รู้จัก ‘คนเสื้อแดง’ อีกครั้ง หลัง 10 ปีผ่านมา

ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองไทยเต็มไปด้วยการชุมนุมและการสูญเสีย การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งและสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งหนีไปพ้นการชุมนุมของคนเสื้อแดง นำโดย นปช. เมื่อปี 2553

ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ยังไม่ถูกคลี่คลาย แม้มีคณะกรรมการทั้งของภาครัฐ (คอป.) ภาคประชาชน (ศปช.) รวมถึงองค์กรอื่นๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Human Rights Watch (HRW)  Asian Human Right Committion (AHRC) พยายามรวบรวมข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ หน่วยงานเหล่านี้ให้มุมมมองที่แตกต่างกันในหลายจุด กระนั้น ก็ยังมีบางส่วนข้อเรียกร้องให้ก้าว(ข้าม)ไปสู่การ ‘ปรองดอง’

ส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ทุกช่องทางดูจะติดขัดกระทั่งตีบตัน และแม้กระบวนการพื้นฐานอย่างการไต่สวนการตาย ตามป.วิอาญามาตรา 150 ก็หยุดชะงักหลังการรัฐประหาร 2557

ผู้บังคับบัญชาหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ หรือผู้สั่งการใน ศอฉ. หลายคนเติบโตในสายงาน ได้รับตำแหน่งนำในกองทัพ ในโครงสร้างของ คสช. หรือกระทั่งในคณะองคมนตรี  อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.อภิชาติ เพ็ญกิตติ, พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ, พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์, พล.อ.อักษรา เกิดผล, พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นต้น

ส่วนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในกรณีปี 2553 รวมไปถึงทุกกรณีก่อนหน้านั้นทุกค่าย ทุกสี รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการเยียวยาค่าชดเชยจากการอนุมัติของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เหตุการณ์ปี 2553 เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดอย่างสำคัญของผู้คนจำนวนมาก ขณะเดียวกันความขมุกขมัวของมัน เช่น ข้อกล่าวหาเรื่องชายชุดดำ วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง ความเกี่ยวพันกับทักษิณ ชินวัตร ก็ทำให้สถานะของเหตุการณ์นี้ยังดูอิหลักอิเหลื่อ ไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์

‘คนเสื้อแดง’ ที่พื้นฐานส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดยังคงดู ‘แปลกแยก’ ‘แตกต่าง’ ‘เป็นอื่น’ แล้วแต่จะเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ และสำหรับคนรุ่นใหม่ คำบอกเล่าถึงการชุมนุมโดยคนต่างจังหวัดจำนวนมหาศาลก็อาจไม่เพียงพอให้พวกเขาเห็นภาพ นึกออกว่าผู้คนตัวเป็นๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร

เราไม่แน่ใจว่าเวลา 10 ปีสั้นหรือยาว และมีผลต่อการรับรู้ของผู้คนอย่างไร ดังนั้น เราจึงตระเวนหาผู้คนที่เคยร่วมเหตุการณ์นั้นหรือเกี่ยวพันกับเหตุการณ์นั้น จากหลากหลายสถานะทางสังคม อาชีพ อายุ เพศ พื้นที่ ให้พวกเขาได้อธิบายถึงที่มาความคิด การตัดสินใจร่วมชุมนุม สภาพการชุมนุม ความรุนแรงที่พวกเขามองเห็น รวมถึงการมองสถานการณ์ในปัจจุบันอีกสักครั้งผ่านคลิปวิดีโอยาวครึ่งชั่วโมงชิ้นนี้  เพื่อให้เป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่จะต่อภาพความเข้าใจในความขัดแย้งและความสูญเสียทางการเมืองที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ไม่ได้บอกเล่าในคลิป จึงขอขยายความเพิ่มเติมมาด้วย ณ ที่นี้

ทิวา ประภา ชายหนุ่มขี้อายวัย 31 ปีที่ปรากฏช่วงสั้นๆ ในคลิป แม้ดูไม่เข้าพวก แต่ความสำคัญของเขาคือ เขาเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกยิงหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 19 พ.ค.2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ชุมนุมกรุงเทพฯ กำลังถูกสลายการชุมนุม เขามีอาชีพรับจ้าง เป็นสมาชิกกลุ่มชักธงรบซึ่งเป็นกลุ่มของวิทยุชุมชนของอุบลฯ ระหว่างที่เหตุการณ์ในเมืองหลวงกำลังชุลมุน ไม่รู้ว่าสภาพการณ์เป็นอย่างไร คนต่างจังหวัดซึ่งกังวลต่อการปราบในกทม.ก็ก่อตัวตามศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อประท้วงกดดันรัฐบาล ทิวาบอกว่าเขาเห็นคนอื่นไปก็เลยตามพรรคพวกไป

เวลาประมาณ 11.00 น. ทิวาถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากภายในอาคารศาลากลาง ซึ่งเขาคาดว่าเป็นการยิงลงมาจากชั้น 2 เข้าบริเวณหน้าอกและต้นแขนจนล้มลง เขาถูกนำตัวส่ง รพ.ในช่วงเวลานั้นมีผู้ชุมนุมถูกยิงทั้งหมด 6 คน จากนั้นศาลกลางก็ถูกเผา

อย่างไรก็ตาม หลังจากรักษาตัวจนอาการทุเลาลง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาเขาว่า ร่วมกันบุกรุกต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงาน,ทำให้เสียทรัพย์ เขาติดคุกราว 3-4 เดือนก่อนจะประกันตัวออกมาสู้คดีได้

อีกคนคือ ธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ชาวมหาสารคาม วัย 55 ปีมีอาชีพค้าขายและไปเป็นการ์ดในที่ชุมนุมแบบจับพลัดจับผลูเล็กน้อย เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะศึกษาศาสตร์ หลังเรียนจบธนกฤตสมัครเข้าเป็นทหารพรานเป็นเวลาประมาณ 6 ปีก่อนลาออกมามีครอบครัว ทำมาหากินตามปกติ ธนกฤตไม่ได้ติดตามการเมือง แต่ในช่วงการชุมนุมปี 2553 ลูกชายคนโตได้เข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ด้วยความเป็นห่วงเขาจึงได้เดินทางลงมาหาลูกชาย แล้วจึงได้มีโอกาสพบกับ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ‘นายเก่า’ในที่ชุมนุม เสธ.แดงชวนให้ธนกฤตช่วยเป็นการ์ดดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม เขาทำหน้าที่เป็นการ์ดให้ผู้ชุมนุมบริเวณถนนชิดลม หลังสลายการชุมนุม ธนกฤตกลับไปอยู่บ้าน แต่ยังถูกจับตาโดยเจ้าหน้าที่รัฐโดยตลอด

เดือนมิถุนายน 2557 หลังการรัฐประหารไม่นาน ธนกฤตได้รับการไหว้วานให้ส่งคนๆ หนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักชื่อมาก่อน จากนั้นไม่นานธนกฤตและชายคนนั้นถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าทำการจับกุมตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทราบภายหลังว่าชายคนดังกล่าวเป็นกวีและบล็อกเกอร์ ชายคนนั้นถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ ส่วนธนกฤตถูกจับตัวเข้าค่ายทหารที่ขอนแก่น

เขาเล่าว่า เขาโดนข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ซ้อมทรมานให้ยอมรับสารภาพในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ เขาโดนบังคับให้ขุดหลุมศพ ถูกนำตัวลงไปนอนในหลุม ทำพิธีทางไสยศาสตร์ เอาดินกลบตัวจนเหลือแค่ส่วนคอ จากนั้นโดนแจ้งข้อหาว่ามีส่วนร่วมกับกรณี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ทั้งที่เขาแทบจะไม่เคยรู้จักจำเลยร่วมในคดีนี้เลย เขาถูกคุมขังอยู่ราว 5 ปีกว่าก่อนที่ในที่สุดจะได้ประกันตัวออกมา 

อย่างไรก็ดี ขณะถูกขังในเรือนจำ เขาโดนแจ้งข้อหาเพิ่มว่ามีการเตรียมการลอบสังหารบุคคลสำคัญในกิจกรรม   Bike for Dad ร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังที่ได้รับการประกันตัวออกไปอีก 4 คน จากนั้นเขาต่อสู้โดยมีหลักฐานยืนยันว่าในช่วงเวลาที่มีการกล่าวหาตัวเขายังถูกขังอยู่ในเรือนจำอยู่เลย ต่อมาไม่นาน เขาจึงถูกตั้งข้อหาใหม่ว่า มีการพูดให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ในเรือนจำ ตามความผิดมาตรา112 คดียังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา

นี่คือผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ของคดีที่ยังไม่สิ้นสุดจนปัจจุบันสำหรับคนบางกลุ่ม

จนปัจจุบันยังคงมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอยู่ในเรือนจำอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคดีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด แม้คดีอื่นๆ โดยส่วนมากจะพ้นโทษหรือได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีแล้ว สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีกลุ่ม Redfam Fund ระดมทุนในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเล็กน้อยรายเดือนแก่ผู้ต้องขังยากไร้และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการขาดเสาหลัก กลุ่นนี้ดำเนินการโดยอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ทำมาหลายปีตราบจนปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท