ไร้มาตรการเยียวยาแรงงานข้ามชาติ เซ่นเศรษฐกิจคุมโควิด-19 อาจเจ็บแต่ไม่จบ

เมื่อความเสียหายทางเศรษฐกิจเพื่อการควบคุมโควิด-19 ซับซ้อนกว่าการเยียวยา แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายยังไม่มีมาตรการเยียวยาแต่ตกงานเหมือนกันกับคนไทย ประชาสังคมแนะ ผ่อนผันกระบวนการด้านสถานะ กระตุ้นจ้างงาน ประสานชุมชนเรื่องข้อมูลการเข้า-ออกและการสนับสนุน

แรงงานในไซต์ก่อสร้าง (แฟ้มภาพ)

  • แม้มติ ครม. จะผ่อนปรนการต่อใบอนุญาตทำงานและให้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายสามารถอยู่ในไทยต่อไปได้ชั่วคราวในช่วงที่รัฐควบคุมการระบาดโควิด-19 แต่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาการว่างงาน
  • ภาคประชาสังคมทั้งที่ชายแดนและตอนในของประเทศไทยกำลังกังวลว่าแรงงานอาจตัดสินใจเดินทางกลับประเทศหรือตัดสินใจซ่อนตัวในไทยเมื่อขาดรายได้และขาดสถานภาพทางกฎหมาย และนั่นจะไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรคระบาด
  • มีผู้ลี้ภัยที่แอบอาศัยและทำงานในไทยอย่างผิดกฎหมายอยู่เดิม การเข้าถึงบริการสาธารณสุขและผ่อนปรนให้อยู่ในไทยได้ชั่วคราวจะช่วยในการควบคุมโควิด-19
  • ประชาสังคมที่ชายแดนกำลังหาทางรับรองการเดินทางเข้า-ออกประเทศของแรงงานข้ามชาติอยู่

คำสั่งปิดพรมแดน ภาวะฉุกเฉิน และการถูกเลิกจ้าง เป็นส่วนผสมที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับประเทศต้นทางจำนวนมากในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ก็ถือเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แลกกับการควบคุมโรคตามที่พูดกันเล่นๆ ว่า “เจ็บแต่จบ”

แต่การควบคุมโรคไม่ใช่การดวลปืนในหนังคาวบอย ด้วยเศรษฐกิจที่ซบเซาและการขาดนโยบายเยียวยาจากการว่างงานของแรงงานข้ามชาติ การควบคุมโรคอาจ “เจ็บแต่ไม่จบ”

ไม่มีงาน ไม่มีเยียวยา อาจอยู่นิ่งไม่ได้

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า แรงงานข้ามชาติที่มีแนวโน้มจะหลุดจากระบบขณะนี้มีอยู่ราว 4 กลุ่ม ซึ่งคาดว่ามีจำนวนทั้งหมดอย่างน้อยราว 5 แสนคน ได้แก่

  • กลุ่มที่ขยายเวลาใบอนุญาตทำงานไม่ได้ 
  • กลุ่มที่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายอยู่แล้ว 
  • กลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง แต่เปลี่ยนนายจ้างใหม่ไม่ได้เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ เช่น กรมการจัดหางานยังไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ก็จะอยู่ในภาวะตกงาน 
  • กลุ่มที่ทำงานโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว ต้องใช้หนังสือรับรองจากสถานทูตไปต่อวีซ่าที่ ตม. ก็จะมีปัญหาเรื่องการเดินทางในการเดินเรื่อง

สิ่งที่อดิศรกังวลคือ แนวโน้มการเลิกจ้างมีมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากธุรกิจด้านบริการที่รัฐสั่งปิด ไปถึงโรงงานต่างๆ ที่ไม่มีออเดอร์สินค้า ซึ่งจะทำให้แรงงานที่ถูกกฎหมายค่อยๆ หายไปจากระบบ เนื่องจากจะไม่มีนายจ้างไปต่อใบอนุญาตทำงาน แม้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะทำให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในประเทศต่อไปได้ก่อนชั่วคราว แต่หากไม่มีรายได้ พวกเขาอาจจะอยู่เฉยไม่ได้

“ส่วนแรก ตัวแรงงานมีแนวโน้มจะกลับบ้านมากขึ้น คือจะแอบเดินทางกลับประเทศต้นทางมากขึ้น เพราะอย่างน้อยการกลับบ้านก็มีข้าวกิน ความน่าห่วงก็คือมันก็จะเกิดการกระจายโรคระบาดจากประเทศไทยกลับสู่ประเทศต้นทางมากขึ้น เราพบในกรณีของพม่าว่ามีคนที่ติดเชื้ออย่างน้อยหนึ่งคนจากประเทศไทย”

“สอง จะมีคนที่ต้องแอบซ่อนอยู่ในประเทศไทย และไม่สามารถเข้าถึงบริการอะไรได้ ความน่าห่วงก็คือ พอเจ็บป่วย ติดเชื้อขึ้นมา การเข้าถึงบริการก็จะน้อยลง อันนี้ผมคิดว่าน่าห่วงมากกว่า” อดิศรกล่าว

แรงงานข้ามชาติไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของประกันสังคม เพราะไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย จึงไม่สามารถรับเงินเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือนจากเว็บ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

อดิศรเล่าอีกว่า แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จะให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ในวันที่หยุดกิจการชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย แต่นายจ้างก็เลือกที่จะปิดกิจการไปเลยเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินส่วนนี้

อดิศรเสนอให้มีลักษณะการจ้างงานยืดหยุ่นขึ้น เช่น ให้มีนายจ้างได้มากกว่า 1 คนให้สอดคล้องกับลักษณะปัจจุบัน และกระตุ้นการจ้างงาน แม้ว่าเขาเห็นด้วยกับการให้มีมาตรการช่วยเหลือเป็นเงินอย่างที่คนไทยได้รับ แต่ก็ยังสงสัยว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน ต้องคุยกันว่าจะทำยังไงให้เกิดการเลิกจ้างน้อยที่สุดและยังอยู่ด้วยกันได้

“ทางออกตอนนี้ก็ควรผ่อนผันให้อยู่ต่อ แล้วก็จะให้ทำงานได้ไปพลางๆ พอสถานการณ์ดีขึ้นก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ไปนำเข้าอะไรไป”

“พอมีภาวะวิกฤตแบบนี้แล้วต้องใช้เงินรัฐช่วย ก็จะมีกระแสเรื่องความไม่พอใจที่คนต่างชาติได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเท่ากับคนไทย ทำไมคุณไม่ช่วยคนไทย จะมีกระแสอะไรอย่างนี้ตามมา ซึ่งถือว่าลำบากพอสมควร ขณะเดียวกัน กองทุนของรัฐก็ค่อนข้างน้อย” อดิศรกล่าว

เข้าไม่ถึงสถานะ เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

กลุ่มชาวข้ามชาติที่มีอันต้องลี้ภัยจากต่างประเทศมาอยู่ที่ไทยอย่างผิดกฎหมายเป็นอีกกลุ่มที่น่ากังวลต่ออนาคตการควบคุมโควิด-19 คนเหล่านี้อาศัยและพำนักในไทยโดยไม่มีสิทธิเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้อย่างแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย

กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาตัวอย่างของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการควบคุมโควิด-19 โดยปกติพวกเขาก็ได้รับอนุญาตทำงานยากกว่าแรงงานที่มาจากประเทศพม่าอยู่แล้ว หลังกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อพิสูจน์สัญชาติ แต่เนื่องจากนโยบายไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาของรัฐบาลพม่าทำให้พวกเขากลับประเทศไม่ได้ หลายคนที่อยู่ไทยจึงทำงานเป็นแรงงานแบบผิดกฎหมาย หรือไม่ก็ทำธุรกิจส่วนตัวซึ่งไม่ได้รับอนุญาต เช่น ขายโรตี

ซายิด อาลัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้มีชาวโรฮิงญาในกรุงเทพฯ ติดต่อมา 20-30 ครอบครัวแล้วว่าได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างบ้าง ประกอบกิจการไม่ได้บ้าง มีหลายคนที่ประกอบกิจการขายโรตี ได้รับผลกระทบหนักจากการขาดลูกค้า และพวกเขาต้องการความช่วยเหลือเป็นวัตถุดิบอาหารต่างๆ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำมัน พอได้ประทังชีวิต

ราเชนทร์ มองมอง พ่อค้าโรตีชาวโรฮิงญาในกรุงเทพฯ เล่าว่าเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้วที่เขาไม่ได้ไปขายโรตีที่หน้าปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง จุดขายประจำที่เคยมีคนผ่านไปมาเยอะในเวลาหัวค่ำ จึงแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมาเวียนขายในแถวชุมชนที่อาศัยอยู่ในช่วงกลางวัน

“ก็ทำยังไง ผมก็ต้องอยู่อย่างงี้ มันเป็นอย่างนั้น มีคนรอตอนทุ่มหนึ่ง (เวลาออกขาย) ก็ไม่ได้ออกมา ไม่มีคน ทุกคนแหละ ไม่ใช่ผมคนเดียว พ่อค้าทุกคน (เจอปัญหาเดียวกัน)”

“จะทำไง เขาหยุดทุกอย่าง ราชการก็หยุด โรงงานงานอะไรก็ใหญ่ๆ ทั้งนั้น ใหญ่ไม่มีคน มีคนก็ไม่มีเงิน”

ราเชนทร์ระบุว่า ไม่อยากให้มีการผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่า เพราะกระทบกับการทำมาหากิน

อนึ่ง ราเชนทร์พำนักในไทยมา 42 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตร 10 ปี) เขาเคยเป็นทหารในกองทัพพม่าสมัยสงครามเย็น แต่เมื่อกลับไปดูฐานข้อมูลเมื่อต้องพิสูจน์สัญชาติ กลับไม่พบข้อมูลใดๆ ต่อมาบัตรผ่อนผันให้ทำงานที่เคยมีก็ถูกยกเลิกไป

ศิววงศ์ สุขทวี นักวิจัยอิสระ เคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2555 นอกจากกลุ่มชาวโรฮิงญาแล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยในเมืองอีกจำนวนมากที่มีสาเหตุให้ต้องลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านมาพำนักในไทยเพื่อรอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR กลุ่มคนข้างต้นเหล่านี้มักไม่เปิดเผยตัว เพราะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีชาวต่างชาติที่ถูกกักตัวอยู่ตามสถานกักกันใน ตม. ซึ่งก็น่ากังวลหากมีการระบาดของโควิด-19 ในค่ายกักกัน เพราะพื้นที่ในนั้นมีความแออัด

สำหรับมติ ครม. ที่ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในไทยต่อมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่มาจากข้อตกลงระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) 2) แรงงานข้ามชาติที่ข้ามมาทำงานที่ไทยชั่วคราวโดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) และ 3) แรงงานประมง จึงยังมีชาวต่างชาติอีกหลายจำพวกที่ยังไม่ได้รับการผ่อนผัน 

ศิววงศ์เสนอให้รัฐบาลประกาศผ่อนผันหรือนิรโทษกรรมชั่วคราวแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งที่มีและไม่มีเอกสาร แล้วให้มีการดึงแรงงานเหล่านั้นเข้าลงทะเบียนเป็นแรงงานในระบบต่อไป อาจจะให้มีการลงทะเบียนระบุพิกัดที่อยู่อาศัยผ่านโทรศัพท์ แล้วให้ชุมชนช่วยกันดูแล

“ผมประเมินว่าการหลบหนีเข้ามาในไทยเพื่อหางานทำไม่มี เพราะโรคระบาด และเศรษฐกิจเราไม่ได้ต้องการอะไรแล้ว ดังนั้น การผ่อนผันคือผ่อนผันทั่วไปเลย คือให้คนหลบหนีเข้าไทยทุกคนทั้งที่มีและไม่มีเอกสาร อยู่ในไทยไปก่อนได้เป็นการชั่วคราว คือประกาศนิรโทษกรรมไปเลย จากนั้นจะจับกุมหรือขึ้นทะเบียนก็ค่อยว่ากัน” 

“ถ้าเราจะวางมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในคนกลุ่มนี้ด้วย ผมคิดว่าขอมติ ครม. ในการผ่อนผันตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง มาตรา 17 ก่อน และอาจเปิดการลงทะเบียนทางโทรศัพท์ว่าอยู่แถวไหน เพราะถ้าคุณผ่อนผันให้เขา แล้วบอกว่าคุณจะไม่ถูกจับ ผมว่าเขายินดีที่จะให้ข้อมูล แต่ถ้าบอกว่าให้ขึ้นทะเบียนก่อนแล้วผ่อนผัน ผมว่าการไว้วางใจจะไม่เกิดขึ้นในตอนนี้” ศิววงศ์กล่าว

อนึ่ง มาตรา 17 ของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ระบุว่า ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดหรือจำพวกใดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ๆ หรือจะยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีใด ๆ ก็ได้

“ทางออกตอนนี้ก็ควรผ่อนผันให้อยู่ต่อ แล้วก็จะให้ทำงานได้ไปพลางๆ พอสถานการณ์ดีขึ้นก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ไปนำเข้าอะไรไป”

ศิววงศ์กำลังมองหาการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อไปได้ที่อีเมล์  siwawong@gmail.com

ชายแดนยังมีสัญจร แนะ ผ่อนผันกระบวนการเพื่อลดระบาด

รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า ขณะนี้ ตอนในของประเทศกำลังประสบปัญหาการเลิกจ้าง และมีปัญหาเรื่องเอกสารประจำตนมากขึ้น หากไม่มีมาตรการรองรับ แรงงานก็คงมีความคิดที่จะกลับประเทศ

รวีพรเล่าว่า ตั้งแต่มีประกาศปิดสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ช่วงปลาย มี.ค. ก็พบว่ายังมีการเดินทางเข้าและออก แม้การขนส่งมวลชนจะหยุดดำเนินการแล้วก็ตาม กระนั้น การเดินทางด้วยรถตู้จากเมียวดี ประเทศพม่าเข้ามายังด่านชายแดนไทยที่ อ.แม่สอด มีค่าใช้จ่ายถึงคนละ 1,200-1,500 บาท สูงกว่าเดิมถึงหนึ่งเท่าตัว 

รวีพรและเครือข่ายกำลังวางแผนว่าจะรับมือการเดินทางมาพำนักหรือกักตัวของแรงงานข้ามชาติอย่างไรได้บ้าง เบื้องต้นใช้วิธีการให้ชุดยังชีพประกอบด้วยอาหารแห้ง อุปกรณ์รักษาความสะอาดต่างๆ จำนวนคนละ 4 ชุด แต่ละชุดสามารถใช้ชีวิตได้ 4 วัน ให้กับผู้ที่มาอาศัยกับญาติที่ชายแดน และยังให้สื่อความรู้ วิธีการตรวจคัดกรองให้เรียนรู้

จนถึงตอนนี้ รวีพรทำงานกับผู้นำแรงงานในชุมชนเพื่อหาข้อมูลว่ามีใครที่เดินทางกลับมา หรือมีชุมชนไหนบ้างที่เป็นชุมชนเฝ้าระวัง โดยขณะนี้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีความตื่นตัวมากกับปัญหานี้

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ มีข้อเสนอ 5 ข้อ ใจความสำคัญคือการขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักร ขยายระยะเวลาแจ้งที่พักอาศัยแก่คนต่างชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ไม่มีสถานะเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงขยายเวลาสิทธิการกลับเข้าราชอาณาจักรของชาวต่างชาติ เพื่อลดการเดินทางและความแออัดเมื่อชาวต่างชาติเดินทางไปเข้ากระบวนการต่างๆ ข้างต้นซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19

1.ขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้แก่คนต่างชาติตามประเภทการตรวจลงตรา รวมทั้ง VOA (Visa On Arrival) กลุ่มยกเว้นการตรวจลงตราทุกกลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วยนักท่องเที่ยว แรงงานทักษะ นักลงทุน ชาวต่างชาติที่เป็นครอบครัวของคนไทย ฯลฯ โดยการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 ตั้งแต่เริ่มใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงวันที่สิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกประกาศขยายได้ตามสถานการณ์

2.ขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37(5) รวมถึงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวต่างๆ ในกรณีคนต่างชาติที่ครบระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงวันที่สิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกประกาศขยายได้ตามสถานการณ์

3.ขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้อยู่อาศัยในราชอาณาจักรให้แก่คนต่างชาติที่ถือบัตรผ่านแดน และบัตรผ่านแดนชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 ซึ่งวันที่เริ่มปิดด่านชายแดนไปจนถึงวันที่มีการเปิดด่านชายแดนของประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย

4. ขยายระยะเวลาในการกลับเข้ามาประเทศเกินกว่า 1 ปีของคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในราชอาณาจักรที่ขอสลักหลังแจ้งออกนอกราชอาณาจักรและจะกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามสิทธิ เพื่อไม่ให้ขาดสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักร โดยให้เดินทางเข้ามาเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศกำหนด

5. สำหรับคนต่างชาติอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่มีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาอนุญาตให้พักอยู่อาศัยในท้องที่ที่อยู่ในปัจจุบันระหว่างรอการส่งกลับ หรือจนกว่าจะมีมาตรการอื่น ๆจากรัฐตามแต่กรณี (ที่มา: Facebook/Adisorn Kerdmongkol)

oooooo

ถ้าไวรัสไม่เลือกปฏิบัติ การควบคุมโรคทำไมถึงยังเลือกปฏิบัติ

คำว่า “เรา” มีใครอยู่ในนั้นบ้างเมื่อ “เราไม่ทิ้งกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท