โฆษกศบค.แถลงผู้ป่วยลดเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เผยกักตัว 1 คน/ห้องทำยาก ยันไทยดูแลดีกว่าหลายชาติ

สถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 7 เม.ย. 63 พบผู้ติดเชื้อ 38 ราย กลับบ้านได้ 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย โฆษก ศบค. ระบุจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเป็นเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความร่วมมือของประชาชน เผยกรณีการกักตัวผู้เดินทางกลับจากประเทศที่สัตหีบ ไม่สามารถให้อยู่ 1 คน 1 ห้องได้ เพราะพื้นที่ไม่เพียงพอ ยืนยันไทยดูแลผู้กักตัวดีกว่าหลายชาติ ทั้งอาหารการกิน และการอำนวยความสะดวกต่างๆ

7 เม.ย. 2563 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน

โดยก่อนเริ่มการแถลงนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทาน ในโอกาสนายกรัฐมนตรีนำรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมรับพระราชทานพระราโชบายและอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เม.ย. 2563 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

ความว่า "มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือความเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้ อันที่ 2 ก็คือจากข้อที่ 1 ก็คือการมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุดโดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผน และการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป และแก้ได้ในที่สุด ฉะโนั้น ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดีและก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่าเราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ แต่โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องเสียสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าพอที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”

โดยโฆษก ศบค. ระบุว่า นับเป็น พระมหากรุณาธิคุณของปวงชนชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัส ซึ่งเราต้องทำหน้าที่ของตนเองตามที่ทรงมีกระแสพระราชดำรัสมาในวันนี้และวันต่อๆ ไป เพื่อให้โรคที่กำลังเผชิญกันอยู่นี้ ลดน้อยถอยลง

จำนวนผู้ติดเชื้อประจำวันที่ 7 เม.ย. เพิ่มขึ้น 38 ราย กลับบ้านได้ 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย

สถานการณ์โควิด -19 ในประเทศไทยพบว่า มีตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 38 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม จำนวน 2,258 คน ใน 66 จังหวัด หายป่วย 824 ราย โดยโฆษก ศบค. ย้ำว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 38 รายนั้นลดลงเกิดจากผลการทำงานของทุกคนที่ได้ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล ตั้งแต่การประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 ทำให้การแพร่กระจายเชื้อที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มลดน้อยลงชัดเจนและการที่หลายคนหยุดอยู่บ้าน

สำหรับผู้เสียชีวิต 27 รายเพิ่มเติมขึ้นมา 1 ราย เป็นผู้ป่วยชายอายุ 54 ปี ไม่มีโรคประจำตัวก่อนหน้านี้ไปงานเลี้ยงสังสรรค์หลายที่ รวมทั้งสถานบันเทิงย่านทองหล่อ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2563 ด้วยอาการเหนื่อยไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาวันที่ 14 มี.ค. 2563 ผู้ป่วยก็มีอาการเหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ส่งตัวอย่างการตรวจเชื้อก็พบว่าติดเชื้อ โควิด -19 ผลเอกซ์เรย์พบว่า ปอดอักเสบอย่างรุนแรงและเสียชีวิตวานนี้ (6 เม.ย. 2563) ด้วยอาการทางเดินระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

ส่วนผลการปฏิบัติงานภายหลังการประกาศเคอร์ฟิวนั้น ประชาชนโดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่ก็มีสถิติผู้ฝ่าฝืนหรือไม่มีเหตุผลในการเดินทางช่วงประกาศห้ามในวันที่ 7 เมษายน มีผู้ที่ออกนอกเคหะสถานจำนวน 1,217 ราย จากเดิมวันที่ 6 เม.ย. 2563 มีจำนวน 919 ราย จาก 4 วันที่ผ่านมามีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นและมีผู้ที่รวมกลุ่ม ชุมนุมหรือมั่วสุมกันในวันแรกมีจำนวน 8 รายเพิ่มขึ้น เป็น 39 รายและเพิ่มจำนวน 76 ราย จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามระเบียบที่ออกมาให้มากขึ้น หากสถิติไม่ลดลง อาจจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ที่เข้มขึ้น ผลการตักเตือนแล้วจำนวน 246 ราย และ ดำเนินคดีจำนวน 1,047 ราย รวมต้องดำเนินคดีทั้งหมด 1,293 ราย มาตรการนี้เป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งยังต้องคงไว้โดยจะมีรายงานให้ทราบทุกวัน 

กักตัว 1 คน 1 ห้อง ทำยากเพราะพื้นที่ไม่เพียงพอ เชื่อไทยดูแลดีกว่าหลายชาติ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การกักตัวที่สัตหีบที่ให้ผู้ซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศมาพักรวมกันห้องละ 3 คน จะสอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เข้าพักเพียงห้องละราย นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากที่ดูจากกระแสตอบรับพบว่า ขณะนี้มีประชาชนหลายคนส่งข้อความมาบอกว่าอยากจะไปอยู่ที่นั่น เนื่องจากมีความสะดวกสบาย ทั้งเรื่องอาหารการกิน การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทหารดำเนินการให้ แต่สาเหตุที่ไม่สามารถให้พักคนละ 1 คนได้นั้นเป็นเพราะสถานที่ไม่เพียงพอต่อการรับรอง เนื่องจากจำนวนคนนับพันคน หากต้องหาห้องพักที่เป็นห้องพักเดี่ยวจะต้องหาห้องพักอีกนับพันห้อง ทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่า น้อยประเทศที่จะดูแลรายละเอียดดีขนาดนี้

“ท่านทราบไหมว่าท่านมากลุ่มหนึ่ง เราต้องมีคนดูแลท่านเท่าไหร่ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ คนทำความสะอาด คนทำอาหาร ทหาร ตำรวจ หรือคนที่เกี่ยวข้อง ต้องมาดูแลเรื่องความปลอดภัยอีก ถ้าจะต้องมีพื้นที่อย่างสัตหีบอีก 10 ที่ จะต้องใช้คนอีกเท่าไหร่ ความสะดวกสบายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราคำนึงถึง ฝากให้ประชาชนอดทนอีกนิดหนึ่ง” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท