Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าจะถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) เมินเฉย แต่ไต้หวันก็เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการระบาดของ COVID-19 แม้แต่ในช่วงที่มีการติดเชื้อระลอกที่สอง และในตอนนี้ไต้หวันก็กำลังช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในเรื่องนี้ ทำให้มีการวิเคราะห์จากนิตยสาร Foreign Policy ว่าเรื่องนี้ช่วยส่งเสริมอิทธิพลแบบ "อำนาจอ่อน" ของประเทศไต้หวัน


ที่มาภาพ: Radio Taiwan International

ถึงแม้ว่าประเทศไตัหวันจะไม่ได้เป็นสมาชิกภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่พวกเขาก็ได้รับการยกย่องจากหลายประเทศว่าเป็นต้นแบบของการจัดการกับปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้ดี โดยที่มีอัตราผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยที่ไต้หวันอาศัยวิธีการคัดกรองโรค การคัดแยกและติดตามผลอย่างจริงจังมาแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเชื้อข้อมูลวิทยาศาสตร์จากภาครัฐมากกว่าข่าวลือ

โดยที่ไต้หวันเริ่มตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2562 วันเดียวกับที่มีการค้นพบไวรัสที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนจากคนไข้เมืองนี้ ซึ่งหลายวันหลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ถึงได้ออกประกาศเตือนในเรื่องนี้ว่าไวรัสสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้

ประชากรชาวไต้หวัน 23 ล้านคนระวังตัวในเรื่องโรคนี้แต่ก็ไม่ตื่นตระหนก จากที่มีความเชื่อมั่นในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างคงเส้นคงวาจากศูนย์บัญชาการกลางด้านโรคระบาดของไต้หวันที่ตั้งขึ้นโดยทันทีเพื่อโต้ตอบกับกรณ๊ COVID-19 นั่นทำให้หลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ และอิสราเอลนำอิทธิพลปฏิบัติการจากไต้หวันไปใช้ในประเทศตัวเอง

สื่อ Foreign Policy ระบุว่าเมื่อเทียบกับไต้หวันแล้วประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีความเตรียมพร้อมจัดการมากเท่าไต้หวัน แม้กระทั่งประเทศสหรัฐฯ หรือกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนับล้านรายแล้ว ขณะที่ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สายเกินไปแล้วที่จะใช้วิธีการคัดกรองในแบบไต้หวัน แต่ควรจะเน้นวิธีการตรวจวินิจฉัยประชาชนและจัดการทรัพยากรในการรักษาประชาชนอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตามไต้หวันยังคงให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ได้ โดยที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินเคยโพสต์ในทวิตเตอร์เสนอว่าจะช่วยเหลือในเรื่องสุขภาวะ และในวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมาไต้หวันก็บริจาคหน้ากากอนามัย 10 ล้านชุดให้กับสหรัฐฯ และประเทศยุโรป 11 ประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการทูต นอกจากนี้ยังประกาศเมื่อไม่นานนี้ว่าจะบริจาคในล็อตที่สองให้กับประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชีย, ยุโรป และทวีปอเมริกา

เรื่องเหล่านี้ยังทำให้เกิดกระแสแฮชแท็ก #TaiwanCanHelp ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแฮ็ชแท็กที่ใช้ประท้วง WHO ในเรื่องที่ไม่ยอมรับให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพราะ WHO ต้องการเอาใจจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ในตอนนี้แฮ็ชแท็ก #TaiwanCanHelp ได้กลายมาเป็นการที่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา COVID-19

การเสนอความช่วยเหลือจากไต้หวันยังถือเป็นการเคลื่อนไหวในทางการทูตเพราะพวกเขาต้องการเชื่อมความสัมพันธ์แบบตอบสนองกันสองฝ่ายกับประเทศอื่นๆ หลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่บีบให้ไต้หวันมีพันธมิตรน้อยลงเรื่อยๆ โดยที่หวังทิ่งหยู่ ส.ส. จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าบอกว่าประเทศไต้หวันสามารถใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีในการช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ได้ และควรจะต้องมีการสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้เร็วที่สุด นอกจากเรื่องทรัพยากรแล้วไต้หวันยังสามารถให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในด้านการขนส่งและปฏิบัติการได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากรหรือการใช้ข้อมูลติดตามผลผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ไต้หวันจัดการได้ดีคือเรื่องปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านทางออนไลน์ โดยที่ไม่ได้ใช้วิธีการปราบปรามผู้คนแต่อาศัยว่าผู้คนมีความเชื่อมั่นในนโยบายและแผนปฏิบัติการของรัฐบาลอยู่แล้ว ทำให้ผู้คนเชื่อข้อมูลจากแหล่งหลัก

จากความสามารถในการจัดการปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้นำอิสราเอลและนิวซีแลนด์ต้องการใช้ไต้หวันเป็นตัวอย่างแผนการแก้ไขปัญหา COVID-19 ในเรื่องนี้ ชุนฮุย จื้อ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขและวิทยาการมนุษย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอนกล่าวว่าเป็นการที่ไต้หวันกำลังใช้อำนาจอ่อนในการให้ความช่วยเหลือชาวโลกด้านต่างๆ

ทั้งนี้ชาวโลกยังเคยแสดงการชื่นชม รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ออร์เดรย์ ถัง ในเรื่องยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเปิดที่ทำให้คนรับทราบข้อมูล COVID-19 แบบทันท่วงทีและเปิดเผยแหล่งจำหน่ายหน้ากากอนามัยด้วยแผนที่แบบเรียงไทม์ อีกทั้งประสิทธิภาพด้านการจัดการทางสาธารณสุขก็สามารถทำให้ส่งคนไข้ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้หลายที่ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องแบกรับคนไข้หนักเกินไป รวมถึงจัดสรรความต้องการให้กับแต่ละแห่งได้  ทั้งนี้ไต้หวันกำลังจะเตรียมการหาทางฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ประเทศเอเชียตะวันอกเฉียงใต้เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้

จื้อกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเพราะไต้หวันมีการเตรียมการแต่เนิ่นๆ ซึ่งทวีปลาตินอเมริกายังคงเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ได้ สำหรับเรื่อง การเตรียมการจัดสรรทรัพยากรและส่งคนไข้กระจายตัวไปตามโรงพยาบาลต่างๆ นั้นเป็นเพราะพวกเขาเคยผ่านประสบการณ์ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันมาก่อนในช่วงที่โรคซาร์สระบาดในปี 2546

เจียงกวนยู ประธานของสหพันธ์ไต้หวันเพื่อการทูตด้านสาธารณสุขทำการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนแห่งชาติไต้หวันและมหาวิทยาลัยแพทย์เกาสงเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์การระบาดในชุมชน ถึงแม้ว่าไต้หวันจะถูกกีดกันโดย WHO ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุขภาวะโลกแต่เจียงและคณะก็หลบเลี่ยงการถูกแบนด้วยการจัดแสดงนิทรรศการด้านนอกตัวงานและพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ WHO ที่สถานีรถไฟเจนีวา

Foreign Policy วิเคราะห์ว่าประเทศไต้หวันกับสหรัฐฯ ได้ทำสัญญาร่วมกันในเรื่องการแก้ไข COVID-19 จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออย่างเป็นทางการ โดยที่สหรัฐฯ พยายามเข้าหาใต้หวันมาตั้งแต่ปี 2559 จากการที่ทั้งสองประเทศไม่เชื่อใจจีน รวมถึงทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือในภาคส่วนเภสัชกรรมมานานแล้ว หนึ่งในซีอีโอบริษัทยามองว่าไต้หวันเป็นพื้นที่ๆ เอื้อต่อการลงทุนทางนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ เพราะมีระบบการรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็วจำนวนมาก

ในไต้หวันมีศูนย์วิจัยทางพันธุกรรมที่อะเคเดเมียซินิกาซึ่งสามารถใช้ผลการตรวจสอบโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาทำเป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัยหาไวรัสได้ภายในเวลา 20 นาที และในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ก็มีหน่วยงานวิจัยสามารถพัฒนาเครื่องมือตรวจวินิจฉัยให้เสร็จได้ภายในเวลา 10-15 นาที และจะมีการหารือกับกลุ่มธุรกิจเรื่องการผลิตทีละจำนวนมากสำหรับเครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากกับการที่ชาวโลกกำลังต้องการเครื่องมือตรวจวินิจฉัยเหล่านี้

อย่างไรก็ตามไต้หวันยังไม่สามารถส่งออกเครื่อมือทางการแพทย์เหล่านี้ได้ เนื่องจากยังต้องทำให้แน่ใจว่าการใช้งานภายในประเทศมีอย่างเพียงและผู้ผลิตภายในประเทศก็แบกรับภาระอย่างหนักด้านการผลิตอยู่แล้ว นั่นทำให้หลายประเทศรวมถึงอิตาลีและฟิลิปปินส์หันไปใช้เครื่องมือที่ผลิตจากจีนแทน แต่ก็มีปัญหาเรื่องผู้ผลิตในจีนบางส่วนมีเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีคนวิเคราะห์ว่าเป็นการทูตแบบ "กับดักหนี้สิน" ที่จีนมักจะใช้กับประเทศอื่นๆ ด้วย

ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญหลายคนรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก แอนเดอร์ส ฟอกห์ ราสมุสเซน ก็ระบุว่า WHO ควรจะเปิดทางให้กับไต้หวันแทนที่จะคอยกีดกัน ทั้งนี้ในกรณีล่าสุดผู้อำนวยการของ WHO ก็กล่าวหาว่ามีคนด่าเขาแบบเหยียดเชื้อชาติสีผิวโดยอ้างว่า "มาจากไต้หวัน" แต่ทางการไต้หวันก็โต้แย้งว่าเป็นข้อกล่าวหาลอยๆ ที่ไม่มีมูลความจริง นอกจากนี้ประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ยังเชิญชวนให้ ผ.อ. WHO มาเยือนไต้หวันเพื่อให้เห็นว่าชาวไต้หวันมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับโลกในการต่อสู้กับ COVID-19 มากเพียงใด และในขณะที่ระดับรัฐบาลต้องเผชิญอุปสรรคเอ็นจีโอไต้หวันและภาคธุรกิจได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่เด็กที่ยากจนและหน้ากากแก่โรงพยาบาลของฟิลิปปินส์ไปแล้ว

หวังทิ่งหยู่ ส.ส. ไต้หวันกล่าวว่าอีกสิ่งที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จคือเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาลที่ตรงกันข้ามกับความกังขาต่อข้อมูลจากทางการจีน


เรียบเรียงจาก
Taiwan Is Exporting Its Coronavirus Successes to the World, Foreign Policy, 09-04-2020
Audrey Tang Praised for Coronavirus Prevention Tactics, The News Lens, 04-03-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net