10 ปี ศอฉ. ปิดเว็บประชาไท

ครบรอบ 10 ปี ศอฉ.สั่งปิดเว็บประชาไท ขณะที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายไป ศาลแพ่งก็ยกฟ้อง ชี้บทความในเว็บอาจทำให้เข้าใจผิด และอาจทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรง

วันที่ 7 เม.ย.2563 ครบรอบ 10 ปี กรณีที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ์ ในฐานะ ผอ. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส. ภายหลังเปลี่ยนเป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.) ทำหนังสือถึง รมว.ไอซีที ระบุว่าคณะกรรมการ กอฉ. หรือ กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง 36 URL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่องทางการสื่อสารของคนเสื้อแดง รวมทั้งเว็บไซต์ประชาไท ฟ้าเดียวกัน และคนเหมือนกัน โดยอ้างข้อกำหนดตามที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนั้น ยุบสภาเพื่อเเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ศาลแพ่งยกฟ้อง ชี้บทความในเว็บอาจทำให้เข้าใจผิด และอาจทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรง

สำหรับการปิดกั้นเว็บประชาไท มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.53 หรือหลังรัฐบาลประกาศขณะนั้นใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 วัน จากนั้นประชาไทได้เผยแพร่ผ่าน url ใกล้เคียงแทน เช่น prachatai3.info เป็นต้น

22 ธ.ค.53 จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทขณะนั้น แถลงข่าวความเสียหาย 258 วันของการพยายามปิดกั้นข่าวสารของเว็บ ซึ่งจีรนุช ระบุว่า มองในแง่มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับเว็บจะพบว่าจนถึงวันยกเลิกพ.ร.ก.มีความเสียหายเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท คำนวณตามการฟ้องร้องค่าเสียหาย (วันละ 20,000 บาท) ซึ่งประชาไทได้ยื่นฟ้องรัฐบาลและ ศอฉ.ไปแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องระบุว่าเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์อำนาจของนายกฯ และรองนายกฯ ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว

ภายหลังแม้ศาลจะมีการรับฟ้อง แต่เมื่อวันที่ 11 ก.ค.59 ศาลแพ่งก็มีคำสั่งยกฟ้องคดีโดยให้เหตุผลว่า ข่าวกลุ่มรักเชียงใหม่และบทความ ‘ธาตุแท้อภิสิทธิ์’ อาจทำให้เข้าใจผิดว่ารัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อาจทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรง จำเลยจึงเล็งเห็นว่าการปิดเว็บเป็นมาตรการที่จำเป็น จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เกินกว่าเหตุ 

คำสั่งดังกล่าวของ กอฉ. นอกจากปิด เว็บไซต์ 36 URL แล้ว สุเทพ ยังสั่งการให้กระทรวงไอซีทีในฐานะคู่สัญญากับบริษัทไทยคมฯ สั่งให้ไทยคมยุติการให้บริการ People Channel จนนำมาสู่การปะทะกันที่สถานีภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับเสื้อแดงที่ต้องการทวงคืนสถานีในวันที่ 9 เม.ย.53

ชุมนุมแดงจบที่ถูกสลาย-คดี 10 ปี ก็ดูไม่ไปไหน

เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงช่วง มี.ค.-พ.ค.2553 จบลงด้วยการสลายการชุมนุม 2 รอบ ใหญ่ๆ ด้วยกันคือวันที่ 10 เม.ย.53 และช่วงกลางเดือน พ.ค.53 จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมไปถูกผู้ถูกจำกุมดำเนินคดีและถูกคุมขัง สำหรับความคืบหน้าในการติดตามเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมมารับผิดชอบนั้น การไต่ส่วนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม หลายคดีศาลมีคำสั่งระบุว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร แต่คดีที่ฟ้องเอาผิด อภิสิทธิ์ กับ สุเทพ ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. โดยศาล เห็นว่าไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

สำหรับคดีนี้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโดย ศาลพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ทำให้กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ต่อมาเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว

เหตุการณ์เพิ่มเติม 7 เม.ย.53

ขณะที่วันที่ 7 เม.ย.53 นอกจากการปิดเว็บไซต์และ People Channel แล้ว ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า 

เช้า นปช. เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุมวอร์รูมรัฐบาลและรัฐสภาอยู่ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อ้างว่าตำรวจโยนแก๊สน้ำตาเข้ามายังกลุ่มผู้ชุมนุม จึงบุกเข้าไปในรัฐสภา ทำให้ ส.ส. และเจ้าหน้าที่แตกตื่น เมื่อ ส.ส.เพื่อไทยมาเจรจาจึงยอมถอย และยุติการชุมนุมเพื่อเดินทางไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม แต่ระหว่างที่คนเสื้อแดงกำลังทยอยออกไป ได้มีผู้เก็บระเบิดควัน 2 ลูก นำมาให้ อริสมันต์ อ้างว่าเจ้าหน้าที่ขว้างมา อริสมันต์จึงนำคนเสื้อแดงที่เหลือกลับมาเรียกร้องหานายสุเทพ แล้วสั่งให้การ์ดเข้าไปตามหาสุเทพในรัฐสภา จากนั้น สุเทพ พร้อมด้วยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และปณิธาน วัฒนายากร ต่างพากันปีนออกทางพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เหตุการณ์กำลังจะบานปลายแกนนำจากเวทีราชประสงค์ได้โทรศัพท์เข้ามาขอให้อริสมันต์ลงจากเวที

ภาพจากมติชนออนไลน์

ต่อมาเวลาประมาณ 13.20 น. ก่อแก้ว พิกุลทอง และวิสา คัญทัพ ได้มานำการชุมนุมแทนนายอริสมันต์โดยสั่งให้ผู้ชุมนุมออกมาจากรัฐสภา ฝ่ายตำรวจชี้แจงว่าแก๊สน้ำตาที่อริสมันต์อ้างว่าเจ้าหน้าที่โยนใส่ผู้ชุมนุมนั้น เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจล ซึ่งในช่วงที่คนเสื้อแดงปะทะกับเจ้าหน้าที่กระป๋องแก๊สที่ติดตัวได้หล่นลงมาแล้วมีผู้ชุมนุมนำไปมอบให้อริสมันต์

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แกนนำ นปช. ไม่พอใจบทบาทของนายอริสมันต์ ซึ่งไม่ทำตามมติของแกนนำหลายครั้งแล้ว ทั้งตอนไปสาดเลือดหน้าบ้านนายอภิสิทธิ์และการนำมวลชนเข้าไปไล่ทหารในทำเนียบรัฐบาล

นปช. เคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าสถานีสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทำการปิดการถ่ายทอดสด People Channel

ช่วงเย็น แกนนำ นปช. ทั้งหมดขึ้นเวทีราชประสงค์ ประกาศย้ำจุดยืนให้นายกฯ ยุบสภาภายใน 15 วัน

ส่วนที่ จ.นครราชสีมา นปช.ตั้งเวทีปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อเตรียมพร้อมบุกยึดศาลากลางหากมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ

รัฐบาล ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงออกไปตั้งแค่วันที่ 8-20 เม.ย.

ครม.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เขตท้องที่ กทม. นนทบุรี บางอำเภอในจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีสุเทพ เป็นผู้อำนวยการ

เกิดเหตุยิงระเบิด M79 ตกข้างห้องสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน วันเดียวกัน เกิดเหตุปาระเบิดหน้าที่ทำการตำรวจชุมชน (ศูนย์อยู่เย็น) ด้านหน้าทางเข้าห้างเทสโก้ โลตัส สาขานวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม และเกิดเหตุวางระเบิดแสวงเครื่อง (กู้ได้ทัน) บริเวณใต้เชิงสะพานวงแหวนขาออกลงสู่ ถนนรามอินทรา ใกล้กับห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ แขวงเขตคันนายาว กลางดึก เกิดเหตุยิงระเบิด M79 เข้าใส่ห้องออกกำลังกายข้างห้องสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก มีนายทหารบาดเจ็บ 1 นาย
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท