Skip to main content
sharethis

มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาล เล่าถึงการทำงานในช่วงโควิด-19 ระบุ รัฐให้ประกันโควิด-19 กับบุคลากรแต่ไม่ครบทุกคน ตั้งคำถามกับความปลอดภัยของบุคลากรเมื่อหน้ากากอนามัย-ชุดPPE ไม่เพียงพอ และห้องผู้ป่วยเฉพาะเก่า ขอรัฐเร่งดำเนินการ


ภาพประกอบจาก Piron Guillaume และ PIRO4D

ตั้งแต่ต้นปีนี้ไทยเผชิญภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องพร้อมกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ภาวะดังกล่าวทวีความน่าวิตกขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะจำนวนคนหายป่วยก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

ยอดล่าสุดสำหรับวันที่ 10 เม.ย. 2563 คือมีคนติดเชื้อใหม่ 50 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมเสียชีวิต 33 ราย รวมป่วยสะสม 2,473 ราย หายป่วยแล้ว 1,013 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,451 ราย

วันที่ 4 เม.ย. ชัยวัฒน์ ศรียอง เจ้าหน้าที่แผนกเอกซเรย์ ของโรงพยาบาลลำพูน ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอ็กซเรย์ปอดของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยต้องใส่ชุด PPE ซึ่งต้องใส่หลายชั้นและรัดกุมมาก หลังปฏิบัติหน้าที่เสร็จมีอาการวูบ จึงได้เคลื่อนย้ายมารักษาแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ เป็นการเสียชีวิตจากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

วันที่ 5 เม.ย. มนิสรา ใจบุญ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาล​เชียงรายประชานุเคราะห์​ ​เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ 

วันที่ 6 เม.ย. ทองใส เศรษฐสูงเนิน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านเนินมะเกลือ ขณะปฏิบัติหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยที่ด่านโควิด-19 เกิดอาการหน้ามืดจึงได้นำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ปราการหลักสำคัญในการรับมือกับเชื้อไวรัสนี้คือแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงพนักงานทุกคนในโรงพยาบาล แม่บ้าน รปภ. ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แต่ในขณะที่บุคลากรเหล่านี้กำลังทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง พวกเขาเองได้รับการดูแลและสนับสนุนที่เพียงพอหรือยัง

ประชาไทคุยกับ มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาล หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ถึงสภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงวิกฤติ

 


มัลลิกา ลุนจักร์ (ภาพจากเพจ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย)

 

รัฐให้ประกันโควิด-19 แต่ไม่ครบทุกคน

มัลลิกากล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้รับสิทธิประกันโควิดมาจากภาครัฐแต่ไม่ครอบคลุมทุกคน และยังมีระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลรวมมี 172 คน แต่ให้โควตามา 77 คน ทางโรงพยาบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่จึงต้องช่วยกันออกเงินเองส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปถัวเฉลี่ยซื้อเงินประกันให้ครบทุกคน ซึ่งตอนนี้ทุกคนในโรงพยาบาลก็ได้ประกันโควิดครบทุกคนรวมถึงแม่บ้านและรปภ. 

 

อุปกรณ์ไม่พอ ห้องเก่า

มัลลิการะบุว่าปัญหาหลักขณะนี้คือการขาดแคลนอุปกรณ์ 

“หน้ากากอนามัย ภาครัฐพยายามบอกว่าพอ แต่ความจริงคือไม่พอ เราต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องขอบริจาค และบางส่วนก็ต้องหาซื้อกันเอง และหากเข้าห้องโควิดก็ต้องเป็นหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งหาซื้อลำบาก ตอนนี้ทางโรงพยาบาลจำกัดว่าหน้ากากอนามัยใช้ได้แค่คนละ 1 อัน ต่อ 1 วัน ให้กับทุกคนรวม หากในวันนั้นทำหายหรือชำรุดก็จะไม่ได้เปลี่ยนใหม่ ต้องรับผิดชอบตัวเอง” 

มัลลิกากล่าวเสริมว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาลจะได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัย เช่น การจัดการกับขยะ 

“นอกจากนี้อุปกรณ์อย่างปรอทวัดไข้ หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือคนไข้ฉุกเฉิน รวมถึงห้อง negative pressure (ห้องแยกผู้ป่วยภายในห้องฉุกเฉิน) ซึ่งเรามีอยู่เพียงห้องเดียวและห้องเก่าแล้ว ก็อาจมีคำถามเรื่องความปลอดภัย แต่เราก็ต้องใช้ต่อไป หรือชุด PPE (ชุดป้องกันส่วนบุคคล) ก็ขาดแคลน เราต้องซื้อชุดกันฝนมาดัดแปลงกันเอง ซึ่งถ้าในอนาคตหากต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก บุคลกรทางการแพทย์ก็จะได้รับความเสี่ยงเพิ่มตามไป” มัลลิการะบุ

 

บุคลากรอาจไม่พอหากโรคแพร่ระบาดมากกว่านี้

ความกังวลอีกอย่างของมัลลิกาคือในอำเภอของเธอมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำนวน 600 กว่าคน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกไปสอบสวนโรค พบคนที่มีอาการทั้งหมด 9 คน ซึ่งใน 9 คน ต้องใช้ชุดตรวจทั้งหมด 3 ชุดต่อคนไข้ 1 คน ถึงจะรู้ผล และเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจก็ต้องลุ้นว่าผลจะออกเป็น Positive หรือไม่ หากเป็น Positive คนที่ทำการตรวจโรคต้องกักตัว 14 วัน เพราะฉะนั้นจำนวนเจ้าหน้าที่จะลดลง 

“แต่ตอนนี้คนที่ตรวจแล้วเป็น Negative ทั้งหมด ทั้งนี้ก็ยังต้องเฝ้าระวังอาการของกลุ่มเสี่ยง 600 กว่าคนนี้ต่อไป ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก และในความเป็นจริงแม้ผ่านช่วงกักตัว 14 วันมาแล้วก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะเชื้อใช้เวลาฟักตัวได้ถึง 28 วัน” มัลลิกากล่าว 

 

ขอภาครัฐเร่งจัดหาหน้ากาก N95 ชุด PPE 

มัลลิกาคำนวณว่าทั้งโรงพยาบาลที่ตนทำงานตอนนี้สามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เต็มที่ 15 คน แต่บุคลากรก็อาจจะไม่พอ 

ทั้งนี้มัลลิกาอยากให้ภาครัฐดำเนินการจัดหาหน้ากากและชุด PPE มาให้ และสำหรับห้องโควิด หรือ ห้อง negative pressure จนอยากให้มีการออกแบบห้องให้เป็นมาตรฐาน ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปแล้วปลอดภัยในห้องนั้น 

เมื่อถามว่ามีการทำงานเกินเวลาหรือไม่ มัลลิกาตอบว่า ทำไม่ได้หลับได้นอน โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล หนักมาก อย่างตนเอง เป็นผู้บริหารด้วย เลยต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของทุกคน เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยของทุกคน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net