ครม. มีมติขยายมาตรการเยียวยา 5 พันบาทจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือนรวม 9 ล้านคน

ครม. อนุมัติปรับ พ.ร.บ.งบ 63 สั่งโอนงบราว 1 แสนล้านแก้ผลกระทบโควิด-19 พร้อมออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขยายเวลาเยียวยาเดือนละ 5,000 จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน

7 เม.ย. 2563 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าที่ประชุมมีการพิจารณาการแก้ปัญหาโควิด-19 ตนในฐานะนายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปคิดมาตรการต่างๆ ออกมาซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่ง โดยวันนี้มีการหารือในประเด็นการจัดทำ พ.ร.บ.การโอนงบประมาณปี 63 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในระบบโดยเติมที่งบกลางให้มากยิ่งขึ้น แต่งบประมาณปี 63 ได้ใช้จ่ายไปพลางก่อนมากพอสมควรแล้ว และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งประมาณ 8 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนแรกที่จะมาเพิ่มเติมในงบกลางที่เหลืออยู่ปัจจุบันประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ที่ใช้จ่ายไปแล้วคืองบกลางที่ตั้งไว้ในปี 63 ประมาณ 69,000 ล้านบาท

“วันนี้พูดกันถึงเรื่อง พ.ร.บ.การโอนงบกลาง ซึ่งจะต้องนำเสนอเข้า ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง โดยดาดว่ามีผลบังคับใช้ต้นเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายข้อกำหนดว่าจะเอาเงินอะไรมาใช้ได้บ้าง โอนส่วนไหนได้บ้าง เพราะบางอย่างก็ไม่โอนไม่ได้ เช่น งบฯ บุคลากรอะไรต่างๆ ที่บางอย่างโอนไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ทราบว่าการเอาตัวเลขใหญ่ๆ มาทั้งหมดแล้วเอา 10% ไปตัดทีเดียวทำได้ยาก ไม่เป็นไปตามกฎหมายและ พ.ร.บ.งบประมาณที่มีอยู่แล้วเดิม” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีที่ครบกำหนดชำระ โดยมีวงเงิน 9 แสนล้าน ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้เป็นการกู้เงิน ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล แต่เป็นการให้อำนาจ ธปท.

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งตั้งวงเงินไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท โดยในระยะที่ 1 ประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นการเยียวยาและใช้ในด้านสาธารณสุข ระยะที่ 2 จำนวน 4 แสนล้านบาทเป็นการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป อย่างไรก็ตาม ต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดนหลังจากนี้ต้องเร่งดำเนินการเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ให้เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพิจารณามาตรามาตรการต่างๆ ไว้แล้วว่าจะใช้เงินตรงไหนอย่างไรบ้าง แต่ก็สามารถปรับโอนกันได้ วันนี้หลายอย่างมีความจำเป็นอยู่

ด้านอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุม ครม. กรณีการเยียวยาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 5,000 บาทต่อเดือน โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ว่า ครม.อนุมัติให้ขยายการช่วยเหลืออาชีพอิสระ จากเดิม 3 เดือน ขยายเป็น 6 เดือน ถึงเดือนกันยายน 2563 โดยจ่ายเงินต่อไปสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนและได้รับอนุมัติไปตามระบบจำนวน 9 ล้านคน

อุตตม ยังตอบคำถามถึงการจะขยายจำนวนผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 5 พันบาท จาก 9 ล้านคนหรือไม่ ว่า วันนี้การลงทะเบียนมาได้มากแล้ว จะขอยึดตรงนี้ไว้ก่อน ส่วนสถานการณ์ข้างหน้าเป็นอย่างไรจะไปพิจารณาดู ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนรับ 5 พัน กำลังดำเนินการ เกษตรกรจะใช้หลักครัวเรือนตามที่เคยดูแลมาแล้ว รายละเอียดกำลังจัดทำว่ารูปแบบเป็นอย่างไรให้เหมาะสม

สำหรับการช่วยเหลือการเลิกจ้างงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ผู้จ้างงาน ส่วนคนที่ตกงานแล้วให้เป็นไปตามระบบ หากอยู่ระบบประกันสังคม ทางสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการช่วยเหลือ หากเป็นอาชีพอิสระก็เข้าสู่ระบบรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 6 เดือน

โดย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติในวันนี้ จะนำเงินเข้าไปช่วยเหลือประชาชนจากที่ขยายเวลาจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือนด้วย ยืนยันคลังจะกู้เงินภายในประเทศก่อนพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศ

ที่มาจาก: ผู้จัดการออนไลน์ 1  , 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท