แรงงานนอกระบบ ภายใต้วิกฤตโควิด 19 เราไม่ทิ้งกัน จริง ๆ นะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพราะมาตรการหยุดการแพร่กระจายของโควิด19 ของรัฐบาลนั้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหญ่น้อย ต้องหยุดตามไปด้วย แรงงาน ที่เป็นคนเล็กคนน้อยเดือดร้อนกันไปทั่วหน้า  ต้องกลัวทั้งโรคระบาด และกลัวอดตายไปพร้อมๆ กัน เมื่อกระทรวงการคลังประกาศมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาจึงนำความดีใจมาสู่ กลุ่มแรงงานนอกระบบโดยทั่วกัน   

สำหรับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กร และเครือข่ายแรงงานนอกระบบอาชีพต่างๆ เช่น หาบเร่แผงลอย มอไซด์รับจ้าง ลูกจ้างทำงานบ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และผู้ผลิตสินค้าเพื่อขาย ช่างเสริมสวย และอาชีพอื่นๆ มีสมาชิกอยู่ประมาณสองหมื่นคน นั้นก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ พวกเราดีใจมาก ไม่ใช่แค่การได้รับเงินเยียวยา คนละ ห้าพันบาท เป็นเวลาสามเดือนเท่านั้น แต่ความยินดีของพวกเรามีมากกว่านั้น เพราะมาตรการที่ออกมาแสดงว่ารัฐบาลไทยตระหนัก และยอมรับถึงการมีอยู่ของแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานอิสระว่าเป็นส่วนหนึ่งของสายพานเศรษฐกิจของประเทศ  เพราะที่ผ่านมาถึงแม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะรายงานว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้มีงานทําทั้งสิ้น 37.5 ล้านคนแบ่งเป็นแรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน หรือร้อยละ 45.7 และเป็นแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน หรือร้อยละ 54.3  แต่ที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการกล่าวถึงจากภาครัฐ จึงแทบไม่พบอยู่ในแผนงานหรือนโยบายการพัฒนาของประเทศ   การที่รัฐบาลมีมาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ จึงถือเป็นเรื่องที่พิเศษ จริงๆ ที่รัฐ เห็นเขามีตัวตนอยู่ในสังคมและเห็นความเดือดร้อนของพวกเขาเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ 

ด้วยการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล ประกอบกับความรู้เรื่องแรงงานนอกระบบที่มีจำกัด และการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ของกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม  ทำให้สังคมเกิดคำถามตามมามากมายว่า  แรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระนั้นคือใคร มีคุณสมบัติอย่างไร ผู้สูงอายุ ผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ เกษตรกร อยู่ในกลุ่มนี้หรือไม่ ผู้ประกันตนในมาตรา 39 และมาตรา 40 จะมีสิทธิไหม ทำไมรัฐจึงกำหนดจำนวนคนที่จะได้รับการช่วยเหลือไว้ 3 ล้านคน ตัวเลขนี้มาอย่างไร และการลงทะเบียนออนไลน์นั้นเขาจะทำได้ไหม?  เพราะสำนักงานสถิติบอกว่าจำนวนร้อยละ 58 ของแรงงานนอกระบบจบการศึกษาไม่เกินประถมศึกษา และที่ผ่านมาขนาดเปิดให้ลงทะเบียนแบบปกติ ยังมีผู้ตกหล่นจำนวนมาก ถ้าลงทะเบียนออนไลน์คนเดือดร้อนจริงๆ จะตกหล่นมากแค่ไหน การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นคนตรวจสอบว่าใครควรจะได้รับการช่วยเหลือ จะถูกต้องกว่าจริงหรือ ? 

ต้องยอมรับว่าเราผ่านความโกลาหลวุ่นวายจากการลงทะเบียนมาได้แบบไทยๆ ทั้งภาวะที่เวปล่มตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกของการเปิดให้ลงทะเบียน หลายกรณีนายจ้างไม่ยอม ให้ลูกจ้างเอาชื่อของตนไปลงทะเบียนเพราะกลัวจะถูกไล่บี้เรื่องภาษี จนสรรพากรต้องออกมาชี้แจงตามหลังว่าจะไม่ทำเช่นนั้น ตัวแรงงานต่างดิ้นรนหาคนช่วยลงทะเบียน เท่าที่จะทำได้ และยังไม่รู้ว่าเมื่อผลการคัดกรองออกมา AI จะทำคนตกหล่นอีกเท่าไร 

ณ 2 เมษายน มีคนติดเชื้อโควิด 19 ยังไม่ถึง สองพันคน แต่มีคนลงทะเบียนในเว็บไซด์ “เราไม่ทิ้งกัน” ถึง 23.4 ล้านคน แสดงว่า มีคนเดือดร้อนจากการขาดรายได้ และรายได้ลดลงจำนวนมาก และคนเหล่านั้นเชื่อว่าตนเองเป็นแรงงานนอกระบบและผู้ประกอบอาชีพอิสระตามที่รัฐกำหนด จนรัฐต้องออกมาประกาศขยายฐานการช่วยเหลือจาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน

ณ เวลานี้ สิ่งที่แรงงานนอกระบบและสังคมไทยควรจะได้รับจึงไม่ใช่แค่งบประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นห้าพันล้านบาทเท่านั้น แต่เราควรจะได้อะไรมากกว่านี้ อาทิเช่น

• กระทรวงแรงงานต้องแสดงบทบาทที่สำคัญในการออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าแรงงานนอกระบบคือใคร เขามีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ใหญ่ขนาดไหน ทำไมรัฐจึงต้องเข้ามาดูแล

• ฐานข้อมูลของคน 23.4 ล้านคนควรที่หน่วยงานของรัฐจะได้นำมาเป็นฐานข้อมูลเพื่อโอกาสข้างหน้าคนเหล่านี้จะได้เข้ามาอยู่ในระบบข้อมูลการพัฒนาของภาครัฐ ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป 

• ในภาวะปกติกระทรวงแรงงานควรเปิดให้มีการลงทะเบียนของแรงงานนอกระบบทั่วประเทศ เพื่อใช้ตรวจสอบว่า จริงๆ แล้วมีคนตกหล่นไปในครั้งนี้เท่าไร และเพื่อร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ กำหนดแผนงานและนโยบายในการพัฒนาอาชีพและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการที่เขาควรจะได้รับต่อไปในอนาคต

• บทบาทการดูแลแรงงานนอกระบบนั้น คงไม่ใช่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว หน่วยงานอื่นๆก็มีบทบาทส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ในภาวะปกติและภาวะวิกฤตเช่นที่เกิดขึ้นนี้ได้เช่นกัน  หน่วยงานที่ว่านี้ก็ไม่ใช่มีแต่กระทรวงแรงงานเท่านั้น  กระทรวงอื่นๆ ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกรุงเทพมหานคร ก็ควรจะมาแสดงบทบาทร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาแรงงานนอกระบบที่มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานของไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ 

ต้องขอบคุณมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจแก่แรงงานนอกระบบอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 นี้ ที่จะทำให้อนาคตของแรงงานนอกระบบไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป  แอบฝันว่าสังคมและรัฐบาลจะเข้าใจบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงานเหล่านี้ และกำหนดนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน  เราจะไม่ทิ้งกันจริงๆ แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท