Skip to main content
sharethis

อสม.บ้านเนินมะเกลือเสียชีวิตระหว่างคัดกรอง COVID-19 ด้านบอร์ด สปสช. ไฟเขียว 7 มาตรการด่วนหนุนควบคุม ลดแพร่ระบาด COVID-19 ขณะที่สนง.ประกันสังคม ให้การรักษาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วยโควิด-19 เทียบเท่าสิทธิ 3 กองทุน

อสม.บ้านเนินมะเกลือเสียชีวิตระหว่างคัดกรอง COVID-19

8 เม.ย. 2563 วันนี้ ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 พิษณุโลก (สปสช.เขต 2 พิษณุโลก) กล่าวว่า วานนี้ (7 เมษายน 2563) ได้เดินทางมาที่วัดเนินมะเกลือ ต.ท่าหมื่นราม อ.วังทอง เพื่อร่วมพิธีฌาปนกิจและเคารพศพ นางทองใส เศรษฐสูงเนิน อสม.บ้านเนินมะเกลือ ที่เสียชีวิตหลังลงพื้นที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยที่ด่านโควิด-19 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านเนินมะเกลือทราบว่า ในระหว่างปฏิบัติงาน นางทองใสเกิดอาการหน้ามืดจึงได้นำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นไม่ได้ป่วยเป็นโควิด-19 และไม่มีโรคประจำตัว

ในส่วนของการช่วยเหลือ เบื้องต้นจะพิจารณาว่า กรณีนี้จะเข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการในระบบสุขภาพได้หรือไม่ โดยนางทองใสเป็น อสม.ที่ได้ปฏิบัติงานคัดกรองโรคตามที่สถานีอนามัยมอบหมาย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงินและรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ. 2559 เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ 

“สปสช.ขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการจากไปของนางทองใส อสม.ผู้เสียสละในการปฏิบัติงาน ทำหน้าที่ร่วมสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ขอส่งกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในระบบสุขภาพทั่วประเทศที่ต่างทำงานอย่างหนักท่ามกลางวิกฤตสุขภาพได้อย่างเข้มแข็ง” ผอ.สปสช.เขต 2 พิษณุโลก กล่าว

ทพ.สันติ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่เขต 2 พิษณุโลก กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำในการดำเนินมาตรการ ทั้งการคัดกรองผู้เข้าข่ายติดเชื้อ การติดตามผู้ที่กักตัวเพื่อดูอาการในระยะเวลา 14 วัน และการรักษาพยาบาล โดย สปสช.ทำหน้าที่ในส่วนการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ทั้งการคัดกรอง การป้องกัน และการรักษาเพิ่มเติม ที่เป็นไปตามมติบอร์ด สปสช.ก่อนหน้านี้ และในวันที่ 9 เมษายน นี้ สปสช.เขต 2 พิษณุโลก ได้จัดการประชุมชี้แจงการเบิกจ่ายชดเชยกรณีโควิด-19 ให้กับหน่วยบริการในพื้นที่ผ่านระบบ ZOOM ขณะเดียวกันยังได้ขับเคลื่อนในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น (กองทุนสุขภาพตำบล) ที่ตอนนี้ได้มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งได้จัดทำโครงการเข้ามาจำนวนมาก เพื่อเร่งมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่เช่นกัน  

 

บอร์ด สปสช. ไฟเขียว 7 มาตรการด่วนหนุนควบคุม ลดแพร่ระบาด COVID-19

วันเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุม บอร์ด สปสช.วันนี้ เนื่องจากได้ติดภารกิจเร่งด่วนทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ มีวาระพิจารณาสำคัญ เรื่อง ข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับ “กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19” จึงมอบนโยบายขอให้ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณามาตรการต่างๆ ในวาระนี้เพื่อสนับสนุนการควบคุมและลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการขณะนี้

ในการประชุมบอร์ด สปสช. โดยมี พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เห็นชอบ “มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการควบคุมและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19” ภายใต้งบประมาณค่าใช้จ่ายสาหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 จำนวน 4,649 ล้านบาท ตามข้อเสนอเพิ่มเติม 7 ข้อ ดังนี้

1. การส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าที่บ้านทางไปรษณีย์ โดยจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการเพิ่มเติมในอัตราไม่เกิน 50บาท/ครั้ง จากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 หมวด 11 ค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สาหรับการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วย บริการร่วมกับหน่วยร่วมให้บริการ ช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ตามข้อเสนอกรมการแพทย์ และเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) 

2. เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยา ลดความแออัดในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ขยายจำนวนร้านยาในโครงการรับยาใกล้บ้าน ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่หน่วยบริการ พร้อมเพิ่มเติมระบบโรงพยาบาลจัดสำรองยาที่ร้านยาและระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยา

3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถรับยาหรือบริการทางการแพทย์ตามความจำเป็นนอกหน่วยบริการประจำได้ ถือเป็นเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉินในมิติของประชาชนภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

4. สถานบริการอื่นที่ให้บริการกรณีโรค COVID-19 ให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการ กำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อโโควิดเป็นไปตามประกาศที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

5. จ่ายชดเชยค่าบริการ COVID 19 ให้โรงพยาบาลสนามหรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการรับรองตามเกณฑ์ประเมินจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้าน

6. เสนอปรับแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การ จ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจาเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริม การจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 โดยให้รายการค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2563 ใช้ซื้อครุภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ COVID 19 ได้ และเพิ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายกรณี COVID19 เป็น 2 เท่าจากเดิม โดยใช้งบกลางจ่ายเพิ่มเติม

และ 7. มอบเลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช. พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราค่าใช้จ่าย และการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการและสถานบริการภายใต้รายการและกรอบวงเงินที่คณะกรรมการกำหนดและเสนอให้ประธานบอร์ด สปสช. ลงนามประกาศใช้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์การบริหารกองทุนได้ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19

“ตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทั้ง 7 ข้อเสนอนี้ บอร์ด สปสช.ยังได้มอบให้ สปสช. ดำเนินการปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งหลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยเพื่อรองรับเพิ่มเติม พร้อมรับรองมติให้ดำเนินการได้ทันที เนื่องจากเป็นวาระด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วในการ” พญ.ประสบศรี กล่าว

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ตามที่รัฐบาลมีมาตรการชะลอและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโดยการเว้นระยะห่างทางสังคม การประชุมบอร์ด สปสช.ในวันนี้ สปสช.ได้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗  โดยในวันนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 19 คน  และเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 11 คน เป็นจำนวนเกิน 1 ใน 3 ขององค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด

 

สนง.ประกันสังคม ให้การรักษาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วยโควิด-19 เทียบเท่าสิทธิ 3 กองทุน

จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ส่งผลให้สถานพยาบาล มีความจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบพิเศษตลอดจนเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ในการให้บริการ แก่ผู้ประกันตนที่มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 คณะกรรมการประกันสังคมจึงมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยนายแพทย์ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ในการนี้ร่างประกาศฯดังกล่าวได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 โดยสำนักงานฯ จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลในหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐ

ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้ ค่าตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรห้องปฏิบัติการในอัตราไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท และจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ครั้งละไม่เกิน 540 บาท

ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้

- ค่าห้องพักสำหรับควบคุมดูแลรักษาตามมาตรฐานและค่าอาหารไม่เกินวันละ 2,500 บาท

- ค่าบริการทางการแพทย์คำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ในอัตรา 12,000 บาท ต่อหนึ่งน้ำหนักสัมพัทธ์ปรับตามวันนอน (AdjRW)

- ค่ายาต้านไวรัสไม่เกิน 7,200 บาท ต่อราย

- ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่เกินครั้งละ 2,500 บาท

- ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตามอาการของผู้ป่วย กรณีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางจ่ายไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด กรณีอาการรุนแรงจ่ายไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด

2. กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเอกชน สำนักงานฯ จ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์สอบสวน โรคติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐอื่น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยสำนักงานฯ จ่ายให้สถานพยาบาลเอกชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

3. ค่าพาหนะ ในกรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกันจ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่นจ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 6 บาท ทั้งยังจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง

4. กรณีที่สำนักงานฯ เห็นว่าผู้ประกันตนสมควรได้รับค่าบริการทางการแพทย์นอกเหนือจาก ที่กำหนด สำนักงานฯ จะต้องจ่ายภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ประกันตนมีอาการป่วย มีไข้ เจ็บคอ ไอหรือมีอาการอื่นๆ ร่วม ในเบื้องต้น ขอแนะนำให้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือกไว้ เนื่องจากหากไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 หรือไม่เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถรักษาอาการของโรคที่เป็นได้เลย แต่หากผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือกได้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่สะดวกได้ทั้งรัฐและเอกชน และหากพบว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็สามารถรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลนั้นได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิ และไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสถานพยาบาลที่รักษาจะเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานประกันสังคมได้ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net