Skip to main content
sharethis

โลก ติดสะสม 1.6 ล้าน #saveแหม่มโพธิ์ดำ ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ หลังเพจเผยถูก ตร.ตามตัว iLaw ชี้แชร์ของ 'แหม่มโพธิ์ดำ' ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต ก็ไม่ผิด สปสช.แจง รพ.ไม่ต้องกังวล สปสช.จ่ายค่ารักษา ‘โควิด-19’ ให้สิทธิผู้ป่วยทั้งกระบวนการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอฟู้ดเดลิเวอรี่ ปรับค่าบริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน

10 เม.ย.2563 ประมวลสถานการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) เวลา 11.30 น. ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) (ศบค.)  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ และความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรการของรัฐ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ไทยติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย สะสม 2,473 ราย ตายเพิ่ม 1 

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย ผู้ที่หายป่วย 1,013 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,473 ราย ใน 68 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 43 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวคือ SLE แพ้ภูมิตัวเอง ได้รับการรักษาวันที่ 6 เมษายน 63 ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยอาการไข้ 38.9 องศา ถ่ายเหลวและอาเจียน แรกรับผู้ป่วยหายใจหอบเหนื่อย ความดันโลหิตตก ผลเอ็กซเรย์ปอดพบว่าปอดอักเสบแบบรุนแรง เสียชีวิต 7 เม.ย. 63 ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วย 

โฆษก ศบค. ย้ำความจำเป็นที่ต้องพูดถึงเคสต่าง ๆ โดยละเอียดเพื่อประชาชนได้เรียนรู้ เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ อาการเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ แต่มีอาการด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย เมื่อรู้เร็ว สังเกตอาการ สามารถดูแลซึ่งกันและกัน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ อยู่ในกลุ่มอายุ 20-39 ปี เป็นกลุ่มวัยทำงานที่เข้มแข็ง ออกจากบ้าน เดินทางไปมา มีสังคม ไม่ลดระยะห่างทางสังคม ทำให้เกิดการนำเชื้อเข้ามาที่บ้าน แล้วติดเชื้อที่บ้าน หากไม่เปลี่ยนแปลงตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น ๆ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนสามารถที่จะลดตัวเลขนี้ได้ ทุกคนต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย พบว่า กลุ่มสูงสุด คือ สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดในบ้านเดียวกันแต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นทำให้คนอื่นในบ้านติดด้วย  จึงต้องมีการมีระยะห่างไว้ก่อน ฉะนั้น อยู่ในบ้านช่วงระยะนี้จะต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วย
สำหรับประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยรายใหม่

กลุ่มแรก เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนกันก่อนหน้านี้ 27 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ 19 ราย ยะลา 7 ราย

กลุ่มที่สองคือผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ แต่เกี่ยวโยงกับต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา 1 คน อังกฤษ 2 คน ซึ่งเดินทางมาก่อน 31 มี.ค. 63 และมีคนที่ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 3 คน ทำงานในสถานที่แออัด ทำงานใกล้ชิดสัมผัสกับคนต่างชาติ  5 คน

กลุ่มที่สาม อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ค้นหาเชิงรุก ที่จังหวัดภูเก็ตได้เพิ่มอีก 4 ราย ซึ่งที่จังหวัดภูเก็ตยังเป็นตัวเลขสะสมในอันดับต้นๆ ของประเทศอยู่  ถ้าเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดแล้ว จังหวัดภูเก็ตจะสูงมาก ฉะนั้นเวลาที่จะมีมาตรการเข้าไปก็ต้องแรงกว่าปกติ ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่แรงแล้ว เพราะเข้าไปเจาะบางกลุ่ม และตรวจทางห้องปฏิบัติการให้มากที่สุดในกลุ่มที่เป็นความเสี่ยง

โฆษก ศบค. กล่าวว่า จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรับการรักษามี 9 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง  เมื่อดูอัตราส่วนของผู้ป่วยต่อประชากร 1 แสนคนของประเทศไทยจำแนกตามจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มากที่สุดคือจังหวัดภูเก็ต 38.95 กรุงเทพฯ 22.25 ยะลา นนทบุรี ปัตตานี ซึ่งเป็น 5 อันดับแรก ซึ่งลำดับคล้ายกับกลุ่มผู้ป่วยยืนยันสะสม โดยการรายงานอย่างนี้ทุกวันมีความสำคัญเป็นอย่างสูงหน้าที่ของทุกคนเมื่อรับรู้แล้ว ขอให้ช่วยนำไปแปลงให้เป็นการปฏิบัติ การเสียสละเพื่อชาติทำได้ง่ายมาก เพียงแค่นั่งดูทีวีอยู่ที่บ้านก็ช่วยได้แล้ว
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ที่ติดเชื้ออยู่ที่กรุงเทพฯ 19 ราย ซึ่งตัวเลขค่อยๆ ลดลง ยะลา 7 ราย ภูเก็ต 5 ราย นนทบุรี 4 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นครสวรรค์กับปราจีนบุรี เท่ากันที่ 2 ราย ฉะเชิงเทรา ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พะเยา สุราษฎร์ธานีและพังงา จังหวัดละ 1 ราย สำหรับสัดส่วนระหว่างกรุงเทพฯ นนทบุรี 2 จังหวัด เปรียบเทียบกับต่างจังหวัดพบว่า แผนภูมิเส้นสีฟ้าของกรุงเทพฯ และนนทบุรียังทรงตัวอยู่ แต่เส้นสีแดงก็ลดลง ขณะที่กรุงเทพฯ นนทบุรี เมื่อเทียบกับภาคใต้แล้วยังน่าเป็นห่วงอยู่ 2 ที่ กลุ่มอายุยืนยันเท่าเดิมคือ 20-39 ปี เป็นกลุ่มอายุที่เจอมากที่สุด ฉะนั้น ขอให้ครอบครัวได้เตือนลูกหลานให้อยู่บ้านเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นพาหะที่เดินได้แล้วมาแพร่ระบาดในบ้าน หากไปทำงานขอให้ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ใส่หน้ากากอนามัย หรือใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลา ถ้าป่วยต้องรีบหยุดงานแล้วมารักษา

โฆษก ศบค. กล่าวถึงจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม จำแนกตามปัจจัยเสี่ยง อันดับที่ 1 คือ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 781 ราย อับดับที่ 2 คือ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 260 ราย อันดับ 3 สนามมวย 238 คน แต่เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงพบว่า ลำดับเปลี่ยนไป โดยสนามมวยไปอยู่ที่อันดับ 9 เพราะติดเชื้อน้อยลง แต่คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 คือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ อับดับ 3 คืออาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องขอเตือน คือวัยทำงาน 20-39 ปี เพราะกลุ่มนี้ไปสถานบันเทิงด้วย และอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังคือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีความเสี่ยง เป็นด่านหน้าในการทำงานสู้กับไวรัส

โลก ติดสะสม 1.6 ล้าน

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ของโลก สะสมอยู่ที่ 1,600,000 กว่าคน อาการหนักประมาณ 49,000 คน เสียชีวิต 95,731 คน ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ของการติดเชื้อสะสมจำนวน 2,473 คน สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในระดับทรงตัวมาได้สักระยะหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานนี้มากกว่าประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ยังมีความกังวลสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนเพราะความรุนแรงของโรคสูงมากที่ทำให้มีการเสียชีวิตของคนที่อยู่ในระดับมากมาตลอด  

(ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

#saveแหม่มโพธิ์ดำ ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ หลังเพจเผยถูก ตร.ตามตัว

เพจ 'แหม่มโพธิ์ดํา' ที่ก่อนหน้านี้ออกมาเปิดโปงคลิปกากกักและขายหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น กลับมาโพสต์อีกครั้งว่าตนเองโพสต์ถูกตำรวจติดตามตัว ในข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ เพจดังกล่าวยืนยันว่า เจตนาจริง ๆ ต้องการให้ตำรวจตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากประเทศกำลังขาดแคลนหน้ากากอนามัย

จากนั้นเพจได้ระงับการเผยแพร่แล้วขณะนี้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นมีมีผู้แชร์โพสต์ของเพจดังกล่าวออกไปเป็นจำนวนมาก พร้อมกับการให้กำลังใจ รวมทั้งช่วยกันติดแฮชแท็ก #saveแหม่มโพธิ์ดำ จนทำให้แฮชแท็กนี้เทรนด์ในทวิตเตอร์

iLaw ชี้แชร์ของ 'แหม่มโพธิ์ดำ' ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต ก็ไม่ผิด

iLaw โพสต์ถึงข่าวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแถลงข่าวว่ากำลังตามหาตัวเจ้าของเพจแหม่มโพธิ์ดำ เนื่องจากอาจจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) เนื่องจากแชร์ภาพวีดีโอของ "เสี่ยบอยมิดไนท์" ที่โฆษณาขายหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นลงเฟซบุ๊ก

มาดูพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กันว่า มีมาตราไหนจะมาใช้เอาผิดเพจแหม่มโพธิ์ดำได้จริงหรือไม่ 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

รพ.ไม่ต้องกังวล สปสช.จ่ายค่ารักษา ‘โควิด-19’ ให้สิทธิผู้ป่วยทั้งกระบวนการ

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า สปสช.เตรียมงบกว่า 4,280 ล้าน ลุยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ทุกสิทธิ รักษาผู้ป่วยบัตรทองฟรี พร้อมแจกแจงสิทธิประโยชน์ละเอียดยิบ ครอบคลุมยาราคาแพง ค่าขนส่ง ค่าตรวจแล็บ ผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน ชุด PEE ห้องความดันลบ สถานที่ดูแลต่อเนื่อง รวมถึงจ่ายชดเชยบุคลากรสาธารณสุขหากเกิดความเสียหาย ด้านรองเลขาธิการฯ แนะท้องถิ่นใช้งบ “กองทุนตำบล” 7,700 แห่ง ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสิทธิการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดการแพร่ระบาดหลังจากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบประมาณปี 2563 ไปแล้ว แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนจึงมีมติเห็นชอบให้บรรจุโรคนี้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้นั้น ส่วนแรกเป็นผลพวงมาจากกลไกการต่อรองราคายาของ สปสช. ที่ทำให้สามารถจัดซื้อยาได้ในราคาถูกจนประหยัดงบประมาณประเทศได้ถึง 1,020 ล้านบาท ส่วนที่สองมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่อนุมัติงบกลางให้อีก 3,260 ล้านบาท ทำให้ สปสช.มีงบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 4,280 ล้านบาท

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า งบประมาณทั้งหมดนี้จะถูกใช้ไปใน 2 ส่วน ได้แก่ 1. การรักษาพยาบาลผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง 2. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยกิจกรรมสำคัญที่ สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ดำเนินการไปแล้วก็คือการตรวจคัดกรองเชิงรุกสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยกระทรวงสาธารณสุขและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการที่ จ.ภูเก็ต เป็นแห่งแรก สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

นอกจากนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลขึ้น ทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีงบประมาณอยู่ในพื้นที่ 7,700 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถนำงบส่วนนี้มาป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ตัวอย่างเช่น 1. การรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันตามแนวทางของกรมควบคุมโรค 2.การจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดไข้ 3. การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง 4. ตรวจเยี่ยมกลุ่มเสี่ยงในชุมชน 5. ติดตามและเฝ้าระวังการเดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ 6. การจัดบริการรับส่งผู้ป่วยที่จำเป็นไปยังโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ฯลฯ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อถึงการดูแลบุคลาการทางสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า สปสช.จะจ่ายเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 3 ระดับ ได้แก่ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 4.8 แสน - 8 แสนบาท 2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลต่อการดำรงชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 2 แสน - 4.8 แสนบาท และ 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จะจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาท

พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า การรักษาโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ สปสช.จัดสรรเพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์เดิม โดยบอร์ด สปสช.อนุมัติการจ่ายเงินสำหรับยารักษาโควิด-19 ครั้งละ 7,200 บาท แต่หากในอนาคตมียาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาแพงขึ้นก็สามารถขออนุมัติค่าใช้จ่ายอัตราใหม่ได้อีก

นอกจากนี้ สปสช.ยังอนุมัติการจ่ายค่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งเป็นการจ่ายตามจริงไม่เกินครั้งละ 3,700 บาท โดยครอบคลุมค่ายานพาหนะ ค่าทำความสะอาดยานพาหนะ ค่าแรงผู้นำส่ง รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์และชุดป้องกันความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ (PPE)

สำหรับการตรวจคัดกรองกลุ่มผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ (lab) ถือว่าเป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น สปสช.จะสนับสนุนค่าตรวจให้แก่ประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

“ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดและสงสัยว่าตัวเองจะติดโรคโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง หากเข้าเกณฑ์ทาง สปสช.จะจ่ายให้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นไข้หรือไม่มีประวัติความเสี่ยงใดๆ แนะนำว่าไม่ควรไป เพราะการไปโรงพยาบาลจะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น” พญ.กฤติยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากตรวจคัดกรองแล้วผลยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กรณีผู้ป่วยนอก สปสช.จะจ่ายชดเชยค่ายา แต่ถ้าจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือเป็นผู้ป่วยใน สปสช.จะชดเชยทั้งค่าชุด PEE ของบุคลากรทางการแพทย์ ค่าตรวจเลือดและตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ รวมถึงค่าการใช้ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) ครั้งละ 2,500 บาทต่อคนต่อวัน ในกรณีของผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วและจำเป็นต้องย้ายไปดูแลต่อที่โรงแรมหรือตามสถานพยาบาลที่ สธ.รับรอง สปสช.ก็จะตามไปจ่ายค่าที่พักและค่ารักษา ณ สถานที่นั้นๆ ให้ด้วย

“ขอให้มั่นใจว่า สปสช.จะใช้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยสถานบริการสามารถเบิกจ่ายได้นับตั้งแต่การรับบริการวันที่ 2 มี.ค.เป็นต้นไป” พญ.กฤติยา กล่าว

อนึ่ง ในวันจันทร์ที่ 13 เม.ย. 2563 สปสช.จะจัด Facebook LIVE ชี้แจงถึงแนวทาง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายกรณีโรคโควิด-19 และการคัดกรอง ผ่านทางแฟนเพจ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/NHSO.Thailand ในเวลา 09.00 น.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอฟู้ดเดลิเวอรี่ ปรับค่าบริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในช่วงที่ทุกคนหยุดกักตัวอยู่บ้าน เพื่อช่วยกันลดการระบาดของ COVID-19 ตามนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” พบว่าธุรกิจบริการรับส่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นที่ต้องการของประชาชนมากขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว แต่ไร้การควบคุม มีการฉวยโอกาสปรับราคาส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าที่เข้าร่วม เช่น จากเดิมร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 35 - 40 นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเก็บค่าบริการขนส่งอาหารที่แพงกว่าที่ควรเป็น การแสดงราคาอาหารที่แพงกว่าหน้าร้าน ปัญหาการให้บริการของพนักงานส่งอาหาร อีกทั้งหลายร้านพบการใช้วัสดุจากโฟมและพลาสติก สวนทางกับกระแสลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภค

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 และส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ มพบ. จึงมีข้อเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ดังนี้

1. ขอให้คิดค่าบริการขนส่งอาหารอย่างเป็นธรรม โดยผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่อาจคิดค่าขนส่งตามระยะทางจริง และมีการกำหนดมาตรฐานกลางที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ส่ง ร่วมกัน เช่น ระยะทาง 1-5 กิโลเมตร ต้องคิดค่าส่ง 10 บาท กิโลเมตรต่อไปบวกเพิ่มอีกเท่าไหร่ เป็นต้น หากมีการจัดโปรโมชั่นลดค่าขนส่ง บริษัทควรดำเนินการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าตอบแทนของร้านค้าและผู้ส่ง นอกจากนี้ ไม่ควรคิดค่าอาหารแพงกว่าความเป็นจริง โดยราคาอาหารที่แสดงบนแอปพลิเคชันต้องเท่ากับราคาอาหารที่ขายหน้าร้าน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้วย

2. ผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟมเพื่อลดการสร้างขยะที่ย่อยสลายยาก โดยทำระบบแอปพลิเคชันให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสามารถเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช่โฟมได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ควรมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน

3. มีระบบรับแจ้งร้องเรียน และการชดเชยเยียวยาผู้บริโภค กรณีได้รับความเสียหายจากการรับส่งอาหาร เช่น ได้รับรายการอาหารไม่ตรงกับที่สั่ง ไม่ได้รับอาหารแต่ถูกตัดเงินจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต พนักงานส่งอาหารปฏิเสธรายการระหว่างรออาหาร หรือไม่ได้รับอาหารเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยขอให้บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่คืนเงินเต็มจำนวนแก่ผู้บริโภคโดยเร็วที่สุดและไม่มีเงื่อนไขใดๆ

4. บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ทั้งพฤติกรรมการขับขี่ การกำหนดอายุผู้ขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติตามกฎจราจร การตรวจสอบสภาพรถ การสวมหมวกนิรภัย และมีระบบร้องเรียนหากพบผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net