Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยใครไม่ได้เงินเยียวยาแต่โพสต์ว่าได้ DE เตรียมจัดการ ส่วนคนที่ได้เงินแต่กรอกข้อมูลเท็จเตรียมเรียกคืนเงินพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย ระบุเงินเยียวยาอาจจะไม่ได้ครบ 6 เดือนขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง ที่มาภาพจาก: เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

9 เม.ย. 2563 ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โพสต์ในโลกออนไลน์ว่าเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นแค่เศษเงิน และผู้ที่โพสต์ว่าให้ข้อมูลเท็จ และได้เงินมาแบบฟลุ๊กๆ ทางกระทรวงการคลัง จะมีทีมตรวจสอบคุณสมบัติย้อนหลังว่าผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วตรงกับเกณฑ์คุณสมบัติหรือไม่ หากไม่ตรงก็จะต้องเรียกเงินคืนภายใน 90 วันตามข้อกำหนด

โดยกรณีผู้ที่โพสต์เกี่ยวกับการได้รับเงินเยียวยานั้น แยกเป็น 2 กรณี คือ ไม่ได้รับเงินจริง แต่ไปโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ไปดำเนินการต่อ ส่วนอีกกรณีคือ ได้รับเงินจริงแล้วมาโพสต์ในทำนองว่าตัวเองให้ข้อมูลเท็จ ไม่รู้ว่าได้เงินมาได้อย่างไร ก็จะต้องไปตรวจสอบย้อนหลังว่าเกิดความผิดพลาดได้อย่างไร หากไม่เข้าเกณฑ์จริง ก็จะเรียกเงินคืน พร้อมกับตัดสิทธิการรับเงินในเดือนต่อ ๆ ไป รวมถึงดำเนินคดีตามกระบวนทางการกฎหมาย

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ย้ำว่า การตรวจคัดกรองผู้เข้าข่ายได้รับสิทธินั้น มี 4 ขั้นตอน คือ ต้องอยู่ในกลุ่มเป้าหมายจริง ประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ดูแลตัวเองไม่ได้ และประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยตรง

ขณะที่วานนี้ ลวรณ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดจะคัดกรองผู้ที่มาลงทะเบียน เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ลงทะเบียนล่าสุด 24.8 ล้านคนแล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 12 เม.ย.2563 โดยตอนนี้มีผู้ผ่านการเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือ 1.68 ล้านคน ในกลุ่มนี้จะเร่งทยอยโอนเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 8-10 เม.ย.นี้ และตั้งแต่สัปดาห์หน้าจะทยอยโอนเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ทุกวัน ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และกลุ่มที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม จะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งในช่วงวันที่ 11-12 เม.ย.นี้

“การจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทจะคงไว้ที่ 3 เดือนก่อน ส่วนที่ขยายไปอีก 6 เดือน จะพิจารณาตามความจำเป็นของสถานการณ์ เนื่องจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนใช้เยียวยา 6 แสนล้านบาท กำหนดให้กระทรวงต้องมีการเสนอโครงการเข้าคณะกรรมการกลั่นกรอง และเสนอความเป็นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์โควิดอาจจะสิ้นสุดเร็วหรือช้ากว่าที่คาด ไม่มีใครรู้” ลวรณ กล่าว

“พ.ร.ก.กู้เงินที่ออกมานั้น ทำให้รัฐสามารถเยียวยาประชาชนได้ถึง 6 เดือน แต่จะดูแลกี่เดือนนั้น ขออนุญาตประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง เพราะอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สถานการณ์วิดจะดีขึ้น หรือร้ายแรงจะพิจารณาประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 และรัฐบาลจะประเมินอีกครั้งว่าดูแลครอบคลุมทุกกลุ่มหรือไม่ หากมีกลุ่มที่เดือดร้อน รัฐบาลก็จะพิจารณาดูแลเพิ่มเติม ซึ่งยืนยันว่าเงินเยียวยา 6 เดือนมีพร้อม แต่หากจะมีโครงการอื่นเข้ามาดูแลเพิ่มเติมก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง” ลวรณ กล่าว

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้มีการการสอบถามธนาคารกรุงไทยชี้แจงว่า ระบบจะเริ่มส่งเอสเอ็มเอสแจ้งผลให้กลุ่มที่เป็นสีแดง คือไม่ได้เงินแน่นอน กับกลุ่มสีเทาคือ ต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติม ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์นี้ ส่วนผู้ที่ได้เงินแน่นอนจะส่งเอสเอ็มเอสได้ช่วง 8-10 เม.ย.

ลวรณ กล่าวว่า ระบบคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ สามารถคัดกรองผู้ที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือจริง แต่ขอให้เข้าใจว่า เนื่องจากระยะเวลาในการเตรียมมาตรการมีน้อย ทำให้ไม่สามารถวางระบบตรวจสอบเข้มงวดได้ เพราะจะใช้เวลามาก ทำให้คนได้รับเงินช่วยเหลือล่าช้า แต่ในกลุ่มที่ได้เงินไปแล้ว คลังก็จะมีระบบตรวจทานซ้ำว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องคืนเงินภายใน 90 วัน ซึ่งกรณีที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณาในโซเชียลมีเดีย ทีมกระทรวงการคลังจะเก็บข้อมูลไปดูทั้งหมด

ทั้งนี้ มี 4 กลุ่มที่ยืนยันว่ากลุ่มแรกได้รับเงินช่วยเหลือ คือ กลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขาย ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุด ไม่ได้เน้นจ่ายกลุ่มที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ 4 กลุ่ม คือ ผู้ค้าสลาก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และมัคคุเทศก์ เป็นการเฉพาะ

ลวรณ กล่าวว่า การโอนเงินในกลุ่มที่ไม่มีปัญหา จะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งและทยอยโอนเงินเข้าบัญชีตามปกติ ในรายที่มีปัญหาเลขบัญชีไม่ตรงจะมีปุ่มหน้าเว็บไซต์ให้แก้ไขเลขบัญชี เพื่อให้โอนเงินเข้าได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์แน่นอนจะมีเอสเอ็มเอสแจ้ง และไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะผิดหลักเกณฑ์มาตรการ เช่น กลุ่มอายุไม่ถึง 18 ปี กลุ่มแม่บ้าน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ข้าราชการ-บำนาญ เกษตรกร นักเรียนนักศึกษา กลุ่มค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะให้กรอกเอกสารออนไลน์ ชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่ได้มีการสอบถาม

ที่มาจาก : ประชาชาติออนไลน์ , thebangkokinsight

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net