ออกกฎกระทรวงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

ออกกฎกระทรวงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ตามพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 กำหนดนิยาม “พื้นที่กีดกัน” “พื้นที่ระวังเหตุ” “พื้นที่ห่างจากชุมชน”

10 เม.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ กฎกระทรวงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ.2563 ลงนามโดย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเหตุผลประกอบในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า โดยที่มาตรา 51 วรรคสี่ มาตรา 52 และ มาตรา 53 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 บัญญัติให้การขอรับ ใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการต่ออายุ ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปคือ

อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา 5 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ(ฉบับที่2) พ.ศ.2562 และมาตรา 51 วรรคสี่มาตรา 52 และมาตรา 53 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติพ.ศ.2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมออกกฎกระทรวง ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ในกฎกระทรวงนี้ “พื้นที่กีดกัน” หมายความว่าพื้นที่ของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแสดงให้เห็นว่าในกรณีเกิดอุบัติเหตุรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณขอบของพื้นที่กีดกันจะต้องได้รับปริมาณรังสีทั่วร่างกายไม่เกิน 250 มิลลิซีเวิร์ตหรือปริมาณรังสีที่ต่อมไทรอยด์ไม่เกิน 3,000 มิลลิซีเวิร์ตจากการรับสารไอโอดีนภายในเวลาสองชั่วโมง

“พื้นที่ระวังเหตุ”หมายความว่าพื้นที่โดยรอบพื้นที่กีดกันซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถจัดการให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นซักซ้อมและปฏิบัติตามวิธีการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีและต้องแสดงให้เห็นว่าในกรณีเกิดอุบัติเหตุรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณขอบของพื้นที่นี้จะต้องได้รับปริมาณรังสีทั่วร่างกายไม่เกิน 250 มิลลิซีเวิร์ตหรือปริมาณรังสีที่ต่อมไทรอยด์ไม่เกิน 3,000 มิลลิซีเวิร์ตจากการรับสารไอโอดีนภายในสามสิบวัน

“พื้นที่ห่างจากชุมชน”หมายความว่าพื้นที่จากจุดศูนย์กลางที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่มีรัศมีไม่น้อยกว่า 1.3 เท่าของรัศมีของพื้นที่ระวังเหตุและต้องมีประชากรหนาแน่นไม่เกิน 500 คน ต่อตารางกิโลเมตรทั้งนี้ไม่รวมถึงพื้นที่ในส่วนที่เป็นพื้นที่กีดกันและพื้นที่ระวังเหตุ“เหตุการณ์ภายนอก”หมายความว่าเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และไม่ได้เกิดจากการดำเนินการหรือกิจกรรมภายในสถานประกอบการทางนิวเคลียร์

รายละเอียดประกาศทั้งหมด http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/028/T_0012.PDF

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท