Skip to main content
sharethis

จากกรณีแพทย์ทดลองวัคซีนป้องกันวัณโรคหรือบีซีจีเพื่อดูว่าจะสามารถป้องกัน COVID-19 ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ล่าสุดมีงานวิจัยเปิดเผยว่าในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนบีซีจีอย่างแพร่หลายนั้น มีอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 น้อยกว่าประเทศที่ไม่ฉีดถึง 5.8 เท่า แต่ก็มีผู้เคยวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันวัณโรคเตือนว่ายังต้องวิจัยเพิ่มเติมต่อและการศึกษาทางนิเวศวิทยาเบื้องต้นที่อาศัยสถิตินี้อาจจะมีข้อจำกัด

แฟ้มภาพการทดลองเกี่ยวกับโควิด-19 ที่แล็บของรัฐในเมืองเอ็กซตัน มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา (ที่มา: flickr/ Governor Tom Wolf)

วัคซีนที่ชื่อแบคซีลัส คาลเมตต์ เกียฮัน หรือบีซีจี เป็นวัคซีนที่นำมาใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค แต่หลังจากที่การติดเชื้อในปอดลดลงก็มีการยกเลิกการใช้วัคซีนในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้วโดยยังไม่ได้ผ่านการตรวจทานผลงานโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) ระบุว่าในประเทศที่มีโครงการให้วัคซีนบีซีจีนั้นมีอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 น้อยกว่าประเทศที่ไม่มีโครงการให้วัคซีนนี้มาก

จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เปิดเผยสมมุติฐานว่าวัควีนชนิดนี้อาจจะสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นได้และช่วยปกป้องผู้คนจากการติดเชื้อ COVID-19 ก็มีการตรวจสอบเรื่องนี้โดยพิจารณาจากอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตจาก COVID-19 โดยพิจารณาจากประเทศที่มีอัตราผู้ได้รับการตรวจพบว่าติดเชื้อมากที่สุด 50 ประเทศ

งานวิจัยดังกล่าวนี้ยังได้พิจารณาปัจจัยเรื่องสภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรผู้สูงอายุซึ่งจะกลายเป็นตัวแปรชี้นำอัตราการเสียชีวิตเอาไว้แล้ว

แพทย์ทดลองวัคซีนวัณโรคต้านโควิด-19 หลังพบลดติดเชื้อทางเดินหายใจ, 7 เม.ย. 2563

ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยสาธารณสุขจอห์นฮอปกินส์บลูมเบิร์กระบุในรายงานการวิจัยว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างประเทศที่มีการใช้วัคซีนบีซีจีและประเทศที่ไม่ใช้วัคซีนตัวนี้ จากการที่ประเทศที่ใช้วัคซีนบีซีจีมีอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 น้อยกว่าประเทศที่ไม่ใช้ 5.8 เท่า

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่างานวิจัยนี้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านทางออนไลน์แทนที่จะเป็นวารสารทางวิชาการเนื่องจากยังไม่ได้ผ่านการทบทวนงานวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ งานวิจัยนี้ยังเผยแพร่ออกมาในช่วงที่มีการทดลองใช้วัคซีนบีซีจีกับคนทำงานสาธารณสุขในหลายแห่งเพื่อหวังว่าจะช่วยป้องกัน COVID-19 หรือลดความรุนแรงจากโรค COVID-19 ได้ จากการที่คนทำงานทางการแพทย์เหล่านี้เสี่ยงต่อการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้สูงและพวกเขาต้องการหาวิธีการที่เร็วที่สุดเพื่อที่ป้องกันโรคให้กับเหล่าคนทำงานสาธารณสุข

ทีมนักวิจัยระบุว่าถึงแม้วัคซีนบีซีจีจะถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันวัณโรค แต่มันก็ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันทำให้สามารถปกป้องร่างกายจากการติดเชื้ออื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องที่ว่าจะสามารถป้องกัน COVID-19 ได้มากขนาดไหนนั้นยังต้องมีการทดลองวิจัยต่อไป โดยที่ตอนนี้คนทำงานสาธารณสุขประมาณ 4,000 รายจะเข้าร่วมการทดลอง 6 เดือนนี้

อย่างไรก็ตามมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีนบีซีจีได้เขียนบทความลงในนิตยสารฟอร์บเตือนว่า สื่อยังไม่ควรรายงานในเรื่องนี้รวมกับว่ามันจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์แบบผลิกฝ่ามือได้ และถึงแม้ว่ามันจะเป้นสมมุติฐานที่น่าพิสูจน์แต่ก็ต้องการหลักฐานที่หนักแน่นกว่านี้

โดยที่มธุกา ปาย นักวิจัยเรื่องบีซีจีกล่าวว่าการวิจัยเหล่านี้อาศัยข้อมูลเชิงสถิติจาก BCG Atlas และข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อจากองค์การอนามัยโลก โดยนับเป็นการศึกษาทางนิเวศวิทยา วึ่งปายมองว่ามีข้อจำกัดในหลายด้านเช่นเรื่องที่บางประเทศอาจจะมีคนตกสำรวจสำหรับการติดเชื้อ COVID-19

ทั้งนี้จากแผนที่ของ BCG Atlas แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังมีนโนยบายให้ใช้วัคซีนป้องกันวัณโรคบีซีจีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในทวีปแอฟริกา ในเอเชีย รวมถึงไทย และจีน ขณะที่สหรัฐฯ อิตาลี และแคนาดามีนโยบายให้ใช้วัคซีนกับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และในหลายประเทศของยุโรปที่เคยมีนโนบายนี้ในอดีตแต่ปัจจุบันไม่บังคับฉีดวัคซีนบีซีจีแล้ว

 

เรียบเรียงจาก

BCG jabs mean you are six times less likely to get coronavirus, study finds, The Telegraph, 08-04-2020

BCG Against Coronavirus: Less Hype And More Evidence, Please, Forbes, 12-04-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://www.bcgatlas.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net