Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้อ่านข้อเขียนของคุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์ บนหน้าเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์สมมติ จากการแชร์ต่อกันบนสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊ค ซึ่งตัวบทความมีด้วยกัน 2 ตอน กล่าวถึงข้อพินิจเกี่ยวกับ “แวดวง” และ “เวลา” แต่สิ่งที่ผมสนใจปรากฏอยู่ในตอนที่ 2 ที่วริศอุทิศให้กับข้อวิพากษ์ถึงแวดวงวิชาการ ซึ่งจากการได้พบปะส่วนตัว ผมไม่แปลกใจสำหรับความคิดของวริศในบทความดังกล่าว และคิดว่าบทความดังกล่าวเป็นข้อเขียนของวริศที่ครอบคลุมถึงหลากสิ่งที่เขาได้วิพากษ์วิจารณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน 

ว่าด้วยความแตกต่างอย่างเด็ดขาด | เวลากับแวดวง (2) : ไม่มีอะไรหยุดความเชื่องช้าของโลกวิชาการได้

ผมคงมิอาจเรียกตัวเองว่าเป็นนักวิชาการ หากแต่ผมก็ทำมาหาเลี้ยงชีพกับงานวิชาการอยู่ไม่น้อย เมื่อได้อ่านข้อเขียนของวริศ ผมพบว่ามีบางประเด็นที่ผมเห็นด้วย บางประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยน ผมไม่ปฏิเสธคุณูปการของบทความนี้ที่ทำให้คนในแวดวงวิชาการ ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักวิชาการหรือไม่ ได้กลับไปทบทวนถึงจุดยืนและแนวทางการทำงานของตน โดยเฉพาะเมื่อบทความพูดถึงความเป็น “หอคอยงาช้าง” ในงานวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เป็นข้อวิจารณ์จากคนนอกสาขามาโดยตลอด แม้น้ำเสียงของวริศยังเต็มไปด้วยการประณีประนอมกับการทำงานวิชาการแบบขนบ (โดยเฉพาะเมื่ออ้างกลับไปถึงข้อเขียนของนักวิชาการใหญ่อย่าง อ.ยุกติ) และไม่ได้ปฏิเสธถึงประโยชน์ของมัน แต่วริศก็วิจารณ์การทำงานบนหอคอยงาช้างอย่างเผ็ดร้อนว่าไม่เข้าถึงใครและวางท่าไม่ได้สนใจว่าใครจะเข้าถึง ไม่เพียงเท่านั้น วริศยังอ้างถึงสถานการณ์ของโรคระบาดในฐานะตัวชี้วัดเวลา และเสนอว่างานบางประเภทตัดความเกี่ยวข้องเหล่านั้นออกไปซึ่งจะทำให้มี ‘ประโยชน์’ อยู่เพียงแต่ในจินตนาการถึงอนาคตในอดีตของเขาเท่านั้น และมีประโยชน์อยู่ในมิติเวลาที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป

นี่ดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงสำหรับคนทำงานวิชาการ แม้วริศจะไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวโดยการบอกว่ามันไม่มีประโยชน์ แต่วริศตั้งคำถามกลับไปถึงโจทย์ของงานวิจัย ซึ่งวริศเห็นว่าโจทย์นั้นต้องตอบต่อ ‘ตัวชี้วัดเวลา’ ที่เฉพาะเจาะจงเวลาใดเวลาหนึ่งเสมอ วริศพูดไม่ผิด แต่ในปฏิบัติการของความรู้ คงไม่มีผู้ใดผู้หนึ่ง (รวมถึงวริศ) ที่สามารถตัดสินว่างานวิชาการชิ้นใดไม่มีประโยชน์ หรืองานวิชาการใดที่มีประโยชน์ เพราะโจทย์ของงานวิชาการแต่ละชิ้นนั้นแตกต่างกันไปตามแต่บริบทที่รายล้อมงานเหล่านั้น ตลอดจนความสนใจของผู้สร้างผลงานดังกล่าว ‘ตัวชี้วัดเวลา’ จึงมิได้มีเพียงโจทย์ที่วริศมองเห็น แต่เป็นโจทย์อีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นในระนาบของเวลาดังกล่าว ซึ่งปฏิบัติการของมันอาจไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นที่ของสาธารณะหรือบนพื้นที่ของนักปฏิบัติ แต่คงมิได้หมายความว่ามันไร้ประโยชน์ และเมื่อคนทำงานวิชาการมิใช่ยอดมนุษย์มาจากไหน เขาจึงมิอาจล่วงรู้ความต้องการหรือความพึงพอใจของปัจเจกบุคคล หรือประโยชน์โภชน์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาจึงทำได้ในส่วนที่เขาทำได้ตามโจทย์หรือปัญหาที่เขามองเห็น ตามความถนัดที่แตกต่างกัน

วริศยังตั้งคำถามถึงงานวิชาการในฐานะ "สมอง" ของนักปฏิบัติ วริศอาศัยประสบการณ์ตนเองในการเสนอว่างานวิชาการไม่ได้มีผลต่อนักปฏิบัติมากนัก วริศกล่าวว่า "มึงก็คิดไปเถอะ นักปฏิบัติเขาไม่มีใครสนใจมึงมากขนาดนั้น ไม่มีใครเขาฟังอย่างตั้งใจถึงเสียงที่ตะโกนลงมาจากหอคอยงาช้าง นักปฏิบัติย่อมมีวิถีของนักปฏิบัติเองที่ไม่ได้มี และไม่จำเป็นต้องมี ‘แหล่งอ้างอิง’ เป็นโลกวิชาการเสมอไป" หรือ "ผมพบว่าเราอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้มากนักหากยังยืนกรานที่จะจัดตำแหน่งแห่งที่ตัวเองไว้เป็นนักวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่มีใครเอาแนวคิดของคุณไปทำต่อหากคุณไม่ใช่ ‘เจ้า’ หรือคนมากบารมีในสังคม" แน่นอนว่าผมอาจจะเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว หากบทความของวริศที่จัดตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในฐานะนักปฏิบัติมิได้นำแนวคิดอย่าง ทุน ชนชั้น เวลา แวดวง เจ้า ฯลฯ มาเพื่อวิพากษ์วงวิชาการ ทั้งที่ความคิดเหล่านั้นหรือสิ่งที่วริศหยิบมันมาใช้เพื่อวิพากษ์วงวิชาการและหอคอยงาช้าง ก็เป็นผลผลิตของวงวิชาการและหอคอยงาช้าง อันเกิดขึ้นจากโจทย์บนเงื่อนไขของบริบทที่แตกต่างกัน งานวิชาการมันจึงมีพลวัตที่ซับซ้อนกว่าจะอธิบายว่างานวิชาการบางชิ้นเป็นงานบนหอคอยงาช้าง หรืองานบางชิ้นเป็นงานที่เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยการหยิบยืมและแรงบันดาลใจ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่อาจแน่ใจในจุดยืนของวริศได้เลยว่าสุดท้ายแล้วเขาคิดอย่างไรต่อแวดวงวิชาการและความเป็นหอคอยงาช้าง ความคิดของเขาคงจะซับซ้อนพอๆ กับที่งานวิชาการมีพลวัตที่ซับซ้อน (และเขาก็ไม่สนใจที่จะทำมันให้ชัดเจนมากขึ้น) ในตอนหนึ่ง วริศยืนยันว่า "วิชาการหอคอยงาช้างไม่ได้ไม่มีประโยชน์ในตัวมันเอง แต่กระบวนการในการจัดการให้มันเกิดเป็นประโยชน์ได้นั้นไม่ได้ถูกรับรู้ว่าต้องมีอยู่ในประเทศไทย" แน่นอนว่าผมเห็นด้วยกับข้อความนี้เต็มร้อย เพราะพลวัตของงานวิชาการมันสร้างบทสนทนาต่อกันตลอด เราจึงจำเป็นต้องมีทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติที่จะนำความคิดทางวิชาการออกไปปฏิบัติ หากวิชาการหอคอยงช้างไม่ได้ไม่มีประโยชน์ในตัวมันเอง (แสดงว่าตัวมันก็มีประโยชน์) งานวิชาการเหล่านั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ แล้วเหตุใดเราถึงต้องเรียกร้องนักวิชาการที่วางตนเอง ณ จุดนั้น ให้ลงมาสู่กระบวนการจัดการด้วยตนเอง แต่กลับไม่เรียกร้องบุคคลที่วางตนเองในฐานะนักปฏิบัติที่จะนำสิ่งเหล่านั้นมาสู่มิติในส่วนงานที่ตนเองเชี่ยวชาญ เพราะสุดท้ายแล้ว เราคงต้องยอมรับว่าไม่มีบุคคลใดสามารถทำทุกอย่างได้โดยตัวคนเดียว การขับเคลื่อนสังคมจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันขององคาพยพต่างๆ นักวิชาการก็มีบทบาทของนักวิชาการ นักปฏิบัติก็มีบทบาทของนักปฏิบัติ หรือหากจำเป็นต้องมีตัวกลางที่เชื่อมระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่ม เราควรเรียกร้องที่จะทำให้มันเกิดขึ้น มากกว่าจะเรียกร้องนักวิชาการที่ทำงานวิชาการต้องมารับผิดชอบในส่วนที่ตนเองไม่ได้มีความถนัด

ผมคิดว่ามันมีเงื่อนไขแวดล้อมอยู่มากในการที่คนที่เรียกตัวเองว่า "นักวิชาการคนหนึ่ง" จะทำอะไรได้บ้าง แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมองทั้งหมดอยู่ในระนาบเดียวกันและประเมินมันจากเพียงมุมมองเชิงปฏิบัติ

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net