Skip to main content
sharethis

รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ชี้ตรวจโควิด-19 เฉพาะกลุ่มด้วยเกณฑ์ที่เข้มข้นจะทำให้พบเพียงผู้ติดเชื้ออาการปานกลางและอาการหนัก แต่กลุ่มที่ไม่แสดงอาการมีมากกว่าหลายเท่าและอาจแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นอีก

9 เม.ย. 2563 นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา วิเคราะห์สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 จะดีขึ้นหรือแย่ลงมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง คือ การที่เราทราบจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เพราะเราจะได้สามารถควบคุมความรุนแรงของการแพร่กระจายโรค ผ่านการกักตัวผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ กักตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยไว้ในโรงพยาบาลสนาม รับตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางไว้ในโรงพยาบาล และรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการมากไว้ในห้องไอซียู

“ถ้าเราสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อได้จำนวนมากเท่าใด เราก็จะสามารถลดการแพร่กระจายของโรคลงได้มากเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางถึงมากจะมีจำนวนเพิ่มไม่มาก จนอยู่ในระดับที่โรงพยาบาล ทั้งหอผู้ป่วยทั่วไปและห้อง ICU สามารถรองรับได้ อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ จนอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

นพ.เฉลิมชัย ระบุถึงการดูแลผู้ติดเชื้อ ว่า แบ่งเป็น 1.ไม่มีอาการ : กักตัวไว้ในสถานที่ที่รัฐกำหนด 2.มีอาการน้อย : รับไว้ดูแลในโรงพยาบาลสนาม 3.มีอาการปานกลาง : รับไว้ดูแลในโรงพยาบาลในส่วนหอผู้ป่วยทั่วไป และ 4.มีอาการมาก : รับไว้ดูแลในโรงพยาบาลในส่วนหอผู้ป่วยไอซียู ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 4 กลุ่ม สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

“ถ้าเราตรวจหาการติดเชื้อน้อยโดยเกณฑ์ที่เข้มข้น เราจะได้เฉพาะผู้ติดเชื้อกลุ่ม 3 และ 4 ไว้ดูแลและควบคุมการแพร่เชื้อ แต่เราจะไม่ได้ผู้ติดเชื้อกลุ่ม 1 และ 2 ที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่ม 3 และ 4 หลายเท่าตัว มากักไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จึงจะทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ยกเว้นแต่มีมาตรการเข้มข้นที่สุด คือ การปิดบ้านไม่ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน (กรณีปิดเมืองอู่ฮั่น) หรือมาตรการเคอร์ฟิว 24 ชม. จึงจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไว้ได้ ทั้งนี้เราอาจจะหลีกเลี่ยงมาตรการเข้มข้นที่สุด โดยการเร่งเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจการติดเชื้อให้มีจำนวนมากและกว้างขวางเพียงพอ ที่จะค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ เพื่อนำมากักตัวไว้ในสถานที่ที่รัฐกำหนด” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

นพ.เฉลิมชัย ยังยกตัวอย่างประเทศที่ดำเนินการเร่งขยายขอบเขตการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดเพื่อลดอัตราของผู้เสียชีวิตให้ต่ำลง แม้ในระยะแรกจะมีความกังวลเมื่อเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง ได้แก่ เกาหลีใต้ (เสียชีวิต 1.86%) เยอรมัน (เสียชีวิต 1.80%) เปรียบเทียบกับประเทศที่มีขอบเขตการตรวจเชื้อไม่กว้างขวางพอ เน้นตรวจเฉพาะผู้ที่เข้าได้กับเกณฑ์ความเสี่ยงเท่านั้น จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า ได้แก่ อังกฤษ (เสียชีวิต 11.03%) ฝรั่งเศส (เสียชีวิต 10.45%) แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยตัวแปรอื่นที่สำคัญในการกำหนดอัตราผู้เสียชีวิต ได้แก่ ความมีวินัยของประชาชนที่จะให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ วัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนในชาติ ปริมาณและคุณภาพของระบบสาธารณสุข ตลอดจนสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ

ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุวานนี้ว่า ณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายขอบเขตของผู้ป่วยที่จะต้องสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 4 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 มาจากกลุ่มก้อนที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สนามบิน ด่านทางบกรอบประเทศไทย โดยบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.3 องศาขึ้นไป จะถูกดึงเข้ามาตรวจหรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก โดยจะมีเฉพาะ 4-5 อาการนี้ ไม่มีไข้ก็ได้ หรือมีไข้แต่ไม่มีอาการดังกล่าวก็ได้  มีประวัติเดินทางไปหรือมาจากต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ ทั่วทุกประเทศทั่วโลก ถ้ามีความเสี่ยงอย่างนี้ก็มาตรวจได้ฟรี

กรณีที่ 2 คือการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ได้แก่ 2.1 ผู้ติดเชื้อที่มีอาการ 37.5 องศาขึ้นไป หรือมีประวัติว่ามีไข้ร่วมกับอาการ 4-5 อย่าง หรือมีปอดอักเสบด้วย และมีปัจจัยเสี่ยงมีประวัติการเดินทาง 14 วันก่อนหน้านี้ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก หรือที่บ้าน ที่ทำงานมีคนป่วยเป็นไวรัสโควิด-19 แล้วมีการสัมผัสมา  2.2 ผู้ที่มีปอดอักเสบ เอ็กซเรย์พบอาการ ถ้าหาสาเหตุไม่ได้รักษาแล้วอาการไม่ดี มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต หรือหาสาเหตุไม่ได้ เอ็กซเรย์ปอดแล้วเข้าได้กับไวรัสโควิด-19 จะได้รับการตรวจฟรีและตรวจโดยเร็ว

กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จะต้องมีการดูแลอย่างเร็วทุกราย แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย หรือสงสัยว่าป่วย ก็จะได้รับการตรวจทันที

กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ผลการตรวจ PCR ต่อเชื้อไข้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบจากทุกรายที่มีการส่งตรวจ มีอาการระบบทางเดินหายใจที่อาจจะสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ตรวจไข้หวัดใหญ่ชนิด A B มีผลตรวจเป็นลบ ไม่เจอ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง กรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไป กลุ่มก้อนนี้ให้เข้ามาตรวจได้

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการที่กรุงเทพฯ สามารถรองรับการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูกได้ถึง 10,000 รายต่อวัน ต่างจังหวัดตรวจได้ประมาณ 10,000 รายต่อวันเช่นกัน ถ้าเข้าเงื่อนไขตามกลุ่มที่กล่าวมา รัฐจ่ายให้ทั้งหมดเพื่อการควบคุมโรคจะได้ประสบความสำเร็จ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net