Skip to main content
sharethis

คุยกับคนในวงการสื่อ ห้ามนักข่าวออกไปทำข่าวช่วงเคอร์ฟิว ดีหรือไม่ นายกสมาคมนักข่าวฯ ระบุ ไม่มีปัญหา ยังทำงานในเวลาอื่นได้ นักข่าวอีสานกังวล ไม่มีใครกล้าไปตรวจสอบการละเมิดสิทธิ ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศผิดหวังสื่อไทย สมาคมนักข่าวฯ ยอมรับการไม่ให้ออกไปทำข่าว นักวิชาการชี้ รัฐควรอำนวยให้สื่อทำงานได้

สื่อมวลชนไม่ใช่อาชีพที่ได้รับการยกเว้นให้ออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิว (22.00 - 04.00 น.) เว้นเสียแต่จะขออนุญาตเฉพาะราย นี่คือข้อยกเว้นจากวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ที่มา:มติชน)

คำขาดจากรองนายกฯ นัยหนึ่งคือการริบ ‘เวลา’ และ ‘โอกาส’ ของสื่อในการอยู่ ณ ที่เกิดเหตุใดๆ ไป 6 ชั่วโมง อีกนัยหนึ่งคือการเพิ่มเวลาและโอกาส 6 ชั่วโมงให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างทันท่วงทีทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและความสมเหตุสมผล

รัฐ สื่อ เสรีภาพออนไลน์ ไปกันอย่างไรดีในภาวะฉุกเฉินแก้ปัญหาโควิด-19

สองนัยบวกกับข้อบังคับตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ที่คาดโทษสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลที่สร้างความแตกแยกเกี่ยวกับโควิด-19 กลายเป็นสมการที่อาจจะกดเพดานการนำเสนอข่าวของสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนทฤษฏีต้มกบ ที่กว่าจะรู้ตัวว่าโดนต้ม กบก็คงสุกแล้ว 

และในวันที่รัฐใช้ยาแรงคุมไวรัส กบแต่ละตัวในวงการสื่อรับรู้ ทนทาน และสนองตอบต่อความร้อนไม่เท่ากัน

เคอร์ฟิวสื่อ ‘ไม่มี’ ปัญหาในทางปฏิบัติ

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมสมาคมฯ และองค์กรสื่อไทยมีความเห็นโดยส่วนใหญ่ว่า ขณะนี้ การไม่ให้ออกไปทำข่าวในช่วงเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมงไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรในทางปฏิบัติ โดยยึดหลักว่า การที่สื่อมวลชนออกไปทำงานตอนนี้อาจไปขัดขวางการทำงานในการควบคุมโรค โดยตกผลึกจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง และการกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา

“ในองค์กรสื่อไทยก็มีความเห็นโดยส่วนใหญ่ เห็นว่าแม้ขณะนี้จะมีเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรที่ชัดเจนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อไทย ยังเห็นได้ว่า ในกรณีที่ผู้เข้าเวรดึกก็ยังสามารถเดินทางกลับบ้านได้ ส่วนกรณีที่ทำข่าวติดพัน สื่อไทย โดยเฉพาะสื่อหลักก็สามารถประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งก็ให้ความเข้าใจดีในการทำหน้าที่”

“ในสถานการณ์โควิดนี้เป็นเรื่องปัญหาวิกฤตสุขภาพ ไม่ใช่ประเด็นรื่องการเมือง จึงเห็นว่าในเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมงสื่อไทยไม่ขัดข้องที่จะให้ความร่วมมือ และจะได้เป็นแบบอย่างด้วยว่าทุกคนควรจะปฏิบัติภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากเคอร์ฟิวจะขยายกว่านี้แล้วจะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อหรือไม่ก็จะเป็นขั้นต่อไปที่จะต้องดูว่าจะมีข้อยกเว้นอย่างไรหรือไม่”

“ในข้อเท็จจริงคิดว่าทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์มีมือถือที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ แล้วหลังเหตุการณ์แล้ว สื่อได้รับแจ้งเรื่องราว สื่อก็สามารถตามเรื่องราวได้ในเวลาที่เหลือ เพราะไม่ได้แปลว่าสื่อไปตระเวนในช่วงเคอร์ฟิวแล้วบังเอิญไปอยู่ในสถานการณ์ได้อย่างพอดิบพอดี”

สำหรับความเห็นเรื่องแนวปฏิบัติในอนาคตหากว่าจะมีการขยายช่วงเวลาเคอร์ฟิวนั้น มงคลยังไม่ขอให้ความเห็น เพราะต้องรอดูว่าจะมีรายละเอียดอย่างไรต่อไป

เคอร์ฟิวสื่อ ‘มี’ ปัญหาในทางปฏิบัติ

ในคืนวันที่ 3 เม.ย. 63 คืนแรกที่เคอร์ฟิวถูกบังคับใช้ หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการสำนักข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด ภาคภาษาไทย อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพีบีเอส เดินทางไปถ่ายทอดสดเฟสบุ๊คในเมืองและพื้นที่ด่านตรวจแดนต่อแดนระหว่างจังหวัดขอนแก่น-กาฬสินธุ์ เพื่อเก็บบรรยากาศคืนแรกของเคอร์ฟิว 

บันทึกถ่ายทอดสดที่หทัยรัตน์กล่าวถึง (ที่มา:Facebook/เดอะอีสานเรคคอร์ด)

การถ่ายทอดสดล่วงเลยเกิน 22.00 น. หทัยรัตน์เล่าว่า ขณะที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่ที่ด่านตรวจ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินมาพูดแกมบังคับให้กลับเข้าเคหสถาน

“เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เดินมาบอกเราว่า คุณครับ มันหมดเวลาของการรายงานข่าวแล้วนะ มันคือเคอร์ฟิว คุณควรเคารพเคอร์ฟิว”

หทัยรัตน์ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นนักข่าว มีหนังสืออนุญาตทำงานที่เตรียมไว้เผื่อ คืนนั้นผ่านไปโดยไม่ถูกดำเนินการทางกฎหมายใดๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความไม่แน่นอน และรู้สึกว่าเสรีภาพในการทำข่าวเพื่อตรวจสอบรัฐอย่างทันท่วงทีถูกริบไป โดยสื่อมวลชนทั้งสำนักข่าวอิสระขนาดเล็ก และนักข่าวรับจ้างหรือที่เรียกว่าสตริงเกอร์ของสื่อสังกัดใหญ่และสื่อต่างประเทศในต่างจังหวัดล้วนได้รับผลกระทบทั้งนั้น

“สื่อมวลชนควรได้รับสิทธิ เสรีภาพ หรือที่เราใช้คำว่าคืนเสรีภาพให้สื่อมวลชนในการรายงานข่าว อีกอย่างหนึ่งคือ สื่อมวลชนที่ไปทำงานหลังเคอร์ฟิว ภาพบรรยากาศของบ้านเมืองที่เป็นแบบนี้ นักข่าวเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ภาพเหล่านี้มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์สังคมไทยมาก แล้วการที่คุณมากีดกันอย่างนี้มันก็เท่ากับปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร”

“ในสภาวะฉุกเฉิน ถ้าคุณปกปิดข้อมูล เหมือนประเทศจีน คุณปกปิด มันยิ่งลามระบาดไปเรื่อยๆ ปล่อยให้สื่อมวลชนที่เขามีหน้าที่ ที่เขาเป็นมืออาชีพได้รายงานข่าวสารมากกว่าที่ประชาชนจะไปรู้จากข้อมูลข่าวปลอมการแชร์นู่นนี่นั่น มันน่าจะถูกต้องกว่าไหม” 

บก.เดอะอีสานเรคคอร์ดอ้างถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนปิดข่าวการระบาดของโควิด-19 เมื่อแรกเริ่มการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ที่ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคแย่ลงกว่าเดิม และมีผลกระทบอย่างหนักต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อข้อมูลที่รัฐบาลเผยแพร่และตอบโต้หลังจากนั้น

ปัจจุบัน หทัยรัตน์ เดอะอีสานเรคคอร์ด และสื่อมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนหนึ่งกำลังรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมสื่อมวลชนอีสาน เพราะพบว่าไม่สามารถพึ่งพาสื่อมวลชนและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนผลักดันประเด็นเสรีภาพสื่อได้ ขณะนี้กำลังเปิดรับสมาชิก มีสถานที่ทำการแล้ว เหลือเพียงจดแจ้งจัดตั้งเป็นสมาคม นอกจากนั้น เครือข่ายสื่อมวลชนอีสานยังมีแถลงการณ์เรียกร้องให้คืนเสรีภาพให้แก่สื่อมวลชนด้วยเมื่อ 8 เม.ย.

“สื่อมวลชนส่วนกลางทำอะไรกันอยู่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่เคยเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งพิงกับนักข่าว คุณทำอะไรอยู่ คุณไม่รู้ว่าเราถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในการทำงานเหรอ ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนส่วนกลางออกมาทำอะไรสักอย่าง สื่อมวลชนต่างจังหวัดก็ลำบากในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะหลังเคอร์ฟิว เราออกไปเราโดนจับแน่” หทัยรัตน์กล่าว

สื่อไทยยอมรับเคอร์ฟิว ‘มี’ ปัญหาในทางปฏิบัติ

อีกข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลต่อการไม่ให้สื่อไทยออกไปทำงานข่าวในช่วงเคอร์ฟิว มาจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อ 7 เม.ย. ร่วมกับสื่ออิสระอย่างไทยเอ็นไควเรอร์ (Thai Enquirer) ดิสรัปต์ (Thisrupt) เดอะอีสานเรคคอร์ด และเครือมติชนกรุ๊ป ขอให้ยกเว้นให้นักข่าวที่มีบัตรนักข่าวที่ได้รับการรับรองจากรัฐให้ออกไปทำข่าวในช่วงเคอร์ฟิวได้ โดยที่ไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตพิเศษจาก พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 

เกว็น โรบินสัน บรรณาธิการสำนักข่าวนิคเคอิ เอเชียน รีวิว และประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) กล่าวว่า ไม่ว่าประเทศใด สื่อมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลวิธีการรับมือโควิด-19 เธอผิดหวังที่สื่อไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ไม่เห็นการถูกห้ามออกนอกเคหสถานเป็นปัญหา ทั้งๆ ที่สถานการณ์อาจจะแย่ลง

“ฉันคิดว่ามันน่าผิดหวังมาก เพราะฉันไม่คิดว่าพวกเขาคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปถ้าคุณยอมรับสิ่งนี้โดยไม่แม้แต่จะตั้งคำถามว่า ‘โปรดทบทวนเถอะ’ ขั้นตอนต่อไปอาจหมายถึงเคอร์ฟิวที่นานกว่านี้ หรือเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงถ้าคุณไม่ตอบโต้ตอนนี้และแสดงจุดยืนเรื่องการรายงานข่าว”

“รัฐบาลเองก็ข่มขู่อย่างจริงจังเกี่ยวกับข่าวปลอม พวกเขาบอกว่าเขามีความสามารถในการปิดสื่อได้หากว่ามีการรายงานข่าวปลอม ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องยากมากถ้าสื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปตรวจสอบเคอร์ฟิว”

“เราไม่ต้องการข่าวปลอม ชัดเจนอยู่แล้ว แต่พวกเขาจะคาดหวังให้เราได้รับข้อมูลที่แม่นยำในขณะที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก” เกว็นกล่าว

ต่อข้อเรียกร้องที่ส่งให้นายกฯ ไปนั้น เกว็นได้รับข้อมูลมาว่านายกฯ กำลังทบทวนอยู่ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์ในอดีต พบว่าการทำเรื่องให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยต้องใช้เวลานาน เพราะว่าทุกๆ ระดับจะมีการตรวจเอกสาร ซึ่งกระบวนการที่จะใช้เวลาหลายวันนั้นขัดกับการทำงานของสื่อที่ต้องไปลงพื้นที่ในเหตุการณ์เฉพาะหน้า กระนั้นก็ยังดีกว่าออกไปไม่ได้เลย

“ถ้ามีใครสักคนบอกคุณว่า มีด่านตรวจใหม่ที่กรุงเทพฯ ตรงถนนสุขุมวิท ถ้าคุณอยากไปดู คุณอาจต้องเขียนหนังสือตอนนี้ และบางทีคุณอาจจะได้รับคำตอบภายในเวลา 5 วัน” เกว็นยกตัวอย่าง

ประธาน FCCT ไม่เชื่อว่าการขังสื่อมวลชนเอาไว้ในเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิวจะสร้างผลดีในการควบคุมโรค เพราะสื่อมวลชนมีบทบาทในการรายงานในสิ่งที่รัฐไม่เห็นและจำเป็นต้องรู้ และให้ภาพที่ชัดเจนว่ารัฐกำลังมีมาตรการอะไร ดังที่สื่อประเทศอื่นๆ ทำ เธอยกตัวกรณีที่เพื่อนร่วมงานของเธอเดินทางไปยังพื้นที่ยากจนใน กทม. เพื่อดูว่าอาหารยังชีพถูกแจกจ่ายอย่างไรในภาวะฉุกเฉิน

“ฉันคิดว่ามันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันถ้ารัฐบาลจะยอมรับสื่อว่าเป็นสิ่งเชิงบวก สื่อไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ยังรายงานมาตรการต่างๆ เหมือนกับที่สื่อรายงานกันในอิตาลี ฝรั่งเศสหรืออเมริกา”

“นักข่าวและช่างภาพตั้งใจจะรับความเสี่ยงในการลงพื้นที่ ฉันไม่คิดว่ามันเป็นไปในทางเดียวที่พวกเราควรจะกังวลว่านักข่าวจะเป็นพาหะนำโรค พวกเขาเอาตัวเองไปเสี่ยงเหมือนกัน แต่พวกเขาตั้งใจทำเช่นนั้นเพื่อทำงานในการรายงานข่าว”

“แต่ฉันไม่เชื่อว่าเคอร์ฟิวจะสร้างความแตกต่างใดๆ ต่อความอันตรายนั้น” เกว็นกล่าว

รัฐไม่ควรปิดกั้นสื่อทำงานในช่วงคุมโควิด-19 ระบาด

หทัยรัตน์เสนอให้รัฐบาลประกาศเพิ่มเติมไปในข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าอาชีพสื่อมวลชนเป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นให้ทำงานได้ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว เสมือนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งสื่อที่ได้รับหรือไม่ได้รับการรับรองจากกรมประชาสัมพันธ์ ก็ขอให้อย่างน้อยมีหนังสือรับรอง หรือแสดงตัวได้ว่าเป็นสื่อมวลชนก็เพียงพอแล้ว

“ไม่มีใครอยากให้สถานการณ์แย่ลง ทุกคนต้องการให้ประเทศชาติเดินหน้าไป ให้มันพ้นวิกฤตสักที เพราะตอนนี้จะตายกันหมดแล้ว เราก็อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เป็นสื่อมวลชน เป็นหูเป็นตา เราก็ไม่อยากให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ ช่วงเวลาหลังเคอร์ฟิว เราไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นถ้าไม่มีนักข่าว ใครจะเป็นคนมีหน้าที่บอกรัฐบาลว่ามันมีความเดือดร้อนอยู่ตรงนี้ คุณต้องช่วยเขาแก้ไข” บก.เดอะอีสานเรคคอร์ดกล่าว

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ให้ความเห็นว่าเสรีภาพสื่อและสิทธิในการหาข้อมูลของสื่อไม่ควรจะถูกลิดรอนภายใต้เงื่อนไขนี้ ในสถานการณ์ปกติคงไม่มีนักข่าวออกไปทำข่าวในช่วงเวลานั้น แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ อาจมีบางช่วงที่นักข่าวจำเป็นต้องเดินทาง หรือทำข่าวในช่วงเวลานั้น รัฐควรจะเอื้อให้สื่อทำงานในช่วงนั้นได้

“ผมคิดว่าช่วงเคอร์ฟิวก็ไม่มีใครออกอยู่แล้ว นักข่าวเองก็เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อเหมือนกัน แต่ถ้าเขาตัดสินใจจะนำเสนอหรือไปหาข่าว โดยผ่านการเห็นชอบของ บก. มันก็ควรจะเป็นสิทธิ เช่น ออกไปเก็บข้อมูลคนไร้ที่พัก ว่าในช่วงเคอร์ฟิวเขาอยู่กันอย่างไร ก็ควรเป็นสิทธิที่สามารถพึงกระทำได้ ภายใต้การระมัดระวังของการติดโรคต่างๆ”

มานะเสนอว่า รัฐสามารถช่วยอำนวยความสะดวกกับนักข่าวในเรื่องการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ และเอื้อเฟื้อสื่อมวลชนในการให้ข้อมูลข่าวสารตามด่านตรวจต่างๆ เมื่อนักข่าวออกไปทำข่าวในช่วงเคอร์ฟิว ในส่วนการรับรองนั้น ในยุคที่มีทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง อย่างน้อยที่สุดควรได้รับการรับรองจากกองบรรณาธิการที่ยืนยันได้ว่าออกไปทำข่าวจริง มีการประสานงานกันก่อน

“ต้องเข้าใจความเป็นจริงก่อนว่าปกติไม่มีใครออกไปอยู่แล้ว แต่การออกคำสั่งโดยที่ระบุชัดแบบนั้นมันมีนัยเรื่องของการหมิ่นเหม่ในการลิดรอนสิทธิในเรื่องการทำข่าว แต่ตัวรัฐเองควรจะเอื้ออำนวยความสะดวกถ้าในเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่สำนักข่าวบางแห่งจำเป็นต้องไปทำข่าวในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งตัว บก. ข่าวก็คงมีเหตุผลอยู่แล้วว่าทำไมต้องออกไปช่วงนั้น” มานะกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net