Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแถลงขอให้ยุติการเก็บดีเอ็นเอ ประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด 19 โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในชายแดนใต้ หวั่น จนท. ใช้กำลังกดดันและไม่ให้ข้อมูลว่าเก็บเพื่ออะไร


แฟ้มภาพ: วันที่ 4 มิ.ย. 2562 คัดเลือกทหารเขตเมืองยะลา และเก็บ 'ดีเอ็นเอ'

8 เม.ย. 2563 วันนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการเก็บ DNA ประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด 19 โดยเด็ดขาด เสี่ยงการแพร่กระจายโรคไวรัสโควิด 19 และฝ่าฝืนมาตรการด้านสาธารณสุข

โดยแถลงการณ์ระบุว่า 

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) จังหวัดปัตตานี ได้รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ห้วยปลิง อ.เทพา จ.สงขลา และเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา เดินทางด้วยรถกระบะประมาณ 7 คัน เข้าไปตรวจพื้นที่ ม.3 ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา โดยอ้างว่าเข้ามาตรวจเยี่ยมเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 และได้จอดรถที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งในขณะนั้นมีชาวบ้านกำลังก่อสร้างบ้านอยู่ และได้จัดเก็บสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ-DNA) จากชาวบ้านผู้ชายสามคน อายุ 26 ปี 21 ปี และ 18 ปี  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การจัดเก็บดีเอ็นเอจากประชาชนดังกล่าวเป็นการอ้างใช้บังคับกฎหมายพิเศษอย่างไม่ชอบธรรม จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง ยุติการจัดเก็บดีเอ็นเอจากประชาชนโดยทันที ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย และสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของตน ที่บุคคลอื่นใดหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจล่วงละเมิดได้ การจัดเก็บดีเอ็นเอของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยที่ประชาชนจำยอมหรือไม่สมัครใจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ไม่ว่าจะโดยการอ้างตัวบทกฎหมายกฎหมาย เหตุผลหรือในสถานการณ์ใดๆทั้งสิ้
  2. การจัดเก็บดีเอ็นจากประชาชน เจ้าหน้าที่จะทำได้เฉพาะกรณีที่ประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยผู้ต้องหายินยอมและเป็นไปตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 โดยจะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนเท่านั้น เพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้บริสุทธิ์มิใช่ผู้ต้องหาในคดีอาญาย่อมมีสิทธิที่ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บดีเอ็นเอของตนได้
  3. การจัดเก็บดีเอ็นเอจากประชาชนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ แม้จะมีการให้ลงชื่อในเอกสารให้คำยินยอมก็จริง แต่การที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจัดเก็บดีเอ็นเอจากประชาชนในลักษณะที่ใช้กำลังกดดัน และโดยที่ไม่ได้ให้ข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับการจัดเก็บดีเอ็นเออย่างเพียงพอว่า เก็บไปเพื่ออะไร ใครเป็นผู้เก็บ ใครเก็บรักษา เก็บรักษาอย่างไร ใครบ้างที่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลดีเอ็นเอ เพื่อวัตถุประสงค์ใด อย่างไร และจะตรวจสอบความเป็นธรรมและโปร่งใสอย่างไร ใครเป็นผู้ตรวจสอบเป็นต้น รวมทั้งต้องอธิบายถึงสิทธิที่ประชาชนจะปฏิเสธการเก็บดีเอ็นเอได้โดยไม่มีความผิดใดๆ (informed consent) เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะให้ความยินยอมหรือไม่ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
  4. ในกรณีที่เกิดขึ้นใน ต. ลำไพล อ. เทพา จ. สงขลา ดังกล่าวข้างต้น จากภาพถ่ายและการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง พบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังถึง 7 คันรถ มีการนำอุปกรณ์การตรวจเก็บที่เป็นสำลีพันไม้ พร้อมกล่องกระดาษให้ลงชื่อที่กล่อง รวมทั้งการเก็บลายพิมพ์นิ้วมือทั้งสิบนิ้วของบุคคลทั้งสามในเอกสารของทางราชการ ราวกับว่าเป็นการบันทึกประวัติอาชญากร ในขณะที่ทุกฝ่ายมีความพยายามในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด 19 และมีมาตรการทางสาธารณสุขเช่น การกักตัว การเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว  แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 เช่นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเก็บเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสหรือไม่ ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ได้ ทั้งต่อผู้เก็บดีเอ็นเอและผู้ถูกเก็บ น่าจะเป็นการฝ่าฝืนนโยบายของรัฐบาล ความคาดหวังของสังคมและมาตรการทางสาธารณสุข ที่ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19  
  5. การตรวจเก็บดีเอ็นเอในครั้งนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยอ.เทพาในเป็นหนึ่งใน 8 อำเภอ[1]ที่ปัจจุบันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ประกาศเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง รัฐบาลจึงประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ถึง 30 พ.ย.2563  ซึ่งมาตรา 15[2]  จึงไม่สามารถประกาศใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทับพื้นที่ดังกล่าวได้อีก การที่ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเข้าไปตรวจเยี่ยม ตามพรก.ฉุกเฉินฯเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด โควิด 19 อาจเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
  6. การจัดเก็บดีเอ็นเอที่ผ่านมาในจังหวัดชายแดนใต้และในกรณีที่เกิดขึ้นที่ อ.เทพา จ.สงขลาดังกล่าวข้างต้น ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยกกำลังกำลังกันไปเป็นจำนวนมากอันเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปโดยการสั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจหรือทำตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐและผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง
  7. การจัดเก็บดีเอ็นเอลักษณะนี้ต่อเยาวชนจึงเป็นเรื่องน่ากังวล และหากเป็นการจัดเก็บดีเอ็นเด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ยิ่งต้องมีความระมัดระวังเพราะถือว่าเป็นเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครองในทุกด้าน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและต้องไม่ใช่การตรวจสอบคล้ายการทำประวัติอาชญากรดังเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเคร่งครัดจึงขอให้ยุติการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

                                                ——————————


[1]  พื้นที่ 8 อำเภอที่ประกาศใช้พรบ.ความมั่นคงภายใน ได้แก่ สี่อำเภอจังหวัดสงขลาได้แก่ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ อ.นาทวี และอีกสามอำเภอ ได้แก่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ. เบตง จ. ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และอ.สุคิริน จ.นราธิวาส

[2]  มาตรา 15  ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่ยังไม่มีความจําเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานานทั้งอยู่ในอํานาจหน้าที่หรือความ รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยคณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กําหนดได้ทั้งนี้ ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วไป

ในกรณีที่เหตุการณ์ตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงหรือสามารถดําเนินการแก้ไขได้ตามอํานาจหน้าที่ ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบตามปกติ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้อํานาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง และให้นายกรัฐมนตรีรายงานผลต่อสภาผู้แทนราษฎรและ วุฒิสภาทราบโดยเร็ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net