Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ชะลอส่งแรงงานไทยไปประเทศกลุ่มเสี่ยง

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยสถานการณ์การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ชะลอจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศกลุ่มเสี่ยงจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะประเทศอิสราเอล หลังรัฐบาลอิสราเอลขอความร่วมมือให้ไทยชะลอการจัดส่งแรงงานตามความร่วมมือ ไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) ออกไปก่อน ส่วนประเทศปลายทางอื่น ขึ้นอยู่กับมาตรการการอนุญาตเดินทางเข้าออกประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศระงับการเดินทางเข้าประเทศชั่วคราว ได้แก่ กาตาร์ บาห์เรน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และหากได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้แล้วต้องปฏิบัติตามประกาศและมาตรการของภาครัฐในประเทศนั้นๆ ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย

“ส่วนการเดินทางไปทำงานประเทศอื่น ๆ ที่กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) นั้น คนหางานควรตรวจสอบข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ในสาธารณรัฐเกาหลีก่อนเพื่อวางแผนการเดินทาง โดยหากประสงค์จะเดินทางจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตามที่ทางสาธารณรัฐเกาหลีกำหนด เช่น การกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าอิสราเอล จะถือว่าเป็นตลาดแรงงานใหญ่ของไทย แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในภาพรวม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่าในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศและการปฏิบัติต่างๆ ของกรมการจัดหางานจะดำเนินการอยู่ภายใต้นโยบายและประกาศกำหนดของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี จากสถิติเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวนทั้งสิ้น 3,737 คน นิยมเดินทางไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด จำนวน 1,648 คน รองมาเป็น สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 457 คน และญี่ปุ่น จำนวน 301 คน ขณะเดียวกันได้ระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 56 คน โดยระงับผู้ที่จะเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีมากที่สุด จำนวน 31 คน รองลงมาเป็นโอมาน 17 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5 คน ตามลำดับ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/4/2563

แรงงานภาคการท่องเที่ยวจี้รัฐเร่งเยียวยาตกงานกว่า 4 ล้านคน

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แอตต้าต้องการให้รัฐบาลเร่งเยียวยาแรงงานภาคท่องเที่ยวครอบคลุมทั้ง 13 สาขาอาชีพ คิดเป็นจำนวนแรงงานกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ ด้วยการจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หลังจากแรงงานท่องเที่ยวใน 2 สาขาอาชีพ ได้แก่ มัคคุเทศก์ อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนลูกจ้างโรงแรม ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบในหลักการให้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมทั้งกรณีที่รัฐเป็นผู้สั่งปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวและผู้ประกอบการโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวด้วยตัวเอง

สำหรับแรงงานท่องเที่ยวใน 11 สาขาอาชีพที่ยังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ได้แก่ ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ ทัวร์เอาท์บาวด์ ทัวร์ภายในประเทศ ธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยวทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ธุรกิจส่งเสริมตลาดไมซ์ (การจัดประชุม นิทรรศการ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล) ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจนันทนาการ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว และสาขาส่งเสริมความสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศหรือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัททัวร์ส่วนใหญ่มีกระแสเงินสดสำรองอีกแค่ 2 เดือนนับจากนี้ แอตต้าจึงต้องการให้รัฐช่วยเยียวยาจ่ายเงินชดเชยประกันสังคมแก่แรงงานในกลุ่มธุรกิจบริษัททัวร์ด้วย ทั้งที่ทำตลาดทัวร์อินบาวด์ เอาท์บาวด์ และทัวร์ในประเทศซึ่งมีจำนวนแรงงานรวมกว่า 3 แสนคน เป็นระยะเวลานาน 6 เดือน หรือคิดเป็นเงินชดเชยรวมกว่า 2,700 ล้านบาทต่อเดือน ไม่เช่นนั้นอาจเห็นภาพบริษัททัวร์หลายพันแห่งต้องปิดกิจการถาวร

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 6.68 ล้านคน ลดลง 38% จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวจำนวน 10.79 ล้านคน ส่วนในไตรมาสที่ 2 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวนหลัก 1,000 คน หากเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจำนวน 8.97 ล้านคน

ที่มา: TNN, 10/4/2563 

ก.แรงงาน ประกาศจ่ายเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 เริ่ม 17 เม.ย.นี้

10 เม.ย. 2563 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ปัญหาแรงงานตกงานและว่างงาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลังจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีแรงงานตกงานมากถึง 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 38 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่าได้วางแนวทางเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นคือการจ่ายเงินเยียวยาแรงงานในระบบที่อยู่ในมาตรา 33 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรงงานที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ที่รัฐบาลประกาศให้หยุดสถานประกอบการ จะได้รับเงินเยียวยาเป็นเวลา 3 เดือน ในอัตรา 62 เปอร์เซ็นต์ บนฐานเพดานไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว

ส่วนอีกกลุ่มคือแรงงานรับจ้างที่ภาครัฐไม่มีคำสั่งปิดสถานประกอบการแต่ได้รับผลกระทบประมาณ 8 แสนคน จะได้รับเงินเยียวยาเป็นเวลา 3 เดือนเช่นกัน โดยจะเสนอเรื่องเข้าครม.ในวันพุธที่ 15 เม.ย.นี้ และคาดว่าธนาคารต่างๆจะทยอยจ่ายเงินได้ภายใน 3 วัน เร็วสุดวันที่ 17 เม.ย. และช้าสุดวันที่ 20 เม.ย.

ส่วนกรณีที่ กกร. ประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย. 2563 นี้ จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด แบ่งเป็น 1.ธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน 2.ร้านอาหาร 2.5 แสนคน 3.สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน 4.ธุรกิจโรงแรม 9.78 แสนคน 5.ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน 6.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน 7.สิ่งทอ 2 แสนคน 8.ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน

ม.ร.ว.จัตุมงคล บอกว่ากรณีนี้แรงงานจะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพให้กับแรงงานที่ต้องตกงานอย่างสุดวิสัย และไม่ต้องการประกอบอาชีพเดิม รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์จัดหางานแบบ part-time ขึ้นมารองรับ โดยสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.smartjob.com และเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/4/2563 

กรมการจัดหางาน เตรียมโครงการจ้างงานด่วน 45 วัน วันละ 300 บาท Work from home ช่วยทำงานให้กรมการจัดหางานที่บ้าน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบต้องว่างงานจากการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของกรมการจัดหางาน ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายนั้น จึงได้จัดโครงการจ้างงานเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยจ้างงานผู้ว่างงานทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้นไป ทำงานลักษณะ Work from home ช่วยทำงานให้กรมการจัดหางานที่บ้าน หรือในพื้นที่/ชุมชน โดยให้ช่วยปฏิบัติงาน ประชาสัมพันธ์ภารกิจ/การดำเนินงานของกรมการจัดหางาน เช่นการต่ออายุแรงงงานต่างด้าว การขึ้นทะเบียนรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน การให้บริการจัดหางาน การไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้ง สำรวจข้อมูลความต้องการทำงาน/ความต้องการจ้างงานโดยเฉพาะการทำงานแบบ Part-time ระยะเวลาจ้างงาน 45 วัน ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท รับทั่วประเทศ 86 แห่ง (จังหวัดใหญ่ 4คน และจังหวัดเล็ก 2-3 คน) รวมทั้งสิ้น 300 คน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ เป็นต้นไป

สำหรับผู้ที่สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2

ที่มา: RYT9, 10/4/2563 

นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน เรียกร้องขอค่าตอบแทนเพิ่ม 5 พันบาท 6 เดือน ให้คนทำงานป้องกัน COVID-19 ในท้องถิ่น

9 เม.ย. 2563 นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ทำงานด่านหน้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากสมาคมได้รับการเสนอจากสมาชิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 76 จังหวัด 878 อำเภอ 75,032 หมู่บ้าน ทั้งประเทศ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประจำทุกหมู่บ้านทั้งประเทศกว่า 1.05 ล้านคน ซึ่งเป็นด่านหน้า มีหน้าที่ในการดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวังคนในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และติดตามเฝ้าสังเกตอาการของบุคคลในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ที่เข้าข่ายเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด มีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอุปกรณ์และไม่มีงบประมาณใดๆ ที่ทางราชการส่งเสริมหรือสนับสนุนแต่อย่างใด

“กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ ถือเป็นกำลังหลักในการค้นหาและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ที่ผ่านมาทุกคนร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทุกคนไม่มีใครบ่นว่าเหนื่อยหรือท้อถอยในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ และทราบว่าหากติดเชื้อก็จะมีผลกระทบหลายประการ ขณะที่ไม่มีอุปกรณ์ หรือแรงสนับสนุนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิบัติหน้าที่ แต่ทุกคนก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ” นายยงยศกล่าว

นายยงยศกล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ พระราชกำหนดกู้เงิน วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. จึงขอความอนุเคราะห์ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ เยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 6 เดือน เช่นเดียวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สมาคมหวังว่าจะได้รับการการช่วยเหลือเยียวยาจากการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/4/2563 

คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน ประเมินภายในเดือน มิ.ย. 2563 จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน

เว็บไซต์ข่าวหุ้น รายงานเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 ว่านายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เปิดเผยว่าที่ประชุม กกร. เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563 ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการจ้างงานที่ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ผู้ได้รับผลประทบจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ถึงกลาง และธุรกิจการเงินที่กู้เงินจากต่างประเทศ และเมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการ

แต่สำหรับวิกฤติโควิด-19 ผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระจายไปทุกกลุ่ม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วน ทำให้มีผู้ตกงานและได้รับผลกระทบจำนวนมากกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงานมากและธุรกิจฐานราก เช่น ธุรกิจบริการทุกขนาดและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่ง กกร.ประเมินว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจหลักล้านล้านบาท

ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด แบ่งเป็น

1.ธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน 2.ร้านอาหาร 2.5 แสนคน 3.สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน 4.ธุรกิจโรงแรม 9.78 แสนคน 5.ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน 6.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน 7.สิ่งทอ 2 แสนคน 8.ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน

โดยแรงงานที่อาจตกงาน 7.13 ล้านคนนี้ จะเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน 6.773 ล้านคน คิดเป็น 95% ของแรงงานที่ตกงาน

"ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นเอสเอ็มอี หากการระบาดยืดยาวเกินเดือน มิ.ย.นี้ จะลุกลามไปกระทบธุรกิจใหญ่ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการตกงานสูงขึ้นกว่าที่คาด" นายสุพันธุ์ ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

ที่มา: ข่าวหุ้น, 9/4/2563 

มท.หนุนท้องถิ่นจ้างงาน-ส่งเสริมอาชีพ ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการออกมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ส่งผลให้สถานประกอบการต้องสั่งหยุดงาน ลดจำนวนการจ้างงาน และเลิกจ้างงาน มีแรงงานบางส่วนกลับคืนสู่ภูมิลำเนาและประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว กระทรวงมหาดไทยจึงขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือจ้างงานและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน รวมถึงพิจารณาใช้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจปี 2563 ที่เป็นรายจ่ายลงทุน โดยขอความร่วมมือกับผู้รับจ้างให้จ้างแรงงานในพื้นที่สำหรับการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับแนวทางการส่งเสริมอาชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย การลดรายจ่าย โดยการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดย อปท. สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการปรับปรุงแหล่งน้ำ ช่วยลดต้นทุนของการทำเกษตร ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์, เพิ่มรายได้ โดยจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือจ้างประชาชนเป็นการเร่งด่วน, ขยายโอกาส โดยการจัดให้มีตลาดชุมชนเพื่อเป็นสถานที่ในการจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มอาชีพเกษตรกร พืชสวน พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ประดับ กลุ่มส่งเสริมอาชีพแปรรูปการผลิตทางการเกษตร และกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย กลุ่มอาชีพเพื่อการจัดทำหน้ากากอนามัยชนิดผ้า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น เป็นต้น

ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังสามารถพิจารณาใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปี 2563 ในส่วนของรายการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุน จำนวน 41,782,260,200 บาท โดยการขอความร่วมมือกับผู้รับจ้างให้จ้างแรงงานในพื้นที่สำหรับการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงพิจารณาข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่ามีโครงการใดบ้างที่มีการจ้างงานและการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากมีก็ขอความร่วมมือให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

“การดำเนินการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ขนานไปกับการออกมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 คือการเยียวยาและบรรเทาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องการจ้างงาน และเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งท้องถิ่นทุกแห่งมีบทบาทโดยตรงในการบำรุงและส่งเสริม การประกอบอาชีพของราษฎร กระทรวงมหาดไทย จึงได้ขอความร่วมมือให้ท้องถิ่น ประสานภาคเอกชน สถานประกอบการในท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือจ้างงานและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน รวมถึงให้ อปท. ใช้งบเฉพาะกิจในด้านการลงทุน กว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยขอความร่วมมือจากผู้รับจ้างให้จ้างแรงงานในพื้นที่สำหรับการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน” อธิบดี สถ. กล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 8/4/2563 

ก.แรงงาน เคาะมาตรการช่วยแรงงานอิสระ ลดผลกระทบ COVID-19

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ต้องหยุดงานขาดรายได้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เร่งหามาตรการในการช่วยเหลือทั้งแรงงานในระบบและแรงงานอิสระ ภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งกพร.เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะอาชีพ จึงกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน จากผลกระทบดังกล่าว รวมถึงแรงงานที่ต้องหยุดงานจากสถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราว ได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ และมีรายได้ระหว่างการฝึกอบรมด้วย จึงจัดโครงการฝึกอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือนขึ้น ตั้งเป้าดำเนินการกว่า 7,800 คน รวม 390 รุ่น มีเบี้ยเลี้ยงให้ระหว่างการฝึกอบรม กระจายเป้าหมายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า การฝึกอาชีพดังกล่าว มีระยะเวลาการฝึก 15 วัน หลักสูตรที่ดำเนินการ เช่นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ บาริสต้ามืออาชีพ การใช้สมาร์ทโฟนสร้างยอดขาย การประกอบธุรกิจกาแฟ การประกอบอาหาร และการทำขนม เป็นต้น ระหว่างฝึกอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 150 บาท ดังนั้น ผู้ที่เข้าฝึกอบรมจะได้รับความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพอิสระและมีรายได้สำหรับใช้จ่ายในครอบครัวด้วย สำหรับกลุ่มแรงงานในระบบ มีหลักสูตรการฝึกทั้ง Up skill และ Re skill พร้อมเสริมทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะอื่นๆ ตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ มีเป้าหมายดำเนินการอีก 7,000 คน ทั้งนี้ จะพิจารณาสาขาที่ฝึกอบรมตามความต้องการของแต่ละพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ผู้สนใจสามารถติดต่อสมัครฝึกอบรมได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด และในกรุงเทพมหานคร สมัครได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร 0 2392 4790-4 หรือ 0 2245 4317 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือกองสื่อสารองค์กร 0 2245 4035

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 8/4/2563 

Thai PBS ออกประกาศ หลังพบพนักงานจำนวน 1 ราย ติดเชื้อโควิด ล่าสุดได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2563 รองศาสตราจารย์ วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อํานวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS ได้ออกประกาศ เรื่อง การพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรก โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 ได้รับรายงานว่า มีพนักงานของ ส.ส.ท. ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จํานวน 1 คน หลังจากที่ได้รับการยืนยันผลการตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลรามคําแหง และพนักงานคนดังกล่าว ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยพนักงานจะได้รับการดูแลตามสิทธิการรักษาพยาบาลและสิทธิความคุ้มครองตามกรมธรรม์โรค COVID-19 ที่ ส.ส.ท. ได้จัดทําไว้สําหรับพนักงานทุกคนด้วย ทั้งนี้ พนักงานคนดังกล่าวได้เข้าปฏิบัติงานวันสุดท้ายที่ ส.ส.ท. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 จากนั้นได้ลากิจและมิได้เข้าปฏิบัติงานที่ ส.ส.ท. อีกเลยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสํานักบริหารได้ทําการพ่นยาฆ่าเชื้อโรคที่ได้มาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของ ส.ส.ท. ไปแล้วทุกอาคาร โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 และได้พ่นยาเพิ่มเติมในทุกสํานักและอาคารอย่างต่อเนื่องทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดสลับหมุนเวียนกันตลอด มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อทราบผลเป็นที่แน่ชัดว่า มีพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สํานักบริหารก็ได้ทําความสะอาดด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคในทุกสํานักและอาคาร และเนื่องจากพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้มาปฏิบัติงานใน ส.ส.ท.เกินกว่า 14 วันแล้ว แต่หากมีพนักงานผู้ใดทราบว่า ตนเองเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดโดยตรงมีความไม่สบายใจ ต้องการเข้าสู่ระบบคัดกรอง หรือกักตัว โดย ส.ส.ท.จะจัดหาที่พักเพื่ออำนวยความสะดวก และ ส.ส.ท.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อสำนักทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายปฏิบัติการทรัพยากรมนุษย์

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/4/2563 

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ทยอยคืนรถ เพราะไม่มีผู้โดยสารต้องยุติอาชีพขับรถ

รถรับจ้างสี่ล้อแดง จ.เชียงใหม่ ที่รับส่งผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกู้เงินมาผ่อนส่งรถกับสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด ทยอยนำรถมาจอดคืนมากไม่น้อยกว่า 30 คัน รวมทั้งรถแท็กซี่อีกนับสิบคัน เนื่องจากไม่สามารถผ่อนส่งชำระค่างวดรายเดือนได้ เพราะไม่มีผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ยุติอาชีพขับรถ ส่วนคันไหนที่ไม่ได้ผ่อนส่งรถ ก็หยุดวิ่งชั่วคราว เพราะไม่มีผู้โดยสาร ส่งผลกระทบต่อรายได้ในครอบครัว ต้องจอดรถไว้แล้วหันไปทำไร่ทำสวนกันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 7/4/2563 

ครม.อนุมัติบรรจุตำแหน่งข้าราชการ สธ. 45,684 ตำแหน่ง พร้อมมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจสู้ COVID-19

7 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติอนุมัติและเห็นชอบในหลักการตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ดังนี้

1.ขออัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 24 สายงาน รวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา

2.ขออัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน 5 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา

โดยทั้ง 2 ข้อนี้ให้ไปกำหนดหลักเกณฑ์โดยยึดกรอบและอัตรากำลังที่ ครม.อนุมัตินี้ จากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ โดยหลังจากผ่านการพิจารณาของ คปร.แล้ว ไม่ต้องกลับที่การพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อีก ให้ถือว่ามีผลผูกพัน และ ก.พ.จะเป็นผู้บรรจุวาระเข้า ครม.เอง เพื่อให้ ครม.รับทราบตามที่ได้อนุมัติ

3.คัดเลือกบรรจุบุคคลซึ่งมิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิที่ ก.พ. กำหนดคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004/ว17 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562

4.จัดสรรโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

5.การเพิ่มอายุราชการเพิ่มทวีคุณในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

6.การลดดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลกรุงไทยธนวัฎ/ธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข

7.การปรับอัตราชดเชยใน ม.18(4) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ.2561 (กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวน 2 เท่า จากอัตราเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขในสถานการณ์ โควิด-19 ข้างต้นแล้ว ยังมีอีก มาตรการ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1.ปรับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรที่ได้รับความเสียหายกรณีปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (กรณีเสียชีวิต/เจ็บป่วย/ทุพพลภาพ)

2.ปรับระเบียบค่าตอบแทนกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 5 ในการปฏิบัติงานในกิจกรรมเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 (เพิ่มค่าตอบแทน 2 เท่าจากอัตราเดิม)

3.การสื่อสารและอื่นๆ โปรโมชั่นพิเศษค่าโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตสำหรับบุคลากรสาธารณสุข

ที่มา: Hfocus, 7/4/2563 

ผู้ว่าฯ พิษณุโลก เร่งเยียวยาครอบครัว อสม.ช็อกเสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมอง ขณะทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง COVID-19

นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยไว้อาลัยต่อการจากไปของ นางทองใส เศรษฐสูงเนิน อสม.บ้านเนินมะเกลือ ตำบลท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง พิษณุโลก

โดย นางทองใส มาปฏิบัติหน้าที่ด่านโควิดบ้านเนินมะเกลือ เมื่อ 4 เม.ย.63 และต่อมามีอาการปวดหัวรุนแรง จึงได้นำส่งโรงพยาบาลวังทอง และเพื่อได้รับการรักษาด้วยเครื่องมือทันสมัย ได้ส่งไปโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลพุทธชินราช พบว่ามีอาการเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 5 เม.ย.63

โดย นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นางทองใส ถือว่าเป็นฮีโร่ของพิษณุโลกและประเทศชาติ วันนี้มามอบเงินทำศพในเบื้องต้นก่อน สำหรับเคสนี้เราจะช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการสูงสุด เพราะเรามีระเบียบเกี่ยวกับพลเมืองดีที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และอยากขอฝากถึงด่านตรวจคัดกรองทุกแห่งทั้งในหมู่บ้านและด่านหลักของเราทุกจุด ให้ขอเลือกคนที่อายุไม่มากสามารถทำงานให้เราได้ อสม.และ อปพร.เรามีจำนวนมากสามารถคัดเลือกได้ ฝากความห่วงใยไปทุกด่าน ว่าถ้าท่านรู้สึกว่าสุขภาพไม่ดีท่านก็ไม่ต้องไป เราหาคนทดแทนได้ ฝากถึงนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านดูแลเรื่องสุขภาพของ อปพร.และ อสม.ด้วย

นางแสงเดือน เขียนสูงเนิน อายุ 43 ปี บุตรสาวของนางทองใส เปิดเผยว่า ตอนบ่ายโมงแม่เป็นลมแล้วผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็โทรบอก เรียกบุตรชายตนให้พามารดาไปส่ง รพ.สต.ท่าหมื่นราม ก่อนที่จะขอรถโรงพยาบาลวังทองมารับตัวไป และแพทย์ได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ทันที ปกติแม่ไม่มีโรคประจำ น่าจะเป็นเพราะอากาศวันนั้นร้อนมาก

ตอนตนไปดูที่ รพ.สต.ท่าหมื่นราม แม่ก็นิ่งไปแล้ว พวกตนรวมทั้งบิดาจะตั้งศพสวดอภิธรรมคืนนี้เพียงคืนเดียว และจะทำการฌาปนกิจศพ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 6/4/2563 

Kerry ชี้แจงมีพนักงานติดเชื้อ COVID-19 ที่สาขานิคมลำพูน

แฟนเพจเฟซบุ๊ก Kerry Express Thailand โพสต์ข้อความโดยระบุว่า เคอรี่ เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัย จากกรณีที่มีพนักงานได้รับเชื้อ Covid-19 และตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย ซึ่งเป็นเพื่อนที่ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานคนแรกนั้น ทางบริษัทขอเพิ่มมาตรการการจัดการ ดังนี้

- ปิดสาขาและบริเวณโดยรอบที่พนักงานดังกล่าวได้เข้าไปปฏิบัติงาน เป็นเวลา 14 วัน เพื่อทำการฆ่าเชื้อโรค อบโอโซน ทุกพื้นที่ติดต่อกัน
- ให้พนักงานทุกภาคส่วนที่ได้ปฏิบัติงาน ณ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส สาขานิคมลำพูน หยุดงานเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการ พร้อมทั้งได้มีการติดตามและรายงานสุขภาพอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานมาเป็นอันดับหนึ่ง ขอให้ลูกค้าทุกท่านมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อใช้บริการจากเคอรี่ เอ็กซ์เพรส

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีการแชร์กันในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับพนักงานเคอรี่ลาออกจนทำให้พัสดุไม่ได้จัดส่งเป็นจำนวนมากนั้น บริษัทขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ปัจจุบันเรายังมีพนักงานที่ปฏิบัติงานตามปกติจำนวนทั้งสิ้นกว่า 20,000 ชีวิต

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 6/4/2563 

ร้านนวดแผนไทยและพนักงานร้าน ร้องขอความช่วยเหลือตกงาน

นายจ้างร้านนวดแผนไทย และพนักงานร้าน ย่านห้วยขวาง ออกมาเปิดใจต่อทีมข่าวช่อง 7HD หลังภาครัฐสั่งปิดธุรกิจร้านนวด จนทำให้ธุรกิจ และพนักงานร้านนวดได้รับผลกระทบ ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และมีพนักงานบางคน เครียดหนักคิดสิ้นอยากฆ่าตัวตาย

นางรำไพ โพธิ์จันทร์ พนักงานนวด ชาวจังหวัดสกลนคร เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีรายได้วันละ 700-800 บาท แต่ทุกวันนี้ไม่ได้ออกมาทำงาน ทำให้ไม่มีรายได้ ส่วนการยื่นขอเงินชดเชยรายได้แรงงานนอกระบบประกันสังคม 5,000 บาท ก็ไม่เข้าข่ายกลุ่มอาชีพอิสระ ที่ได้รับเงินชดเชยในรอบแรก ซึ่งเงินออมที่เก็บไว้ ก็นำออกมาใช้ใกล้หมดแล้ว

ด้านนายจ้าง ก็บอกว่า ทางร้านไม่มีมาตรการจ่าย เงินชดเชยขาดรายได้ในลูกจ้าง จำนวนกว่า 100 คน เพราะธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ ไม่มีลูกค้าเข้าร้าน ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายให้ลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างบางคน เคยบ่นว่าเครียดหนัก ถึงขั้นคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย จึงอยากให้ภาครัฐ ช่วยเหลือเยียวยาแรงงานนวดแผนไทย ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งทั่วประเทศมีแรงงานร้านนวดที่ถูกต้องอยู่กว่า 3 แสนคน

ที่มา: ch7.com, 6/4/2563 

กสศ.เตรียม 74 หลักสูตรสอนแรงงานกลับบ้านชนบทจากผลกระทบ COVID-19

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.เปิดเผยว่า ในวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานยากจนด้อยโอกาส คนกลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างขาดรายได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน จนไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองได้อีกกลายเป็นคลื่นแรงงานซัดกลับไปที่บ้านเกิดของตัวเอง

ทั้งนี้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นแรงงานทักษะ 1.0 -2.0 เมื่อกลับบ้านแล้วก็ยังสามารถตั้งหลักชีวิต ตั้งตัวได้ ในวิกฤตที่เกิดขึ้นเห็นว่าเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะปรับทิศทางการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนโดยมีชุมชนเป็นฐาน โดย กสศ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ 71 แห่ง ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา กศน.อปท. ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น กระจายใน 42 จังหวัด 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ผอ.สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากการดำเนินงานได้พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ช่วยยกระดับทักษะการประกอบอาชีพแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวน 74 หลักสูตร อาทิ เกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ ผู้ประกอบการผ้าไหมขนาดย่อม เครื่องปั้นดินเผา ระบบประกอบการสังคมออนไลน์ นักขายมือทอง (young sales man) นวดไทยเพื่อสุขภาพ การทำคุกกี้ครบวงจร การทำเครื่องแกงพื้นบ้าน

อย่างไรก็ตาม ระบบต้นแบบของ กสศ.สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการคนจน เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ได้จำนวน 6,055 คน ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนที่ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของกสศ. https://csr.eef.or.th/commubased-map/ ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02- 079 5475

น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า โครงการนี้จะเข้าไปพัฒนาให้เกิดกระบวนการเสริมศักยภาพชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรของชุมชน เพื่อกำหนดแผนธุรกิจและแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานท้องถิ่น มีหลักสูตรการเพิ่มทักษะบริหารจัดการในศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการและท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ในระยะยาวสามารถยกระดับเป็นเป็นแรงงานฝีมือหรือผู้ประกอบการขนาดย่อมในชุมชนได้ แนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ของประเทศในขณะนี้ เพราะให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก สามารถตัดวงจรความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคน และไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไร ชุมชนจะรองรับบรรเทาปัญหาปากท้องได้ และยังเป็นการลดปัญหาคนรุ่นใหม่ทิ้งถิ่นฐาน เพื่อเข้ามาหางานในเมืองด้วย

“ภายใต้งบประมาณปี 2563 กสศ.จะสามารถขยายการช่วยเหลือแรงงานทั้งกลุ่มกลับบ้านเกิดในช่วงวิกฤตโควิด-19และกลุ่มยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ได้อย่างน้อย 10,000 คน ขณะที่ตัวแบบระบบทดลองและหลักสูตรระยะสั้นสามารถขยายผลในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศได้ทันที แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หน่วยพัฒนาอาชีพต่างก็ได้รับผลกระทบ และได้มีการปรับแผนการทำงานให้ตอบโจทย์สถานการณ์อย่างทันท่วงที เช่น ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนไม่ออกจากบ้านกลุ่มสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท ปรับขายชุดผักเดลิเวอรี่ จากไร่ส่งตรงถึงหน้าบ้านผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายดีมาก หรือกลุ่มงานทอผ้า นำกลุ่มเป้าหมายฝึกทักษะการตัดเย็บหน้ากากอนามัยจำหน่าย และสามารถแจกจ่ายคนในชุมชนและมอบความช่วยเหลือยังพื้นที่ขาดแคลน” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

ด้าน นายโฆษิต แสวงสุข ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักชุมชนหนองสนิท จ.สุรินทร์ หนึ่งในหน่วยพัฒนาอาชีพที่ร่วมโครงการกับกสศ.กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการคือการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้ทุกคนมีความรู้และต้องมีรายได้ที่ยั่งยืน โดยมีเกษตรกร ปราชญ์ชุมชน ที่มีประสบการณ์ในจังหวัดสุรินทร์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงการทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูป การตรวจรับรองมาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการ รวบรวมผลผลิต การขนส่ง และส่งเสริมการตลาด กลุ่มเป้าหมายของโครงการขณะนี้ประกอบด้วย เกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ

“แม้ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการ แต่เราได้บรรลุเป้าหมายหลักส่วนหนึ่งแล้ว นั่นคือทำให้เกษตรกรมีรายได้ในทุกๆ วัน อย่างน้อยต่อสัปดาห์เขาจะมีรายได้จากการขายพืชผัก สถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็เริ่มคล่องตัวขึ้น ตอนนี้เรามีตลาดที่รับสินค้าประจำ ทั้งตลาดในชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน โรงพยาบาลประจำอำเภอจอมพระ โรงเรียน และล่าสุดทาง ท็อปส์ มาร์เก็ต(Tops Supermarket) ได้เปิดโอกาสให้เรานำสินค้าเข้าไปวางขาย และเตรียมที่จะไปวางในศูนย์ค้าส่งแม็คโคร(Makro) เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง” นายโฆษิต กล่าว

ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักหนองสนิท กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนมีการสำรองอาหาร ผักจึงกลายเป็นสินค้าที่ขายคล่องในระดับหนึ่ง แม้หน้าร้านจะเงียบไปแต่เราก็ปรับกลยุทธ์เป็นบริการส่งถึงบ้าน จัดแพกเกจผักอินทรีย์ให้ลูกค้าเลือกตามต้องการ โดยรวมผักทุกชนิดที่สมาชิกในกลุ่มเราผลิตเป็นเมนูภาพให้ลูกค้าเลือก เช่น กวางตุ้ง คะน้า ต้นหอม ฟักทอง หรือฟักเขียว แล้วเราจะนำผักเข้าไปส่งในตัวเมืองสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งผลตอบรับภาพรวมดีมาก ทำให้วางแผนว่าในอนาคตจะต่อยอดตลาดออนไลน์ให้เป็นช่องทางหลักต่อไป

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 6/5/2563 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net