Skip to main content
sharethis

อปท.ทั่วประเทศ รุก “กองทุนสุขภาพตำบล” ป้องกัน COVID-19 มี อปท.ทำโครงการ 2,456 แห่ง รวม 4,592 โครงการ ดำเนินการ 5 กิจกรรม ได้แก่ รณรงค์ให้ความรู้ป้องกัน จัดหาอุปกรณ์ป้องกันคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน และเฝ้าระวังผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ขณะที่มหาดไทยแนะแนวทางการใช้งบ อปท.

9 เม.ย. 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในกรณีกลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายต่อการเกิดภาวะรุนแรงของโรค จำเป็นต้องมีมาตรการในการติดตาม แต่เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่จำกัด ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคที่กระจายเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด ทำให้การดูแลกลุ่มเสี่ยงอย่างทั่วถึงเป็นไปได้ยาก กลไก “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” (อสม.) และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อทำหน้าที่เยี่ยมบ้านจึงเป็นหนทางหนึ่ง

ที่ผ่านมามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการติดตามกลุ่มเสี่ยงโดยใช้กลไกนี้ และใช้งบประมาณ “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กปท.) หรือ กองทุนสุขภาพตำบล สนับสนุน ทำให้สามารถขยายความครอบคลุมการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ได้ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ขณะเดียวกันยังสามารถติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงได้ที่เป็นการป้องกันการแพร่กระจายโรค โดยเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ในข้อ 10 (2) ที่ระบุไว้ว่า “เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดกระบวนการหรือกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคขององค์กรหรือกลุ่มประชาชน หรือหน่วยงานอื่น” และการขับเคลื่อนภายใต้ “โครงการพลังคนไทยร่วมใจ ป้องกันไวรัสโคโรนา 2019”

“การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นภัยคุกคามประเทศที่เราต้องช่วยกัน โดยเฉพาะในท้องถิ่น ชุมชน เพื่อลดความสูญเสีย และเร่งยุติการแพร่ระบาดโดยเร็ว โดยมี อสม.เป็นกลไกหนึ่ง และมีกองทุนสุขภาพตำบลที่สนับสนุนได้ จึงขอให้ อปท.ร่วมใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ที่เป็นความร่วมมือภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและท้องถิ่นเอง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ส่วนความคืบหน้าของโครงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้กองทุนสุขภาพตำบลนั้น นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลโดยสำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. ได้รายงานข้อมูลล่าสุด มี อปท.ดำเนินโครงการ 2,456 แห่ง เป็นจำนวน 4,952 โครงการ รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 353.20 ล้านบาท เพิ่มจากเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 ที่มี อปท.ดำเนินโครงการ 1,186 แห่ง จำนวน 1,474 โครงการ ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 5 กิจกรรมด้วยกัน ดังนี้ การรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันตามแนวทางกรมควบคุมโรค การจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์และเจลล้างมือ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เป็นต้น การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การตรวจเยี่ยมติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน และการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง

กระทรวงมหาดไทย ซักซ้อมแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ด้าน กองสารนิเทศ สำนักงานปลัด กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ได้มีการแพร่กระจาย ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนเป็นวงกว้างทั่วทั้งประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับการหารือจากจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงแนวทางในการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)

ฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวว่า เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เป็นไปตามระเบียบฯ ดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งไปยังจังหวัดทุกจังหวัดซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย การให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และการป้องกันและควบคุมโรคติดต่

2. การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีดังกล่าว ให้ดำเนินการตามระเบียบฯ ในหมวดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชน โดยใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย และหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือเงินสะสม ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว1608 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2563 หรือเงินทุนสำรอง เงินสะสมหรือโอนงบประมาณไปตั้งจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว

ฉัตรชัย พรหมเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินการตามระเบียบฯ ดังกล่าวกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ และหากพบปัญหาในการปฏิบัติให้จังหวัดหารือมายังกระทรวงมหาดไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net