต้องดูแลก่อนหรือประกันความมั่นคงให้ก่อน ฝั่งสมบูรณาญาสิทธิ์หรือฝั่งประชาชน ภายใต้ระบอบที่เป็น 2 ขั้วแบบนี้ซึ่งแยกจากกันไม่ออก รัฐบาลจึงต้องเลือกและในหลายๆ ครั้งทำให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับฝั่งไหนก่อน หลักๆ เราจะเห็นการประกันความมั่นคงหรืออำนวยความสะดวกให้กับฝั่งนายทุนก่อน ฝั่งที่เป็น Absolutist ทางการเมืองก่อน แต่ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะพยายามประกันความมั่นคงหรือดูแลประชาชนเลย ส่วนดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเขาต้องพยายามเหยียบ 2 ขานี้ ทำให้ทุกอย่างมันไม่พอไปหมด ไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการบริหาร แม้แต่เม็ดเงินก็ไม่พอที่จะรองรับทั้ง 2 ขาพร้อมกันได้ อันนี้พูดในภาวะที่ไม่ต้องมีวิกฤติด้วยซ้ำ

“พอเป็นภาวะวิกฤตที่ต้องปกป้องทั้งสองฝั่งอย่างหนักหน่วง ประเทศเองก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อผลิตเม็ดเงินเพิ่มเติมได้ก็ยิ่งวิกฤตหนัก ผมคิดว่ามันเป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากตรงนี้เองและทั้งสองฝั่งคือการดูแลความมั่นคงของชาติทั้งคู่ในความหมายแบบทางการของไทย เพราะทั้งสองฝั่งคือตัวแทนของความเป็นชาติเหมือนกันหมดนี่คือวิธีการคิดของไทยที่ทำให้วิกฤตมันวิกฤตหนักลงไปอีก”

ถึงตรงนี้อาจถามอย่างจริงจังได้ว่า ประชาชนถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติหรือไม่ กฤดิกรเห็นว่าถูกนับเป็นส่วนหนึ่ง แต่...

“อย่างที่ผมบอกว่าคำอธิบายสถานะความชอบธรรมของตัวแทนสถาบันชาติอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า ราชาชาตินิยม เกิดขึ้นได้ด้วยความพร้อมใจโดยสมมติของประชาชนที่เป็นอเนกนิกรสโมสรสมมติ แปลว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีประชาชนก่อนถึงจะสมมติได้ เพราะฉะนั้นรัฐต้องประกันความมั่นคงให้กับประชาชน แต่ไม่ใช่เพื่อตัวประชาชนเอง แต่เป็นการประกันที่มาความชอบธรรมของอำนาจของตัวแทนชาติไทยคือตัวสถาบัน ในมุมมองของผม ประชาชนจะถูกนับเป็นหน่วยของความมั่นคง แต่จะไม่ถูกให้ความสำคัญก่อน เพราะต้องให้ความสำคัญกับตัวแทนอำนาจหลักของชาติก่อน และปัจจัยซึ่งเป็นตัวสร้างความชอบธรรมของที่มาของอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองของกองทัพไทยจึงค่อยตามมา”

สภาความมั่นคงแห่งชาติควรเป็นผู้ดูแลความมั่นคงทุกด้านหรือไม่

สภาความมั่นคงแห่งชาติยังมีหน้าที่จัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งในนโยบายปี 2558-2564 ประกอบด้วย 16 นโยบายหลัก แน่นอนว่านโยบายอันดับแรกสุดคือความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงแบบที่เราคุ้นเคย เช่น ปัญหาชายแดน การเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายใน เป็นต้น แต่ยังมีนโยบายด้านรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร (ไม่มีการกล่าวถึงโรคอุบัติใหม่) ซึ่งที่ผ่านมาดูจะอยู่นอกเหนือความสนใจของกองทัพ

มีเรื่องให้ชวนคิด 2 ประเด็น ประเด็นแรก การนำความมั่นคงหลากหลายมิติไปอยู่ในมือสภาความมั่นคงแห่งชาติเหมาะสมหรือไม่? ประเด็นที่ 2 นี่เป็นการขยายพรมแดนความมั่นคงของกองทัพออกไปเพื่อเพิ่มบทบาทของกองทัพหรือไม่

ประเด็นแรก กฤดิกร กล่าวว่าเขาเข้าใจความเป็นห่วงที่เกิดจากประเด็นนี้ แต่องค์กรรูปแบบนี้ถือว่าเป็นรูปแบบปกติที่หลายประเทศใช้ แง่บวกคือเป็นความพยายามที่จะมองความมั่นคงหลากหลายมิติขึ้นมากกว่าความมั่นคงแบบเก่าหรือความมั่นคงทางการทหารเพียงอย่างเดียวและสามารถจัดการปัญหาได้รวดเร็ว

“แต่ว่าการรวมทุกอย่างเข้าไป คำถามแรกที่ต้องมีก่อนมีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือความมั่นคงที่เอาไปดูแลภายใต้องค์กรเดียวภายใต้ระบบการเมืองแบบนี้ เขาดูแลใคร ข้อ 2 ผมเข้าใจดีว่าสถาบันเกี่ยวกับความมั่นคงแทบทุกที่ในโลกมีการปิดบังข้อมูลบางอย่างเป็นความลับ คำถามก็คือโครงสร้างองค์กรมีความโปร่งใสขนาดไหนในการจัดตั้งขึ้นมาและคุณมีระยะเวลาทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนพอหรือไม่ว่า เมื่อถึงเวลาที่เรื่องนั้นหมดระยะการคุ้มครองด้านความมั่นคงแล้ว สาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูลและรับรู้ได้ ผมเข้าใจว่าของไทยมีเอกสารเยอะมากที่ไม่ถูกนำออกมาเผยแพร่และบางส่วนมีการหลุดหายไปด้วย

“การเหมารวมความมั่นคงแบบนี้ต้องดูวิธีการจัดการองค์กรภายในว่าเขาจัดอย่างไร เพราะว่าภายใต้ร่มขององค์กรหนึ่งที่เหมารวมทั้งหมดสามารถมีวิธีการแบ่งการจัดการที่ตอบโจทย์วิกฤตหลายรูปแบบที่ต่างกันได้ แต่ของไทยผมไม่แน่ใจว่าทำได้ดีในลักษณะนั้น ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดคนที่กุมบังเหียนหลักของสภาความมั่นคงก็ยังเป็นฝ่ายกองทัพอยู่ ซึ่งวิธีการรับมือกับวิกฤติ เช่น สงครามหรือภัยก่อการร้ายกับการรับมือวิกฤติน้ำแล้ง ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ สาธารณสุข หรือสิ่งแวดล้อม ใช้วิธีการและเครื่องมือในการรับมือแตกต่างกันไปหมดเลย

“คนที่ทำงานในนั้นเข้าใจหรือเปล่าว่าคุณจะต้องรับมือกับวิกฤตต่างๆ ด้วยเครื่องมือที่ต่างกัน วิธีบริหารจัดการที่ต่างกัน หรือคุณเข้าไปโดยที่ใช้คนแบบเดียว วิธีคิดแบบเดียว ความเข้าใจในการบริหารจัดการความมั่นคงแบบเดียวในการรับมือ สุดท้ายแล้วภัยความมั่นคงที่เราบอกว่าเหมารวมทั้งหมดแล้วมันไม่มีทางรวมทั้งหมดจริงๆ ได้ในความคิดของผม เพราะตอนนี้วิธีคิดและการอธิบายเรื่องความมั่นคงยุคใหม่สามารถมองทุกประเด็นเป็นประเด็นความมั่นคงได้ โดยขอให้มันกระทบต่อการดำรงอยู่ ดังนั้น คุณไม่มีทางที่จะตั้งองค์กรหนึ่งที่สามารถครอบจักรวาลจริงๆ ได้และในเวลาที่เกิดช่องว่างลักษณะแบบนี้คุณมีวิธีรับมืออย่างไร

“ปัญหาคือองค์กรลักษณะแบบนี้มีโอกาสที่จะแช่นิ่ง ไม่ปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงมากกว่า บางที่จึงใช้วิธีว่าถ้าตอนนี้เกิดวิกฤตหนึ่งขึ้นก็ใช้องค์กรที่เชี่ยวชาญในวิกฤตนั้นเป็นตัวนำ ซึ่งอาจจะช้ากว่าในช่วงต้น แต่จะแก้ปัญหาได้ตรงกว่าในระยะยาว หรือจะเป็นระบบผสมก็ได้คือช่วงต้นที่ต้องการความเร็วอาจใช้การรวมศูนย์อย่างสภาความมั่นคงรับมือในภาพรวมไปก่อน พอจัดสรรได้แล้วว่าองค์กรไหนที่มีความเชี่ยวชาญจะเป็นผู้นำก็ค่อยส่งไม้ต่อให้องค์กรนั้นเป็นผู้ควบคุมดูแล

“แต่กรณีของไทย สุดท้ายแล้วมันกลับมาที่ว่าคุณคิดจะปกป้องใคร ถ้าคุณไม่ได้คิดจะปกป้องประชาชนเป็นหลัก แต่คิดจะปกป้องอีกขาหนึ่งเป็นหลัก การเกิดขึ้นขององค์กรซึ่งรวมศูนย์และอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเงื่อนไขซึ่งสะดวกกว่าและทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าถ้าเขาคิดจะปกป้อง absolutism เป็นหลัก เพราะมันจะมองปัญหาในมิติที่น้อยลงมาก

“เวลาที่คุณมองการแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดกับประชาชน มันจะมีความจำเป็นและความเชี่ยวชาญล้านรูปแบบที่ต้องเกิดขึ้นซึ่งองค์กรหนึ่งไม่มีทางครอบคลุมได้หมด แต่ถ้าคุณคิดจะปกป้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นหลัก กรอบวิธีคิดและกลไกเครื่องมือในการดูแลปกป้องมันจะน้อยลงเยอะ แบบนี้ความต้องการความชำนาญพิเศษก็จะน้อยลง”

ภาพเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณเขตพื้นที่พรมแดน ไทย-มาเลเซีย จ.นราธิวาส ทหารดูแลเขตพื้นที่รับผิดชอบพรมแดน ไทย-มาเลเซีย วางมาตรการการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมเชื้อไวรัส COVID - 19 จากบุคคลที่อาจจะลักลอบผ่าน เข้า-ออก (ภาพจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า)

การยืนกรานพื้นที่ของกองทัพ ในวันที่ความมั่นคงไม่ได้อยู่ในมือกองทัพ

ในประเด็นที่ 2 กฤดิกร ไม่คิดว่าเป็นความพยายามขยายพรมแดนและบทบาทหน้าที่ของกองทัพ แต่เป็นการยืนกรานที่จะรักษาขอบเขตอำนาจเดิมของกองทัพเอาไว้ให้ได้ ในภาวะที่วิธีการแบบเดิมของกองทัพถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้การไม่ได้

“นี่คือความพยายามยืนกรานจุดยืนของกองทัพว่า ฉันคือตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่าผู้รักษาดูแลความมั่นคงของชาติ ผมคิดว่าตรงนี้สะท้อนผ่านจังหวะที่พลเอกอภิรัชต์ออกมาใส่ชุดคลุมตัวไปฉีดพ่นยา สำหรับผมมันดูตลก เมื่อเกิดโควิด-19 เวลาคนพูดถึงความมั่นคงทางสาธารณสุข พูดถึงหมอในฐานะนักรบเสื้อขาว กลายเป็นว่าหมอเป็นตัวแทนหลักของความมั่นคงของชาติในเวลานี้ขึ้นมา แต่วิธีคิดของกองทัพคือ ฉันต้องทวงคืนพื้นที่การเป็นตัวแทนความมั่นคงของตัวฉันกลับมาอยู่ในมือฉันให้ได้ ดังนั้น ฉันจึงออกไปรบกับหมอด้วยนะ มันหมายถึงฉันจะไม่ยอมให้ใครมาแย่งความมั่นคงออกไปจากมือของฉันได้ ด้วยการคิดแบบนี้เราจะไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ เพราะฐานคิดของกองทัพคือฉันต้องยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ในมือของฉันให้ได้ เพื่อที่ฉันจะได้ดูแลความมั่นคงของชาติต่อไป ซึ่งคำว่าความมั่นคงของชาติก็กลับไปสู่คำถามเดิมที่ว่าชาติของใคร

“เพราะถ้าฉันมอบสิ่งนี้ให้คนอื่นไป หนึ่งคือสิ่งที่เขาดูแลจะเป็นสิ่งเดียวกับที่ฉันดูแลไหม สอง กองทัพไทยไม่เคยรบกับใครมาเป็นชาติแล้ว ไม่มีความสำคัญในฐานะกำลังในเชิงกายภาพอีกแล้ว แล้วบอกว่าจะมาบริการประชาชนในภาวะวิกฤตเหรอ ผมยุบองค์กรคุณแล้วตั้งองค์กรใหม่ที่ถูกฝึกมาในด้านนี้โดยเฉพาะโดยใช้งบประมาณน้อยกว่าคุณครึ่งหนึ่งก็ทำได้ ที่อ้างว่าเวลาทหารช่วยน้ำท่วม ทหารเย็บหน้ากาก มันไม่เมคเซ้นส์ในตัวมันเองอยู่แล้ว

“เรียกได้ว่าศักดิ์ศรีเดียวที่กองทัพมีอยู่คือการปกป้องชาติในฐานะการปกป้องตัวสถาบันในฐานะที่ชาติเกิดขึ้นมาผ่านตัวสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ถ้าหน่วยของการปกป้องไม่ใช่สถาบันอีกต่อไป แต่เป็นประชาชนโดยตรง กองทัพก็ไม่มีประโยชน์แล้วสิ เพราะกองทัพไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนโดยตรงมานานมากแล้ว และของเดิมซึ่งเป็นตัวแทนของศักดิ์ศรีของกองทัพในการปกป้องก็จะไม่ถูกปกป้องอีกต่อไป พูดง่ายๆ คือกองทัพไม่เหลือเหตุผลใดๆ เลยในการจะมีอยู่ ดังนั้น มันจึงเป็นการยืนกรานที่จะยึดครองอำนาจและถือไม้ความมั่นคงนี้ต่อไป แม้ว่าไม้นั้นไม่ควรจะเป็นของตนเองอีกต่อไปแล้วก็ตาม”

ส่วนกรณีที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกมาขู่ประชาชนเรื่องปิดประเทศ กฤดิกร กล่าวว่า

“ไม่ว่าที่ไหนในโลก ในรัฐประชาธิปไตยคนอย่างผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศแบบนั้นได้ คนที่มีสิทธิ์จะพูดแบบนั้น ถ้าจะมี มีแค่ผู้นำฝ่ายบริหารที่มีอำนาจจัดการสูงสุดในภาวะวิกฤตของชาติเท่านั้น ซึ่งก็จะไม่พูด ถ้าไม่ใช่ภาวะจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่เอามาพูดเพื่อขู่คน แต่พูดในฐานะที่ว่าตอนนี้เป็นนโยบายจำเป็นแล้ว อันนี้จึงสะท้อนวิธีคิดแบบโบราณที่ไม่รู้หัวนอนปลายตีนตัวเองของกองทัพไทย”

ทั้งหมดนี้ ในมุมมองของกฤดิกร สรุปได้ว่า

“วิกฤตของมาตรการจัดการปัญหาของไทยเกิดจากการไม่มีความชัดเจนว่า ใครคือเป้าหมายที่ฉันต้องปกป้องในระบบ เพราะคุณไม่ใช่ชาติในความหมายที่ว่าชาติคือประชาชนอย่างแท้จริง และคุณเองก็ไม่ใช่ absolute monarchy แต่เป็นระบบที่ผูกติดกันอยู่อย่างแยกไม่ออก กลายเป็นว่ารัฐบาลต้องให้น้ำหนักทั้งสองฝั่งอย่างใกล้เคียงกันหรือให้น้ำหนักอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า แต่ยังต้องให้ทั้งสองฝั่ง ซึ่งไม่มีทางดูแลได้ครบ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท