Skip to main content
sharethis

รายงานในนิวยอร์กไทม์เผยบทเรียนสำคัญทั่วโลกเพื่อรับมือการระบาดของไวรัส Covid-19 เพื่อช่วยชีวิตประชาชนได้จำนวนมากและเพื่อกอบกู้สถานการณ์ ซึ่งจำเป็นต้อง (1) ตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ เปรียบเทียบกรณีเกาหลีใต้กับจีน (2) ติดตามค้นหาบุคคลแวดล้อมผู้ติดเชื้อแบบสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง (3) ศึกษาจากจีนเมื่อการปิดชุมชนช่วยได้ไม่มาก เพราะการระบาดเกิดขึ้นในครอบครัวใกล้ชิด จึงต้องแยกกักผู้ป่วย (4) สวัสดิการสุขภาพจะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์ แต่สหรัฐอเมริกาเมื่อสวัสดิการไม่ดี จึงเกิดการระบาดจนควบคุมได้ยาก และ (5) กรณีจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ระดมสรรพกำลังเหมือนอยู่ในสงคราม ช่วยให้ระบบสาธารณสุขทำงานต่อไปได้

คอลัมน์​ The Interpreter ของ the New York Times ​ถอด​ 9​ บทเรียนสำคัญในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เผยแนวทางมาตรการที่ทำให้บางประเทศช่วยชีวิตประชาชนได้มากกว่าหรือกอบกู้สถานการณ์ได้เร็วกว่าประเทศอื่น​ๆ

Max Fisher และ Amanda Taub นำเสนอในบทความ “9 บทเรียนที่สำคัญจากทั่วโลกเพื่อสู้กับไวรัสโคโรนา” เผยแพร่เมื่อ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา เล่าว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ เชื้อได้กระจายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 188 ประเทศ และส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 1.33 ล้านราย และพรากชีวิตผู้คนไปกว่า 73,917 รายแล้ว (ข้อมูลจนถึงวันที่ 6 เม.ย. 63) แต่ข้อมูลเท่าที่รวบรวมได้จนถึงขณะนี้ช่วยทำให้เห็นแบบแผนและบทเรียนสำคัญที่อาจช่วยให้มนุษยชาติสามารถรอดพ้นจากโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่นี้ได้เช่นกัน โดยมาตรการของรัฐบาลและสังคมสามารถเปลี่ยนเลขอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตได้มากกว่า 10 เท่า

ผู้เขียนคอลัมน์เล่าต่อไปว่าในปัจจุบันประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ กลุ่มแรกได้แก่ ประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหวจนอัตราผู้เสียชีวิตสูงขึ้น เช่น ประเทศอิหร่านและอิตาลี กลุ่มต่อมาได้แก่ประเทศที่การแพร่ระบาดของเชื้อช้ากว่าและมีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยกว่ามาก เช่น ประเทศเกาหลีใต้  ไต้หวัน และสิงคโปร์ ส่วนกลุ่มสุดท้ายได้แก่ประเทศที่พลิกสถานการณ์จากร้ายเป็นดีได้ เช่น ประเทศจีน แต่ก็มีที่สถานการณ์พลิกจากดีเป็นร้ายเช่นกัน เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา (และอาจรวมถึงกรณีของญี่ปุ่นด้วย จากที่ประชาไทได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทำไมบางประเทศประสบความสำเร็จในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำไมบางประเทศพลิกสถานการณ์ได้ และทำไมบางประเทศถึงเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก เพื่อตอบคำถามนี้ คอลัมน์ของ the New York Times ได้พยายามถอดบทเรียนที่สำคัญออกมา 9 ข้อด้วยกัน โดยหมายเหตุเอาไว้ว่าแม้จะยังมีประเด็นให้ต้องศึกษาอีกมาก แต่การลดจำนวนผู้เสียชีวิตและหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาดยังเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้

ห้องทดลองของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ภาพถ่ายเมื่อ 19 มีนาคม 2020 (ที่มา: Flickr/Official Photo by Mori / Office of the President of Taiwan)

 

บทเรียนที่ 1 - การตรวจโรคแต่เนิ่น ๆ สร้างความแตกต่างได้อย่างเห็นได้ชัด (จีนและเกาหลีใต้)

บทเรียนต่าง ๆ วางอยู่บนหลัก 2 ประการด้วยกัน 

ประการแรกคือประเทศต่าง ๆ จะจัดการปัญหาได้อยู่หมัดถ้าออกมาตรการราวกับว่าสถานการณ์โรคระบาดนำหน้าปัจจุบันไปแล้วสองอาทิตย์ ทั้งที่จริง ๆ ยังดูเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น เหตุที่ควรทำเช่นนี้เพราะช่วงนับตั้งแต่ตอนที่ติดเชื้อจนถึงตอนที่ตรวจโรคนั้นใช้เวลาถึง 1-2 สัปดาห์ โรคนี้คาดว่าใช้เวลาฟักตัวกว่า 5 วันจึงจะเริ่มแสดงอาการ ซ้ำยังต้องรออีก 2-3 วันกว่าผู้ติดเชื้อจะตัดสินใจไปหาหมอเพื่อตรวจโรค หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลความรู้ที่ได้รับ ความกระตือรือร้นในการไปขอตรวจ ความสามารถในการเข้าถึงการตรวจ ยังไม่รวมปัจจัยค่าใช้จ่ายในการรักษาหรือความไม่สะดวกอื่น ๆ และหลังจากตรวจแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 วันกว่าจะรู้ผล 

หากพิจารณาว่าช่วงตั้งแต่ตอนติดเชื้อไปถึงวันตรวจโรคใช้เวลาถึง 1-2 สัปดาห์ บวกกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนารวดเร็วมาก (หากไม่มีการควบคุม จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าทุก ๆ 2 วัน) การคาดการณ์และออกมาตรการล่วงหน้าไปก่อนจึงไม่ใช่แนวทางที่ดูเกินเลยแต่อย่างใด เพราะจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่าที่เราเห็นถึง 128 เท่า ในช่วงแรกเราอาจเห็นผู้ป่วยเพียงไม่กี่คน แต่จริง ๆ เชื้อโรคแพร่กระจายไปไกลแล้ว จนส่งผลให้ระบบสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยไม่ไหวในภายหลัง ดังนั้น ประเทศที่จัดการปัญหาได้ดีคือประเทศที่คาดการณ์และออกมาตรการล่วงหน้าไปก่อน 

หลักการต่อมาคือการออกมาตรการเชิงรุกแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้าย มีประสิทธิภาพกว่าการออกมาตรการตอบโต้หลังโรคระบาดแพร่กระจายไปแล้ว หรือพูดเป็นสำนวนไทยได้ว่าตัดไฟแต่ต้นลมดีกว่าวัวหายล้อมคอก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเด็นด้านเงื่อนเวลาที่กล่าวไปข้างต้น แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกมาตรการเชิงรุกแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในเวลาหนึ่ง ๆ ได้ และช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในเวลาเดียวกันมากเกินไปจนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  

การตรวจโรคเชิงรุกนับว่าตอบโจทย์ทั้ง 2 หลักการ เพราะช่วยให้รัฐบาลเห็นข้อมูลภาพรวมของการระบาด และช่วยให้เห็นด้วยว่าเชื้อแพร่กระจายไปที่ไหนและอย่างไร ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นวงกว้างที่สุดในโลก โดยส่วนใหญ่การตรวจจะเกิดขึ้นในศูนย์บริการที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจได้ด้วยการเพียงแค่ขับรถผ่าน หรือที่รู้จักกันว่าศูนย์ไดร์ฟทรู มาตรการเช่นนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจหาและแยกตัวผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังช่วยให้เห็นจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาด เช่น โบสถ์หรือออฟฟิศที่มักพบการติดเชื้อบ่อยครั้งด้วย จากมาตรการเหล่านี้ เกาหลีใต้จึงมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ผู้นำเกาหลีใต้เน้นย้ำว่าความสำเร็จของเกาหลีใต้มาจากการตรวจโรคเชิงรุกในลักษณะนี้

การตรวจโรคเชิงรุกเป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อพลิกสถานการณ์วิกฤติให้กลับมาดีขึ้นเช่นกัน บุคคลที่มีอาการเหมือนติดเชื้อโควิดจะถูกบังคับให้ตอบคำถามอย่างละเอียดและเข้ารับการตรวจโรคด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ โดยรัฐบาลจีนยังได้ตั้งศูนย์ขึ้นมาเพื่อคัดกรองและตรวจผู้ป่วยเป็นการเฉพาะด้วย แนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเห็นภาพของการระบาด และช่วยให้รัฐบาลจีนพลิกสถานการณ์กลับมาได้จากเดิมที่เคยอยู่ในขั้นวิกฤติ นอกจากนี้ การตรวจโรคเชิงรุกยังช่วยให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นับเป็นการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและลดภาระของสถานพยาบาลด้วย

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ที่พูซาน เกาหลีใต้ ภาพถ่ายเมื่อ 22 มีนาคม 2020 (ที่มา: Wikipedia/Busan Metropolitan City)

บทเรียนที่ 2 - ติดตามค้นหาผู้เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อ อาจฟังดูน่ากระอักกระอ่วน แต่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพยิ่ง (สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง)

การติดตามค้นหาผู้เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า contact tracing นับว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการสกัดการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนามาก แม้ว่าอาจฟังดูเป็นการล่วงล้ำข้อมูลความเป็นส่วนตัวก็ตาม 

ในประเทศสิงคโปร์ ช่วงกลางเดือนมีนาคม ประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ รัฐบาลประกาศว่าไม่ต้องใส่หน้ากากหากไม่ได้มีอาการป่วยเพื่อเก็บเอาไว้ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แม้ไม่ได้ใช้มาตรการสุดโต่งเหมือนในประเทศจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และถึงแม้ว่าในเวลาต่อมารัฐบาลจะตัดสินใจยกระดับมาตรการไปสู่การปิดโรงเรียนและที่ทำงาน และขอความร่วมมือให้ประชาชนใส่หน้ากากแล้ว หลังจากพบผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถสืบสวนสาเหตุของการติดเชื้อ แต่ก็นับว่าสิงคโปร์ก็สามารถสกัดกั้นการแพร่กระจายตัวของโคโรนาไวรัสได้ดี สาเหตุเนื่องมาจากรัฐบาลใช้วิธีการที่เรียกว่าการติดตามค้นหาผู้เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า contact tracing 

กรณีสิงคโปร์ทุกคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถูกสอบสวนด้วยวิธีการทางนิติเวชวิทยาขนาดย่อม (เหมือนกับการพิจารณาคดีอาชญากรรมแต่ลดขนาดลงมา) จากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะติดตามค้นหาผู้ที่เคยพบปะกับผู้ป่วยไม่ช่วงที่ผ่านมา เพื่อนำมาตรวจสอบและกักตัวถ้าจำเป็น แทนที่จะตกเป็นฝ่ายรับ การติดตามผู้เคยพบปะกับผู้ป่วยช่วยให้รัฐบาลสามารถค้นหาเครือข่ายของการแพร่ระบาดและตัดวงจรการแพร่ระบาดออกจากสังคมได้ราวกับผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจากร่างกาย 

แต่เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขมีอยู่จำกัด และไม่สามารถตามตัวผู้เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้ เจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีการเผยแพร่ข้อมูประวัติการเดินทางของผู้ติดเชื้อด้วย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่หลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ประเทศที่ใช้วิธีการลักษณะนี้เช่นกัน ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้และฮ่องกง ขณะที่เกาหลีใต้มีบริการแจ้งเตือนข้อมูลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ผ่านสมาร์ทโฟน ฮ่องกงก็สามารถติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดได้ละเอียดถึงระดับพิกัดอาคาร และมีการอัพเดตแบบเรียลไทม์ในแผนที่ด้วย  

บทเรียนที่ 3 ไม่ใช่แค่ปิดชุมชน ต้องแยกผู้ป่วยรายบุคคลด้วย (จีน)

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนเผชิญกับสภาวะวิกฤติ เพราะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ของการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลจีนสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้แล้ว บรูซ เอลเวิร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อศึกษาดูงานว่ารัฐบาลจีนใช้วิธีการอย่างไรจึงสามารถกลับมาคุมสถานการณ์ได้ 

จากคำบอกเล่าของเอลเวิร์ด รัฐบาลจีนพบว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลหรือเรือนจำ แต่เกิดขึ้นภายในครอบครัว นับเป็นสัดส่วนกว่า 75-80 เปอร์เซ็นต์ของจุดการแพร่ระบาดทั้งหมด หลังจากค้นพบข้อเท็จจริงดังกล่าว รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเน้นปิดชุมชนไปสู่การแยกผู้ป่วยเป็นรายบุคคล แม้ว่าจะต้องอยู่ห่างกับสมาชิกครอบครัวของตนเองก็ตาม แน่นอนว่ารัฐบาลจีนยังคงใช้วิธีการปิดชุมชนควบคู่ด้วย เช่น การปิดโรงเรียน โรงภาพยนตร์ และร้านอาหารทันทีที่พบการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง แต่รัฐบาลไม่ได้สั่งปิดเมืองทั้งหมด มีเพียงเมืองฮู่ฮั่นและเมืองใกล้เคียงเท่านั้นที่รัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าว 

วิธีการที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สกัดกั้นการแพร่ระบาดได้อยู่หมัดจริง ๆ คือการนำผู้ป่วยมากักตัวเป็นรายบุคคล และติดตามค้นหาผู้เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อในรอบ 48 ชั่วโมงก่อนตรวจพบการติดเชื้อ รัฐบาลจีนยังพยายามย่นระยะเวลาการแพร่เชื้อให้สั้นลงและกักตัวผู้ป่วยให้เร็วขึ้นด้วย โดยการตรวจโรคให้ประชานอย่างทั่วถึง การให้ความรู้แก่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นอาการของโรคได้ด้วยตนเอง และการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านสาธารณสุขแบบทวีคูณ (เช่น การเพิ่มสถานพยาบาล เป็นต้น)

เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรและการควบคุมชายแดนของสหรัฐอเมริกา (CBP) ซึ่งสวมถุงมือและหน้ากากอนามัย กำลังตรวจสอบเอกสารการเดินทางของนักบินของสายการบินนานาชาติแห่งหนึ่ง ภาพถ่ายเมื่อ 18 มีนาคม 2020 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติดัลเลส รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา (ที่มา: CBP Photo/Glenn Fawcett)

4. ถ้าค่ารักษาฟรี คุณจะปลอดภัย ถ้าค่ารักษาแพง มันจะฆ่าคุณ (จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา)

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด สาธารณชนจะเป็นพันธมิตรหรือเป็นภาระ ขึ้นอยู่กับระบบสวัสดิการสาธารณสุขของประเทศนั้น ๆ ว่าประชาชนเข้าถึงได้มากน้อยเพียงใด

ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน อย่างไรก็เสียบุคลากรสาธารณสุขและเครื่องสแกนอุณหภูมิร่างกายก็คงไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ดังนั้น โอกาสความสำเร็จของการสกัดกั้นโรคระบาดจึงขึ้นอยู่กับประชาชนว่ามีแรงจูงใจในการไปหาหมอมากแค่ไหนเวลาที่เริ่มแสดงอาการเหมือนผู้ติดเชื้อ 

ถ้าระบบสวัสดิการสาธารณสุขส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงลิบลิ่วอย่างในสหรัฐอเมริกา ประชาชนจะมีแรงจูงใจในการไปหาหมอน้อยลง เพราะไม่อยากจ่ายค่ารักษาหรือเป็นหนี้ถ้าไม่จำเป็น พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลให้ระยะเวลาในการแพร่เชื้อของผู้ป่วยหนึ่งคนยาวนานขึ้น โรคระบาดเลยแพร่กระจายออกไปจนคุมได้ยาก 

กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วตอนที่ไวรัส H1N1 ระบาดเมื่อปี 2552-2553 ในครั้งนั้นสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตกว่า 12,469 ราย งานศึกษากรณีดังกล่าวระบุว่าแม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะขอให้ประชาชนใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ผู้ที่มีอาการ 3 ใน 10 กลับยังคงเดินทางไปทำงานอยู่ อาจเป็นเพราะกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถ้าจะหยุดงานไปหาหมอ พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดถึง 27 เปอร์เซ็นต์
    
ในประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือรัฐบาลอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูง มีตัวเลขการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาน้อยกว่ามาก เพราะประชาชนมีแรงจูงใจในการเดินทางมาหาหมอมากกว่า เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจีนเองก็จัดอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้เช่นกัน เพราะรัฐประกาศเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจและรักษาไวรัส 19 ทั้งหมด   

ประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน แห่งไต้หวัน ตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เมื่อ 9 มีนาคม 2020
(ที่มา: Flickr/ Official Photo by Mori / Office of the President of Taiwan)

5. การระดมกำลังเหมือนอยู่ในสงคราม ช่วยให้ระบบสาธารณสุขทำงานต่อไปได้ (จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน)

ในประเทศจีน บรูซ เอลเวิร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกเล่าว่า พนักงานส่งของถูกเกณฑ์ให้ไปค้นหาคนที่เคยพบปะกับผู้ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ทางหลวงถูกคำสั่งให้วัดอุณหภูมิคนไข้ ส่วนพนักงานต้อนรับถูกเกณฑ์ให้ไปทำงานควบคุมการแพร่ระบาด กล่าวคือ “พวกเขาระดมกำลัง เหมือนอยู่ในสงคราม” 

ในเกาหลีใต้ รัฐบาลเน้นไปที่การระดมกำลังจากภาคเอกชนมากกว่าที่จะเกณฑ์แรงงานเป็นรายบุคคล แต่ช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบสาธารณสุขได้ไม่ต่างกัน รัฐบาลเกาหลีใต้มีการประกาศข้อบังคับด่วนเพื่ออนุญาติให้บริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขสามารถคิดค้นเครื่องตรวจโรคและวิธีการที่ออกแบบมาสำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะได้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเช่นนี้ช่วยให้รัฐบาลยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถของภาคเอกชนในการทำทุกอย่างตั้งแต่การออกแบบเครื่องตรวจไปจนถึงการฆ่าไวรัส 

ในไต้หวัน หน่วยงานของรัฐบาลได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจโรค อาศัยการเกณฑ์หมอและห้องทดลองของเอกชนเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังมีมาตรการต่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ ด้วย เช่น ในกรณีที่ปิดบังข้อมูลการติดเชื้อ หรือ ไม่กักตัวเพื่อสกัดโรค แนวปฏิบัติเหล่านี้ไม่ต่างจากเวลาอยู่ในสงครามเลย แต่เจ้าหน้าที่ของไต้หวันเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้ช่วยให้การแพร่เชื้ออยู่ในระดับต่ำได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นการจำกัดเสรีภาพบ้างก็ตาม 

แปลและเรียบเรียงจาก

Max Fisher and Amanda Taub, “The Interpreter: 9 Essential Lessons on Fighting Coronavirus From Around the World”, the New York Times, 19 March 2020.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net